โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Food For Fighters ข้าวเพื่อหมอ: โมเดลฝ่าวิกฤตที่ทีมแพทย์กินอิ่ม และอุ้มร้านอาหารให้รอดไปด้วยกัน

The Momentum

อัพเดต 31 มี.ค. 2563 เวลา 11.26 น. • เผยแพร่ 31 มี.ค. 2563 เวลา 11.26 น. • ศิริวรรณ สิทธิกา

In focus

  • ภายใต้วิกฤต COVID-19 ที่กำลังถาโถม ได้เกิดกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารที่รวมตัวกันก่อตั้งโครงการ ‘Food For Fighters ข้าวเพื่อหมอ’ เพื่อระดมทุนจัดส่งเสบียงสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ โดยเงินที่ได้จากการรับบริจาค จะถูกนำไปเป็นต้นทุนจัดซื้ออาหารปรุงสดจากร้านที่ร่วมโครงการ ในราคากล่องละ 50 บาท
  • ด้วยแนวคิดนี้ จึงนับได้ว่าเป็นโมเดลแบบยิงปืนนัดเดียวได้สองประโยชน์ ที่นอกจากสนับสนุนทัพเสื้อกาวน์ที่กำลังต่อสู้อยู่แนวหน้าแล้ว ยังช่วยประคับประคองกิจการร้านอาหารขนาดย่อม เพื่อให้พนักงานยังมีรายได้และรอดพ้นวิกฤตไปด้วยกัน
  • เป้าหมายของโครงการคือการจัดส่งอาหารจำนวน 3,000 กล่องต่อวัน โดยสามารถร่วมบริจาคผ่าน https://social.sinwattana.com/viewCampaign/9K0P8D1SV59813 และยังสามารถสนับสนุนเป็นวัตถุดิบหรืออาหารปรุงสำเร็จ โดยโครงการจะรับหน้าที่เป็นตัวกลางในการส่งต่อด้วย 

ภายในเวลาเพียง 24 ชั่วโมงเท่านั้นเองหลังจากที่ภาพร่างของโครงการ ‘Food For Fighters ข้าวเพื่อหมอ’ เกิดขึ้นในความคิดของ พันชนะ วัฒนเสถียร เจ้าของธุรกิจร้านอาหารเป็นลาว เขาใหญ่ ที่ต้องการฝ่าวิกฤต COVID-19 ด้วยการปั้นโมเดลที่ก่อประโยชน์กับทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นแม่ทัพรับมือกับศึกที่หนักหน่วง และผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดเล็กและขนาดย่อมที่ไม่ทอดทิ้งพนักงานในยามยาก โดยการเปิดระดมทุนจัดเตรียมอาหารส่งไปให้บุคลากรทางการแพทย์ ณ โรงพยาบาลต่างๆ ที่เป็นศูนย์การรักษาโรค COVID-19 และกระจายเงินจากการระดมทุนนั้นไปยังร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้เกิดรายได้ในการดูแลพนักงาน ในราคากล่องละ 50 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ผ่านการคำนวณแล้วว่า จะประคับประคองให้ผู้ประกอบการและลูกจ้างผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันได้ 

พันชนะ วัฒนเสถียร เจ้าของธุรกิจร้านอาหารเป็นลาว ผู้ริเริ่มโครงการ Food For Fighters ข้าวเพื่อหมอ

“เราเข้าใจปัญหาของร้านอาหารดีอยู่แล้วเพราะเราคลุกคลีกับมันมานาน อย่างการปิดร้านที่เขาใหญ่ของเรา เราก็รู้ว่าจะยืดเยื้อจนดูเหมือนว่าเราไม่สามารถควบคุมสถานการณ์หรือตอบอะไรกับทีมและน้องๆ ได้เลย ซึ่งสมาชิกที่ร้านเป็นเสมือนบุคคลในครอบครัวที่เราต้องดูแล แม้ว่าในต่างจังหวัดจะมีคำสั่งปิดถึงแค่ 12 เมษายนก็ตามที แต่ลึกๆ เราก็รู้ว่าต้องขยายวันแน่นอน” 

ด้วยประเมินว่าศึกครั้งนี้คงยืดเยื้อ ผู้ประกอบการตัวเล็กๆ ในวงการอาหารบางคนไม่ได้เตรียมตัวรับมือกับสึนามิไวรัสที่โถมเข้ามาอย่างคาดไม่ถึง แม้จะมีหลายร้านที่ฮึดสู้ด้วยการจัดส่งเดลิเวอรี แต่ถ้าสู้ด้วยการเข้าสู่โปรแกรมจัดส่ง แล้วต้องจ่ายค่าส่ง 10-35 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังหนักหนาสำหรับบางร้าน ผู้ประกอบการบางคนถึงกับตัดสินใจปิดกิจการไปก่อน เพราะยิ่งทำยิ่งขาดทุน

“ตามปกติต้นทุนการผลิตของร้านอาหาร อาหารราคา 100 บาท เขาจะมีต้นทุนวัตถุดิบอยู่ที่ 30-35 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ดังนั้นถ้าเขาตัดค่าใช้จ่ายในการจัดส่งออก เขาก็น่าจะพอรับได้ที่ราคาอาหารกล่องละ 50 บาท ในขณะที่ทีมแพทย์ พยาบาลฯ ก็ยังสามารถได้รับประทานอาหารดีๆ มีคุณภาพ เพื่อให้มีพลังต่อสู้กับโควิด จากร้านที่เข้าร่วมโครงการของเราได้”

พันธมิตรในวงการร้านอาหารจำนวน 30 ร้าน ตอบรับคำชวนเข้าโครงการของพันชนะ เมื่อครัวผลิตเสบียงพร้อม ทีมของเธอจึงทำหน้าที่เป็น ‘สะพาน’ เชื่อมการจัดการและจัดส่ง โดยมีแนวร่วมเป็นธุรกิจลีมูซีน Silver Voyage Club ซึ่งก็อยู่ในช่วงเว้นว่าง  เป็นเจ้าภาพในการดูแลการจัดส่ง และได้รับความช่วยเหลือจากสินวัฒนา คราวด์ฟันดิ้ง ที่ทำการเปิดแพลตฟอร์มระดมทุนขึ้นทันทีภายใน 24 ชั่วโมง พร้อมๆ กับผู้สนับสนุนอื่นๆ ที่มองเห็นเป้าหมายเดียวกันของการทำโครงการนี้ โดยเงินที่ได้รับบริจาคจากการระดมทุน จะนำไปสั่งซื้ออาหารจากร้านในโครงการในราคากล่องละ 50 บาท เพื่อนำส่งโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะพ้นวิกฤต ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถร่วมบริจาคเงินผ่านแพลตฟอร์ม https://social.sinwattana.com/viewCampaign/9K0P8D1SV59813หรือสามารถสนับสนุนเป็นวัตถุดิบได้โดยส่งไปยัง ‘ครัวชื่นใจ’ อาคารรุ่งโรจน์ธนกุล ถนนรัชดาภิเษก และยังเปิดรับร้านเข้าร่วมโครงการ ไปจนถึงอาหารปรุงสำเร็จจากคนทั่วไปที่ไม่สะดวกในการจัดส่ง เพื่อเป็นตัวกลางในการส่งมอบต่อไป 

‘Food For Fighters ข้าวเพื่อหมอ’ วางจุดในการส่งอาหารไปยังบุคลากรทางการแพทย์ ที่ทำงานต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 โดยเบื้องต้นจัดส่งไปยังศูนย์คุณภาพชีวิต โรงพยาบาลพระมงกุฎ คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลรามาจักรีนฤบดินทร์ ซึ่งตลาดและร้านอาหารโดยรอบปิดให้บริการ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ประสบปัญหาในการจัดซื้ออาหาร และศูนย์ดูแลผู้ป่วย COVID-19 ที่โรงพยาบาลสนาม อาคารดีลักซ์ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต โดยตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะจัดส่งอาหารวันละ 3,000กล่อง 

“ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เราเองก็หวังลึก ๆ ว่าโครงการนี้จะสามารถขยายผลเป็นโมเดลให้จังหวัด หรืออำเภอต่างๆ นำไปใช้ เพราะต่างจังหวัดนั้นอาจเกิดได้ง่ายเพราะโรงพยาบาลมีเพียงแห่งเดียวในแต่ละอำเภอ แต่สิ่งที่ต้องการคือทุน ดิฉันมองว่าเราไม่มีปัญหาเรื่อง ‘ทุนทางใจ – ทุนทางสังคม –ทุนทางความคิด’ 

“ในสภาวะที่ยากลำบากเช่นนี้ คนขาดความหวัง มองไม่เห็นแสงสว่างหรือไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไร แต่คนพร้อมจะช่วยในสิ่งที่ตัวเองถนัด อย่างของเราเองพี่ๆ น้องๆ ทุกคนในทีมก็เชื่อกันเช่นนั้น ดิฉันเชื่อว่าถ้าเราไม่สู้ เราไม่รอด ก็แค่ร่วงและตายไป หากรอการช่วยเหลือจากรัฐคงช้า เราต้องช่วยตัวเอง ทำในสิ่งที่ตัวเองทำได้ก่อน” 

Fact Box

  • ร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการ ‘Food For Fighters ข้าวเพื่อหมอ’ ประกอบด้วย ร้านเป็นลาว ครัวชื่นใจ ครัวภรณี สุกี้เรือนเพชร  ครัวยี่เหลาตั้งจั๊วหลี  ร้านแซ่บคัก ร้านซูชิคิว  ร้านแซ่บเด้อ  The Never Ending Summer  ร้านบุหลันดั้นเมฆ  ร้านชาร์ม  ครัวปาล์มเมด ครัวบรรเลง ร้านชั้นขนมหวาน  Uncle & Friends Rustic Cafe  Oldtown ร้านฌาบีบี เฮ้าส์  TANK Restaurant and Café  อี่โภชนา  หมงหมง เกี๊ยวกุ้ง  ร้านลาบเสียบ  ครัวสวนสลุย  ร้านหอมแกงใต้  ข้าวแกงเสรี  อัน อัน เหลา  ยำแหนมข้าวทอด  Jamie's Burgers  พุงกลมข้าวแกงใต้  ร้านข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ข้าวหมูกรอบ พหลโยธิน 1  Little Home  และข้าวมันไก่ (วัชรพล)
  • ผู้สนใจสนับสนุนโครงการนี้สามารถร่วมสนับสนุนได้ที่ https://social.sinwattana.com/viewCampaign/9K0P8D1SV59813สอบถามรายละเอียดและติดตามได้ที่ Facebook : Food For Fighters https://www.facebook.com/FoodForFightersTH
  • หากต้องการสนับสนุนวัตถุดิบ นำส่งได้ที่ครัวชื่นใจ ชั้นดาดฟ้า อาคารรุ่งโรจน์ธนกุล ถนนรัชดาภิเษก (ใกล้กับเซ็นทรัล พระรามเก้า)

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0