โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

Introduction to VI Path: ก้าวแรกสู่วิถีนักลงทุนเน้นคุณค่า

Finnomena

อัพเดต 03 เม.ย. 2563 เวลา 06.51 น. • เผยแพร่ 03 เม.ย. 2563 เวลา 06.50 น. • Investment Reader

การลงทุนนั้นมีหลากหลายแนวทางก็จริง แต่คนที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนมักจะมีวิธีการลงทุนรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือเรียกว่าเป็นวิถีทางการลงทุนของตนเอง ในบทความนี้จะขอแนะนำวิถีการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor Path) หรือจะเรียกสั้น ๆ ว่าวิถี VI ก็ได้ครับ

เอาล่ะ เรามาเริ่มต้นในเส้นทางวิถี VI กันเลย

ก่อนจะเข้าสู่ VI Path ขอพูดถึงความแตกต่างของการลงทุน 2 แนวทางกันก่อนว่ามีวิธีการและแนวคิดในการลงทุนต่างกันอย่างไร และเราน่าจะเหมาะกับแนวทางไหนกันนะครับ

1. การลงทุนแนวเทคนิคอล Technical

สำหรับการลงทุนแนวนี้นักลงทุนจะสนใจที่การเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นเป็นหลัก และเชื่อว่าเหตุการณ์และปัจจัยทุกอย่างถูกสะท้อนไว้ในราคาหุ้นแล้ว ทั้งผลประกอบการ ข่าวหรือปัจจัยต่าง ๆ ก็ล้วนสะท้อนผ่านราคาแล้ว คนที่ลงทุนแนวนี้มักจะให้ความสนใจปัจจัยพื้นฐานไม่ค่อยมากหรือถ้าจะสนใจก็ใช้เป็นข้อมูลเพื่อคัดกรองหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีมาทำการเทรด แต่การ เข้าซื้อ (Buy) ถือ (Hold) หรือ ขายทำกำไร (Sell) จะใช้กราฟ technical ในการตัดสินใจ โดยซื้อเมื่อแนวโน้มราคาเป็นเทรนด์ขาขึ้น แล้วไปขายเมื่อมีสัญญานว่าราคาจะกลับเป็นขาลง หรือว่ากลับกันอาจจะทำการขาย Shot ในช่วงที่ราคาเป็นขาลงแล้วซื้อกลับก็ได้ (Short Against Port หรือ Short Sell 2 ตัวนี้คล้าย ๆ กันแต่ไม่เหมือนกันนะครับ)

ราคาที่ซื้อไม่จำเป็นต้องเป็นราคาที่ถูก อาจจะซื้อที่ราคาแพงแล้วไปขายแพงกว่าก็ได้ จากที่ผมเคยสัมผัสมาคนที่ลงทุนเก่ง ๆ ทางด้านนี้ จะมีการฝึกฝนการเทรดและลองผิดลองถูกมาเป็นระยะเวลานานจนรู้ว่าต้องทำอะไรในจังหวะไหน  และเน้นการทำกำไรให้ได้มากกว่าการขาดทุน เช่น ในการเทรดแล้วได้กำไร 3 ครั้งแต่ขาดทุน 5 ครั้ง แต่ว่าในแต่ละครั้งที่ได้กำไรได้มากกว่าครั้งที่ขาดทุน เพราะเมื่อเทรดผิดก็รู้จักการตัดขาดทุน (Cut Loss) ทำให้จำกัดการขาดทุน แต่ครั้งที่ได้กำไรก็ปล่อยให้ราคาหุ้นวิ่งไปจนจนสุดเทรนด์ (Let Profit Run)

คนที่เหมาะกับการลงทุนแนวนี้อาจจะต้องติดตามราคาหุ้น ข่าวต่าง ๆ และใช้เวลาอยู่กับหน้าจอเทรดนาน ๆ เพราะต้องทำการการตัดสินใจที่รวดเร็วและแม่นยำครับ

2. การลงทุนแบบเน้นคุณค่าหรือแนว VI

Introduction to VI Path: ก้าวแรกสู่วิถีนักลงทุนเน้นคุณค่า
Introduction to VI Path: ก้าวแรกสู่วิถีนักลงทุนเน้นคุณค่า

การลงทุนแบบนี้นักลงทุนจะสนใจในปัจจัยพื้นฐานของกิจการเป็นสำคัญ โดยสิ่งที่นักลงทุน VI ให้ความสำคัญมากที่สุด คือ ความคุ้มค่า ครับ

ความคุ้มค่าหมายความว่าอย่างไร?

ไม่ได้หมายถึงการซื้อหุ้นราคาถูก หรือถือหุ้นนาน ๆ เท่านั้น แต่มันหมายถึง การซื้อหุ้นในราคาที่มีส่วนลดจากมูลค่าพื้นฐาน

คำว่าส่วนลดหรือ Discount อาจจะเรียกอีกอย่างว่าซื้อแบบมีส่วนเผื่อความปลอดภัย (Margin Of Safety, MOS) มีคำเปรียบเปรย MOS กับการสร้างสะพานว่า สมมติว่าเราจะสร้างสะพานที่อนุญาตให้รับน้ำหนักรถบนสะพานได้ 1,000 ตัน เราอาจจะต้องออกแบบสะพานให้รับน้ำหนักได้มากถึง 1,300-1,500 ตันทีเดียวเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางนั่นเอง

หรือเปรียบเทียบง่ายกว่านั้น คือ สมมติว่าเราจะซื้อของชิ้นหนึ่งที่เรารู้ว่ามีราคาจริง ๆ 100 บาท แต่ตอนนี้ประกาศขายที่ราคา 110 บาท เราก็จะยังไม่ซื้อใช่ไหมครับ แต่เราจะรอซื้อเมื่อของชิ้นนี้แปะป้าย Sale ที่ราคา 70-80 บาทเราถึงจะซื้อ กรณีซื้อที่ราคา 80 บาทเราจะมีส่วนลด 20% และ 30% เมื่อเราซื้อที่ 70 บาท การซื้อแบบนี้ทำให้เราได้ของดีในราคาถูกนั่นเอง

ซึ่งก็เปรียบกับการที่เราจะซื้อหุ้นสักตัว เราก็ต้องการทราบราคาที่แท้จริงของหุ้นซึ่งเรียกว่ามูลค่าพื้นฐาน (Intrinsic Value หรือ เอาแบบที่คนรู้จักกันดีคือ Fair Value นั่นเอง) โดยการที่เราจะทราบมูลค่าพื้นฐานได้เราต้องเข้าใจบริษัทมากพอถึงจะคำนวณมูลค่าพื้นฐานออกมาได้ ซึ่งวิธีคำนวณมีหลายวิธี เอาตามที่ผมเคยเขียนถึงไปก็มีวิธี DCF ตามลิ้งก์บทความข้างล่างนี้ครับ

ชำแหละองค์ประกอบของกระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow)

เราจะประมาณการเติบโต (Growth) อย่างไร

อัตราคิดลด คือ อะไร?

ประเมินมูลค่าหุ้นด้วย DCF: เขาทำกันอย่างไร?

จากบทความตามลิ้งก์ จะเห็นได้ว่ามูลค่าพื้นฐานของกิจการจะมากจะน้อยขึ้นกับกำไรและกระแสเงินสดที่บริษัทผลิตได้ ดังนั้นในการลงทุนเราควรเลือกลงทุนในบริษัทที่มีกำไรเติบโตโดยลดความสนใจในราคาตลาดที่ผันผวนไป-มา ตลอดเวลาลง ตามวลีที่ว่า

“ในระยะสั้น ตลาดหุ้นเปรียบเหมือนเครื่องลงคะแนนที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดตามมุมมองของนักลงทุนที่มีต่อตลาด แต่ในระยะยาวตลาดหุ้นจะกลายเป็นเครื่องชั่งที่วัดน้ำหนักหรือมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นออกมาโดยน้ำหนักที่ชั่งได้คือผลกำไรนั่นเอง”

มูลค่าพื้นฐานเมื่อคำนวณออกมาแล้วก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ตามปัจจัยพื้นฐานของกิจการ ซึ่งอาจจะมากขึ้น คงที่ หรือลดลงก็ได้ โดย VI จะใช้ปัจจัยนี้เองมาตัดสินใจ ซื้อ ถือ ขาย โดยจะซื้อเมื่อราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน ถือไว้ถ้าราคายังน้อยกว่ามูลค่าพื้นฐานอยู่ และอาจจะพิจารณาขายเมื่อราคาเท่ากับหรือเกินมูลค่าพื้นฐานไปแล้ว

ดังนั้นงานของนักลงทุน VI คือ เสาะหาหุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานดีมีแนวโน้มเติบโตในระยะยาวและราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน จากนั้นก็ซื้อหุ้นและติดตามบริษัทอย่างสม่ำเสมอเพื่อประเมินมูลค่าว่าเป็นอย่างไรยังน้อยกว่าราคาพื้นฐานไหม และทำการบริหารความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนโดยการ rebalance ตามช่วงเวลาที่เหมาะสม นักลงทุนแนว VI จึงไม่จำเป็นต้องติดตามราคาหุ้นตลอดเวลาแต่ต้องติดตามปัจจัยต่าง ๆ ที่จะกระทบกับพื้นฐานของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญมากกว่า

ถามว่าแนว VI มี  Cut Loss ไหม?

ตอบว่ามีนะครับ โดยเราจะไม่ได้ดูที่ราคา แต่ดูที่ตัวกิจการเป็นหลักว่ายังมีความสามารถในการแข่งขันอยู่หรือเปล่า หรือมีปัจจัยลบอะไรที่ทำให้กิจการแย่ลงเราถึงจะขายครับ เช่น การมีคู่แข่งอยู่ในอุตสาหกรรมมากขึ้นจนบริษัทถูกแย่งส่วนแบ่งการตลาดและทำให้ยอดขายกับกำไรลดลง (กรณีเราลงทุนในหุ้นเติบโตที่ไม่ได้มีคูเมืองแข็งแกร่ง) หรือ เทรนด์ของผู้บริโภคหันไปใช้สินค้าของบริษัทอื่นอย่างมีนัยสำคัญจนยอดขายกำไรตกต่ำ (ตัวอย่าง NOKIA, KODAK) เป็นต้น

หลายคนอาจจะคิดว่านักลงทุนแนว VI จะอยู่กับแค่เรื่องหุ้นหรือกิจการเท่านั้นหรือเปล่า?

จริง ๆ นักลงทุน VI สนใจในหลากหลายศาสตร์เลยครับ ทั้งความรู้ทางการเงินการลงทุน ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจ การตลาด แนวทางการบริหารกิจการ จิตวิทยาการลงทุน แม้แต่จิตวิทยาการตลาด เศรษฐศาสตร์ ภาวะตลาดการเงินตลาดทุน  การเมือง เทคโนโลยี และแนวโน้มโลกในอนาคต แม้กระทั่งเรื่องทั่ว ๆ ไปที่คนสนใจกันด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการวิเคราะห์ กิจการที่เราลงทุน การเข้าใจแนวโน้มใหญ่ของธุรกิจ รวมถึงเข้าใจสภาพต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศและโลกของเราได้ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการลงทุนที่ดีขึ้นด้วย

VI อาจจะลงทุนเพื่อหวังจะมีเงินมาก ๆ ก็จริง แต่สิ่งที่ VI ตามหาจริง ๆ อาจจะไม่ใช่แค่ความร่ำรวยเท่านั้นนะครับ แต่ว่าเสาะแสวงหาความเป็นอิสระที่จะสามารถใช้ชีวิตได้ตามที่ตัวเองต้องการโดยไม่ต้องมีกังวลเรื่องการมีเงินไม่พอใช้จ่าย หรือที่เรียกว่ามีอิสระภาพทางการเงินนั่นเอง ส่วนการลงทุนเปรียบเหมือนสิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตที่เป็น Passion มากกว่า คือมีความสุขในการลงทุนแถมได้เงินด้วย ถึงตรงนี้ใครอยากเป็น VI แล้วบ้างครับ? ยกมือขึ้น

เอาล่ะครับ อ่านมาถึงตรงนี้นักลงทุนที่อ่านอยู่คิดว่าตัวเองน่าจะเหมาะกับการลงทุนแนวไหนกัน?

ตรงนี้ไม่มีคำตอบว่าการลงทุนแบบไหนดีหรือด้อยกว่ากัน มีแต่การลงทุนที่เหมาะกับเรามากที่สุดเท่านั้นครับ การลงทุนที่เหมาะกับจริตของเราจะทำให้เราอยู่กับการลงทุนแบบนั้นได้นาน และเราก็น่าจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนแนวนั้นมากกว่าด้วย

ตอนต่อ ๆ ไปผมจะค่อย ๆ เล่าเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนแนว VI ต่อไปเรื่อย ๆ นะ ครับ ว่าการลงทุนแนวนี้หลัก ๆ ต้องสนใจอะไรบ้าง และวิธีการ กับความรู้พื้นฐานต่าง ๆ ที่ควรรู้มีอะไรบ้าง หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนหลาย ๆ ท่านนะครับ

Investment Reader

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0