โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

Gobear เผยผลสำรวจสุขภาพทางการเงินของคนไทย ชี้ไม่ออมเงิน-รายจ่ายมากกว่ารายรับ-ขาดการวางแผนและความรู้

The Momentum

อัพเดต 18 ต.ค. 2562 เวลา 06.55 น. • เผยแพร่ 18 ต.ค. 2562 เวลา 06.55 น. • THE MOMENTUM TEAM

Gobear Thailand แพลตฟอร์มเว็บไซต์รวบรวม ค้นหา และเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ได้จัดทำดัชนีวัดสุขภาพทางการเงิน (Gobear Financial Health Index) ใน 4 ประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย

สำหรับผลสำรวจในประเทศไทย ทาง Gobear ได้ทำการศึกษาใน 5 กลุ่มอายุ ได้แก่ กลุ่มอายุ 18-25 กลุ่มอายุ 26-35 กลุ่มอายุ 36-45 กลุ่มอายุ 46-55 และกลุ่มอายุ 56-65 พบว่าประมาณ 50% ของทุกกลุ่มอายุไม่ลงทุนเนื่องจากไม่มีเงินเหลือเพียงพอหลังหักรายจ่าย เหตุผลอื่นที่ตามมาคือขาดความรู้ด้านการลงทุน และมองว่าการลงทุนเป็นความเสี่ยง 

นอกจากนี้ยังพบว่ากว่า 50% มีเงินออมในบัญชีไม่มากพอที่จะใช้ดำรงชีพได้เกิน 6 เดือนหากเกิดการขาดรายได้กระทันหัน และปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินถือเป็นปัญหาที่เกิดซ้ำ โดย 66% เจอปัญหาเป็นประจำทุกปี 

ทาง Gobear ได้สรุปปัญหาหลักๆ ด้านการเงินของคนไทยที่เห็นชัดจากผลการศึกษาแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ

1.ปัญหารายจ่ายสูงกว่ารายได้ ทำให้ไม่เหลือเงินเพื่อเก็บหรือเพื่อลงทุน  

2.ปัญหาการขาดสภาพคล่องของเงินสดในมือ เพราะกว่า 50% ของคนไทยไม่มีเงินเก็บเพียงพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่อไปโดยไม่ทำงานได้นาน 6 เดือน หมายความว่า หากต้องสูญเสียรายได้ไปเพราะตกงานหรือประสบเหตุฉุกเฉิน จะทำให้การดำรงชีพเป็นไปอย่างลำบาก

3.การขาดการวางแผนด้านการเงินในวัยเกษียณ หรือเริ่มวางแผนการเงินวัยเกษียณเมื่ออายุมากเกินไป จากตัวเลขการวิจัยพบว่า อายุเฉลี่ยที่คนไทยให้ความสนใจวางแผนด้านการเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 41.5 ปี ทั้งที่ในความเป็นจริง การวางแผนด้านการเงินเพื่อการเกษียณสามารถทำได้ตั้งแต่วัย 20 ปี ขึ้นไป หรือหลังเรียนจบ

4.การขาดความรู้ในเรื่องของการเงิน ทำให้การจัดการใดๆ ที่เกี่ยวกับการเงินมักมีข้อผิดพลาดเสมอ จากผลการศึกษาพบว่า 19.5% ที่ไม่กล้าลงทุนเพราะไม่มีความรู้หรือไม่มีความคุ้นเคยกับการลงทุน และ 17.3% คิดว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ขณะที่การลงทุนมีหลากหลายรูปแบบ มีทั้งที่เสี่ยงมากและเสี่ยงน้อย 

ทั้งนี้ปัญหาการขาดวินัยด้านการเงินมักส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการเงินอื่นๆ ตามมา ทั้งเรื่องของหนี้สิน การไม่มีเงินออมและการไม่ได้วางแผนด้านการเงินรองรับชีวิตหลังเกษียณ จากการศึกษาพบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ ตั้งเป้าที่จะเกษียณที่อายุ 50 ปีต้นๆ ส่วนในคนวัย 46 ปีขึ้นไป ตั้งเป้าเกษียณที่อายุหลัง 60 นั่นหมายความว่า ถึงแม้คนไทยรุ่นใหม่คาดหวังจะเกษียณเร็วขึ้น แต่ยังมีคนจำนวนไม่น้อยยังขาดวินัยทางการเงิน ทำให้อาจต้องทำงานไปจนถึงเลยวัย 60 ปีขึ้นไป ก็เป็นได้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0