โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ผลการศึกษาชี้เขื่อนจีนทำลุ่มแม่น้ำโขงแห้งแล้งรุนแรงเมื่อปีที่แล้ว

TODAY

อัพเดต 14 เม.ย. 2563 เวลา 14.09 น. • เผยแพร่ 14 เม.ย. 2563 เวลา 11.50 น. • Workpoint News
ผลการศึกษาชี้เขื่อนจีนทำลุ่มแม่น้ำโขงแห้งแล้งรุนแรงเมื่อปีที่แล้ว

วันที่ 14 เม.ย. สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บริษัทด้านการวิจัยในสหรัฐฯ เปิดเผยผลการศึกษาที่ชี้ว่าเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในจีน กักน้ำไว้ปริมาณมหาศาลในช่วงที่ประเทศลุ่มน้ำโขงประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงเมื่อปีที่แล้ว ในขณะที่ระดับปริมาณน้ำเฉลี่ยในจีนสูงกว่าประเทศที่อยู่ตอนล่าง

 

 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนได้ออกมาโต้แย้งผลการศึกษาดังกล่าว และระบุว่าในช่วงฤดูฝนของปีที่แล้ว พื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงความยาว 4,350 กิโลเมตร มีปริมาณฝนตกลดน้อยลง

ผลการศึกษาโดย "อายส์ ออน เอิร์ธ" (Eyes on Earth) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านน้ำซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ อาจทำให้การจัดการน้ำระหว่างจีนและประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน 60 ล้านคน ทั้งในลาว เมียนมา ไทย กัมพูชา และเวียดนาม มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น

ภาวะภัยแล้งเมื่อปีที่แล้ว ทำใหเแม่น้ำโขงมีระดับน้ำลดต่ำสุดในรอบกว่า 50 ปี สร้างความเดือดร้อนอย่างมากให้กับเกษตรกรและชาวประมง แม่น้ำเหือดแห้งจนเห็นสันทรายเป็นแนวยาว อีกทั้งยังทำให้แม่น้ำโขงเปลี่ยนจากสีโคลนเป็นสีคราม เนื่องจากแม่น้ำตื้นเขิน

นายอลัน เบซิสต์ ประธานบริษัท อายส์ ออน เอิร์ธ และนักสภาพอากาศวิทยา ซึ่งทำการศึกษาโดยได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการแม่โขงตอนล่าง กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า หากจีนยังยืนยันว่าพวกเขาไม่มีส่วนที่ทำให้เกิดความแห้งแล้ง แต่ผลการศึกษาไม่ได้สนับสนุนสิ่งที่จีนพูด

ทั้งนี้ เครื่องมือสำหรับการตรวจวัดความเปียกชื้นบนพื้นผิวดินด้วยดาวเทียม ตรวจพบว่า เมื่อปี 2019 มณฑลยูนนานของจีน มีระดับความเปียกชื้นที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย โดยมีปัจจัยจากฝนที่ตกในพื้นที่และหิมะที่ละลายในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม

การศึกษาชี้ว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงช่วงตั้งแต่ชายแดนไทย-ลาว กลับลดต่ำลง 3 เมตร ซึ่งลดลงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น นายเบซิสต์ ระบุว่า นั่นชี้ให้เห็นว่าจีนไม่ปล่อยน้ำไหลลงมาในช่วงฤดูฝน แม้จะรู้ว่าการกักน้ำจากจีนจะทำให้ประเทศด้านล่างต้องเผชิญผลกระทบรุนแรงจากภัยแล้งก็ตาม

ที่ผ่านมาเคยมีการถกเถียงกันถึงผลกระทบของเขื่อน 11 แห่ง ที่ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน แต่มีข้อมูลไม่เพียงพอ เนื่องจากจีนไม่เคยเผยแพร่บันทึกรายละเอียดเรื่องปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนแต่ละแห่ง ซึ่งอายส์ ออน เอิร์ธ ระบุว่าอยู่ที่มากกว่า 47,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

ด้านจีน ซึ่งไม่ได้มีพันธะสัญญาเรื่องการใช้น้ำกับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงอย่างเป็นทางการ ได้ให้คำมั่นว่าจะให้ความร่วมมือในการจัดการน้ำ รวมทั้งสอบสวนสาเหตุของภาวะน้ำแล้งที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ระบุว่ารัฐบาลจีนได้ทำการควบคุมแม่น้ำโขง โดยเมื่อปีที่แล้ว นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวกล่าวระหว่างการเดินทางมายังกรุงเทพฯ กล่าวโทษว่า ปัญหาความแห้งแล้งเกิดจากการกักน้ำบริเวณต้นน้ำของจีน

กระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุในแถลงการณ์ที่ชี้แจงกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า คำอธิบายที่ว่าการสร้างเขื่อนของจีนในแม่น้ำล้านช้าง หรือ แม่น้ำโขง เป็นสาเหตุที่ทำให้ปลายน้ำแห้งแล้ง เป็นเรื่องปราศจากเหตุผล และกล่าวว่าเมื่อปีที่แล้วมณฑลยูนนานเผชิญปัญหาภัยแล้งรุนแรง และระดับน้ำที่กักไว้ในเขื่อนของจีนก็ลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0