โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Fake News ภัยคุกคามใกล้ตัวแค่เพียงปลายนิ้ว

BLT BANGKOK

อัพเดต 20 ต.ค. 2562 เวลา 14.02 น. • เผยแพร่ 18 ต.ค. 2562 เวลา 12.02 น.
4b54750c543b49d88653ca6ca38e7050.jpg

ปัจจุบันสถานการณ์ข่าวปลอม หรือ Fake News เริ่มส่งผลกระทบและก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง ท่ามกลางยุคโซเชียลมีเดียที่มีอิทธิพลสูงต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน ทำให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่าย ทว่าผู้คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน ขาดการพิจารณาว่าเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้หรือไม่ กลายเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ข่าวปลอมถูกส่งต่อและเผยแพร่ออกไป ส่งผลให้ผู้ใช้งานสื่อออนไลน์ต่างตกเป็นทั้งเหยื่อและผู้เผยแพร่โดยไม่รู้ตัว
สถานการณ์ Fake News ในไทย
ข้อมูลเท็จบนโลกออนไลน์ในไทยเพิ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ดังจะเห็นได้จากข่าวการถูกหลอกลวงให้เสียทรัพย์ผ่านโลกออนไลน์อยู่เนืองๆ ด้วยปัจจัยจากการเข้าถึงเทคโนโลยี มีแอปพลิเคชันที่ใช้งานง่ายและสะดวก บนอุปกรณ์พกพา ทุกที่ทุกเวลา ทั้งนี้ ผู้เป็นต้นทางซึ่งจงใจสร้างหรือส่งต่อข้อมูลมักมี 2 สาเหตุคือ

  1. เพื่อเงินและผลประโยชน์ และ 2. เพื่อชี้นำ ทว่าการแชร์ต่อส่วนใหญ่เกิดจากความหวังดีของประชาชนที่ได้รับข้อมูล ซึ่งอาจจะเกิดความตกใจ ความกลัว หรือความเข้าใจผิด โดยได้รับมาจากบุคคลก่อนหน้า การปล่อยให้วงจรนี้เกิดขึ้นก็จะกลายเป็นช่องโหว่ให้ผู้ที่มีเจตนาร้ายจงใจปล่อยข้อมูลเท็จหรือข่าวปลอมเข้าสู่ระบบได้
    โดยกว่า 80% ของข้อมูลที่ส่งต่อกันคือเนื้อหาเกี่ยวกับสุขภาพ อาหาร โรคภัยต่างๆ โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิต หลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง เป็นต้น รวมถึงข่าวสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าวเตือนภัยพิบัติ การเมือง ศาสนา ความขัดแย้ง กฏหมาย จนถึงข่าวแปลก
    สำหรับ ข่าวปลอม หรือ Fake News สามารถแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ 1. กลุ่มโพสต์ข้อความสร้างกระแสเพื่อความสนุกส่วนตัวหรือที่เรียกว่านักเลงคีย์บอร์ด 2. กลุ่มหวังเงิน นำภาพดารา ผู้มีชื่อเสียง โพสต์สร้างกระแส หวังยอดติดตามเพื่อโฆษณา 3. กลุ่มสร้างความเกลียดชังโพสต์ข้อความดูหมิ่น ยุยง ปลุกปั่น หรือกลุ่ม Hate Speech และ 4. กลุ่มหลอกลวง นำเข้าข้อมูลเท็จ หลอกขายสินค้า
    สถิติจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) พบว่าการดำเนินคดีข่าวปลอม ตั้งแต่ ม.ค.-ส.ค. ปี 2562 มีจำนวน 14 คดี จับผู้ต้องได้ 41 คน เทียบกับปี 2561 มี 5 คดี ผู้ต้องหา 39 คน ขณะเดียวกันมีการรับแจ้ง Email Scam ตั้งแต่ปี 2561-ส.ค. 2562 ผู้แจ้ง รวม 135 ราย มูลค่าความเสียหาย 504,293,383 บาท ส่วน Romance Scam ผู้แจ้ง 160 ราย มูลค่าความเสียหาย 122,869,736 บาท

เหตุผลที่คนเชื่อ Fake News
ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดี ฝ่ายวางแผนและพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒบริหารศาสตร์ เผยถึงเหตุผลที่คนเชื่อข่าวปลอม โดยเกิดจาก 1. อคติ ที่คนจะมีอคติกับเรื่องที่ตรงกับจริตอยู่แล้ว เมื่อเห็น Fake News จะเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง จึงแชร์ต่อเพื่อความสะใจและตอกย้ำตัวตน  2. การขาดเวลาและทักษะ ไม่มีเวลาในการอ่านเนื้อหา หรือทักษะความรู้เท่าทันสื่อในการสังเกตความน่าสงสัยและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล 3. การเสพติดในโลกโซเชียล ความรู้สึกการได้รางวัลจากการแชร์ข่าวปลอมในรูปของยอดไลค์ ยอดแชร์ คอมเมนต์ การชื่นชมยินดีและความสะใจ 4. ผู้นำความคิดที่ผิดพลาด ที่กลับเป็นผู้แพร่กระจายข่าวปลอมทำให้ผู้ติดตามพร้อมจะแชร์ข่าวปลอมต่อทันที และ 5. คุณค่าปลอมของข่าวปลอม ซึ่งมักจะถูกออกแบบให้มีคุณค่าข่าวสูง ยั่วยวนให้แชร์ต่อ

ป้องกันอย่างไร ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ Fake News 
สำหรับมาตรการของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) เพื่อสกัดข่าวปลอมโดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมที่กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชน และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ทำงาน 4 ด้าน คือ 1. กลุ่มภัยพิบัติ 2. กลุ่มเศรษฐกิจ การเงินการธนาคารและหุ้น 3. กลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพวัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายอื่นๆ และ 4. กลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดีและความมั่นคงภายในประเทศ โดยจะทำระบบรับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ 24ชั่วโมง ทำการเผยแพร่ข้อเท็จจริงอย่างรวดเร็ว เว็บไซต์รวมข้อมูลข่าวปลอมเพื่อตรวจสอบสถานะ
ส่วนการปกป้องตัวเองให้พ้นจากการตกเป็นเหยื่อข่าวปลอม มีการแนะวิธีตรวจสอบเบื้องต้นด้วยหลักการ S-P-O-T ได้แก่ Source เช็กแหล่งข้อมูล น่าเชื่อถือแค่ไหน ทั้งผู้ส่งและแหล่งที่มาของข้อมูล และสำรวจว่าสื่ออื่นหรือคนอื่นนำเรื่องนี้มาเผยแพร่หรือไม่, Profit ข่าวนี้ให้คุณให้โทษกับใครโดยเฉพาะหรือไม่ นำไปสู่การขายสินค้าหรือบริการอะไรหรือไม่, Over (exaggeration) ข่าวนี้มีเนื้อหาที่ดูแล้วโอเว่อร์หรือไม่ อาจดูไปถึงคุณภาพของเนื้อหา เช่น สะกดผิดเยอะ เป็นต้น, Time& Place เช็กวันเวลา-สถานที่ของเนื้อหาว่าเป็นข่าวเก่าหรือไม่ โดยลองนำเสิร์ชใน google หรือหากเป็นภาพประกอบก็ใช้ google image search โดยเฉพาะภาพข่าวอุบัติภัย ข่าวเหตุด่วนเหตุร้าย ซึ่งจะเป็นการป้องกันตัวเองและหยุดยั้งการส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม  

ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท LINE ประเทศไทย จำกัด 
“ประเด็นเรื่องข่าวปลอมที่กำลังกลายเป็นวิกฤติอย่างทุกวันนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในประเทศไทย หรือบางประเทศในเอเชียเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก หลายๆ ประเทศได้เริ่มออกกฎหมายมาจัดการกับข่าวปลอมนี้”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0