โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Fear Of Missing Out ? ทำไมเราถึงกลัวการหายไป จากโลกใบนี้ ? - เพจบันทึกนึกขึ้นได้

TALK TODAY

เผยแพร่ 05 ธ.ค. 2562 เวลา 17.00 น. • เพจบันทึกนึกขึ้นได้

ไม่รู้ผมเป็นคนเดียวรึเปล่า

เวลานั่งดูอะไรไปเรื่อย ๆ ในโซเชียลมีเดียแล้วชอบมีคำถามขึ้นมากับตัวเอง

พอไปเจอคนหุ่นดี ๆ ก็จะรู้สึกว่า ทำไมเราหุ่นแบบนั้นไม่ได้บ้างนะ ทำไมคนนั้นถ่ายรูปสวยจัง โห คนนั้นไปเที่ยวอีกแล้ว น่าอิจฉา ทำไมเราต้องมานั่งทำงานอะไรตอนนี้ ในขณะที่ทุกคนหยุดกันหมด

เคยอ่านกระทู้แบบนี้มั้ย อายุสามสิบแล้วเงินเดือนเท่าไหร่กันบ้าง แล้วพอเข้าไปอ่านก็ถึงกับ โอ้โห นี่สามสิบเท่ากับเรารึเปล่าเนี่ย ทำไมไปไกลกันจัง นี่เราทำอะไรอยู่

ยิ่งไถไป ก็ยิ่งมีคำถามเกิดขึ้น ยิ่งเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น เปรียบเทียบตัวเองกับสิ่งที่คนอื่นแสดงออกมาให้เห็นด้านที่เรียกว่าเป็นไฮไลท์ของชีวิตของพวกเขาเองในช่วงนั้น

ผมอาจจะเป็นคนอ่อนไหว ที่พอเห็นอะไรแบบนี้เข้าบ่อย ๆ แล้วเหมือนโดนสะกดจิตว่า หรือจริงๆ เราควรจะต้องเป็นแบบนั้น แล้วทำไมตอนนี้ถึงยังยืนตรงนี้อยู่ ซึ่งสิ่งที่เราเห็นทุกวัน ผ่านจอบนฝ่ามือ มันคือการแสดงผลจากการคัดกรองของเพื่อน คนรู้จัก ดารา ผู้ที่เราเรียกเขาว่ามีอิทธิพลในโลกออนไลน์ ที่พวกเค้างัดเอาด้านที่ดูมีความสุข และดูดีที่สุดออกมาให้คนอื่นเห็น แล้วเราเองก็ดันอ่อนไหว ไหวหวั่นไปตามกับสิ่งที่เขาพยายามสื่อออกมาด้านเดียวไปด้วย

มันก็เลยทำให้ผมเป็นคนที่เวลาไปเที่ยว ไปทะเลสวยๆ แทนที่จะดื่มด่ำไปกับท้องฟ้า แสงแดด สายลม สิ่งที่ผมทำอย่างแรก คือการหยิบโทรศัพท์ขึ้นมา แล้วถ่ายรูป หรือ Post IG story เพื่อให้คนอื่นๆ รู้ว่า ชั้นอยู่ที่นี่นะ และดูสิ มันสวยขนาดไหน

ฟังดูอาจตลก หรือไม่ตลก แต่มองย้อนกลับไปจริงๆ ช่วงห้าปีที่ผ่านมา ผมแทบไม่เคยถูกตัดขาดจากอินเตอร์เน็ตเลยผมอยู่กับมันทุกวัน ทำงานหลัก งานอดิเรก ติดต่อกับผู้คน ทุกอย่างมีโซเซียลมีเดียเข้ามาเป็นสื่อกลางในการทำให้ทุกๆ ในชีวิต

เกิดขึ้น และเปลี่ยงแปลงไป

ผมเพิ่งรู้จักกับคำว่า *Social Currency *

เรียกง่าย ๆ ว่ามันเป็นเหมือนสกุลเงินที่เราใช้ ๆ กันนี่แหละ แต่ในโลกออนไลน์ มันคือ ยอดไลค์ ยอดแชร์ ยอดการมีส่วนร่วมของคนในโลกโซเชียล พักหลังๆ เราเริ่มให้คุณค่ากับคนที่ถูกกดไลค์เยอะ คนที่มียอดคนฟอลโล่มากๆ ดูว่าจะมีคุณค่ากว่าคนที่มีคนกดไม่กี่สิบ หรือบางทีเวลาเราโพสต์อะไรลงไป พอไม่ค่อยมีคนมาไลค์ เราก็จะรู้สึกว่าคุณค่าของสิ่งนั้น หรือของตัวเรามันลดลงไปด้วย

พูดเหมือนเกินจริง แต่พอลองมองดูดี ๆ ความจริงก็ไม่ได้ต่างจากที่ผมบอกสักเท่าไหร่

เราต่างแสดงออกถึงบางสิ่งบางอย่าง ทั้งที่ตั้งใจ แต่ทำเหมือนไม่ได้ตั้งใจ เตรียมตัวอย่างดี กะเวลาที่ควรจะโพสต์ลงไปอย่างดี เรานั่นแหละคือผลิตภัณฑ์ในโลกออนไลน์ที่ถูกใครต่อใครมอบคุณค่าให้ผ่านทาง Social Currency

ผมไปอ่านเจองานวิจัยชิ้นหนึ่ง เค้าทำออกมาเป็นอินโฟกราฟฟิกว่า Application ไม่ว่าจะเป็น Youtube, twitter , Facebook, IG , Snapchat นั้นทำให้คนเรารู้สึกอะไรกันบ้าง เมื่อได้ใช้กันไปแล้ว

มันก็มีคะแนนกันหลายหมวดหมู่ แต่ที่ผมสังเกตเห็นก็คือ ไม่ว่าจะเป็น App อะไร คะแนนเรื่องของ Self Esteem , Self Identity หรือเมื่อคนใช้แล้วรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีตัวตนมากขึ้น คะแนนสูงพอ ๆ กับเมื่อใช้แล้ว ใครอีกหลายๆ คนอาจจะเป็นคนเดียวกันด้วย ที่รู้สึกว่า ตัวตนของตัวเองหายไป หรือมีความมั่นใจในตัวเองน้อยลง

ผมว่ามันน่าสนใจมาก ที่ App พวกนี้ สร้างใครหลายคนให้มีตัวเองที่ชัดเจน มีคนติดตาม แต่ในอีกทางหนึ่งมันก็ทำให้พวกเขารู้สึกว่า มันยังไม่พอ ยังกลัวการสูญหายไปจากโลกใบนี้

ส่วนตัวผมมองเรื่องนี้ว่า จริงอยู่โลกออนไลน์ทำให้เรารู้สึกเหมือนมีคนได้ยินเสียงที่เราพูด ที่เราแสดงความคิดเห็น

*แต่ถ้าจริง ๆ เรารู้ตัวเองว่าเราเองมันมีคุณค่า มีตัวตนอยู่แล้ว แบบที่ไม่ต้องมีใครมาเห็นก็ได้ ปัญหาแบบนี้ก็จะไม่เกิดขึ้นกับเราเลย *

แต่ปัญหาก็คือ*จะมีสักกี่คนที่ให้ค่าตัวเองก่อน ก่อนที่จะให้คนอื่นมาให้คุณค่าในตัวเรา *

บางคนก็ไปให้ค่ากับ Social Currency มาก จนกระทั่งยอมแก้ผ้า เพื่อที่จะให้มีใครสักคนเข้ามาสนใจ เข้ามาเห็น

เรียกยอดในโลกออนไลน์ให้เพิ่มมากขึ้น เพิ่มความเชื่อมั่นว่า ยิ่งตัวเลขเพิ่มขึ้นเยอะ เรายิ่งมีค่ามากขึ้นตามไปด้วย

มันก็เลยทำให้ผมรู้จักกับอีกคำหนึ่งที่ชื่อว่า“FOMO หรือ The Fear Of Missing Out” หรือเรียกง่ายๆ การกลัวการหายไป ผมใส่วงเล็บให้เองว่า จากโลกของใครสักคน

ส่วนใหญ่โลกที่ว่าเนี่ยก็คือโลกออนไลน์นั่นแหละ เท่าที่เคยเห็นและสังเกต ทั้งตัวเองและคนรอบ ๆ ตัว บางคนน่าจะเคยเห็น สถานะเฟสบุ้กของใครสักคนที่บอกว่า

*“เข้าป่าสองสามวันนะ หายไปก็ไม่ต้องตกใจ” *

*“เดี๋ยวจะไปเกาะที่ไม่มีสัญญาณ เย้ ในที่สุดก็ได้อยู่กับตัวเองสักที” *

แล้วหลังจากนั้นหนึ่งชั่วโมง ก็มีรูปวิวจากในเกาะนั้นโพสต์ติดต่อกันรัวๆ แบบที่เหมือนไม่เคยโพสต์สถานะก่อนหน้านั้นมาก่อน

ผมเคยเป็นอย่างนึง เวลาเรายุ่ง หรือเวลาเราโฟกัสกับอะไรสักอย่าง ผมชอบคิดไปเองว่า จะมีคนทักมาหามั้ย จะมีอะไรด่วนรึเปล่า ถ้าเราตอบช้าจะเป็นอะไรมั้ย ไหนลองกดเข้าไปดูหน่อยดีกว่า

ซึ่งจริง ๆ มันไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย คิดไปเองทั้งนั้น

หรือที่เคยเห็นจากคนรอบตัว อย่างเช่น เวลาโทรศัพท์แบตเตอร์รี่ใกล้จะหมดแล้วจะรู้สึกเลิ่กลั่ก รีบหาที่ชาร์จ ถ้ามันดับไปซะก่อนก็จะรู้สึกว่า อยู่ไม่ได้ กระวนกระวาย บางคนถึงขั้นเหงื่อออกมือออกตัวเลย หรืออีกตัวอย่างที่เคยเจอก็คือรุ่นน้อง

ทำโทรศัพท์หาย รายนี้ทุรนทุรายมาก เค้าบอกผมว่า พี่ ผมอยู่ไม่ได้ ต้องไปเอาอะไรสักอย่างมาเล่นแทน ต้องอัพทวิตเตอร์ทุก ๆ ห้านาที หรือทุกครั้งที่มีความคิด หรืออยากพิมด่าใครสักคนเงียบๆ สตอรี่ไอจีของเค้าเนี่ยจะขึ้นเป็นจุด ๆ เหมือนปลามาไข่ที่บนหน้าจอเลยแหละ

การกลัวการไม่มีตัวตน มันน่ากลัวนะ มันอาจมากกว่าการมองไม่เห็นว่าเรายืนอยู่ตรงนี้ ด้วยความที่โลกโซเชียลมันกว้างใหญ่มาก เราเลยทำทุกอย่างให้ทุกคนในโลกมองเห็นเรา แต่พอเราจะต้องหายไปจากโลกใบนั้น เราก็เลยกลัวว่า แล้วจริง ๆ เรายังคงมีตัวตนอยู่รึเปล่า

*“ถ้าไม่มีเราที่นั่น จะยังมีเราที่นี่มั้ย ถ้าเราไม่ได้โพสต์ จะหมายรวมว่าเรายังคงอยู่รึเปล่า” *

ซึ่งคำที่มันอยู่ตรงข้ามกับ FOMO ก็คือ JOMO

“Joy Of Missing Out” หรือเป็นความสุขของการหายไป หรือการได้อยู่กับโลกที่ไม่ได้ Connect กับโลกออนไลน์

ผมรู้ว่ามันยากนะ กับการลองไม่ใช้ ไม่จับโทรศัพท์เลยสักครึ่งวัน ซึ่งบางคนที่ฟังอยู่อาจจะรู้สึกว่า เพื่ออะไร ทำไมต้องทำ จริงๆ ที่เขียนมานี้ผมก็ไม่ได้มาชักชวนให้คุณเลิกใช้ แค่จะมาเล่าให้อ่าน ชวนกันสังเกต ว่าการที่เราอยู่ในโลกอีกใบมากกว่าวันละสองชั่วโมง เราจ้องมันมากกว่าจ้องหน้าตัวเอง กิจกรรมพวกนี้มีผลบางอย่างกับจิตใจของเรา

แล้วเราต้องทำอย่างไร

ผมอยากจะบอกว่า ค*วามพอดีของการใช้ การอยู่ในโลกโซเชียลมีเดียของแต่ละคนไม่เหมือนกัน *

บางวิธีอาจเหมาะกับเรา บางวิธีอาจไม่เหมาะ ที่ผมเห็นมา มีสิ่งที่ผมสนใจหลายข้อ เช่น ลองไม่เช็คโทรศัพท์ก่อนนอนสักหนึ่งชั่วโมง ผมทราบมาว่า แสงสีฟ้าจากโทรศัพท์นั้น ทำให้ร่างกายเราหลังฮอร์โมนบางอย่าง ทำให้เราตื่นตัว และนอนไม่หลับ ซึ่งก็มีโทรศัพท์หลาย ๆ รุ่นสามารถปรับแสงเป็นเวลากลางคืนอีก เพื่อช่วยให้เราอยู่กับมันได้นานขึ้น แต่การไม่จับโทรศัพท์ก่อนนอนเลย เท่าที่ผมทำมาระยะนึง มันทำให้ผมหลับสบายขึ้น

หรือไม่เช็คโทรศัพท์หลังตื่นนอน อย่างที่ผมบอกไปตอนแรกว่า พอผมตื่นนอน ผมจะกดเข้าไปดูก่อนเลย ก่อนล้างหน้า ก่อนทำทุกอย่างในเช้าวันนั้น ซึ่งหลังๆ ผมเริ่มไม่ค่อยชอบพฤติกรรมแบบนี้ของตัวเอง เพราะการเปิดเฟสบุ้กหรืออะไรก็แล้วแต่ตอนเช้า ทำให้ผมได้รับความคิดของคนอื่น มาเป็นตัวตั้งของอารมณ์ตัวเองในวันนั้น

ผมไม่ได้อยากรู้ แต่พอผมรู้ ผมบังคับจิตตัวเองให้คิดถึงเรื่องที่เห็นเป็นเรื่องแรก ๆ ของวันไม่ค่อยได้

อีกวิธีหนึ่ง คือ ผมเป็นคนติดตามคนในโลกออนไลน์น้อยมาก เพื่อนบางคนผมก็ไม่ได้ติดตาม ไม่ใช่เพราะไม่อยากติดตาม แต่เพื่อนบางคน หรือคนรู้จักบางคน เวลาเขาอยู่บนโลกออนไลน์ การได้รับรู้ความคิดหรือสิ่งที่เขาแสดงออกมา มันไม่ได้มีผลดีกับอารมณ์หรือความคิดของเราเลย เพราะฉะนั้นผมก็จะติดตามอะไรที่รู้สึกว่า มันทำให้เรามีความสุขขึ้น มีแรงบันดาลใจ มีแรงจูงใจเวลาที่ต้องกดเข้ามาดู ไม่ใช่ทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเอง หรือทำให้เกิดอารมณ์หรือความสงสัยกับอะไรที่ไม่ได้จำเป็นจะต้องรับรู้ในเวลานั้นด้วย

โซเชียลมีเดียไม่ใช่ไม่ดี มันเป็นเพียงแค่เครื่องมือหนึ่งที่เปิดเผยความเป็นตัวตนของมนุษย์ในหลายๆ ด้าน ไม่ต้องลดไม่ต้องเลิกใช้ แต่ลองสังเกตตัวเองว่า กี่ครั้งต่อวัน ที่เราหยิบโทรศัพท์ขึ้นมา ในขณะที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้มัน

สิ่งที่เราเห็น ที่เราให้ความสนใจ มันทำให้เรารู้สึกดี และมีความสุขรึเปล่า

สิ่งที่เราควรสนใจในทุกวัน คือสิ่งที่อยู่ตรงหน้าหรือสิ่งที่อยู่ในหน้าจอ

โต๊ะกินข้าวที่เต็มไปด้วยเพื่อนเก่าที่เพิ่งนัดกันมาได้ ควรเต็มไปด้วยบทสนทนาหรือต่างคนต่างก้มหน้ามองโทรศัพท์ของตัวเอง ?

ไม่ต้องกลัวว่าถ้าเราหายไปจากมันสักพัก แล้วตัวตนของเราจะหายไปจากโลกนี้ เพราะสำหรับใครสักคน เราอาจไม่เคยมีอยู่ในโลกของเค้าเลยตั้งแต่แรกต่างหาก

ไม่ต้องกลัวว่าใครจะหาเราไม่เจอหรอก แต่ควรกลัวว่าเราจะหาตัวตนของตัวเองไม่เจอ ไม่ว่าจะในโลกใบไหน มากกว่า

แบบนั้นน่ากลัวกว่าเยอะ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0