โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

Fake News "ไวรัส" สังคม-สะท้อนเหลื่อมล้ำ

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 21 ก.ค. 2562 เวลา 02.18 น. • เผยแพร่ 21 ก.ค. 2562 เวลา 02.00 น.
21-1 Fake News

งานวิจัยพบว่า “น้ำมะนาวรักษามะเร็ง” หรือ “มันหมูคืออาหารสุขภาพอันดับ 8 ของโลก” คือตัวอย่างของfake news ที่ถูกส่งต่อวนเวียนในโลกออนไลน์ ไม่นับข่าวลวงตามสถานการณ์การเมืองที่ผลัดเปลี่ยนเข้ามา สร้างกระแสโดยเฉพาะ“ความเกลียดชัง” ต่อบุคคลหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง อาทิ “รัฐบาลสั่งผู้หญิงต้องเกณฑ์ทหาร

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิฟรีดริช เนามัน องค์กร Centre for Humanitarian Dialogue (hd) สถาบัน Change Fusion ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนานักคิดดิจิทัล Digital Thinkers Forum #2“แพลตฟอร์มสื่อดิจิทัลกับการรับมือข่าวลวง ความเกลียดชังและด้านมืดในโลกออนไลน์”

พลเมืองดิจิทัลที่รู้เท่าทัน

“ศ.อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์” ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ก่อตั้งศูนย์นโยบายดิจิทัลอาเซียน กล่าวว่า fake news หรือข่าวลวง ข่าวปลอม กระจายในช่องทางออนไลน์อย่างกว้างขวาง กลายเป็นด้านมืดของโลกออนไลน์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก จากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ดังนั้นการพัฒนาให้ผู้ใช้งานเป็น “พลเมืองดิจิทัลที่รู้เท่าทัน” และการกำกับดูแลในเชิงนโยบายจึงเป็นเรื่องสำคัญ

78.5% ผ่าน YouTube

“เข็มพร วิรุณราพันธ์” ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน เปิดเผยสถิติการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชังในสื่อสังคมออนไลน์ พบว่าระดับความรุนแรงจากการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังต่อประชาชนโดยการกล่าวหา ดูหมิ่น เหยียดหยาม ทำให้ขบขันผ่าน YouTube 78.5% เว็บบอร์ด 53% Facebook 37.6% และส่งผลกระทบต่อเยาวชนสูงถึง 42%

“หลายครั้งที่ผู้ใช้งานสื่อออนไลน์ได้เห็นข้อมูลแล้วเกิดอารมณ์นำมาก่อนการใช้เหตุผลหรือคิดวิเคราะห์ ซึ่งจะเกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ด้วย อย่างบางครั้งแม้เรารู้ว่าเป็นข่าวไม่จริง แต่เจ้านายหรือญาติส่งมาให้ก็ต้องไลก์และแชร์ ถือเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ต้องแสดงออกเพื่อไม่ให้ถูกกีดกันออกจากกลุ่ม ขณะที่เนื้อหาที่อันตรายและมีความรุนแรงไม่ได้เกิดในชั่วข้ามคืน แต่ใช้เวลาฝังรากลึกจนเป็นส่วนหนึ่งของความคิด ความเชื่อ เช่น อคติต่อแรงงานข้ามชาติ การดูถูกชนกลุ่มน้อย ดังนั้น นอกจากจะเท่าทันข่าวสาร เท่าทันเทคโนโลยีแล้ว ยังต้องระวังเรื่องอคติและต้องเท่าทันตัวเองด้วย”

ด้าน “สถาพร อารักษ์วทนะ” มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ทางมูลนิธิได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวนมากว่า มีคนถูกหลอกลวงจากข่าวลวง โดยเกือบ 45% เป็นข่าวสารด้านสุขภาพ แต่ละปีมีคนเสียชีวิตจากการซื้อยาลดความอ้วนทางช่องทางออนไลน์ มีการขายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) ขณะที่หน่วยงานรัฐยังไม่ได้เข้าไปจัดการแก้ปัญหาจริงจัง

“นอกจากสื่อออนไลน์ตอนนี้ในสื่อกระแสหลักก็มีโฆษณาแฝงอยู่ด้วย ทั้งการให้ข้อมูลที่เชื่อมโยงแบบผิด ๆ การให้ข้อมูลปลอมบางส่วน หรือปลอมทั้งหมดเพื่อหลอกขายของไม่ได้มาตรฐาน”

สะท้อนความเหลื่อมล้ำ

“ธีรมล บัวงาม” สำนักข่าวประชาธรรม กล่าวว่า ข่าวลวงได้สะท้อนปัญหาในหลายมิติ ทั้งด้านช่องว่างของความรู้ การใช้ภาษา ปัญหาเชิงวัฒนธรรม และปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ทำให้การตรวจสอบและจัดการข่าวลวงยากขึ้นตามไปด้วย

“คนต่างจังหวัดแค่จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตยังยาก บางพื้นที่ต้องให้พ่อหลวงใช้อินเทอร์เน็ตที่ อบต.เพื่อรับข่าวสารแล้วทำหน้าที่กระจายข่าวต่อ เมื่อการเข้าถึงยากแล้วก็ไม่ต้องพูดเรื่องการทำให้คนเท่าทันหรือไปจัดการข่าวลวง โดยเฉพาะคนกลุ่มชายขอบ”

“สุชัย เจริญมุขยนันท” มูลนิธิสื่อสร้างสุข ทีวีชุมชนอุบลราชธานี กล่าวว่า ข้อมูลในสังคมออนไลน์ คือที่มีความเสี่ยงจะเป็นเรื่องหลอกลวงได้ง่าย ทั้งเทคโนโลยีทำให้การตัดต่อเป็นเรื่องง่ายมาก ขณะที่คนต่างจังหวัดมีแนวโน้มจะเชื่อข่าวสารต่าง ๆ ได้ง่ายเพราะคิดว่ารัฐบาลจะต้องดูแล ไม่ปล่อยให้เกิดข่าวลวงขึ้น

“วิชาญ อุ่นอก” สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กล่าวว่า ข่าวลวงถูกบิดเบือนมากในสื่อต่างจังหวัด คือข้อมูลในเรื่องสุขภาพ การเมือง และศาสนา ซึ่งผู้รับข้อมูลจะเชื่อในสิ่งที่สอดคล้องกับความเชื่อตัวเอง ปัญหาสำคัญขณะนี้คือไม่มีแหล่งจะตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวสารที่ได้รับโดยเฉพาะในต่างจังหวัด จึงต้องมีกลไกในการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังในสังคม รวมไปถึงใช้กลไกในสถาบันการศึกษาที่จะสร้างการรู้เท่าทันสื่อในหลักสูตรตั้งแต่ชั้นประถม

ไวรัสทางสังคม

“สุนิตย์ เชรษฐา” ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion กล่าวว่า ข่าวลวงคือไวรัสทางสังคมที่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการระบาดทางความคิด ในสหรัฐและอังกฤษมีงานวิจัย พบว่าคนที่เคยได้รับข้อมูลลวง แม้จะมีข่าวสารที่ถูกต้องมายืนยันอีกครั้ง แต่ก็มีแนวโน้มที่อาจลังเลหรือไม่เชื่อข้อมูลจริง ดังนั้น หากคนที่ได้รับข่าวสารใช้เวลาชะลอช้าลงก่อนกดแชร์ส่งต่อ แม้แค่ครึ่งนาทีก็จะมีผลอย่างมากเพื่อให้คิดได้รอบด้านมากขึ้น ข่าวลวงนั้นมีวงจรชีวิตสั้นยาวต่างกัน ในต่างประเทศมีเครื่องมือหลายแบบที่จะช่วยกรองได้ เช่น chat bot ในไต้หวัน การมีเครือข่าย fact checking หรือใช้เกมเพื่อให้เด็กในโรงเรียนได้เล่น เป็นต้น

“ในเมื่อข่าวลวงเป็นไวรัส ทางแก้ก็ต้องเอาคนในสังคมมาช่วยป้องกัน กลั่นกรอง และทำให้เกิดการเท่าทัน ทั้งผู้บริโภคและภาครัฐต้องร่วมมือกัน ประเด็นสำคัญคือ จะเชื่อใจหน่วยงานที่ทำหน้าที่ check fact อย่างไรว่าจะไม่ถูกแอบอ้างหรือโฆษณาชวนเชื่อ”

ตปท.มีเครื่องมือจัดการแล้ว

“ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้” หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า จากงานวิจัยพบว่า ข้อมูลลวงมักมาจากแหล่งข้อมูลหรือเว็บไซต์เล็ก ๆ ไม่ได้เป็นสื่อกระแสหลัก จึงเกิดคำถามในเชิงการบริหารจัดการว่าจำเป็นเร่งด่วนแค่ไหนในการจัดการข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งในต่างประเทศจะเลือกจัดการข้อมูลที่เสี่ยงจะก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อสังคมก่อน

ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีมาตรการกำกับดูแลข่าวลวงนี้อย่างจริงจัง สิ่งที่ต้องทำให้เกิดคือให้ประชาชนมีความเข้มแข็งและเท่าทันข่าวสาร ต่างกับในต่างประเทศที่แพลตฟอร์มขนาดใหญ่อย่าง Facebook จะมีเครื่องมือในการตรวจสอบและสกัดกั้น หรือลดความถี่ในการมองเห็น และการแจ้งเตือน อาทิ FB fact checking program, community standard ใน Google มี Google news initiative ส่วน LINE ในไต้หวันมี co-fact checking

ขณะที่ในสหภาพยุโรปมีการตั้งผู้เชี่ยวชาญมาดูแลโดยเฉพาะโฆษณาที่จะต้องแสดงความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยว่า ใครอยู่เบื้องหลังเนื้อหา ใครเป็นคนจ่ายเงินโปรโมตข้อมูล

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0