โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Girls Don’t Cry : ตัวตนคืออะไร ในโลกที่หมุนไปด้วยการตีมูลค่าความนิยม

The Momentum

อัพเดต 19 ส.ค. 2561 เวลา 17.48 น. • เผยแพร่ 19 ส.ค. 2561 เวลา 17.48 น. • ณัฐกานต์ อมาตยกุล

In focus

  • Girls Don’t Cry สารคดีผลงานการกำกับของ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ร้อยเรียงเรื่องราวผ่านคำพูดของสมาชิกรุ่นแรก 26 คน ของ BNK48
  • บทสนทนาเริ่มตั้งแต่จุด DAY 0 ว่าอะไรทำให้พวกเธอไหลมารวมกันอยู่ตรงนี้ ประมวลรวมๆ เคาะออกมาได้เท่ากับ ‘ความฝัน’ บ้างก็ฝันของตัวเอง บ้างก็ฝันของคนอื่น…คนที่พวกเธอแคร์
  • ความฝันของเราอาจสร้างขึ้นมาจากเรื่องเล่าหลายเรื่อง เสริมแต่งขึ้นมาบนคุณค่าบางอย่าง ที่กระตุ้นให้เราลงมือทำอะไรเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เราต่างก็อยู่ในสถานะเดียวกันนี้ โดยไม่เร่ง ‘จบการศึกษา’ ไปทำเรื่องอื่น

“มันก็เป็นเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่แล้วอะเนอะ” รุ่นพี่สวมแว่นที่ไม่ได้เป็นโอตะคนหนึ่งเอ่ยขึ้น หลังจากได้ดู Girls Don’t Cryรอบกาลา เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา

เขาคงหมายถึงว่า หากเราคาดหวังข้อมูลเร้นลับอะไรบางอย่าง หรือข้อคิดพลิกมุมมองชีวิตจากหนังสารคดีเรื่องหนึ่ง อาจจะพบว่ามันไม่ได้เป็นข้อคิดที่ใหม่ หรือเพิ่งรู้มาก่อน

แม้จะเป็นรอบสื่อ แต่ก็มีผู้คนมายืนถือกล้องรอจับภาพ BNK48 กันเนืองแน่นที่ทางเข้าโรง พนักงานพารากอน ซีนีเพล็กซ์เข็นรถเข็นป็อปคอร์นไปมา ถังป็อปคอร์นยักษ์สกรีนลายใบหน้าสมาชิก BNK48 หลายถังให้แฟนคลับได้ซื้อหา แม้ไม่ใช่แฟนคลับแต่ก็อาจกำลังคิดกะเก็งมูลค่าและดีดลูกคิดในใจ ซื้อวันนี้-ขายได้ราคาดีในวันหน้า เหมือนกับที่นิตยสารแจกฟรี Giraffeที่เคยขึ้นปกเฌอปรางเป็นฉบับแรกๆ ตั้งแต่วันที่ยังไม่มีใครรู้จักนัก มาวันนี้กลายเป็นของมีราคาไปแล้ว

ใช่แล้ว มันก็เป็นเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่ เป็นบทเรียนในโลกความเป็นจริงที่ทุกคนอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าเธอ-เขาเหล่านั้นจะทำอาชีพอะไร อยู่วงการไหน มีกลุ่มสังคมแบบใด (แม้กระทั่งในวัด)… ความจริงที่ว่า เราไม่ได้เท่าเทียมกัน ความจริงที่ว่า เราต่างต้องแข่งขันกันเพื่อเอาชีวิตรอด

สารคดี Girls Don’t Cryเพียงฉายให้เราเห็นว่า ข้างในนั้น ในกลุ่มสมาชิก BNK48 ที่แปะโลโก้ ‘แบ๊วใส’ ไม่ใช่โลกแฟนซีที่มีโดมแก้วครอบกันไม่ให้สัจธรรมนี้ทะลุเข้าไปได้

มันอยู่ในนั้น มันอยู่ในน้ำตาที่ชัดแจ๋ว บนจอใหญ่โอฬารของโรงหนังสยามภาวลัย

ดูเหมือนผู้กำกับ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ จะขับเน้นเรื่องการแข่งขันและความปวดร้าวเหลือทนของการไม่ได้รับเลือก ภายใต้เงื่อนไขพิเศษคือ สังคมที่เป็นผู้หญิงล้วน ซึ่งมีบรรยากาศของเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด หรือ frenemy อันอบอวล

ภาพยนตร์เลือกเล่าด้วยการร้อยเรียงคำพูดของสมาชิกรุ่นแรก 26 คน ไหลไปตามประเด็นต่างๆ แทรกด้วยฟุตเตจ ภาพการซ้อม ภาพหลังเวที ภาพในคลิปที่แพร่ทางโซเชียลมีเดีย ทั้งที่พวกเธอบอกว่าเป็นตัวของตัวเอง-และเป็นการสร้างภาพเพื่อเรียกยอดไลก์ หนึ่งใน KPI ที่พวกเธอคิดว่ามีส่วนสำคัญที่บริษัทจะเลือกให้ใครได้เป็นตัวจริง

บางคนบอกว่า ด้วยเทคนิคแบบนี้ที่เราพบมาแล้วใน The Master หนังสารคดีเรื่องก่อนของผู้กำกับคนเดียวกัน มันทำให้บรรยากาศดูนิ่งเกินไป ประหนึ่งบังคับให้เรานั่งมองหน้าพวกเธอในห้องแคบ ฟังสิ่งที่พวกเราไม่ต้องฟังก็ได้ จากเด็กสาวที่หากเราไม่ใช่โอตะก็คงมองว่าเป็นคนธรรมดาคนนึง ที่สักพักเราจะลืมชื่อเมื่อหน้าของเธอปรากฏใหม่อีกครั้งบนจอ





แต่ความนิ่งๆ ไม่หวือหวานี้ ทำให้เราจริงจังกับคำพูดของพวกเธอมากขึ้น ตั้งใจฟัง ‘เรื่องราว’ ที่เขาเล่า มากกว่าแค่จ้องจับผิดน้ำเสียงและสำเนียงที่ต่างจากเพื่อนในชีวิตจริงของเรา

บทสนทนาเริ่มตั้งแต่จุด DAY 0 ว่าอะไรทำให้พวกเธอไหลมารวมกันอยู่ตรงนี้ ประมวลรวมๆ เคาะออกมาได้เท่ากับ ‘ความฝัน’ บ้างก็ฝันของตัวเอง บ้างก็ฝันของคนอื่น…คนที่พวกเธอแคร์

ในบทสัมภาษณ์ เต๋อ-นวพล บอกว่า “คนนอกมองเข้าไปอาจจะมองว่าเขาถูกทำให้เป็นวัตถุ แต่บางอันมันก็เมคเซนส์นะ เขาอาจจะมองว่านี่คือการเป็นศิลปินของเขา หรือคืองานของเขา”

หนังไม่ได้แตะประเด็นเรื่องการเป็นวัตถุหรือวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ อย่างที่คนต่อต้านวัฒนธรรมไอดอลอาจนึกค้านในใจ สิ่งที่หนังเน้นคือแง่งามของการมีความฝัน แต่เป็นการเพ่งมองแง่งามนั้นอย่างระแวงสงสัย และสงวนความคิดเห็นของผู้มองไว้ให้อยู่ภายใต้ปากที่เม้มสนิท

เฌอปรางบอกว่า ที่เธอพยายามหนักหน่วงอยู่ทุกวันนี้ ตั้งแต่เลิกกับแฟนเพื่อเข้า BNK48 และทนความกดดัน เพราะเป็นความตั้งใจตั้งแต่วันที่สมัครแล้วว่า อยากจะอุทิศให้กับการสนับสนุน ‘คอนเซปต์’ นี้ คอนเซปต์ AKB48 วงพี่ที่มาจากญี่ปุ่น ได้มีอยู่ยาวนานในไทย

ส่วนอร นี่อาจเป็นหนทางเดียวจะพลิกชีวิตจากการเป็นโนบอดี้ให้กลายเป็นคนที่ใครๆ ต้องรู้จัก ซึ่งเป็นปมลึกอยู่ในใจของเธอ

ความฝันเหล่านี้ผลักให้เราต้องยอมเป็นวัตถุในมุมของคนอื่นหรือเปล่า?

ถ้าคุณเป็นวัตถุ ฉันก็คงเป็น และ “การไม่ถูกมองเห็นนั้นอันตราย” ในทุกหนทุกแห่ง

กระทั่งความฝันของเราเองก็อาจเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาจากเรื่องเล่าหลายเรื่อง เป็นความฝันที่เสริมแต่งขึ้นมาบนคุณค่าบางอย่าง กระตุ้นให้เราลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เราต่างก็อยู่ในสถานะเดียวกันนี้ และนั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่เรายังคงทำสิ่งที่ทำอยู่ โดยไม่เร่ง ‘จบการศึกษา’ จากเรื่องนี้ไปทำเรื่องอื่น

แม้ว่าข้างบนที่ยืนอยู่บนยอดองค์กรแห่ง ‘ความฝัน’ คือนักธุรกิจที่เคาะตัวเลขกำไร-ขาดทุน และบางคนก็ไม่ค่อยมองเราเป็นมนุษย์สักเท่าไร น่าแปลกที่เรากลับไปตั้งแง่ตั้งคำถามมากมายกับอุตสาหกรรมบันเทิง

Girls Don’t Cry เป็นเสมือนเรียงความที่มีข้อถกเถียงกลับไปมา

คนที่ “โดดเด่น’ กับ คนที่ ‘ดับ’ ใครกดดันและน่าเห็นใจกว่ากัน

*‘ความพยายาม’ มันไม่ทำร้ายใครจริงหรือ หรือจริงๆ แล้ว บางคนไม่ต้องพยายามก็ได้ *

กลมเกลียวหรือแข่งขันคือแก่นแท้ของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์




แต่ดูเหมือนคำถามที่เราคิดอยู่ในใจมากที่สุด ก็คือ “การเป็น ‘ไอดอล’ เป็นความฝันที่ควรค่าแก่น้ำตาของเด็กผู้หญิงเหล่านี้หรือเปล่า” สถานะซึ่งเหมือนจะเป็นตัวแทนของผลิตภัณฑ์ด้านความบันเทิง (และวัฒนธรรม) ในโลกสมัยใหม่

คำตอบของใครคนหนึ่งในนั้น (ซึ่งเราลืมชื่อไปแล้ว) กลับตอบมาในท่อนหนึ่งว่า “ตอนแก่ หากมองกลับมาดูความเครียดตอนนี้ คงมองว่าเป็นเรื่องขำๆ …ก็ผ่านมาได้แล้วไง”

น้ำตาที่อยู่ในนั้นอาจคือความทุกข์ และมันคงไม่เป็นไร หากไม่ใช่การบีบบังคับให้เข้าไป

มองดูเด็กสาวเหล่านี้ ดูเหมือนไม่มีใครที่เข้ามาเพราะการบีบบังคับทางด้านเศรษฐกิจ บ้างเรียนเปียโนมาก่อน บ้างเรียนเต้นมาก่อน บางคนพ่อแม่ลงทุนทำห้องซ้อมให้ในบ้าน และคงต้องขมวดคิ้วอีกครั้ง หากจะเทียบว่าพวกเธอเป็น ‘แรงงานเด็ก’ ชวนให้นึกถึงแรงงานบีบบังคับในบังกลาเทศ หรือตั้งคำถามกับการดรอปเรียนของพวกเธอ

เอาเข้าจริง พวกเธออาจมีโอกาสเลือกมากกว่าใครหลายๆ คน แต่ก็ได้เลือกแล้วว่าจะทำสิ่งนี้

และหากมีบางวันที่จะร้องไห้ เมื่อเกิดคำถามในใจว่า สิ่งที่ทำไปมีคุณค่าเท่าที่ประเมินค่าไว้ก่อนหน้านี้หรือเปล่า ก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องเผชิญ

ใครบางคนอาจแค้นเคืองนายทุน บุคคลที่แทบไม่ค่อยมีการเอ่ยถึงในสารคดี (นอกจากท่อนที่ว่าพวกเขาใกล้จะเงินหมด หลังจากเพลงแรกไม่ดัง) แต่ธุรกิจก็คือสิ่งที่พวกเขาเลือกใช้ชีวิตไปกับมัน

ถ้าสารคดี BNK48 มีตอนจบว่าวงแตก อย่างที่ ‘ปูเป้’ หนึ่งในสมาชิกพูดขำๆ เอาไว้ นี่อาจกลายเป็นสารคดีชีวิตที่เศร้าสลดในฟองสบู่สีสดใสของนักธุรกิจผู้เลือกลงทุนเงินหลายล้านกับเด็กสาว 26 คนนี้ก็เป็นได้

ป็อปคอร์นกองพะเนินออกมาจากปากถังขยะของห้างพารากอน อาจเพราะกินไม่หมดจากขนาดแบ่งขายที่ใหญ่เบิ้ม หรืออาจเป็นความตั้งใจแต่แรกของผู้ซื้อ พวกเขาเก็บถังพลาสติกสกรีนลายใบหน้าเหล่านั้นกลับบ้าน อีกไม่นาน ไม่แน่ มันอาจจะไปโผล่ที่ตลาดออนไลน์ที่ไหนสักแห่ง

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0