โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

In Theories (5) : รักแท้จะเป็นจริงได้ เมื่อเราต่างมีอำนาจเท่ากัน

The Momentum

อัพเดต 18 ก.ย 2562 เวลา 09.50 น. • เผยแพร่ 17 ก.ย 2562 เวลา 13.20 น. • กิตติพล สรัคคานนท์

In focus

  • ความรักที่ต้องแสดงออกเพราะเป็นหน้าที่ย่อมสะท้อนถึงอำนาจที่ฝ่ายหนึ่งมีต่ออีกฝ่ายหนึ่ง หรือในทางกลับกันก็แสดงถึงความไม่จริงใจของผู้ถูกบังคับ ภายใต้ความสัมพันธ์นี้ ความรักจึงเป็นเพียงสัญญะหรือเครื่องหมายที่มีความหมายตรงกันข้ามกับที่มันควรเป็น
  • เฮเกล (Hegel) นักปรัชญาเยอรมันผู้ยิ่งใหญ่ในช่วงวัยหนุ่มได้เสนอไว้เกี่ยวกับรักในโลกทัศน์แบบคริสต์ว่าเป็นรักที่เกิดจากการมองคนเป็นมนุษย์เหมือนๆ กัน เขาอธิบายไว้ว่า “Love thy neighbor as thyself” ไม่ได้แปลว่า “จงรักคนอื่นให้เท่าๆ กับรักตัวเรา” แต่หมายถึง “จงรักผู้อื่นในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเรา” 
  • สำหรับเฮเกลวัยหนุ่ม ความรักจะเป็นจริงได้ หากเราและคนอื่นๆ ต่างมีอำนาจ และมองเห็นผู้อื่นในฐานะของมนุษย์เฉกเช่นเดียวกันในทุกแง่มุม การขาดซึ่งความเคารพนี้ย่อมทำลายทุกอย่าง ส่วนความรักที่แท้จริงจะขจัดความขัดแย้งบาดหมางระหว่างกัน 
  • อย่างในศตวรรษที่ 18 การอยู่ร่วมกันอย่างปราศจากความขัดแย้งจะเกิดขึ้นเมื่อเรายอมรับโครงสร้างที่เป็น ผู้ปกครองแบ่งปันสิทธิ์ให้ผู้ถูกปกครองตามเท่าที่จะไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เอกภาพระหว่างบุคคลจึงเป็นสิ่งที่เปราะบางพร้อมจะพังทลาย แต่ด้วยความรักในโลกทัศน์แบบคริสต์ศาสนาที่เฮเกลวัยหนุ่มได้ตีความเอาไว้ อาจช่วยได้

“ความสัมพันธ์เปิดเผยให้เห็นขอบเขตที่ความต้องการของคนคนหนึ่งกลายเป็นความต้องการของมนุษย์ทั้งหลาย ขอบเขตดังกล่าวนั้นทำให้บุคคลอื่นได้กลายเป็นสิ่งเขาต้องการ”

คาร์ล มาร์กซ์

 

Love cannot be commanded.

เราบังคับใครให้รักเราไม่ได้ แม้ด้วยความเชื่อที่ว่า “ความรักจะชนะทุกสิ่ง” แต่การใช้กำลังบังคับให้รักก็นับว่าเป็นการทำลายความรักในตัวเอง ความรักไม่ใช่หน้าที่และไม่อาจเป็น เช่นเดียวกับหน้าที่ไม่สามารถชนะทุกสิ่ง ความรักที่เป็นหน้าที่จึงไม่ใช่ความรักแต่เป็นความกลัว หรือกระทั่งความเกลียดชังที่เราไม่สามารถแสดงออกได้

หากเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคน ความรักที่ต้องแสดงออกเพราะเป็นหน้าที่ย่อมสะท้อนถึงอำนาจที่ฝ่ายหนึ่งมีต่ออีกฝ่ายหนึ่ง หรือในทางกลับกันก็แสดงถึงความไม่จริงใจของผู้ถูกบังคับ ภายใต้ความสัมพันธ์นี้ ความรักจึงเป็นเพียงสัญญะหรือเครื่องหมายที่มีความหมายตรงกันข้ามกับที่มันควรเป็น เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับ ‘รัฐ’ การบังคับให้เรารักผู้นำ หรือการเปลี่ยนให้ความรักกลายเป็นหน้าที่ย่อมแสดงถึงความไม่เป็นอารยะ หรือกล่าวอีกทางเป็นเพียงรัฐเผด็จการที่ใช้ความรักอำพรางความกลัว ความสยบยอม ความจงรักภักดีแบบไม่มีเงื่อนไข 

ขณะที่ภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลกับโลกที่เป็นอยู่ ความรักในโลกทัศน์แบบคริสต์ถูกมองว่ามีส่วนในการสร้างสังคมสมัยใหม่ขึ้น สังคมที่เบื้องหน้าพระเจ้า มนุษย์มีความเท่าเทียมกัน เป็นประเด็นที่ เฮเกล (Hegel) นักปรัชญาเยอรมันผู้ยิ่งใหญ่ ในช่วงวัยหนุ่มได้เสนอไว้ และนี่ก็เป็นประเด็นที่เราจะได้พูดถึงกันในบทตอนนี้ เป็นความรักอีกแบบที่ต่างไปจากรักที่กล่าวไปตอนต้น

เฮเกล (Hegel) นักปรัชญาเยอรมันในช่วงวัยหนุ่ม

จงรักผู้อื่นเหมือนเช่นรักตนเอง

คริสต์ศาสนามักถูกโจมตีจากศาสนาอื่นๆ ว่าเป็นศาสนาแห่งอารมณ์ที่สอนให้คนรักกันและกันง่ายเกินไป แต่ทว่าความรักในมุมมองของคริสต์ศาสนา ไม่ใช่ความรวนเรไม่แน่นอน ความรู้สึกขึ้นๆ ลงๆ ของมนุษย์ แต่เป็นสัญลักษณ์สำคัญและสัมพันธภาพที่พระเจ้ามีต่อมนุษย์และมนุษย์ด้วยกันเอง ความสัมพันธ์นี้แม้ดูจะเป็นข้อบังคับผูกมัด หรือสร้างเงื่อนไข แต่ก็เป็นสิ่งที่เปิดกว้างและนำไปสู่ปรากฏการณ์สำคัญที่ทำให้เรามองเห็นบุคคลอื่นมีค่าเทียบเท่ากับตัวเรา

ในต้นฉบับ The Spirit of Christianity and its Fate(1798) เฮเกลได้อธิบายไว้ว่า  “Love thy neighbor as thyself” ไม่ได้แปลว่า “จงรักคนอื่นให้เท่าๆ กับรักตัวเรา” แต่หมายถึง “จงรักผู้อื่นในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเรา” 

สำหรับเฮเกลในวัยหนุ่มแล้ว ความรักทำให้เราสัมผัสได้ถึงชีวิตอื่นๆ ที่เหมือนกับเรา ไม่อ่อนแอ หรือแข็งแกร่งกว่า มันไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ แต่เป็นการกระทำเหมือนเช่นธรรมเนียมของชาวอาหรับที่ชวนเชิญแขกคนแปลกหน้าให้มาร่วมดื่มกาแฟก็เป็นสิ่งที่ชัดเจนในตนเองว่าเป็นการสร้างมิตรภาพและความผูกพันระหว่างกัน

เอกเทศ/เอกภาพ

ในต้นฉบับที่เรารู้จักกันในชื่อ Love(1797/98) เฮเกลได้อธิบายเอาไว้ว่า ความรักจะเป็นจริงได้ หากเราและคนอื่นๆ ต่างมีอำนาจ และมองเห็นผู้อื่นในฐานะของมนุษย์เฉกเช่นเดียวกันในทุกแง่มุม การขาดซึ่งความเคารพนี้ย่อมทำลายทุกอย่าง ความรักที่แท้จริงจะขจัดความขัดแย้งบาดหมางระหว่างกัน 

เฮเกลเห็นว่าความรักแม้จะไม่ใช่ทุกสิ่งของชีวิต แต่ความรักทำให้ชีวิตทั้งหมดสามารถดำรงอยู่เป็นเอกเทศและเป็นเอกภาพ อย่างในศตวรรษที่ 18 หรือก่อนหน้านั้นไม่นาน การอยู่ร่วมกันอย่างปราศจากความขัดแย้งจะเกิดขึ้นเมื่อเรายอมรับโครงสร้างที่เป็น ผู้ปกครองแบ่งปันสิทธิ์ให้ผู้ถูกปกครองตามเท่าที่ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ความเป็นเอกภาพนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อผู้ปกครองไม่สามารถรักษาความยินยอมนี้ไว้ได้ ด้วยสภาพการณ์ดังกล่าว เอกภาพระหว่างบุคคลจึงเป็นสิ่งที่เปราะบางพร้อมจะพังทลายลงได้ทุกเมื่อ แต่ด้วยความรักในโลกทัศน์แบบคริสต์ศาสนาก็เป็นไปได้ที่เราจะขจัดขัดแย้งและเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน

ชัดเจนว่าข้อเขียนที่ว่าด้วยความรักนี้เขียนขึ้นตอนที่เฮเกลยังเป็นหนุ่มเหน้า เขาพยายามครุ่นคิดถึงความขัดแย้งไม่ลงรอยกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติ 

โดยการค้นคว้าในห้วงเวลาดังกล่าวได้ทำให้เขาได้พบว่า แม้ในกรีกยุคโบราณจะมีแนวคิดที่ทำให้ชีวิตและการมีสุขผสานเข้ากันได้ แต่ปัญหาที่เกิดก็คือ การนับถือศาสนาที่หมายถึงการบูชาเทพเจ้าต่างๆ ก่อให้เกิดความขัดแย้งไม่ลงรอยกัน จนเมื่อเขาได้พิจารณาหลักความคิดแบบคริสต์ เช่นที่ปรากฏในงาน The Spirit of Christianityซึ่งแม้จะมีลักษณะบังคับ แต่ก็เขากลับเห็นว่าความรักเป็นเครื่องมือช่วยสานข้อขัดแย้งระหว่างมนุษย์ ความเชื่อ และชะตากำหนด

ความพยายามจะประสานความไม่ลงรอย หรือหาสิ่งที่เป็นเชิงบวกนี้อาจฟังดูไม่เป็นเฮเกลผู้เป็นบิดาแห่งนิเสธ (negativity) สักเท่าไหร่นัก หากความคิดของเฮเกลในห้วงดังกล่าวว่ากันว่าเป็นผลอิทธิพลจากเพื่อนสนิทของเขาผู้มีนามว่า ฟรีดริค เฮอเดอลิน (Friedrich Höderlin) กวีชาวเยอรมันคนสำคัญแห่งยุคโรแมนติกซึ่งแม้ความรักจะไม่ถูกเน้นย้ำหรือพูดถึงในแง่นี้ในช่วงที่เฮเกลสุกงอมทางความคิด แต่ความรักที่มาพร้อมกับอุดมการณ์ทางสังคมก็ถือว่ามีอยู่ในปรัชญาของเฮเกล อย่างน้อยก็ในสายตาของบรรดาสานุศิษย์ของเขา

ฟรีดริค เฮอเดอลิน (Friedrich Höderlin) กวีชาวเยอรมัน

อ้างอิง:

Alice Ormiston, Love and Politics: Re-interpreting Hegel (New York: State University of New York Press)

https://www.marxists.org/reference/archive/hegel/works/love/index.htm

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0