โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

HaHa Taxi App เรียกแท็กซี่แนวใหม่ เชื่อมมือถือเข้า “มิเตอร์ดิจิทัล”

Manager Online

อัพเดต 23 ม.ค. 2562 เวลา 19.19 น. • เผยแพร่ 23 ม.ค. 2562 เวลา 19.19 น. • MGR Online

แจ้งเกิด “ฮาฮาแท็กซี่” (HaHa Taxi App) แอปพลิเคชันเรียกรถแท็กซี่แนวใหม่บนงบลงทุน 20 ล้านบาท ชูจุดแข็งต่างจากแอปอื่นเรื่องการไม่เชื่อมมือถือเข้ากับมือถือ แต่เป็นการเชื่อมมือถือเข้ากับ ”มิเตอร์ดิจิทัล” ซึ่งจะครบเครื่องทั้งเรื่องสะดวกและปลอดภัย ขึ้นแท่นแอปพลิเคชันแรกในไทยที่ร่วมมือกับ “มาสเตอร์พาส” (Masterpass) ซึ่งมาสเตอร์การ์ดยืนยันว่าไม่มีการหักค่าธรรมเนียม ผู้ขับจะได้รับเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยโดยเหมาจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีและซื้ออุปกรณ์

นายหัสดินทร์ เอี่ยมชีรางกูร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮวา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการรถแท็กซี่ครบวงจรราว 4,000 คันในกรุงเทพฯ กล่าวว่า HaHa Taxi App เกิดขึ้นบนความร่วมมือกับมาสเตอร์การ์ดประเทศไทย ซึ่งทำให้ผู้โดยสารสามารถจองแท็กซี่ล่วงหน้า แล้วจ่ายเงินด้วยระบบมาสเตอร์พาส รวมถึงเงินสด จุดแข็งของระบบคือการกำหนดให้ผู้ขับต้องยืนยันตัวก่อนเข้าระบบ จึงจะสามารถขับรถได้โดยที่ข้อมูลทุกอย่างจะถูกส่งไปที่เซิร์ฟเวอร์คลาวด์ของบริษัท

“เราทำแท็กซี่มานาน 30 ปี จึงพยายามศึกษาว่าต้องทำอะไรจึงจะดีที่สุด เราตัดสินใจทำแอปนี้ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความง่าย สะดวก และปลอดภัย ก่อนนี้การจองรถอาจจะยาก แต่แอปนี้จะทำให้เรามีวิธีสื่อสาร มีระบบจองล่วงหน้า เชื่อว่าจะตอบความต้องการได้โดยเฉพาะผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางไปสนามบิน”

แม้ที่ผ่านมา ตลาดแอปพลิเคชันเรียกรถแท็กซี่ไทยจะมีผู้เล่นอยู่แล้ว แต่ล้วนเป็นแอปพลิเคชันที่เน้นการสื่อสารแบบ “โมบายล์ทูโมบาย” ทำให้ผู้ขับบางรายเปลี่ยนรถตามอำเภอใจ หรือเกิดความเสี่ยงทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับบริการอย่างที่หวัง สำหรับ HaHa Taxi App หัสดินทร์ระบุว่าตัวระบบจะมีการติดฮาร์ดแวร์ไว้ในรถ ร่วมกับการใช้ซอฟต์แวร์ที่กำหนดให้ผู้ขับต้องอยู่ในรถที่ถูกกฎหมาย ขณะเดียวกัน ก่อนลงชื่อเพื่อขับรถก็จะต้องผ่านการตรวจประวัติอาชญากรรม

ฮาร์ดแวร์ดังกล่าวคือมิเตอร์ดิจิทัล ซึ่งผู้บริหารโฮวาเชื่อว่าจะเป็นเครื่องมือหลักในการป้องกันอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับแท็กซี่ได้ สิ่งที่โฮวาทำคือการกำหนดให้ผู้ขับจะต้องรูดบัตรที่มิเตอร์ก่อนขับทุกครั้ง ระบบบนมิเตอร์ดิจิทัลไม่เพียงยืนยันตัวตนหรือเทียบกับข้อมูลประวัติอาชญากรรม แต่ยังสามารถติดตามวันเวลาที่เริ่มขับรถ ความเร็วในการขับ ตำแหน่ง และค่าโดยสาร ซึ่งจะเพิ่มความอุ่นใจให้ผู้โดยสารได้

กรมขนส่งทางบกไฟเขียว

มิเตอร์ดิจิทัลนี้ได้รับการรับรองจากกรมขนส่งทางบกแล้ว โดยนายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ยอมรับว่าปัจจุบัน ปริมาณแท็กซี่ในกรุงเทพมหานครมีจำนวนราว 80,000 คัน แต่ไม่เพียงพอเพราะมีการปฏิเสธผู้โดยสาร ขณะเดียวกัน แท็กซี่ยังนิยมรับผู้โดยสารที่โบกรถริมทาง จุดนี้เชื่อว่าหากการรับรถทางแอปพลิเคชันจะทำให้ผู้ขับมีรายได้เพิ่ม ก็เชื่อว่าแท็กซี่ไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

สำหรับแอปพลิเคชันเรียกรถร่วมเดินทางอื่นที่ยังใช้รถทะเบียนขาว ท่านอธิบดีฯย้ำว่าอย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามกฏ โดยเฉพาะกรณีที่มีประชาชนร้องเรียนก็จะจับกุมทุกคันต่อเนื่องหากพบความผิด อย่างไรก็ตาม การจับกุมไม่อยู่ในขอบเขตการดำเนินงานของทางกรมขนส่งทางบก

แอปแรกจับ Masterpass

HaHa Taxi App ยังมีระบบชำระเงินแบบไร้เงินสด Masterpass ที่การันตีการจ่ายเงินที่ปลอดภัย ประเด็นนี้ นางสาวไอลีน ชูว ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาตลาดประจำประเทศไทยและเมียนมาร์ มาสเตอร์การ์ด ระบุว่าระบบชำระเงินไร้เงินสดจะสร้างความปลอดภัยให้แท็กซี่เรื่องการไม่ต้องเก็บเงินสดในรถ รวมถึงการแก้ปัญหาไม่มีเงินทอน เรียกว่าจะจัดการเงินได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถยกระดับการท่องเที่ยวในเมืองอย่าง กทม. เพิ่มรายได้ให้เกิดการใช้บริการจากนักท่องเที่ยวมากขึ้น

“มาสเตอร์การ์ดสนใจบริการด้านขนส่ง เพราะเชื่อเรื่องสมาร์ทซิตี้ งานวิจัยพบว่าการใช้ชีวิตจะไร้รอยต่อมากขึ้นหากบริการขนส่งสามารถรองรับการจ่ายเงินดิจิทัลมากขึ้น ยกตัวอย่างที่อังกฤษทั้งบริการรถไฟและเรือประสบความสำเร็จมาก จน 40% มีการใช้จ่ายแบบคอนแทคเลส ยังมีที่สิงคโปร์และฮ่องกงที่เราเริ่มทำแล้ว และเอาความสำเร็จมาต่อยอดที่นี่”

ทุกครั้งที่จ่ายเงินบน HaHa Taxi App ข้อมูลชำระเงินจะไม่ถูกเก็บในแอป แต่ส่งไปเก็บที่เซิร์ฟเวอร์มาสเตอร์การ์ด ผู้ขับรถจะไม่เห็นข้อมูลส่วนตัวของผู้โดยสาร จุดนี้ผู้บริหารย้ำว่า HaHa Taxi ถือเป็นแอปพลิเคชันแรกที่มีการร่วมมือกับ Masterpass อย่างจริงจังในประเทศไทย เบื้องต้นยังไม่มีการเปิดเผยแผนขยายธุรกิจกับแอปพลิเคชันอื่นในอนาคต

รูปแบบค่าบริการที่ผู้โดยสาร HaHa Taxi App ต้องชำระ คือค่าบริการตามจริงที่ปรากฏในมิเตอร์ บวกกับค่า Surcharge 50 บาท และ/หรือ ค่า Advance อีก 150 บาทในกรณีที่มีการจองรถ รายได้ทั้งหมดจะถูกส่งให้ผู้ขับ โดยผู้ขับรถให้บริการ HaHa Taxi จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสมาชิกรายปี 3,500 บาท และค่าติดตั้งมิเตอร์ดิจิทัล ซึ่งมีราคาราว 3 หมื่นบาท

ราคานี้ถูกมองว่าต่ำกว่าที่แท็กซี่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว ที่ผ่านมา แท็กซี่ทั่วไปต้องใช้เงินราว 6,000-7,000 บาทในการติดตั้งมิเตอร์ จากนั้นอาจใช้เงินอีก 20,000 บาทเพื่อติดตั้งวิทยุสื่อสาร หากแท็กซี่ต้องการเข้าโครงการ Taxi OK ของกรมการขนส่งทางบกก็จะต้องติดตั้งอุปกรณ์ GPS ซึ่งบางกรณีมีราคาหลายพันบาท เทียบแล้วพบว่าระบบมิเตอร์ดิจิทัลมีราคาต่ำกว่ามิเตอร์ระบบดั้งเดิม

“จุดต่างของเรากับคู่แข่ง คือการเน้นที่งานจองแท็กซี่ล่วงหน้า (มากกว่า 3 ชั่วโมง) ซึ่งไม่ต้องใช้คนขับที่ใกล้ที่สุด แต่ต้องการคนขับรถที่ดีที่สุด กลุ่มเป้าหมายของเราคือกลุ่มที่มองว่าค่าบริการที่เพิ่มขึ้นมานั้นสมเหตุสมผลกับความปลอดภัยที่ได้รับมากขึ้น เช่นกลุ่มนักท่องเที่ยวในโรงแรมที่สหกรณ์มีจุดจอดรถให้บริการ ลูกค้าสามารถติดตามข้อมูลการเดินทางได้ละเอียด และสามารถติดตามสัมภาระ ในกรณีลืมสิ่งของมีค่าไว้บนรถได้”

โฮวานั้นเป็นผู้บริหารสหกรณ์แท็กซี่สุวรรณภูมิ และให้บริการศูนย์วิทยุ รวมถึงให้บริการสินเชื่อรถแท็กซี่มาก่อน เป้าหมายของ HaHa Taxi ที่โฮวาตั้งไว้คือการขยายจำนวนรถให้บริการเป็น 20,000 คัน (ไม่กำหนดเวลา) จากปัจจุบันที่รองรับราว 500 คัน และยังไม่มีการกำหนดเป้าหมายยอดดาวน์โหลดในขณะนี้.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0