โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Gender Neutral เลี้ยงลูกเป็นกลางทางเพศ ได้จริงไหม

Motherhood.co.th

เผยแพร่ 27 มิ.ย. 2562 เวลา 05.55 น. • Motherhood.co.th Blog
Gender Neutral เลี้ยงลูกเป็นกลางทางเพศ ได้จริงไหม

เราจะเลี้ยงลูกให้เป็นกลางทางเพศ ได้จริงไหม

Gender Neutral เป็นเทรนด์การเลี้ยงลูกแบบใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในประเทศฝั่งตะวันตก คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ที่ชื่นชอบติดตามข่าวคราวเซเล็บต่างประเทศอาจจะเคยได้ยินมาบ้างว่าคนดังหลายคนอย่างนักร้องสาว Pink ที่เลี้ยงลูกของเธอตามแนวทางนี้ หรือดีว่าสาวรุ่นใหญ่อย่าง Celine Dion ก็ถึงกับทำธุรกิจเสื้อผ้าสำหรับเด็กที่เป็นแฟชั่นแนว Gender Neutral กันเลยทีเดียว หากคุณพ่อคุณแม่อยากรู้มากขึ้นถึงแนวคิดและวิธีการเลี้ยงลูกแบบใหม่นี้ สามารถติดตามได้ในบทความนี้ค่ะ

image credit: https://www.newsweek.com/gender-neutral-parenting-pink-730746
image credit: https://www.newsweek.com/gender-neutral-parenting-pink-730746

Gender-Neutral คืออะไร?

ในยุคนี้เราจะได้ยินคำนี้หรือคำว่า Gender Neutrality กันบ่อยขึ้น มันคือความเป็นกลางทางเพศ เป็นการที่ไม่ระบุเพศใดเพศหนึ่งอย่างชัดเจน สิ่งนี้จัดว่าเป็น Social Movement แห่งโลกยุคใหม่ที่คนในเจเนอเรชันนี้พยายามรณรงค์ให้ผู้คนไม่ใช้สภาพแวดล้อม โครงสร้างทางสังคม หรือแม้แต่ภาษา มาเป็นตัวแบ่งเพศ เพื่อป้องกันการแบ่งแยกเพศนั่นเอง

เลี้ยงลูกแบบเป็นกลางทางเพศเป็นแบบไหน

เมื่อ 2 ปีที่แล้วนักร้องสาว Pink ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า เธอตั้งใจจะเลี้ยง Willow Sage Hart ลูกของเธอตามแนวคิดเป็นกลางทางเพศ โดยจะไม่มีการจำกัดเพศ เพื่อให้ลูกหลุดพ้นจากข้อจำกัดและความคาดหวังของสังคมที่มีต่อความเป็นเด็กผู้หญิงหรือเพศหญิง ส่วนนักร้องสาวเสียงทรงพลังอย่าง Adele ก็อนุญาตให้ลูกชายของเธอใส่ชุดเจ้าหญิง Disney ได้ตามใจชอบ

image credit: https://www.moms.com/boys-in-dresses-20-celeb-parents-who-threw-gender-norms-out-the-window/
image credit: https://www.moms.com/boys-in-dresses-20-celeb-parents-who-threw-gender-norms-out-the-window/

จะเห็นได้ว่าแนวคิดนี้คือการลดกรอบและบทบาททางเพศที่สังคมคาดหวังในตัวเด็กและผู้คนออกไป พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยแนวคิดเป็นกลางทางเพศนี้จะพยายามไม่ตีกรอบลูกตั้งแต่เกิดเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการเลือกสิ่งของเครื่องใช้ให้ลูก เช่นการเตรียมห้องสำหรับเด็กอ่อน พ่อแม่จะไม่ต้องให้เด็กชายใช้สีฟ้าและให้สีชมพูกับเด็กหญิงตามค่านิยมที่เป็นมาในอดีตอีกต่อไปแล้ว หากแต่เลือกใช้สีที่เป็นกลางกว่านั้น เช่น สีเหลือง สีเทา สีครีม หรือสีขาว

ในเรื่องเสื้อผ้าก็เช่นกัน สมัยก่อนที่พ่อแม่นิยมให้ลูกสาวใส่เดรสกรุยกราย ดูน่ารักเหมือนเจ้าหญิง ส่วนลูกชายก็ให้ใส่กางเกงทะมัดทะแมงกับเสื้อซูเปอร์ฮีโร่ดูเท่ แต่กับพ่อแม่ที่นิยมเลี้ยงลูกอย่างเป็นกลางทางเพศ พวกเขาปฏิเสธที่จะแบ่งแยกลูกๆของเขาแบบนั้น พวกเขาอนุญาตให้เด็กผู้ชายใส่เสื้อสีสันหวานแหววได้ ใส่เสื้อลายเจ้าหญิงเอลซ่าได้ ส่วนลูกสาวก็ไม่จำเป็นต้องใส่เดรสเสมอไป หากลูกอยากจะใส่ชุดยีนเท่ๆก็สามารถทำได้เหมือนกัน มีแบรนด์เสื้อผ้าเกิดใหม่หลายแบรนด์ที่เน้นทำตลาดไปที่กลุ่มพ่อแม่ทีเลี้ยงลูกแบบเป็นกลางทางเพศ เสื้อผ้าในคอลเลคชั่นต่างๆจะมีสีและดีไซน์ที่สามารถใส่ได้สำหรับเด็กทุกเพศ เลือกใช้สีที่เป็นกลาง ไม่จำกัดเด็กชายด้วยสีฟ้าหรือเด็กหญิงด้วยสีชมพูแบบที่เคยเป็นมา รวมไปถึงการไว้ผม เด็กๆที่ถูกเลี้ยงมาให้มีความเป็นกลางทางเพศล้วนแล้วแต่ไว้ผมได้ตามชอบใจ เด็กผู้ชายหลายคนไว้ผมยาวสลวย ส่วนเด็กผู้หญิงบางคนก็ชอบที่จะตัดผมสั้นมากกว่า

image credit: https://www.vox.com/the-goods/2018/11/16/18099303/celine-dion-gender-neutral-clothing-line-celinununu
image credit: https://www.vox.com/the-goods/2018/11/16/18099303/celine-dion-gender-neutral-clothing-line-celinununu

แม้แต่การเลือกของเล่นให้ลูกๆก็จะไม่มีข้อจำกัดทางเพศ เด็กชายก็ไม่จำเป็นจะต้องชอบเล่นรถแข่งหรือต่อโมเดลทหาร พวกเขาอาจจะชอบเล่นม้าโพนี่สีรุ้งมากกว่าก็ได้ ในทางกลับกันเด็กหญิงหลายคนก็ไม่ได้มีความสนใจในตุ๊กตาบาร์บี้ที่ขายาวสวย แต่กลับชอบสะสมรถ matchbox มากกว่า ซึ่งทุกวันนี้นักการตลาดของบริษัทของเล่นยักษ์ใหญ่ระดับโลกก็ต้องปรับตัวมากพอสมควรเพราะกลุ่มพ่อแม่และเด็กที่ดำเนินชีวิตด้วยแนวคิดเป็นกลางทางเพศกำลังมีเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ เห็นได้จากการที่บริษัทอย่างเลโก้เริ่มออกตัวต่อชุดที่เหมาะจะเล่นได้ทั้งเด็กหญิงเด็กชายมามากขึ้น หรือแมทเทลที่เป็นเจ้าของบาร์บี้ก็ปรับปรุงให้บาร์บี้มีหน้าที่การงานที่ผู้ชายนิยมทำมากขึ้น เช่น นักบินอวกาศ นักผจญเพลิง

แม้แต่สรรพนามที่ใช้เรียกก็ยังเป็นกลาง

พ่อแม่และคนใกล้ชิดในครอบครัวจะไม่เรียกเด็กว่า "เขา" หรือ "เธอ" (he/she) แต่จะนิยมเรียกว่า "พวกเขา" (they) แทน การใช้คำสรรพนามเรียกขานแบบนี้จะช่วยให้เด็กลดภาพจำที่จะแบ่งแยกเพื่อนๆหรือผู้คนรอบตัวจากเพศ เด็กจะรู้สึกว่าเราคนก็เหมือนๆกันหมด ตัวเด็กเองคือ "ฉัน" เด็กคนอื่นคือ "พวกเขา" จะไม่ต้องมีการแบ่งแยกใครด้วยเพศในความคิดของเด็กอีก

โรงเรียนที่สนับสนุนความเป็นกลางทางเพศก็มี

ใน Stockholm เมืองหลวงของประเทศ Sweden มีโรงเรียนอนุบาลที่ชื่อ Eliga ซึ่งนำแนวคิดของการเลี้ยงดูเด็กๆทุกคนให้เท่าเทียมกันทางเพศมาเป็นแนวทางในการทำโรงเรียน ที่นี่ก่อตั้งขึ้นในปี 2010 และรับเด็กตั้งแต่อายุ 1 ขวบไปจนถึง 6 ขวบ ทางโรงเรียนมีความระมัดระวังมากในการใช้สื่อการสอนต่างๆมาสอนเด็ก โรงเรียนจะไม่เลือกใช้หนังสือหรือสื่อการสอนที่มีการแบ่งแยกหรือกำหนดบทบาททางเพศอย่างชัดเจน เพราะโรงเรียนไม่ต้องการจำกัดอิสรภาพของเด็ก และไม่ควรให้ใครมากำหนดว่าสิ่งไหนคือสิ่งที่เด็กผู้ชายควรทำ สิ่งไหนคือสิ่งที่เด็กผู้หญิงห้ามทำ

การเลี้ยงลูกแบบเป็นกลางทางเพศจะช่วยลดการแบ่งแยกทางเพศ
การเลี้ยงลูกแบบเป็นกลางทางเพศจะช่วยลดการแบ่งแยกทางเพศ

แล้วพ่อแม่ไทยจะเลี้ยงลูกอย่างเป็นกลางทางเพศได้ไหม

สำหรับพ่อแม่ในบ้านเราก็อาจจะเลี้ยงลูกตามแนวคิดนี้ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะยังมีอะไรหลายต่อหลายอย่างที่ไม่เอื้ออำนวยอย่างประเทศทางตะวันตก เช่น เด็กอนุบาลก็มีการกำหนดรูปแบบชุดยูนิฟอร์มตามเพศอย่างชัดเจน เด็กประถมก็เริ่มมีการกำหนดทรงผมของนักเรียนและยังต้องใส่ยูนิฟอร์มอยู่ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พอจะทำได้หากเริ่มสนใจอยากเลี้ยงลูกให้มีความเป็นกลางทางเพศมากขึ้นก็คือแนวทางการเลี้ยงภายในครอบครัวเท่านั้น

ลองเปิดโอกาสให้เขาได้เล่นของเล่นตามที่เขาชอบ ไม่ต้องไปจำกัดกรอบหรือเลือกของเล่นให้เขาเองเสียแต่แรก มองของเล่นให้เป็นกลาง เป็นสิ่งที่ทำให้เด็กได้ความสนุกสนานและเสริมพัฒนาการในการเรียนรู้ ไม่ต้องไประบุหรือแบ่งแยกเพศให้มัน เปิดโอกาสให้เด็กผู้หญิงกับเด็กผู้ชายได้เล่นร่วมกัน เพราะการให้เด็กร่วมเล่นได้กับเด็กทุกคนเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าเขาจะมีความแตกต่างกันในจุดไหนบ้างก็ตาม

พ่อแม่ควรสนับสนุนให้ลูกทำกิจกรรมโดยไม่จำกัดเพศ
พ่อแม่ควรสนับสนุนให้ลูกทำกิจกรรมโดยไม่จำกัดเพศ

ในเรื่องของกิจกรรมที่ลูกสนใจก็ควรให้เขาได้ลองอย่างเต็มที่ ปล่อยให้เขาได้แสดงความเป็นตัวเองผ่านกิจกรรมที่เขาสนใจและรู้สึกปลอดภัยที่จะแสดงออกถึงสิ่งที่ตัวเองเป็น ลูกชายอาจจะอยากไปเรียนบัลเล่ต์ ส่วนลูกสาวอาจจะชอบเรียนศิลปะป้องกันตัวมากกว่า หน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่คือสนับสนุนพวกเขาไปตามกำลัง ไม่ต้องไปตีกรอบกิจกรรมต่างๆว่าเป็นกิจกรรมของคนเพศใดเป็นพิเศษ หากลูกๆได้เรียนรู้ ได้รับความสนุกสนานอย่างปลอดภัย ก็ควรเปิดโอกาสให้เขาได้มีประสบการณ์ใหม่ๆบ้าง

ถึงแม้ว่าตอนนี้อาจจะมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการเลี้ยงลูกใหม่ๆอยู่บ้าง แต่เราในฐานะพ่อแม่ก็ต้องค่อยๆติดตามหาความรู้กันไปเรื่อยๆ อะไรที่ดีเราก็นำมาปรับใช้ให้เข้ากับเงื่อนไขของแต่ละครอบครัว เพราะท้ายที่สุดแล้วหัวใจของการเลี้ยงลูกคือการที่เราได้เห็นเขามีความสุขกับสิ่งที่เขาเป็น มีพัฒนาการที่ดีสมวัย และสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนอื่นในสังคมนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0