โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

GenY วัยสร้างหนี้!! ของมันต้องมี เปย์สินค้าเฉลี่ย 95,518 บาท/คน/ปี

BLT BANGKOK

อัพเดต 16 ธ.ค. 2562 เวลา 08.26 น. • เผยแพร่ 16 ธ.ค. 2562 เวลา 08.20 น.
a50a09923885aa80b833e6f8d27ff94d.jpg

เผยพฤติกรรมการเงินของกลุ่มคน Gen Y พบว่า ส่วนใหญ่มีความฝันสร้างอนาคตที่ดีและมั่นคง อยากมีบ้าน รถและเงินออม แต่ใช้จ่ายไปกับสินค้าฟุ่มเฟือยมากถึง 69% แสดงให้เห็นว่า Gen Y ยังไม่มีการวางแผนทางด้านการเงินอย่างดีพอ ขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มที่เปิดรับคำแนะนำและความรู้ทางด้านการบริหารจัดการเงินอย่างมากด้วย
Gen Y อยากมีบ้าน-รถ แต่ออมเงินไม่ถึง 10%
ผลสำรวจพฤติกรรมการออมของ Gen Y จาก TMB Analytics ระบุว่า Gen Y ช่วงต้น อายุระหว่าง 23-30 ปี เป็นกลุ่มกำลังแรงงานสำคัญของประเทศ เริ่มทำงาน มีรายได้ คาดหวังกันว่า ก่อนอายุ 40 ปีอยากมีบ้าน 48% รถยนต์ 22% ขณะที่อยากมีเงินออมและสินทรัพย์อื่นๆ เพียง 13% 
เมื่อวิเคราะห์เจาะลึกลงไป พบว่า Gen Y มียอดใช้จ่ายในกลุ่มสินค้า “ของมันต้องมี” ได้แก่ โทรศัพท์ เสื้อผ้า เครื่องสำอาง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กระเป๋า และนาฬิกา/เครื่องประดับ ถึง 69% หรือปีละ 95,518 บาท คิดเป็น 1 ใน 4 ของรายได้ต่อปี 
เมื่อมองภาพรวมพบว่า Gen Y ใช้เงินไปกับ “ของมันต้องมี” ถึงปีละ 1.37 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าสูงเทียบได้กับ 13% ของรายได้ประเทศ (GDP) หรือ 8 เท่าของมูลค่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรือ 91% ของมูลค่าการลงทุนในโครงการ EEC 5 ปี
ขณะที่รายการซื้อบ้าน ซื้อรถ ที่เป็นความฝัน มีสัดส่วนลดลงมาก รวมทั้งสัดส่วนเงินออมมีไม่ถึง 10%
จากผลสำรวจพบว่า สาเหตุที่ Gen Y อยากได้ “ของมันต้องมี” เป็นเพราะซื้อตามเทรนด์ กลัวเอาท์ ถึง 42% ขณะที่อีก 37% มองว่าเป็นของจำเป็น ขาดไม่ได้
ส่วนเงินที่ใช้ซื้อนั้น คนส่วนใหญ่ 70% ระบุว่า มีเงินไม่พอ แต่ใช้การกู้จากธนาคารและใช้บัตรเครดิตกับบัตรกดเงินสดในการใช้จ่าย ซึ่งเมื่อลงราย-ละเอียดพบว่า มากกว่า 70% ของ Gen Y มีการผ่อนชำระที่ต้องเสียดอกเบี้ย

คนไทยออมเงินในธนาคารน้อยลง
ด้านสมาคมบริษัทจัดการลงทุนเก็บสถิติเงินออมและเงินลงทุนของคนไทย ณ เดือนมิถุนายน 2562 พบว่า ประเทศไทยมีเงินออมหรือลงทุนด้วยการฝากเงินทั้งหมด 30 ล้านล้านบาท ภาพรวมการออมประเทศไทยยังคงขยายตัวในอัตราชะลอตัว โดยเงินฝากขยายตัวลดลง เติบโต 3.4% สาเหตุจากปัจจุบันเงินออมในรูปของเงินฝากธนาคารให้ผลตอบแทนที่ไม่สูงนัก ดังนั้นประชาชนส่วนหนึ่งจึงเลือกลงทุนด้านอื่นๆ เช่น กองทุน และเงินสำรองประกันภัย เป็นต้น
โดยแบ่งเป็นเงินออมในสถาบัน รับฝากเงิน 18 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 58.7% เงินออมเพื่อการลงทุน 9.9 ล้านล้านบาท สัดส่วน 32% เงินสำรองประกันภัย 2.7 ล้านล้านบาท สัดส่วน 9% 
ขณะที่ผลสำรวจพบว่า Gen Y เข้าลักษณะทำนองฝันไกลแต่ไปไม่ถึง คือตั้งเป้าอยากมีเงินเก็บ 6 ล้านบาท แต่ออมเงินแค่เฉลี่ยเดือนละ 5,500 บาท ซึ่งถ้าเก็บด้วยอัตรานี้ต้องใช้เวลาถึง 90 ปี จึงจะถึงเป้าหมาย
โดย Gen Y ส่วนใหญ่กว่า 53% ยอมรับว่า จำนวนเงินที่ออมรายเดือนมีไม่ถึง 3,000 บาท ขณะที่ 27% ระบุว่า ออมเงิน 3,000-10,000 บาท และ 14% ระบุว่า ออมเงิน 10,000-15,000 บาท ซึ่งมีเพียง 6% เท่านั้นที่ออมเงินมากกว่า 15,000 บาท/เดือน แสดงให้เห็นว่า Gen Y ยังไม่มีการวางแผนทางด้านการเงิน ไม่สามารถจัดการบริหารการเงินได้อย่างเหมาะสม

แนะ Gen Y ลดรายจ่าย-เพิ่มเงินออม
เป็นเรื่องน่าสนใจว่า Gen Y จะต้องทำอย่างไรหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไรเพื่อนำไปสู่การมีพฤติกรรมทางการเงินที่ดีหรือมีวินัยทางการเงิน  
โดยทีมวิเคราะห์ TMB Analytics ระบุว่า เพื่อให้ Gen Y มีเงินสะสมมากขึ้น จะต้องลดเงินเก็บที่ใช้กับ “ของมันต้องมี” ลง 50% และเพิ่มการลงทุนให้ถูกที่ เช่น เพิ่มอัตราส่วนเงินออมเป็น 23.8% ของรายได้ เลือกบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง หรือบัญชีฝากประจำ ในสัดส่วน 19% ของรายได้ และลงทุนกับหุ้น/กองทุนรวม/LTF RMF/ทองคำ ฯลฯ สัดส่วน 21% ก็จะส่งผลให้มีเงินเพิ่มเฉลี่ย 43,000 บาท/ปี 
โดยเงินที่เพิ่มขึ้นนี้ สามารถเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์อื่นๆ ได้ เช่น สามารถซื้อรถราคา 829,900-1,099,000 บาท ได้ภายใน 10 ปี หรือเซ้งร้านกาแฟย่านทองหล่อราคา 1,900,000 บาท ได้ในเวลา 20 ปี หรือซื้อคอนโดฯ ย่านห้วยขวางราคา 2,500,000 บาท ในเวลา 30 ปี เป็นต้น
แสดงให้เห็นว่า หาก Gen Y ลดค่าใช้จ่ายใน “ของมันต้องมี” ลง และเพิ่มการออมมากขึ้น เงินจำนวนที่จะเสียให้กับสินค้าฟุ่มเฟือยนั้นก็สามารถแปรเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ในอนาคตได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีต่อไปให้ Gen Y สามารถวางแผนทางการเงิน และประสบผลสำเร็จในเป้าหมายที่วางไว้ได้ดียิ่งขึ้น  

คุณนริศ สถาผลเดชา - ผู้บริหาร TMB Analytics 
"โดยเฉลี่ย Gen Y หมดเงินไปกับของมันต้องมีปีละเกือบแสนหรือ 1 ใน 4 ของรายได้ต่อปี ส่วนใหญ่เป็นการซื้อโทรศัพท์ เสื้อผ้า เครื่องสำอาง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ซึ่งมากกว่า 70% มีการผ่อนชำระที่ต้องเสียดอกเบี้ย อีกทั้งตั้งเป้าอยากมีเงินเก็บ 6 ล้านบาท แต่ออมเงินเฉลี่ยเดือนละ 5,500 บาท ซึ่งถ้าเก็บด้วยอัตรานี้ต้องใช้เวลาถึง 90 ปี จึงจะถึงเป้าหมาย"

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0