โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

In Clips:สื่อฮ่องกงถาม ใกล้เลือกตั้งแล้ว “ตระกูลชินฯ” จะยังเอาอยู่ไหม ก่อนแกะรอย “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” บุกเยี่ยมหมู่บ้านบรรพชนทางใต้ของจีน

Manager Online

อัพเดต 21 ม.ค. 2562 เวลา 10.20 น. • เผยแพร่ 21 ม.ค. 2562 เวลา 10.20 น. • MGR Online

เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - นสพ.เซาท์มอร์นิงไชนาโพสต์รายงานถึงตระกูลชินวัตร 2 วันซ้อน ตั้งคำถามว่าใกล้วันเลือกตั้งทั่วไปในไทยเข้ามา แต่ยังเป็นปัญหาว่า "ทักษิณ ชินวัตร" จะยังคงทำให้ตระกูลกลับมาผงาดอีกครั้งเหมือนเมื่อชนะการเลือกตั้งในปี 2001 ได้หรือไม่ โดยลงรูปภาพบุตรชายคนโต “พานทองแท้ ชินวัตร” ที่ในเวลานี้มีอายุ 39 ปีแล้ว พร้อมกล่าวว่า เป็นคนในตระกูลชินฯล่าสุดที่กระโดดเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ก่อนแกะรอยทักษิณและน้องสาว ยิ่งลักษณ์ ที่ได้เดินทางไปเคารพบรรพชนที่หมู่บ้านในมณฑลกว่างตง ทางใต้ของจีน

หนังสือพิมพ์เซาท์มอร์นิงไชนาโพสต์ สื่อฮ่องกง รายงานเมื่อวานนี้(20 ม.ค)ว่า หากว่าไม่ใช่เรื่องที่พลิกเหนือความคาดหมายที่เกิดรัฐบาลของพลเอก สุรยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เกิดกระพริบตาก่อน ไทยคงจะได้เข้าสู่โหมดการเลือกตั้งอย่างที่ตั้งตารอคอยหลังจากป่วยเป็นโรคเลื่อนมานาน ในขณะที่มีการประท้วงเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯสัปดาห์ที่แล้วในเรื่องนี้ ที่อาจเสี่ยงต่อการถูกจับเข้าคุก

วันพฤหัสบดี(16) ก่อนหน้า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลไทยได้ส่งสัญญาณยืนยันอย่างหนักแน่นล่าสุดว่า บรรดาผู้นำของกองทัพต่างคาดหวังว่า จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 24 มี.คนี้ แต่ทว่าบรรดานักวิเคราะห์ได้พากันขบคิดถึงคำถามที่ว่า เมื่อใดกันแน่ที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น และ “ตระกูลชินวัตร” ที่ชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ในปี 2001 และทุกการเลือกตั้งนับตั้งแต่นั้น จะสามารถกลับมาผงาดได้ในรอบนี้หรือไม่

พรรคเพื่อไทย ซึ่งถือเป็นจักรกลทางการเมืองของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีตลอดกาลของไทย ซึ่งทางสื่อฮ่องกงชี้ว่า พรรคนี้จงรักภักดีต่อทักษิณและอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ซึ่งเป็นน้องสาว เป็นอย่างมาก และได้ออกอาการตื่นเต้นสุดขีดในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเมื่อรัฐบาลไทยได้ออกคำสั่งยกเลิกการห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง

แต่ทว่า…นักสังเกตการณ์ต่างพากันไม่แน่ใจว่า ทางพรรคจะยังคงมีศักยภาพพอในด้านกลยุทธวิธีหรือในความนิยมในหมู่กลุ่มฐานเสียงเดิม

ซึ่งยุทธศาสตร์ของพรรคที่ใช้ คือการใช้นโยบายประชานิยมเพื่อฐานเสียงรากหญ้าพร้อมไปกับชื่อตระกูลชินวัตรด้วยการส่งสมาชิกของตระกูลชินวัตรลงสมัคร แต่อาจกลายเป็นความผิดพลาดในรอบนี้ ดันแคน แม็คคาร์โก(Duncan McCargo) นักสังเกตการณ์ที่จับตาตระกูลชินวัตรมาอย่างยาวนานชี้

กลายเป็นเรื่องที่น่าสงสัยในยุทธศาสตรของตระกูลชินวัตรล่าสุด ที่ได้ส่งสาวกที่จงรักภักดีไปลง 3 พรรคการเมืองได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ และพรรคเพื่อธรรม เซาท์มอร์นิงไชน่าโพสต์ชี้

โดยพรรคมุ้งเหล่านี้คาดว่าจะต้องฟาดฟันอย่างหนักกับ "พรรคพลังประชารัฐ" ซึ่งเป็นพรรคฐานเสียงของคณะรัฐประหารชุดพลเอกประยุทธ์ ซึ่งทางพรรคได้ออกมาโยนหินถามทาง โดยประกาศว่า หากว่าทางพรรคชนะการเลือกตั้ง พลเอกประยุทธ์จะกลับเข้าไปเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่อีกครั้งอย่างแน่นอน บวกไปกับความท้าทายของพรรคประชานิยมเช่นพรรคเพื่อไทยต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญใหม่

คาร์โกเจ้าของหนังสือ “สถานีทักษิณแห่งประเทศไทย” (The Thaksinisation of Thailand)ได้แสดงทัศนะว่า

“ถือเป็นช่วงเวลาอย่างแท้จริงของพรรคเพื่อไทยในการประเมินเข้าไปถึงความหลากหลายและความมั่นคงของพรรคในการที่จะบริหารพรรค ให้ถอยห่างจากความเป็นธุรกิจในครอบครัว หาไม่แล้ว ทางพรรคคงต้องประสบต่อความยุ่งยากในการที่จะยังคงความเป็นผู้นำในสนามการเลือกตั้ง”

และสำหรับยุทธศาสตร์ 3 พรรค คาร์โกกล่าวให้ความเห็นว่า ในตอนแรกเขาไม่แน่ใจนักว่า นี่เป็นความตั้งใจแต่แรกหรือไม่ โดยชี้ไปว่า “ 3 พรรคนั้นล้วนแล้วแต่สะท้อนความเป็นพันธมิตรของทักษิณที่ต่างกันออกไป และไม่จำเป็นต้องมีการจัดการที่สอดคล้องกัน”

ทักษิณซึ่งเป็นศูนย์กลางของการเคลื่อนไหวทั้งหมดได้ก่อตั้งพรรคเมื่อ 20 ปีก่อนหน้า และเขาได้ให้น้องเขยของตัวเอง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และน้องสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นนั่งเป็นนายกฯหลังจากที่ตัวเองถูกทำรัฐประหารและมีความผิดทางอาญาจนต้องลี้ภัยไปต่างแดน

สื่อฮ่องกงชี้ว่า และในการเลือกตั้งที่กำลังจะใกล้เข้ามา พบว่าคนในตระกูลชินฯหน้าใหม่จะลงสู่สนามเลือกตั้งภายใต้ค่ายพรรคเพื่อไทย ซึ่งนั่นก็คือ บุตรชายคนโต พานทองแท้ ชินวัตร วัย 39 ปี

โดยสื่อไทยรายงานในวันที่ 26 พ.ย ปีที่แล้วว่า “โอ๊ค” พานทองแท้ ชินวัตร ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และยังมีรายงานในวันถัดมาอีกว่า ทางพรรคจัดให้พานทองแท้ขึ้นเวทีปราศรัยคู่นักการเมืองฝีปากกล้า อดีตรัฐมนตรีของไทย เฉลิม อยู่บำรุง

และล่าสุดเมื่อราวกลางเดือนนี้ พานทองแท้ออกแถลงการณ์ผ่านทางทวิตเตอร์ แสดงความไม่พอใจที่พรรคเพื่อไทยของตัวเองถูกคำสั่งห้ามไม่ให้สนามกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยาเพื่อทำการหาเสียง โดยชี้เปรียบเทียบไปถึงพรรคการเมืองที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ พรรคพลังประชารัฐ สามารถเข้าใช้ได้

“  วันก่อนห้าม “พรรคเพื่อไทย”ใช้พื้นที่ฯ หาเสียง

วันนี้เวลคัมอีกพรรคฯ เชิญได้เลยเต็มที่..!!

2 วัน2มาตรฐาน จาก“หลังตีน” กลายเป็น“หน้ามือ”

เลือกตั้งครั้งนี้ จึงไม่เหมือนทุกครั้งทั่วไป

มันคือการแข่งขัน ระหว่าง “พลังประชาชน” กับ “พลังอำนาจรัฐ”

ใครอยู่ -ใครไป วันหย่อนบัตรรู้กัน..!!” รายงานจากทวิตเตอร์ของพานทองแท้ ชินวัตร อ้างอิงการรายงานจากสื่อไทย

ด้าน รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ประจำคณะคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความเห็นกับหนังสือพิมพ์เซาท์มอร์นิงไชน่าโพสต์ว่า "พรรคไทยรักษาชาติ" ที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาใหม่ กลุ่มคนนั้นเชื่อมโยงกับทักษิณเป็นอย่างมาก เกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับพรรคเพื่อไทย ซี่งอ้างอิงจากรศ.ดร.ฐิตินันท์ ที่ได้ชี้ว่า หนึ่งในผู้สมัครที่จะลงรับการเลือกตั้งภายใต้แบรนด์พรรคนี้เป็นหลานสาวของยิ่งลักษณ์คือ ชยิกา วงศ์นภาจันทร์

ดันแคน แม็คคาร์โกกล่าวว่า “ในขณะที่ยิ่งลักษณ์ถูกขึ้นชื่อว่า เป็นเหมือนหลักทรัพย์ทางการเลือกตั้งที่มีมูลค่าสูง ถือเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จที่ได้รับการสนับสนุนจากฐานเสียงและผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง และสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกองทัพและกลุ่มอำนาจเก่า แต่ในเวลานี้ แม็คคาร์โกชี้ว่า ***ยังคงเป็นที่สงสัยว่า “โอ๊ค พานทองแท้” จะสามารถทำได้หรือไม่***

ในขณะที่คนอื่นๆต่างกล่าวว่า ทางพรรคมีตัวเลือกจำกัด เว้นแต่ที่จะยังคงต้องชูคนในตระกูลชินฯต่อไป ท่ามกลางความพยายามของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่หาทางอย่างออกหน้าในการที่จะทำให้ผลักดันให้พ้นจากสนามการเมืองไทย

สื่อฮ่องกงกล่าวว่า การทำรัฐประหารในไทย 2 ครั้งเมื่อปี 2006 และปี 2014 ถูกมองว่าเป็นความล้มเหลวในการทำให้ขบวนการทักษิณหมดไป ที่มีสถาบันทางการเงินให้การสนับสนุนจากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในขณะที่กลุ่มปกป้องสถาบัน และคนชั้นกลางในเมืองต่างโจมตีตระกูลชินวัตรด้วยความเกลียดชัง และถูกมองว่าให้การสนับสนุนการทำรัฐประหารต่อตระกูลนี้

โดยเซาท์มอร์นิงไชน่าโพสต์ได้รายงานไปถึง ชยิกา หลานสาวของยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นบุตรสาว เยาวเรศ ชินวัตร  ตัวแทนจากพรรคไทยรักษาชาติได้กล่าวผ่านอินสตราแกรมของตัวเองล่าสุดว่า

“ครั้งแรกในชีวิตกับการปราศรัยบนเวที ขอบันทึกเอาไว้เป็นความทรงจำว่าวันนี้หลังพูดบนเวทีเสร็จ น้ำตาไหล ทั้งเสียงทั้งมือสั่นไปหมด แต่ดีใจที่ได้มายืนตรงจุดนี้ จุดที่เราจะได้บอกกับทุกคนในสิ่งที่เราเห็นจากประสบการณ์การทำงาน10 ปีที่ผ่านมาว่า "ความยากจนไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาด"ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องคิดใหม่ ทำใหม่ กล้าเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าอีกครั้งค่ะ”

และความพยายามล่าสุดในการต่อต้านพรรคเพื่อไทย สื่อฮ่องกงชี้ว่า คือกฎการเลือกตั้งใหม่ในประเทศใหม่ โดยชี้ไปที่ส.วที่ถูกคัดสรรค์จากการแต่งตั้งของกองทัพจะสามารถดำรงตำแหน่งได้นาน 5 ปี

อ้างอิงจากสื่อไทยพบว่า ตามบทเฉพาะกาลของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กำหนดให้ ส.ว.ชุดแรกมีทั้งหมด 250 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ตามที่ คสช.ถวายคำแนะนำ โดยมีช่องทางสรรหาทั้งหมด 3 ทางคือ

1.ให้คณะกรรมการสรรหาส.ว.ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. จำนวน 9-12 คน คัดเลือกบุคคลมาทั้งหมด 400 รายชื่อยื่นเสนอต่อ คสช. จากนั้น คสช.จะเป็นผู้เลือกให้เหลือ 194 รายชื่อ เพื่อเป็นส.ว. และคัดเป็นรายชื่อสำรอง 50 รายชื่อ

2.ให้ กกต. จัดให้มีการคัดเลือกส.ว.ตามบททั่วไป แต่ให้มีการรับสมัครเพียงแค่ 10 กลุ่มอาชีพ ตามมาตรา 91 และให้มีการดำเนินการคัดเลือกตามที่บทเฉพาะกาลบัญญัติไว้ สุดท้ายให้ได้รายชื่อทั้งหมด 200 รายชื่อ เพื่อยืนให้ คสช. คัดเลือกให้เหลือ 50 รายชื่อเพื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภา และคัดเป็นรายชื่อสำรอง 50 รายชื่อ

3.ให้มีส.ว.โดยตำแหน่ง 6 ตำแหน่งดังนี้ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.ทสส. ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ.และผบ.ตร.

ส.ว.ชุดนี้จะมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี และในวาระเริ่มแรกจะมีอำนาจให้ความเห็นชอบผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้

สื่อฮ่องกงชี้ต่อว่า ในขณะที่ส.สได้มีการแก้ไขว่าด้วยตัวแทนแบบสัดส่วน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นผลลบกับพรรคใหญ่เช่น พรรคเพื่อไทย และทำให้ในสถานการณ์เช่นนี้ ทางพรรคคงต้องทำทุกสิ่งเท่าที่จะทำได้ เพื่อทำให้ตัวแทนผู้สมัครไม่สละเรือไปก่อน นักวิเคราะห์ชี้ และรวมไปถึงการใช้แม่เหล็กคนตระกูลชินฯ เช่น พานทองแท้ และ ชยิกา ลงสนามเลือกตั้งรอบนี้

พอล แชมเบอร์ส (Paul Chambers) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยนเรศวร และนักสังเกตการณ์ทางการเมืองได้กล่าวว่า “ปราศจากคนตระกูลชินวัตรเข้ามาร่วมด้วย อาจมีนักการเมืองบางส่วนเริ่มเก็บสัมภาระและจากไป เป็นเพราะทักษิณและยิ่งลักษณ์ยังคงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในต่างจังหวัด”

ส่วนเควิน เฮวิสัน(Kevin Hewison) นักวิจัยทางการเมืองชาวออสเตรเลีย กล่าวว่า รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ได้ทำการห้ามลงรูปยิ่งลักษณ์และทักษิณในแคมเปญหาเสียงเลือกตั้ง ***จึงทำให้บุตรชาย “โอ๊ค” พานทอง แท้กลายเป็นสัญลักษณ์ของตระกูลไป***

แต่ทว่า โอ๊ค ที่ปัจจุบันอยู่ในวัย 39 ปีประสบปัญหาที่สำคัญคือ เขาถูกตั้งข้อหาฟอกเงิน ซึ่งทางตระกูลชินฯออกมาชี้นิ้วว่า เป็นข้อหาทางการเมืองเหมือนที่ได้กระทำกับทักษิณและยิ่งลักษณ์

โดยรศ.ดร.ฐิตินันท์ได้แสดงความเห็นถึงบุตรชายทักษิณว่า เขาไม่คาดการณ์ว่า พานทองแท้จะมีบทบาทศูนย์กลางทางการเมืองเนื่องมาจากคดีความของเขา และเฮวิสันเสริมต่อในจุดนี้ว่า หากว่าพานทองแท้สามารถเกิดได้จริงทางการเมืองระหว่างการหาเสียง จากการที่เป็นทายาทสายตรงของทักษิณ มันอาจจะยังไม่มากเพียงพอ

ซึ่งภายใต้กฎหมายการเลือกตั้งใหม่ ทางพรรคไม่ดูเหมือนว่าจะสามารถได้เสียงส่วนใหญ่จากที่นั่งในสภาล่างทั้งหมด 500 ที่นั่ง แต่อาจได้สัดส่วนมากที่สุดในป็อปปูลาร์โหวต

ซึ่งจากความเห็นของเฮวิสันที่ได้ชี้ว่า มีปัจจัยด้านกำหนดวันเลือกตั้งในการช่วยตระกูลชินวัตร

และในขณะเดียวกัน สื่อฮ่องกงได้รายงานต่อไปถึง หมู่บ้านในมณฑลกว่างตง ทางใต้ของจีน ซึ่งมีภาพของอดีตนายกรัฐมนตรีไทยถึง 2 คนได้แก่ ทักษิณ ชินวัตร และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประดับอยู่ สำหรับการตามร่องรอยของคนทั้งคู่ล่าสุด

"ทุกคนในที่นี่รู้ว่าบุคคลทั้งสองเกี่ยวข้องกับที่แห่งนี้อย่างแน่นอน” ซี ยีมิน ( Xie Yimin ) เจ้าของร้านอุปกรณ์ในบ้านตั้งในหมู่บ้านต้าเซียะ (Taxia village ) มณฑลกว่างตง ห่างออกไปจากเมืองเอกของมณฑล เมืองกว่างโจว 4 ชั่วโมงจากทางรถ

ซึ่งก่อนที่ทั้งทักษิณและยิ่งลักษณ์ต้องหลบไปอาศัยอยู่แต่ในต่างแดน คนทั้งคู่เป็นคนคุ้นเคยของที่นี่ สื่อฮ่องกงชี้ และด้วยการช่วยเหลือของรัฐบาลจีนในช่วงที่ทักษิณยังคงอยู่ในตำแหน่ง พบว่าเขาสามารถตามร่องรอยบรรพบุรุษต้นตระกูลของตัวเองจนมาพบที่หมู่บ้านแห่งนี้

พบว่าทักษิณเดินทางมาเยือนหมู่บ้าต้าเซียะครั้งแรกในปี 2005 และเดินทางมาพร้อมกับน้องสาว ยิ่งลักษณ์ อีกครั้งเมื่อปี 2014 ล่าสุด

ภาพของคนทั้งคู่ถูกประดับท่ามกลางรูปภาพลูกหลานของหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆ ได้แก่ตระกูลชิว (Qiu )

ทว่าความเป็นผู้มีชื่อเสียงของตระกูลชินวัตรสำหรับในหมู่บ้านนี้เริ่มที่จะหมดไป โดยซีกล่าวว่า “การเป็นญาติห่างๆกับ (ตระกูลชินวัตร) ถือเป็นสิ่งที่คนที่นี่ชอบพูดกัน"

แต่ไม่อีกต่อไป เซาท์มอร์นิงไชน่าโพสต์ชี้

ในการเดินทางมาเยือนหมู่บ้านบรรพบุรุษเมื่อวันที่ 5 ม.ค ปี 2014 กลายเป็นการมาเยือนอย่างเงียบๆ อ้างอิงจากสื่อจีน โดยพบว่าทั้งทักษิณและยิ่งลักษณ์ต่างหยุดแวะที่ศาลเจ้าเพื่อทำการสักการะ

"นี่ไม่เหมือนกับการเดินทางมาก่อนหน้า” ซีแสดงความเห็นกับสื่อฮ่องกง ซึ่งร้านจำหน่วยอุปกรณ์ภายในบ้านของเธอนั้นตั้งห่างออกไปจากศาลเจ้าเพียงไม่กี่อึดใจ

“นับตั้งแต่เกิดเรื่องอื้อฉาวกับยิ่งลักษณ์ พวกเราถูกร้องขอให้เก็บความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาและหมู่บ้านของเราไว้ในระดับที่ไม่ต้องเปิดเผยมากนัก”

และเสริมต่อว่า “ทางหมู่บ้านเพิ่งทราบถึงการมาเยือนของคนทั้งคู่ก็ต่อเมื่อครึ่งชั่วโมงก่อนหน้า ซึ่งตำรวจได้เริ่มต้นปิดถนน ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับการมาเยือนครั้งก่อนหน้านั้น พวกเราได้รับแจ้ง 1 สัปดาห์ล่วงหน้า”

ซีให้ข้อมูลว่า ชาวหมู่บ้านถูกสั่งให้ออกให้ห่าง มีเพียงเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐและญาติห่างๆของตระกูลชินวัตรเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าใกล้ได้

โดยซีได้เปิดเผยว่า ทักษิณและยิ่งลักษณ์ได้ใช้เวลาการเยือนหมู่บ้านต้าเซียะนานครึ่งชั่วโมง พร้อมกับป้ายต้อนรับที่ถูกขึ้นว่า "ขอต้อนรับการกลับมาของ "ทักษิณ" และ "ยิ่งลักษณ์" "

เซาท์มอร์นิงไชน่าโพสต์รายงานว่า การเดินทางไปเยือนหมู่บ้านบรรพบุรุษของทักษิณและยิ่งลักษณ์ สื่อภาครัฐของจีนถูกสั่งให้เลื่อนการรายงานออกไปภายในวันนั้น

ด้าน Qiu Mingqian สมาชิกคณะกรรมการหมู่บ้านต้าเซียะออกมาให้ความเห็นว่า ดูเหมือนแผนการที่จะอนุรักษประวัติศาสตร์ในหมู่บ้านแห่งนี้ที่เกี่ยวข้องกับตระกูลชินวัตรถูกเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด

"ทางรัฐบาลจีนต้องการอนุรักษ์สิ่งสำคัญทางมรดกประวัติศาสตรที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา และทำให้วัดบรรพชนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง” Qiu ชี้ และเสริมว่า “แต่ดูเหมือนแผนการไม่เคยดูจะคืบหน้า ด้วยเหตุผลด้านการเมือง”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0