โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

FaceApp ยังบริสุทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญไม่พบหลักฐาน “แอปหน้าแก่” บุกรุกข้อมูลส่วนตัว

Manager Online

เผยแพร่ 19 ก.ค. 2562 เวลา 08.15 น. • MGR Online

ท่ามกลางความกังวลว่าเฟซแอป (FaceApp) แอปพลิเคชันแต่งภาพหน้าแก่สัญชาติรัสเซียที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลก อาจบุกรุกความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้แบบไม่ทันตั้งตัว ล่าสุดผู้เชี่ยวชาญย้ำว่าความกังวลนี้อาจเกินกว่าเหตุ เพราะยังไม่พบหลักฐานว่า FaceApp อัปโหลดภาพทั้งหมดในอัลบัมโดยที่ผู้ใช้ไม่ยินยอม กระตุ้นผู้ใช้อย่าห่วงแต่ FaceApp ควรตั้งค่าโซเชียลที่ใช้บ่อยที่สุดด้วย

ก่อนหน้านี้ FaceApp โดนใจชาวเน็ตเพราะเป็นแอปพลิเคชันแต่งภาพที่สามารถเปลี่ยนภาพใบหน้าผู้หญิงและใบหน้าผู้ชายให้เป็นเพศตรงข้ามได้แบบแนบเนียน นอกจากเปลี่ยนเพศ FaceApp ยังสามารถแต่งภาพใบหน้าด้วยการเปลี่ยนอายุให้เด็กลง การเพิ่มรอยยิ้ม และลูกเล่นอื่น แต่แล้ว FaceApp ก็เลือนหายไปพร้อมกับข่าวเตือนภัยให้ผู้ใช้ระวังตัวก่อนตกเป็นเหยื่อถูก FaceApp ดูดข้อมูลส่วนตัวอื่นไปด้วย จนล่าสุด FaceApp กลับมาอีกครั้งด้วยฟีเจอร์ใหม่คือการแต่งภาพหน้าแก่ ฟีเจอร์นี้โดนใจผู้ใช้หลายล้านรายจนทำให้เกิดข่าวเตือนภัยการใช้งาน FaceApp อีกครั้ง

สำหรับครั้งนี้ แอปแต่งภาพสัญชาติรัสเซียถูกมองว่าอาจไม่ปลอดภัยต่อความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้ เพราะมีรายงานว่าไฟล์รูปภาพไม่ได้ถูกประมวลผลในเครื่อง แต่จะถูกส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์ภายนอกซึ่งอาจเปิดทางให้ผู้พัฒนานำภาพที่ถูกอัปโหลดไปใช้ประโยชนด้านอื่น อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นยังไม่ควรเป็นข้อกังวล เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่า FaceApp สามารถเข้าถึงโทรศัพท์ของผู้ใช้ได้ในวงกว้าง

FaceApp ปฏิเสธทุกข้อหา

เบื้องต้น บริษัทไวร์เลสแล็ป (Wireless Lab) ผู้พัฒนา FaceApp ได้ชี้แจงว่าตัวแอปพลิเคชันจะอัปโหลดเฉพาะรูปที่ผู้ใช้เลือก เข้าไปประมวลผลที่เซิร์ฟเวอร์ของบริษัท วิธีนี้จะเพิ่มประสิทธิ์ภาพการทำงานได้ดีกว่าการประมวลผลบนเครื่องของผู้ใช้เอง โดยรูปที่ถูกส่งไปจะถูกลบออกจากเซิร์ฟเวอร์ภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งหากผู้ใช้รายใดต้องการให้ลบข้อมูลเร็วกว่านั้น จะต้องใช้วิธีร้องเรียนผ่านส่วนการรายงานข้อผิดพลาดหรือ Report a bug และต้องรอให้มีการดำเนินการตามขั้นตอนเท่านั้น

ผู้พัฒนาชาวรัสเซียย้ำว่าไม่ได้นำภาพที่ผู้ใช้ส่งมาไปจำหน่ายหรือส่งต่อให้บริษัทอื่น แต่ตัวแอปพลิเคชันถูกพัฒนาเพื่อยกระดับเทคโนโลยี AI ด้านการวิเคราะห์และแต่งรูปภาพ

60th Anniversary Tour 😂 #FaceApp pic.twitter.com/tJPIPXR6yW— HANSON (@hansonmusic) July 17, 2019

สำหรับประเด็นที่แอปสามารถดาวน์โหลดภาพอื่นจากอัลบัมของผู้ใช้ ทั้งที่ผู้ใช้ไม่ได้เลือกภาพนั้น นิก ธอมป์สัน (Nick Thompson) หัวหน้ากองบรรณาธิการของสำนักข่าวไวร์ด (Wired) ยืนยันว่ายัง ไม่มีหลักฐานใดที่ระบุว่า FaceApp ทำเช่นนั้น และพบว่า Wireless Lab ของรัสเซียนั้นให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูลตามแบบฉบับของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั่วไป แม้ว่าข้อตกลงผู้ใช้ของ FaceApp อาจถูกตั้งข้อสังเกตว่ามากเกินไปสำหรับการอนุญาตให้แพลตฟอร์มเป็นเจ้าของรูปภาพทั้งหมดที่สร้างในแอป แต่บริษัทโซเชียลมีเดียค่ายอื่น ทั้งเฟซบุ๊ก (Facebook) หรืออินสตาแกรม (Instagram) ก็ล้วนเขียนข้อตกลงผู้ใช้ให้ครอบคลุมกว้างเท่านี้เช่นกัน

ประเด็นที่ผู้เชี่ยวชาญมอง คือนโยบายของ FaceApp อาจไม่มีความหมายมากนักสำหรับผู้ใช้ทั่วไปที่ไม่มีชื่อเสียง แต่การส่งมอบภาพใบหน้าที่ทำการเปลี่ยนแปลงด้วยระบบดิจิทัลให้กับแพลตฟอร์ม โดยใช้ภาพถ่ายครอบครัว ภาพส่วนบุคคล หรือภาพหน้าจอที่มีข้อมูลทางการเงินที่ละเอียดอ่อนก็จะเกิดอันตรายได้เช่นกัน

อีกจุดที่น่าสนใจคือแอปพลิเคชัน FaceApp ทำให้เกิดความกังวลอย่างมากในกลุ่มนักการเมืองอเมริกัน ส่วนหนึ่งเพราะเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองชั้นนำของประเทศยืนยันเมื่อปีที่แล้วว่ารัสเซียเป็นประเทศที่มีส่วนแทรกแซงการเลือกตั้งในปี 2017 ทำให้สมาชิกวุฒิสภาอเมริกันยื่นจดหมายถึงเอฟบีไอ (FBI) และหน่วยานคุ้มครองการค้ายุติธรรม (Federal Trade Commission) เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐบาลกลางตรวจสอบ FaceApp อย่างจริงจังตั้งแต่วันพุธที่ผ่านมา

ควรห่วงโซเชียล

เบื้องต้น Thompson มั่นใจว่านักพัฒนาซอฟต์แวร์สัญชาติรัสเซียจะใช้ภาพถ่ายหน้าแก่ที่ดัดแปลงแล้ว เป็นตัวฝึกหรือเทรนนิ่งระบบปัญญาประดิษฐ์ของตัวเองเพื่อให้จดจำผู้คนและเรียนรู้ว่ามนุษย์มีอายุมากเท่าใด การปฏิบัติลักษณะนี้อาจให้รู้สึกว่ากำลังละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ แต่ความรู้สึกนี้ก็ถูกตั้งคำถามคล้ายกันบนแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียที่บริษัทอเมริกันเป็นเจ้าของ

สำหรับผู้ที่กังวล ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าสามารถลบแอปที่ไม่ได้ใช้งานออกไปจากโทรศัพท์ได้ แต่ถ้ายังต้องการใช้ ก็สามารถกำหนดค่าไม่ให้มีการระบุตำแหน่งขณะใช้งาน

ที่สำคัญ ทุกคนที่กังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว ควรเปิดเมนูตั้งค่าความเป็นส่วนตัวในแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียที่ใช้บ่อยที่สุด แล้วปิดการตั้งค่าส่วนใหญ่ที่อนุญาตให้บริษัทรวบรวมข้อมูล เรียกว่าอย่ากังวลตามข่าวใหม่ จนลืมช่องโหว่ใกล้ตัว.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0