โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

“เกษียณ” ออกแบบได้

Wealthy Thai

อัพเดต 05 ก.พ. เวลา 01.21 น. • เผยแพร่ 28 พ.ค. 2564 เวลา 14.43 น. • ศิริรัตน์ ตานะเศรษฐ

ถ้าอยากรู้ว่าคนไทยคิดอย่างไรกับคำว่า “แก่แล้ว” อยากชวนผู้อ่านเล่นกันดูนะคะ เปิด Google Search ขึ้นมานะคะ แล้วพิมพ์คำว่า “แก่แล้ว” ผู้เขียนคิดว่าผู้อ่านคงตกใจเหมือนกับที่ผู้เขียนตอนที่เคยเล่นครั้งแรกกับลิสต์คำที่ต่อท้ายขึ้นมา 4 อันดับแรก ที่ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ซึ่งทุกท่านจะทราบกันดีว่า คำที่ขึ้นมาโดยอัตโนมัติคือคำที่มักจะมีการถูกสืบค้นกับบ่อยมากเป็นอันดับต้นๆ 4 อันดับเหล่านี้คือ“แก่แล้วทำอะไรดี”, “แก่แล้วใครจะเลี้ยง”, “แก่แล้วไปอยู่ไหนดี”, “แก่แล้วไม่มีเงินเก็บ”…
“คำค้นหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นเลยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนไทยในปัจจุบัน คือมีคนจำนวนมากแก่แล้วแต่ไม่ได้มีการวางแผนเกษียณ และสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่หลายๆ คนกำลังกังวลใจ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีการค้นหาคำเหล่านี้จากอากู๋กูเกิ้ลเยอะขนาดนี้”
“การวางแผนเกษียณ” สำคัญขนาดไหน… เกษียณเป็นช่วงชีวิตที่ยาวนาน กว่าที่หลายๆ คนคิด จากสถิติอายุเฉลี่ย ณ ปัจจุบัน ผู้หญิง สามารถมีอายุยืนได้ถึง 83ปี และผู้ชายอายุเฉลี่ย 77ปี คาดว่า ในอนาคตคงจะเป็นเรื่องไม่แปลกถ้าเราจะสามารถมีอายุยืนยาวเฉลี่ยถึง 90 ปี ฉะนั้นเป็นไปได้ว่าระยะเวลาเกษียณของเราจะยาวนานได้ ถึง 30 ปี เป็นอย่างน้อย ถ้าเริ่มเกษียณ ณ ตอนอายุ 60 หรืออาจจะยาวนานกว่านั้น…
“ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถึงเวลาเกษียณ จะไม่มี โอกาสแก้ตัว เพราะร่างกายถดถอย ต่อให้ใจสู้ โอกาสในการทำงานจะน้อยกว่า ช่วงวัยหนุ่มสาว ไม่ว่าจะเนื่องด้วยพละกำลัง แต่ก็ด้วยความรู้ที่ล้าสมัยไปอย่างรวดเร็ว มีคนเคยพูดว่า กว่าจะเรียนมหาวิทยาลัยจบปีสี่ สิ่งที่เรียนปีหนึ่งก็ล้าสมัยไปแล้ว สิ่งสำคัญครั้นจะให้กู้เงินมาใช้จ่ายเพื่อการเกษียณ คงไม่มีแหล่งเงินกู้ใดที่จะยอมปล่อยกู้ให้ หรือ คำตอบสุดท้ายคงไม่มีใครอยากจะเป็นภาระให้กับลูกหลานแน่นอน ผู้เขียนก็เช่นกัน”
ตอนนี้เราเห็นพ้องต้องกันแล้วนะคะ ว่าการวางแผนเกษียณนี่แสนสำคัญ ฉะนั้น ถ้าเราอยากเริ่ม “ออกแบบเกษียณ” ให้กับตัวเราเองตอนแก่ จะต้องทำอย่างไรบ้างเรามาดูกันดีกว่า
-สร้างเป้าหมายเกษียณจริงๆ “การวางแผนเกษียณ” เปรียบเสมือนการสร้างบ้าน ที่เราสามารถออกแบบได้ ว่าอยากได้บ้านรูปแบบไหน หรูไฮโซ หรือ เรียบง่ายแบบบ้านชั้นเดียวอยู่เชิงเขา แน่นอนมาตรฐานที่ต่างกันย่อมต้องใช้จำนวนเงินที่ต่างกัน สิ่งสำคัญ เราต้องรู้ว่าเราอยากให้ตัวเองเกษียณในรูปแบบใด เพื่อจะสามารถคำนวณได้ว่าสิ่งที่เราอยากได้นั้น ต้องใช้เงินเท่าไหร่และจะต้องเตรียมตัวอย่างไร มันคือ“การสร้างเป้าหมาย” นั่นเอง
โดยเป้าหมายนั้นต้องชัดเจนพอ เช่น อยากเริ่มเกษียณตอนอายุ 65 ปี โดยใช้ชีวิตในเมือง อยู่คอนโดสำหรับคนชราไม่ไกลจากสาธารณูปโภค โดยอยากใช้เงินเดือนละ 30,000 บาท ไว้จับจ่ายใช้สอย และอยากมีเงินไว้เที่ยวปีละอย่างน้อย 1ครั้ง ไปผ่อนคลายที่ต่างประเทศ ของบประมาณในการเที่ยวปีละ 100,000 บาท และถ้าป่วยไม่สบายจะใช้บริการที่โรงพยาบาลรัฐบาลในคลินิกพิเศษ โดยคิดว่าอายุขัยน่าจะมีอายุถึง 85 ปี โดยสังเกตอายุเฉลี่ยของบุพการีในครอบครัว

“อันนี้เป็นตัวอย่างการสร้างเป้าหมายเกษียณที่เราต้องเห็นภาพตัวเอง ว่าเราอยากแก่แบบไหน อย่าลืมนะคะ ถ้าเราไม่เคยปักหมุดหาเป้าหมายให้กับตนเอง เราก็จะมัวเสียเวลาวิ่งวนไปมาจนหาเป้าหมายนั้นไม่เจอ แล้วพอวันนั้นมาถึง เราก็จะแก่แบบงงๆ ไม่รู้จะมีเงินเกษียณดูแลตัวเองพอมั้ย”

-คำนวณเป้าหมายออกมาเป็นจำนวนเงิน เมื่อเราทราบไลฟ์สไตล์ของเราว่าอยากได้แบบไหน ลองคำนวณดูนะคะว่าการเกษียณในรูปแบบนั้นจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ จากตัวอย่างข้างต้น ใช้เดือนละ 30,000 บาท โดยต้องมีค่าใช้จ่ายเที่ยว 100,000 บาท ต่อปี แสดงว่าใช้ปีละ 460,000 บาท เป็นเวลา 31 ปีโดยลองคิดแบบที่ยังไม่รวมเงินเฟ้อก่อนนะคะ ((30,000x12)+100,000)x31ปี จะเป็นจำนวนเงิน 14,260,000 บาท ถ้าคิดรวมเงินเฟ้อที่ 3% จะเป็นเงินที่จะต้องใช้ทั้งหมด 23,000,000 บาท
“โดยที่เราควรต้องเผื่อค่าซื้อคอนโดสำหรับคนชรา ราคา 3,500,000 บาท และ ค่ารักษาพยาบาล ซึ่งอาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่งขึ้นมาด้วย อันนี้ผู้เขียนพยายามทำให้เห็นภาพว่า เงินเกษียณเป็นเงินก้อนใหญ่ ก็อยากให้ผู้อ่านลองไปนั่งคำนวณของตัวเองดูนะคะ อาจจะยังไม่ต้องคำนวณรวมเงินเฟ้อก็ได้ อย่างน้อยจะได้เห็นภาพว่าเป้าหมายเกษียณของตนเองต้องใช้เงินเยอะแค่ไหน”
-สำรวจดูทรัพยากรเกษียณที่เรามีอยู่ หลังจากที่เราพอรู้ว่าเป้าหมายเกษียณของเราต้องใช้เงินมากแค่ไหนแล้ว เราก็ควรจะลิสต์ดูสิ่งที่เราเคยทำเอาไว้เพื่อเป้าหมายเกษียณของเราเอง ว่า เราเคยมีสิ่งใดที่เตรียมไว้แล้วบ้าง ยกตัวอย่าง เช่น เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, ประกันสังคม, ประกันสะสมทรัพย์, เงินลงทุนต่างๆ ลองดูนะคะว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ปัจจุบันมีมูลค่าเท่าไหร่ และลองประเมินดูว่าถ้าเราเก็บออมแบบเดิมไปเรื่อยๆ จะเพียงพอหรือไม่สำหรับเป้าหมายเกษียณของเรา
“ยกตัวอย่างนะคะ ถ้าคำนวณดูแล้ว ปรากฏว่าที่ผ่านมา มีเพียงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างเดียว ซึ่งมูลค่าปัจจุบันอยู่ที่ 5,000,000 บาท โดยหากมีการออมเพิ่มในแต่ละปี 100,000 บาท อีก 13 ปี ที่ผลตอบแทน 4%คาดว่า กว่าจะครบอายุ 60 ปี เงินก้อนนี้ น่าจะโตกลายเป็น 10,000,000 บาท แต่เป้าหมายเกษียณคือ23,000,000บาท แสดงว่ายังไม่พอ!!”
-วางแผนออมเงินเพิ่มหากไม่พอ เมื่อเรารู้แล้วว่าเงินเกษียณไม่พอแน่ๆ ลองย้อนกลับมาดูบัญชีรายรับจ่ายของเรา ว่ายังสามารถออมเพิ่มได้อีกหรือไม่ โดยลองคำนวณดูนะคะ ว่าจากจำนวนเวลาที่เรายังเหลืออยู่ และเป้าหมายที่ยังขาดอยู่ เราจะสามารถออมได้หรือไม่
“จากตัวอย่างเดิม เงินที่จะต้องออม เป้าหมายขาดอีก 13,000,000 บาท โดยเหลือเวลาออมเงินอีก 13 ปี ถ้าเราเลือกลงทุน ที่ผลตอบแทนซัก 6% เราจะต้องออมปีละ 690,000 บาท ย้ำนะคะ เราต้องกลับไปดูที่งบรายรับรายจ่ายของเรานะคะ ว่า เราจะสามารถออมต่อปีได้ที่จำนวนนั้นหรือไม่ ถ้าไม่ได้เราคงต้องย้อนกลับไปปรับลดเป้าหมายเกษียณของเราให้ใช้เงินน้อยลง หรือยืดเวลาเกษียณออกไปอีกเพื่อให้มีระยะเวลาออมมากขึ้น”
-ตรวจดูสวัสดิการคุ้มครองสุขภาพหากเกษียณ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงมาก และจะสูงมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเราอายุมากขึ้น ใครหลายๆ คนอาจจะบอกว่าแก่แล้วค่อยว่ากัน แต่ผู้เขียนเห็นว่า ไม่ควรคิดแบบนั้นนะคะ เพราะถ้าแก่แล้ว จะแก้ไม่ทัน
“โดยเฉพาะ ‘การวางแผนสวัสดิการสุขภาพ’ ถ้าหากเราตรวจดูสวัสดิการต่างๆ ที่เราคาดว่าจะได้รับ เช่น สวัสดิการบัตรทอง สวัสดิการประกันสังคม หรือ ประกันสุขภาพที่เคยทำไว้ ถ้าหาก เราคิดว่าไม่เพียงพอ เราควรหาทางสมัครประกันสุขภาพเพิ่ม หรือหาช่องทางเพื่อให้มีสวัสดิการสุขภาพรองรับหลังเกษียณของเราเอง”
-หมั่น “ทบทวนเป้าหมาย” และ “แผนการออมเงิน” ทุกปี ในช่วงที่เรายังหมั่นเก็บออม ในช่วงก่อนเกษียณ เราควรจะหมั่นเช็คเป้าหมายและพอร์ตเงินออมของเราว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ เพราะในแต่ละช่วงเวลา จะมีปัจจัยรอบด้านที่อาจมีผลกระทบต่อความสามารถในการออมเงินของเรา หรือสถานการณ์การลงทุนที่ไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวัง
เห็นไหมคะว่าการเกษียณออกแบบได้จริงๆ ค่ะ แต่การออกแบบที่ดี จะต้องมีการวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ ยิ่งเริ่มคิดวางแผนเร็วยิ่งดี เพราะการออมเงินจะโต นอกจากผลตอบแทนแล้ว เวลาถือเป็นปัจจัยสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น…จริงๆ แล้ว ‘การวางแผนเกษียณ’ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะต้องใช้การคำนวณ และความรู้ในการวางแผนเฉพาะด้านหลากหลาย หากผู้เขียนแนะนำได้ อยากให้ผู้อ่านที่เห็นความสำคัญของการวางแผนเกษียณ ลองหา ‘นักวางแผนการเงิน’ คู่ใจ มาช่วยคิดคำนวณให้ น่าจะดีกว่านะคะ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญ และต้องใช้ความชำนาญในการช่วยวางแผน หากเริ่มวางแผนดีตั้งแต่ต้นก็จะทำให้ทุกอย่างราบรื่นเป็นไปอย่างที่เราคิด เหมือนการติดกระดุมเสื้อ ถ้าเราติดผิดเม็ดแรกมันก็จะผิดทั้งหมด”
สุดท้ายผู้เขียนมั่นใจว่า ถ้าเราได้เริ่มวางแผน และออมตามแผนที่เราวางไว้ เราคงจะเปลี่ยนคำค้นในกูเกิ้ลใหม่ว่า “แก่แล้ว ไปเที่ยวที่ไหนดี”หรือ “แก่แล้วเงินเยอะสบายใจจัง”อะไรประมาณนี้
อ้างอิง: มหาวิทยาลัยมหิดล
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand,สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpageและ www.tfpa.or.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0