โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Head/Line จุดเชื่อมต่อของเทคโนโลยี และวิถีชีวิตของผู้คนบนโลกออนไลน์

a day BULLETIN

อัพเดต 25 ก.พ. 2563 เวลา 05.49 น. • เผยแพร่ 25 ก.พ. 2563 เวลา 05.49 น. • a day BULLETIN
Head/Line จุดเชื่อมต่อของเทคโนโลยี และวิถีชีวิตของผู้คนบนโลกออนไลน์

คนหนุ่มอย่าง‘แชมป์’ - ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ทำอะไรหลายอย่าง โดยเนื้อแท้แล้ว ต้องบอกว่าเขาทำ ‘สื่อ’ ตลอดมา ตั้งแต่งานเขียน งานแปล ที่มีจุดเด่นด้านเทคโนโลยี ไล่ไปถึงงานพิธีกรรายการโทรทัศน์ แต่ที่หลายคนจำได้ไม่ลืม ก็คือการเป็นผู้ก่อตั้ง The MATTER สำนักคอนเทนต์ที่ลือลั่นว่ามีสไตล์นำเสนอเฉพาะตัว

        ดังนั้น จะมีใครพูดเรื่อง ‘สื่อ’ ทั้งใหม่เก่า ที่หลอมผสานเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ดีไปกว่าเขาอีกเล่า

        ปัจจุบันนี้ ทีปกรรับตำแหน่ง Thailand Editorial Country Manager อยู่ที่บริษัท Netflix ในสิงคโปร์ นั่นยิ่งทำให้เขาอยู่ในที่ทางที่ ‘มองเห็น’ ภาพของสื่อได้กว้างขวางชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก

        a day BULLETIN จึงชวนเขามาร่วมสนทนากันเรื่องสื่อและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ว่าสิ่งเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อสังคมและตัวเราอย่างไรบ้าง

 

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

อยากชวนเริ่มต้นด้วยการมองในภาพรวมๆ ก่อน ว่าในทศวรรษที่กำลังมาถึง วงการเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

        โห จริงๆ เรื่องการทำนายอนาคตเป็นเรื่องที่ยากมาก และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะโดยปกติแล้ว การเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยี จะเป็นกราฟแนว S Curve (Sigmoid Function) ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ อยู่ตลอด

        ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราอยู่ในช่วงแนวตั้งของตัว S จึงทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก เราจะเห็นว่ามีเรื่องใหญ่เกิดขึ้นมากมาย เรามีสมาร์ตโฟน เรามีโซเชียลมีเดีย เรามีสังคมออนไลน์เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

        แต่ในปัจจุบันผมรู้สึกว่า เราขึ้นมาอยู่บนส่วนที่เริ่มจะราบเรียบของ S Curve แล้ว เป็นกราฟค่อนข้างหยุดนิ่ง เคยมีถามผมเหมือนกัน ว่าทำไมถึงไม่เขียนคอลัมน์เทคโนโลยีแล้ว จริงๆ เพราะผมรู้สึกว่าเทคโนโลยีในช่วงปีที่ผ่านมาไม่มี ‘พัฒนาการที่ก้าวกระโดดจนเกิดสิ่งใหม่’ อย่างที่เรียกว่า breakthrough เหมือนเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาเท่าไหร่นัก

        ดังนั้น ถ้าให้ทำนายในอีก 10-20 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ผมคิดว่าในช่วง 1-2 ปีแรกคงจะยังไม่เกิดอะไรมาก แต่ถัดจากนั้นหากมีการก้าวกระโดดจนเกิดสิ่งใหม่ขึ้นมาจริงๆ ก็อาจไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรารู้ทุกวันนี้เหมือนกัน

        เพราะถ้ามองย้อนกลับไปก่อนหน้าที่จะมีโซเชียลเน็ตเวิร์ก เราก็เดาไม่ออกเลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ผมมองว่าต่อไปก็ยังมีอีกหลายเทคโนโลยีที่กำลังฟูมฟักและยังไม่เผยแพร่ในสังคม เป็นสิ่งที่พวกเราคาดเดาไม่ได้มากนัก และสิ่งที่คาดเดาไม่ได้เหล่านี้นี่เอง ที่จะผลักดันให้ให้เทคโนโลยีเติบโตแบบก้าวกระโดดขึ้นมา 

แปลว่าการก้าวกระโดดของเทคโนโลยี อาจมีปัจจัยหลายอย่างเป็นตัวหนุนขับ

        ใช่ เกิดจากการสั่งสมของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องหลายๆ อย่าง ตัวอย่างเช่นการเกิดขึ้นของสมาร์ตโฟนจากบริษัทหนึ่ง ไม่ได้เกิดมาจากความคิดของบริษัทอย่างเดียว ตอนนั้นเทคโนโลยีจอสัมผัส (Touchscreen) ก็มีแล้ว มีการผลิตชิป (Chip) หรือซีพียู (CPU) ต่างๆ ที่ทรงประสิทธิภาพมากกว่าแต่ก่อนแล้ว แต่พอความก้าวหน้าของเทคโนโลยีหลายๆ อย่างมาผสมกันในปัจจัยที่เหมาะสม ก็ทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมา

        มีมายาคติหนึ่งที่คนชอบพูดกันว่า สตีฟ จ็อบส์ เป็นคนประดิษฐ์ไอโฟน แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เขาเป็นคนรวบรวมเทคโนโลยีต่างๆ ให้มาอยู่ในเครื่อง แล้วจึงเกิดแรงหนุนทางด้านสังคม ทางด้านราคา และทางด้านเทคโนโลยีจนทำให้ประสบความสำเร็จขึ้นมามากกว่า

        สรุปแล้วปัจจัยที่ทำให้เกิดการพัฒนาก้าวกระโดดแบบนี้ได้ คือเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานที่ต่อยอดกันไปเรื่อยๆ หลายๆ ชิ้น จนสิ่งใหม่เกิดขึ้นมาได้

        อยากให้คิดว่าการเติบโตของเทคโนโลยีแบบ S Curve ที่บอกว่าเราอยู่ในช่วงนิ่งๆ เหมือนในปีที่ผ่านมานี้ ไม่ได้แปลว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ยังมีการพัฒนาอยู่ แต่มันซ่อนตัวอยู่ เลยดูไม่ค่อยทรงพลังเท่าไหร่นัก เพราะไม่มีปัจจัยอื่นๆ เช่น เรื่องการเข้าถึงโอกาส และอื่นๆ มาเป็นแรงผลักให้กราฟเหวี่ยงเป็นตัว S แนวตั้งแบบที่ผ่านมา

นอกจากเรื่องเทคโนโลยีแล้ว สังคมเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ด้วยไหม

        ทุกวันนี้เราเห็นหลายสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น โปรแกรมแปลงใบหน้า (Deepfake) หรือข่าวปลอม (Fake News) แล้ว แต่สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น จะเห็นได้ว่าก็เกิดกระแส Anti-Fake News หรือ Anti-Deepfake ขึ้นมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาของเทคโนโลยีด้วยซ้ำ

        เพราะฉะนั้น ถ้าเราพูดกันถึงเรื่องสื่อ มันจะไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยีล้วนๆ จริงอยู่ที่เทคโนโลยีอาจพัฒนาขึ้นบ้าง แต่เป็นกระแสสังคมมากกว่าที่ช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง ซึ่งบางทีคนประดิษฐ์ก็ไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าเทคโนโลยีของเขาจะถูกปรับใช้ขนาดนั้น 

        อย่างในปีที่ผ่านมา พอดแคสต์เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น หลายคนอาจคิดว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงของสื่อ แต่จริงๆ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ 4-5 ปีที่แล้ว แต่ที่เพิ่งได้รับความนิยมตอนนี้ คงเป็นเป็นเรื่องของการเข้าถึงการใช้งาน หรือการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตที่ต้องเดินทางมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยทางสังคมทั้งนั้น

ปัจจุบันนี้เราพูดว่าสังคมออนไลน์สำคัญกว่าสังคมออฟไลน์ได้ไหม

        ผมจะไม่เปรียบเทียบแบบนั้น มันเป็นการเปรียบเทียบที่มีลักษณะ Duality หรือสองขั้วเกินไป แต่ผมรู้สึกว่าสังคมทั้งออนไลน์และออฟไลน์เชื่อมต่อกัน 

        จริงๆ มีแนวคิดที่ว่าด้วยเรื่องการแยกสังคมออนไลน์และออฟไลน์ออกจากกัน แต่ก็อาจจะไม่จริงเสมอไป เช่น ถ้าเราบอกว่า อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ในสังคมออนไลน์ไม่ใช่อินฟลูเอนเซอร์ในสังคมออฟไลน์ก็ไม่ถูกต้อง เขาทำเงินในโลกออนไลน์ได้จริง มีคนติดตามเขาทางนั้นจริง แต่ในโลกออฟไลน์ เวลาออกไปทำงานข้างนอกก็ยังมีคนตามเขาจริงๆ ผมมองว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนกลับไปกลับมาซึ่งกันและกัน

        แต่สิ่งที่แตกต่างระหว่างสังคมออนไลน์และออฟไลน์​ คือความสามารถในการแพร่กระจายที่สังคมออนไลน์ทำได้เร็วกว่า สังคมออฟไลน์มีข้อจำกัดทางกายภาพ วันหนึ่งๆ ผมไม่สามารถเจอคน 100,000 คนได้ แต่ในสังคมออนไลน์ผมอาจทำได้ ความแตกต่างทางด้านขนาด มันสร้างปรากฏการณ์บางอย่างทีได้ ผ่านความสามารถในการเผยแพร่ของมัน 

โลกออนไลน์เป็นสังคมที่เหวี่ยงรุนแรงมาก ถ้าคุณทำได้ดีคนทั้งโลกก็ชื่นชม ถ้าทำได้แย่คนทั้งโลกก็รุมด่า แต่ถ้าคุณเป็นคนทั่วไปก็จะไม่มีใครสนใจเราเลย

ความที่ adB เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ และคนทั่วไปก็ชอบพูดว่าสื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย เราจึงอยากรู้ว่าคุณคิดแบบนั้นด้วยไหม

        หลายคนชอบบอกว่าสื่อสิ่งพิมพ์จะตาย แต่ผมมองว่ายังมีข้อดีทางกายภาพอยู่ มีหลายอย่างยังต้องพิมพ์ลงกระดาษอยู่ เทคโนโลยีอาจเพียงทำให้การพิมพ์ในแบบอื่นๆ เปลี่ยนไป เช่น แมกกาซีนที่มีระยะเวลาใช้งานสั้นอาจหายไป เพราะไม่ได้ใช้ข้อดีของสื่อสิ่งพิมพ์ คือการสร้างคุณค่าที่คู่ควรแก่การเก็บรักษา

        แต่ผมคงพูดเหมือนอีกหลายคนว่า สิ่งที่พิมพ์ที่ยังอยู่ได้ คือสิ่งที่พิมพ์ที่คนอยากจะเก็บเท่านั้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง การแปลงข้อมูลทั้งหมดไปเป็นข้อมูลออนไลน์ ผมมองว่ามันก็มีข้อเสียเหมือนกัน

        มีหลายคนออกมาบอกว่า การอ่านหนังสือบนหน้าจอกับบนกระดาษจริงๆ ส่งผลต่อความทรงจำของเราต่างกัน เพราะการอ่านหนังสือที่เป็นกระดาษ เราได้สัมผัสบริบทของมันด้วย เราได้เห็นจำนวนหน้าที่พลิกอยู่ ได้รู้สึกถึงน้ำหนักมือที่จับหนังสือ ซึ่งจะคอยส่งสัญญาณให้เรารู้ตัวว่าเนื้อหาตรงนั้นอยู่ที่หน้านี้ แต่ถ้าเราอ่านผ่านหน้าจอแท็บเล็ตหรือโทรศัพท์ บริบทตรงนั้นจะหายไป อาจดูไม่สำคัญอะไร แต่ส่งผลต่อการจดจำของสมองอยู่เหมือนกัน

        เรื่องพวกนี้เป็นข้อดีของการทำสิ่งของให้จับต้องได้ เพราะสุดท้ายแล้วเราเป็นมนุษย์ยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องอาศัยการสัมผัสอยู่ การทำสิ่งของให้จับต้องบนโลกได้เช่นนี้ มันมีข้อดีทางการสัมผัสและความทรงจำอยู่เหมือนกัน

 

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

ทุกวันนี้ดูเหมือนใครก็เป็นสื่อได้ สื่อออนไลน์จึงมีความหลากหลายมาก ในบางกรณีสื่อออนไลน์ก็ถูกด่าด้วยซ้ำไปว่ามีจรรยาบรรณของสื่อน้อยลง คุณมองสื่อออนไลน์ในปัจจุบันอย่างไร

        ผมมองว่าคงไม่ได้เป็นอะไรนอกจากการสะท้อนของแพลตฟอร์มมากกว่า เวลาเราถามว่าสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นจากอะไร คำตอบมันขึ้นอยู่กับตัวแปร 2 อย่างคือ แพลตฟอร์มที่เอื้อให้สิ่งเหล่านี้ขึ้นมา และบริบทสังคม

        ข้อแรกต้องเริ่มจากคำถามที่ว่า แพลตฟอร์มในปัจจุบันอย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์เอื้อให้เกิดอะไร ซึ่งคำตอบคือ มันเอื้อที่จะให้เกิดการเผยแพร่ข่าวได้มากและได้เร็วที่สุด ทำให้บางคนที่เห็นโอกาส เข้ามาใช้จุดแข็งนี้สร้างประโยชน์ให้กับตัวเอง จึงไม่แปลกที่คนจำนวนมากจะบอกว่าฉันเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่พร้อมจะเผยแพร่ข่าวที่เร็วที่สุดในโลกออนไลน์ เพราะแพลตฟอร์มเอื้อให้มีกติกาแบบนี้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

        อีกเรื่องคือบริบททางสังคม เราต้องกลับมาถามว่า การที่คนจำนวนมากออกมาบอกว่าฉันจะเป็นสื่อและผลิตเนื้อหาเอง อาจเป็นเพราะว่าสื่อดั้งเดิมไม่ได้ตอบสนองความต้องการของเขาหรือเปล่า อย่างเช่น สื่อดั้งเดิมมีโครงสร้างเป็นชั้นๆ ที่อาจครอบด้วยตัวแปรทางธุรกิจ การเมือง หรือสังคมใดๆ ซึ่งบางทีเราก็ไม่อยากถูกครอบด้วยโครงสร้างแบบนั้น อีกอย่างเราก็มีสื่อออนไลน์ที่อยู่ในมือ ก็เอื้อให้เราสามารถพูดอะไรโดยที่ไม่ถูกคัดกรองได้มากกว่า 

        ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียกันทั้งคู่ ผมสรุปไม่ได้อยู่ดีว่าแบบไหนดีกว่ากัน บางเรื่องที่มันเร็วก็ดี แต่บางเรื่องที่มันช้า มีเวลาได้คัดกรองก็อาจจะดีกว่า ถ้าเป็นข่าวใหญ่ที่ออกไปได้เร็วแต่ไม่ถูกต้อง ก็อาจส่งผลเสียได้มาก

แปลว่าฝั่งผู้เสพสื่อเองก็ต้องเลือกรับข้อมูลกันอย่างถี่ถ้วนมากขึ้นด้วยใช่ไหม

        ใช่ เวลาที่คนบอกว่าข่าวถูกต้อง 100% ที่เคยได้ยินกันมา มีคำว่าถูก ‘ของใคร’ ครอบอยู่ด้วย เพราะความจริงชุดนั้นประกอบขึ้นจากความคิดของคนหลายๆ คน แล้วถ้าเราบอกว่าคนคนหนึ่งเรารู้สึกแบบนี้ในมุมของเขา เขาเลยเผยแพร่ออกมา ข่าวชุดนั้นก็มีข้อคิดเห็นของผู้เผยแพร่ผสมด้วยแล้ว 

        ในฐานะคนอ่านหรือผู้รับสื่อจะต้องตระหนักไว้ในใจเสมอว่า ทุกอย่างที่ปรากฏในทุกที่บนโลกรวมไปถึงโลกออนไลน์ถูกสื่อสารผ่านตัวกรองบางอย่างมาแล้วทั้งนั้น เวลาใครพูดอะไรออกมา ก็มักออกมาจากมุมมองของเขาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว 

        ซึ่งถ้าเราตระหนักรู้ข้อเท็จจริงนี้ได้ การเสพข้อมูลบนโลกออนไลน์สามารถทำให้เราเข้าชุดความจริงที่หลากหลายได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะการมีอยู่ของข้อมูลจำนวนมากบนแพลตฟอร์มนี้จะช่วยให้เราเสพข่าวช้าลง มีการคิดวิเคราะห์มากขึ้น แล้วเราจะได้ชุดความจริงในข่าวนั้นที่ครอบคลุมมากขึ้น

        หลายสื่ออาจยึดแนวคิด ‘การทำสื่อที่คนอยากฟัง’ ซึ่งผมมองว่าถ้าเราพูดอะไรที่คนอยากฟัง พูดในสิ่งที่คนอื่นรู้สึกว่าอยากพูดมานานแล้ว แต่ไม่มีใครเคยพูดแทนเขาเลย ก็อาจประสบความสำเร็จในแง่ของตัวเงินและจำนวนคนติดตามได้ แต่จะนำไปสู่สังคมที่ดีหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ในอนาคตข้างหน้าสื่อที่เป็นองค์กรจะอยู่ได้ไหม และต้องทำอย่างไรให้มีจุดแข็งแตกต่างจากอินฟลูเอนเซอร์

        องค์กรอาจมีข้อดีเรื่องของเงินทุน การเข้าถึงโอกาสต่างๆ หรือความจริงบางชุด ดังนั้น ถ้าสังคมยังมีกลุ่มคนที่ยังต้องการสื่อสารผ่านการใช้จุดแข็งเหล่านี้อยู่ ผมว่าองค์กรก็ยังอยู่ได้ 

        เรื่องนี้องค์กรคงต้องกลับไปคิดว่า ข้อดีของฉันคืออะไร แล้วต่างกับสื่ออื่นๆ อย่างไร บางเรื่องทำให้ข้อดีขององค์กรน้อยลง เพราะอินเทอร์เน็ตทำให้เราเข้าถึงทุกอย่างได้ เช่น เมื่อก่อนเราอาจบอกว่าข้อดีขององค์กรคือฉับไว ทำได้ทันที แต่ตอนนี้ไม่มีอีกต่อไปแล้ว บางทีอาจจะด้อยกว่าอินฟลูเอนเซอร์ด้วยซ้ำไป

        บางองค์กรก็ใช้จุดแข็งของทั้งสองฝั่งผ่านการปั้นนักข่าวให้เป็นอินฟลูเอนเซอร์เลย แทนที่จะให้เขาออกไปเป็นอินฟลูเอนเซอร์เอง ซึ่งนี่เป็นคุณค่าที่สะท้อนกลับไปกลับมาระหว่างสิ่งที่เป็นปัจเจกกับสำนักข่าวได้ดี เพราะเมื่อองค์กรทำให้นักข่าวแข็งแรงขึ้น มีตัวตนบนโลกออนไลน์ได้แล้ว ชื่อเสียงก็จะสะท้อนกลับมาที่องค์กร 

        ดังนั้น การทำงานในฐานะองค์กรก็ต้องกลับมาคิดว่า สุดท้ายแล้วกลยุทธ์ของเราคืออะไร ข้อดีของเราคืออะไร และเราอยู่รอดได้อย่างไรบนสื่อที่มีความเปลี่ยนแปลงในทิศทางนี้

ในอนาคต อาชีพสื่อจะถูกดิสรัปต์โดยเทคโนโลยีบ้างไหม

        ตอนนี้ก็มีบ้างแล้ว เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ออฟไลน์ก็เริ่มปิดตัวไปแล้ว หรือในการเปลี่ยนแปลงตอนนี้นักข่าวก็ต้องการทักษะมากขึ้น ต้องทำกราฟิกได้ ต้องถ่ายคลิปเองได้ ต้องเป็นนักข่าวที่เล่าเรื่องผ่านโทรศัพท์เป็น (Mobile Journalism) ต้องรู้จักการพูดหน้ากล้องให้มากขึ้น ซึ่งถ้าใครที่มีทักษะแบบนี้ครบ แล้วสามารถใช้จุดแข็งของตัวเองมาเป็นลายเซ็นตัวเองได้ ผมมองว่าก็จะอยู่รอดในการแทรกแซงของเทคโนโลยีเช่นนี้อยู่

        ทักษะที่หลากหลายเป็นเหมือนอุปกรณ์ การที่เราทำอะไรได้หลายอย่างทั้งพูด อ่าน เขียน ตัดต่อ ทำกราฟิก มันเป็นอุปกรณ์ที่ขับเคลื่อนให้เราไปอยู่ในหลายผลิตภัณฑ์มากขึ้น เช่น ถ้าเราเขียนได้ เราก็สามารถสื่อสารกับคนแบบนี้ได้ เราทำกราฟิกได้เราก็ไปสื่อสารกับคนอีกแบบได้ ซึ่งนำไปสู่การสื่อสารกับคนได้มากขึ้น ซึ่งก็นำไปสู่การอยู่รอดที่มีทางเลือกมากขึ้น

 

Head/Line

        ‘แชมป์’ - ทีปกร วุฒิพิทยามงคล กำลังจะมีคอลัมน์ประจำกับ a day BULLETIN โดยใช้ชื่อว่า Head/Line แค่ชื่อคอลัมน์ก็บอกใบ้แล้วถึงความพยายามตั้งโจทย์เกี่ยวกับการสื่อสารแบบต่างๆ ทั้งกับสื่อมวลชน ไปจนถึงการสื่อสารระหว่างบุคคลด้วยกันเอง เช่น การแชต ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และมีอะไรที่น่าตื่นเต้นบ้าง ที่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนธรรรมชาติของการสื่อสาร และธรรมชาติของมนุษย์ในอนาคต

ภาพ: a day magazine

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0