โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Incredible India : โลก 2 ใบใน “เดลี” ประตูสู่แดนอัศจรรย์/ปิ่น บุตรี

Manager Online

อัพเดต 20 พ.ค. 2562 เวลา 11.11 น. • เผยแพร่ 20 พ.ค. 2562 เวลา 11.11 น. • MGR Online

โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)

“Incredible India”

เป็นแคมเปญชวนเที่ยว “อินเดีย” ที่ฉายภาพแห่งตัวตนบนวิถีสีสันอันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศนี้ออกมาได้อย่างเด่นชัด

เพราะไม่ว่าจะเป็นความเหลือเชื่อ ความมหัศจรรย์ ความน่าทึ่ง ตะลึง อึ้ง แปลก เหนือความคาดหมาย หรือยากที่จะคาดเดา ดินแดนภารตะแห่งนี้มีให้สัมผัสกันอย่างครบครัน ในหลากหลายรูปแบบ หลากหลายมิติ ทั้ง รูป รส กลิ่น สี เสียง และจิตวิญญาณ

นับเป็นมนต์เสน่ห์แห่ง “Incredible India” ที่สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจ หัวร่อมิได้ร่ำไห้มิออก พิศวงงงงวย และความประทับใจอันยากลืมเลือน ชนิดที่ไม่มีดินแดนใดเสมอเหมือน

สำหรับหนึ่งในเมืองสำคัญที่เป็นต้นทางของการเปิดโลกความมหัศจรรย์ในอินเดีย และเป็นประตูสู่การเชื่อมต่อไปยังเมืองต่าง ๆ และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในอินเดีย แน่นอนว่าย่อมหนีไม่พ้นเมืองหลวง “เดลี” ที่เมื่อปลายปี 2561 สายการบิน “นกสกู๊ต” ได้เปิดเส้นทางบินตรง “ดอนเมือง-เดลี” 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางระหว่างไทยกับอินเดียที่น่าสนใจยิ่ง

นอกจากนี้เดลียังเป็นดินแดนรุ่มรวยประวัติศาสตร์ และมากไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจอันหลากหลาย ที่สำคัญคือเดลีเป็นหนึ่งในเมืองที่มีบรรยากาศแห่งความ “Incredible India” ให้สัมผัสกันแบบจัดเต็ม ชนิดที่แม้ใครอยากจะปฏิเสธก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้

*รู้จักเดลี

เดลี (Delhi) เป็นเมืองสำคัญมาตั้งแต่เมื่อครั้งโบราณ เดิมชื่อ “ดิลลิกะ” เคยถูกเลือกให้เป็นราชธานีแห่งแรกตั้งแต่เมื่อราว 100 ปี ก่อนคริสตกาลในนาม “นครอินทรปรัสถ์” ของเหล่าปาณฑพในยุคสมัยสงครามมหาภารตะ

หลังจากนั้นเดลีได้ผ่านการเปลี่ยนย้ายเมืองหลวง และดำรงสถานะนครหลวงแห่งดินแดนชมพูทวีปมาถึง 7 ยุค 7 สมัยจนได้รับฉายาว่าเป็น “มหานคร 7 ราชธานี”

เดลีเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในยุคล่าอาณานิยม เมื่อจักรวรรดิอังกฤษที่ตีเนียนเข้ามาตั้งบริษัททำการค้าขาย ก่อนจะค่อย ๆ รุกคืบ ยึดครองประเทศอินเดียกินเวลายาวนานนับร้อยปี ได้ย้ายเมืองหลวงจากกัลกัตตา (โกลตาลา) กลับมาที่เดลีอีกครั้ง ในปี ค.ศ. 1911 พร้อมทั้งยังได้สร้างเมืองใหม่เดลี หรือ “นิวเดลี” (New Delhi) ขึ้น

นิวเดลี ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเดลีเดิม หรือ “โอลด์เดลี” (Old Delhi) ซึ่งหากมองผ่าน ๆ แล้ว นิวเดลีมีบรรยากาศคล้ายยุโรปมากกว่าคล้ายอินเดียอยู่ช่วงหลายแผ่นแป้งโรตี

*นิวเดลี ยุโรปแห่งอินเดีย

นิวเดลีหรือเมืองใหม่เดลี เป็นผลงานการออกแบบและวางผังของ 2 สถาปนิกชาวอังกฤษ คือ “เซอร์ เอ็ดวิน ลุตเยนส์” (Sir Edwin Lutyens) และ “เซอร์ เฮอร์เบิร์ต เบเกอร์” (Sir Herbert Baker) ซึ่งมีเรื่องเล่าขานกันว่า สถาปนิกทั้ง 2 ต้องขี่ม้าสำรวจภูมิประเทศกันเป็นแรมเดือน ก่อนจะลงมือสร้างเมืองใหม่เดลีจนแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1931 เกิดเป็นเมืองใหม่ที่ดูสวยงามสง่า มีเอกลักษณ์โดดเด่นไปด้วย รูปแบบของสถาปัตยกรรมยุโรปคลาสสิกผสมกับงานศิลปกรรมแบบอินเดีย อันทรงเสน่ห์

นิวเดลีเป็นเขตศูนย์ราชการ เป็นที่ตั้งของ ที่ทำการรัฐบาล รัฐสภา กระทรวงต่าง ๆ ที่อยู่อาศัยของชนชั้นระดับผู้นำประเทศ ย่านของเศรษฐีผู้ดีมีกะตังค์ โรงแรมหรู 5 ดาว และย่านการค้าตลาดไฮโซของพวกผู้ดีมีอันจะกิน มีสินค้าแบรนด์เนม มีร้านอาหาร เบเกอร์รี่ ร้านกาแฟเก๋ไก๋ตามสมัยนิยมที่ดูดีมีสไตล์

แรกที่ผมได้มีโอกาสไปสัมผัสกับนิวเดลีนั้น มันช่างผิดแปลกไปจากภาพจำของอินเดียที่เคยรู้จักอย่างสิ้นเชิง เพราะนิวเดลีนั้นเป็นเป็นเมืองที่ดูดีมีระเบียบ สะอาด ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ แถมบรรยากาศของเมืองนั้นก็ดูออกไปทางตะวันตกจากสิ่งก่อสร้างอาคารสถานที่ดูสวยงามโอ่อ่าในแบบยุโรปคลาสสิก นำโดย “ราษฎร์ปติภวัน” (Rashtrapati Bhavan) ที่ในอดีตเคยใช้เป็นที่พักของผู้สำเร็จราชการ ส่วนปัจจุบันเป็นทำเนียบประธานาธิบดีอินเดีย

เมืองนิวเดลีมีศูนย์กลางอยู่ที่วงเวียน “คอนนอต เพลซ” (Connaught Place) ที่เป็นโอเพนสเปซ (Open Space) ขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นวงกลมแผ่รัศมีออกไป เป็นวงแหวน แบ่งเป็นเขตชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก โดยมีการแบ่งพื้นที่เป็นสวนสาธารณะ ตลาด ย่านการค้า และสถานบันเทิง เป็นต้น

นอกจากนี้นิวเดลียังมีอีกหนึ่งแลนด์มาร์กสำคัญ คือ “ประตูเมืองอินเดีย” (India Gate) ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เหล้าทหารกล้าที่เสียชีวิตในสงคราม โดยสร้างตามคติประตูชัยของตะวันตก

ขณะที่สถานที่ท่องเที่ยวเด่น ๆ ในเขตนิวเดลีนั้นก็มี “วัดพังคลาซาฮิบคุรุทวาร” หนึ่งในวัดซิกสำคัญของเมืองเดลี, “เทวาลัยหนุมานมัณฑิร” ที่พวกเหล่านักมวยปล้ำเคารพนับถือกันมาก และ “วัดลักษมีนารายัน” หรือ “พีรลา มัณฑิร” (Birla Mandir) วัดฮินดูที่สร้างอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา

วัดแห่งนี้นับถือเทพประธานอยู่ 2 องค์ด้วยกัน คือ “พระวิษณุ” หรือ “พระนารายณ์” มหาเทพผู้พิทักษ์ปกป้องโลก และ “พระลักษมี” (พระชายาพระวิษณุ) เทพีแห่งความมั่งคั่ง

นอกจากนี้ก็ยังสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ ตามความเชื่อของฮินดูให้สักการะกันอีก อย่างเช่น พระกฤษณะ และพระพิฆเนศ ซึ่งคนไทยนิยมมาไหว้พระพิฆเนศที่นี่กันมาก เพราะท่านเป็นเทพแห่งความสำเร็จ ด้วยหวังว่าเมื่ออธิษฐานขอพรท่านแล้วก็จะสำเร็จสมหวังตามที่ขอ

เมื่อย่างก้าวเข้าภายในวัดแห่งนี้ (ต้องถอดรองเท้า และห้ามถ่ายรูปภายในวัด แต่ถ่ายด้านนอกได้) ผมสัมผัสได้ถึงอีกหนึ่งความเป็นอินเดีย กับพลังแห่งศรัทธาอันขรึมขลัง มีกลิ่นธูปเทียนกำยานอบอวล พร้อมทั้งมีเจ้าพิธีคอยเจิมหน้าผากให้ แม้กับคนต่างศาสนาท่านก็ยินดี

นับเป็นความสงบส่งท้ายก่อนที่ผมจะล่ำลาออกจากเมืองนิวเดลีมุ่งหน้าไปเที่ยวในเขตเมืองเก่าเดลี หรือ โอลด์เดลีต่อไป

*โอลด์เดลี

นิวเดลี กับ โอลด์เดลี เป็น 2 เมืองต่างยุค ในเดลีที่ตั้งอยู่ติด ๆ กัน มีเพียงกำแพงกางกั้นระหว่างเมืองทั้งสอง โดยเขตเมืองเก่าเดลีหรือโอลด์เดลีนั้นคือพื้นที่ในวงล้อมของกำแพงที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยของพระเจ้าชาห์จาฮาน

โอลด์เดลีนอกจากจะมีบรรยากาศของเมืองและวิถีชีวิตที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับนิวเดลีแล้ว โอลด์เดลียังเป็นดินแดนเต็มไปด้วยสีสันแห่งความเป็นอินเดีย อีกทั้งยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงามคลาสสิกหลากหลายให้ทัศนากัน นำโดย “กุตุบมีนาร์” หนึ่งในสัญลักษณ์คู่เมืองเดลี

กุตุบมีนาร์ หรือ กุตับมีนาร์ (Qutab Minar) มีหลายข้อมูลระบุตรงกันว่าที่นี่เดิม (เคย) เป็นวัดฮินดูที่มีหอสูงประมาณ 30 เมตร ซึ่งกษัตริย์ฮินดูยุคสุดท้ายสร้างไว้ให้พระธิดา (หรือบ้างก็ว่าสร้างให้มเหสี) ทอดพระเนตรความงามของแม่น้ำแม่น้ำยมุนา

กระทั่งเมื่อปี ค.ศ. 1192 กองทัพมุสลิมจากอิหร่านนำโดยพระเจ้า “กุตุบ อุดดิน อัยบัก” (Qutub ud-din Aibak) ที่ต่อสู้ไต่เต้าจากทาสจนขึ้นมาเป็นสุลต่าน ได้เข้ายึดครองภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียได้สำเร็จ

หลังจากนั้นพระเจ้ากุตุบ ฯ ได้สร้างมัสยิดและหออะซานขึ้นในบริเวณพื้นที่วัดฮินดูเดิม เพื่อเป็นการประกาศชัยชนะที่มุสลิมมีต่อฮินดู อีกทั้งยังต้องการให้ที่นี่เป็นดังอนุสาวรีย์แห่งชัยชนะในการศึกครั้งนี้อีกด้วย

กุตุบมีนาร์ หรือ หออะซานอันสูงตระหง่านที่สร้างขึ้นใหม่ สร้างด้วยอิฐแดง ดูสมส่วนสง่างาม มีความสูง 72.5 เมตร ฐานกว้าง 14 เมตร ตัวหอสอบเรียวขึ้นไปจนถึงยอด มีลักษณะเป็นลอนลูกฟูกจารึกเป็นอักษรอารบิกโบราณในพระคัมภีร์อัลกุรอ่าน

กุตุบมีนาร์ปัจจุบันเป็นหอคอยที่สูงที่สุดในดินเดีย นอกจากนี้หากตีวงให้แคบลงไปนี่ถือเป็นหอคอยที่สร้างด้วยอิฐแดงที่สูงที่สุดในโลกเลยทีเดียว

หอคอยแห่งนี้มีบันได 379 ขั้น เดิมเคยเปิดให้คนทั่วไปเดินขึ้นไปชมวิวบนยอด แต่เนื่องจากมีคนนิยมขึ้นไปกระโดดหอฆ่าตัวตาย ปัจจุบันทางการอินเดียจึงปิดไม่ให้ขึ้น ให้เดินดูความยิ่งใหญ่สวยงามแต่ภายนอกเท่านั้น

ในการศึกครั้งนั้นที่มุสลิมมีชัยเหนือฮินดู นอกจากสร้างหออะซานแล้ว พระเจ้ากุตุบ ฯ ยังทรงโปรดฯ ให้สร้าง “มัสยิดแห่งความยิ่งใหญ่ของอิสลาม” (Quwwat-ul-Islam Mosque) ขึ้นในบริเวณพื้นที่วัดฮินดูเดิม นั่นจึงทำให้เกิดงานศิลปกรรมในสไตล์มุสลิมผสมฮินดูอันเป็นเอกลักษณ์ที่หาดูไม่ได้ง่าย ๆ

ปัจจุบันมัสยิดแห่งความยิ่งใหญ่ ฯ ได้พังทลายเหลือแต่ซาก แต่รอยอดีตอันยิ่งใหญ่ของที่นี่ยังคงมีให้สัมผัสชื่นชมกับงานสถาปัตยกรรมที่มีอาณาบริเวณกว้างขวาง กับพื้นที่ลานโล่ง ๆ ตรงส่วนกลาง (เพราะหลังคามัสยิดพังทลายลงไป) ส่วนรอบข้างเป็นระเบียงทางเดินมีหลังคา โดยมีเสาหินจำนวนมากรองรับ เสาแต่ละต้น มีการแกะสลักลวดลายประดับต่าง ๆ (ตัวอย่างอันเด่นชัดของงานศิลปกรรมฮินดูผสมมุสลิม) ทั้งลวดลายประติมากรรมนูนต่ำ นูนสูง แถมบางต้นแกะคว้านเซาะลึกจนเกือบจะเป็นงานลอยตัวเลยทีเดียว

เสาหินแกะสลักเหล่านี้ ช่างโบราณแกะได้อย่างสุดยอด ประณีตวิจิตรบรรจง แถมดูมิชีวิตชีวา ลวดลายหลาย ๆ ลาย ผมดูแล้วคุ้นตาเป็นพิเศษ เพราะมันดูละม้ายคล้ายกับลายไทยของเราไม่น้อย นั่นคงเป็นการส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมจากอินเดียโบราณมาสู่ขอมโบราณ และเดินทางเข้ามาสู่สยามประเทศ จนสุดท้ายเกิดเป็นงานศิลปะไทยอันอ่อนช้อยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

กุตุบมีนาร์ยังมีอีกหนึ่งสิ่งชวนทึ่งให้ทัศนากันนั่นก็คือ เจ้าเสาดำโดด ๆ ตรงกลางลานโล่งของอดีตมัสยิดแห่งนี้

เสาต้นนี้เป็นเสาเหล็กสูง 7.2 เมตร มีลักษณะคล้ายเสาอโศก สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเสาที่หล่อขึ้นเพื่อถวายแด่พระนารายณ์ (พระวิษณุ) โดยมีจารึกระบุไว้บนเสาว่าหล่อขึ้นตั้งแต่เมื่อราว 1,600 ปีที่แล้ว

เสาดำต้นนี้แม้จะมีอายุอานามเป็นพัน ๆ ปีแล้ว แต่มันมีความน่าทึ่งตรงที่มาจนถึงวันนี้มันยังไม่มีสนิมจับแต่อย่างใด นั่นเชื่อกันว่ามีการผสมแร่ธาตุอื่น ๆ เข้าไปตอนหล่อเสาต้นนี้ จึงทำให้มันไม่เกิดสนิมมาจนถึงทุกวันนี้ นับเป็นนวัตกรรมสุดล้ำของอินเดียโบราณที่วันนี้โลกยังไม่สามารถหาคำตอบได้

อย่างไรก็ดีเสาต้นนี้แม้สนิมไม่จับ แต่ที่ผ่านมาได้ถูกคนจับกันมามากมายนับไม่ถ้วน เพราะมีความเชื่อว่าหากใครได้มายืนหันหลังพิงเสา เอาแขนโอบกลับไปด้านหลัง แล้วสามารถให้ 2 มือ จับติดกันได้ คนผู้นั้นจะโชคดี แล้วถ้าทำแบบนี้พร้อมอธิฐานไปด้วยก็จะสมหวัง

นั่นจึงทำให้ในอดีตมีนักท่องเที่ยวมาพยายามโอบหลังเสาดังกล่าวกันเป็นจำนวนมาก จนปัจจุบันทางการอินเดียต้องมาล้อมรั้วเสาต้นนี้ไว้เพื่อกันคนมาโอบหลัง เพราะนั่นถือเป็นการทำลายโบราณสถานสำคัญของโลกอีกทางหนึ่ง

เสาต้นนี้หากมีที่บ้านเราผมก็นึกไม่ออกว่าจะเป็นยังไง จะมีคนมาแอบตัดเหล็กไปขาย หรือว่าเอาแป้งมาโรยแล้วขูดขอเลข หรืออาจมีพวกมือบอนมาขีดเขียน-สเปรย์ ว่าตัวข้านั้นเป็นพ่อของทุกสถาบันก็เป็นได้

ด้วยความโดดเด่นและสำคัญยิ่งของกุตุบมีนาร์ ทำให้สถานที่แห่งนี้ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกจากยูเนสโกในปี ค.ศ. 1993 (พ.ศ. 2536) ซึ่งนับเป็นหนึ่งในในสิ่งที่ชาวเมืองเดลีภาคภูมิใจยิ่ง

ในเขตโอลด์เดลียังมีไฮไลท์สำคัญ ๆ อีก นั่นก็คือ “ป้อมแดง” (Red Fort) ที่สร้างโดยพระเจ้า “ชาห์จาฮาน” (Shah Jahan) แห่งราชวงศ์โมกุล (ผู้สร้าง “ทัชมาฮาล” (เมืองอักรา) สิ่งมหัศจรรย์ของโลก)

ป้อมแดง เป็นหนึ่งงานสถาปัตยกรรมหลวงแห่งยุคโมกุลอันเด่นชัด ที่ได้รวมเอาพระราชวัง ที่พำนักผู้ปกครอง และศูนย์ราชการ ฐานที่มั่นทางทหารเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืนสวยงาม

ป้อมแดงสร้างจากหินทรายสีแดงอย่างใหญ่โตอลังการเพื่อรองรับการโจมตีที่ทรงอานุภาพของปืนใหญ่ในยุคนั้น ป้อมแห่งนี้เป็น 1 ใน 2 ป้อมอันสุดเกรียงไกรของอินเดีย (อีกแห่งหนึ่งคือป้อมอักรา สร้างโดยพระเจ้าชาห์จาฮานเช่นกัน) ซึ่งทางการอินเดียได้บรรจุภาพของป้อมแห่งนี้ไว้ที่หลังธนบัตรใบละ 500 รูปี ที่เป็นการแสดงถึงความสำคัญและยิ่งใหญ่ของป้อมแห่งนี้

เดลีในยุคพระเจ้าชาห์จาฮานที่ถือเป็นยุคทองแห่งงานศิลปกรรมสไตล์โมกุล ยังมีการก่อสร้างอีกหนึ่งงานสถาปัตยกรรมสำคัญนั่นก็คือ “มัสยิดจามา” (Jama Masjid) มัสยิดที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดของมัสยิดในอินเดีย สามารถรองรับผู้คนได้ถึง 25,000 คน

มัสยิดจามา สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1644 จากกินทรายสีแดงและหินอ่อน โดยลวดลายต่าง ๆ ที่ปรากฏบนหินอ่อนไม่ว่าจะเป็นตามพื้น ผนัง เพดานนั้น ไม่ใช่การเขียนลาย หากแต่เป็นการแกะสลักหินแล้วฝังลายจากหินต่างสีลงไป นับเป็ฯงานสร้างสรรค์ที่ไม่ธรรมดาเลยที่เดียว

มัสยิดจามาถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวมุสลิมในเดลี ตัวมัสยิดตั้งอยู่บนฐานยกพื้นสูง มีบันไดขนาดใหญ่ใน 3 ประตูทางเข้า เมื่อเข้าไปภายในจะพบกับโดมหินอ่อนขนาดใหญ่ พร้อมทั้งลานโล่ง ตรงกลางลานมีบ่อน้ำสำหรับทำพิธีชำระล่างความบริสุทธิ์ซึ่งคนอินเดียจะมาดื่มกินและล้างหน้าล้างตากัน

ส่วนบริเวณใกล้ ๆ กับป้อมแดงและมัสยิดจามาที่ตั้งตระหง่าน เป็นที่ตั้งของ “จันนีโชค” (Chandhi Chowk) หรือย่านตลาดเก่าที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าของเดลีมาตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน

จันนีโชคสร้างขึ้นตั้งแต่ราวสมัยศตวรรษที่ 17 ในอดีตเคยได้ชื่อว่าเป็นย่านที่มีถนนสวยงามที่สุดในอินเดีย แต่ปัจจุบันนี่คือย่านถนนที่เต็มไปด้วยความคึกคัก โกลาหล และมีสีสันมากที่สุดแห่งหนึ่งในอินเดีย

จันดีโชคเป็นย่านร้านตลาดที่มีสินค้ามากมายสารพัดสารพันให้เลือกซื้อเลือกหา ทั้งของกิน ของใช้ เครื่องประดับ เสื้อผ้า ฯลฯ อีกทั้งยังมีตรอกซอกซอยมากมาย

สำหรับผมการได้มีโอกาสได้ลงไปเดินเที่ยวชมที่ย่านแห่งนี้ (มีไกด์ท้องถิ่นนำ) ที่ถือเป็นบุญและเป็นหนึ่งประสบการณ์การเดินถนนอันน่าทึ่ง เพราะที่นี่นอกจากจะมีความวุ่นวายอยู่ในทุกตารางเมตรแล้ว ยังมีเสียงแตรดังระงมให้ได้ยินกันในทุก ๆ นาที

แถมยังเห็นภาพถนนเล็ก ๆ แคบ ๆ สายหนึ่ง ซึ่งมีรถนับร้อย ๆ คันอัดแน่นอยู่ในนั้น พร้อมกับเสียงแตรที่เหล่าบรรดาสารถีแข่งกันบีบดังปู๊น ป๊าน ตั้งแต่หัวถนนไปจนถึงท้ายถนน

เหตุการณ์บีบแตรดังสนั่นแบบนี้หากเป็นที่เมืองไทยบ้านเรา คงมีการคว้าปืนมายิงกันไปแล้ว แต่สำหรับที่อินเดีย พวกเขากลับพยายามจัดระเบียบนำรถค่อย ๆ เคลื่อนตัวไปข้างหน้าสู่จุดหมาย ชนิดที่ผมดูแล้วไม่รู้ว่ามันจะเคลื่อนไปยังไง แต่พวกเขาก็สามารถจัดการแก้ปัญหากันได้ในสไตล์อินเดีย

นับเป็น Incredible India ซึ่งยากที่จะมีชาติใดลอกเลียนแบบ

และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์แห่งเดลี เมืองหลวงของอินเดีย ซึ่งสำหรับผมแล้ว แม้โอลด์เดลีกับนิวเดลีจะเปรียบเสมือนกับโลก 2 ใบในเดลี ที่แม้จะดูแตกต่างกันอย่างร้ายกาจ แต่ทว่าก็สามารถผสานสิ่งใหม่และเก่าให้เข้ากันได้อย่างกลมกลืนลงตัว

โดยเฉพาะเสียงแตรที่ไม่ว่าจะเป็นนิวเดลีหรือโอลด์เดลี ต่างก็มีให้ได้ยินได้ฟังดังระงมหู ถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของอินเดียที่หากว่ามาเยือนดินแดนแห่งนี้แล้วไม่ได้ยินเสียงแตร นั่นก็เหมือนว่ายังมาไม่ถึงอินเดียโดยสมบูรณ์

……………………………………………………………………………………….

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0