โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

FETCO เสนอคลังตั้ง SEF กองทุนหุ้นยั่งยืนแทน LTF ที่จะหมดอายุปี 62

Businesstoday

เผยแพร่ 21 ต.ค. 2562 เวลา 11.07 น. • Businesstoday
FETCO เสนอคลังตั้ง SEF กองทุนหุ้นยั่งยืนแทน LTF ที่จะหมดอายุปี 62

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เสนอจัดตั้งกองทุนหุ้นยั่งยืนเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาเป็นทางเลือกทดแทน LTF ที่กำลังจะหมดอายุในช่วยสิ้นปี 62 หวังประชาชนได้ประโยชน์ทางภาษี ส่วนภาครัฐได้ประโยชน์จากการระดมทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น

กรมสรรพากรกำลังพิจารณาศึกษารูปแบบการออมใหม่ ที่เป็นการนำแนวคิดกองทุนหุ้นยั่งยืนมาประยุกต์เพื่อการออมระยะยาว ตอบโจทย์รองรับสังคมสูงอายุมากกว่ากองทุนแอลทีเอฟ และที่สำคัญ ไม่เอื้อธุรกิจใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์เหมือนรูปแบบปัจจุบัน

สำหรับกองทุนหุ้นยั่งยืน (Sustainable Equity Fund: SEF) เป็นกองทุนที่สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (Federation of Thai Capital Market Organizations: FETCO) เสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาเป็นทางเลือกทดแทนมาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund: LTF) ที่จะสิ้นสุดลงในสิ้นปี 62 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการออมเงินระยะยาวของประชาชน และสนับสนุนการลงทุนในตลาดทุนและกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

ทั้งนี้ การออมเงินผ่านการลงทุนในตลาดทุนจะให้ผลตอบแทนในระยะยาวที่ดี และการออมเงินระยะยาวของประชาชนจะช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลเมื่อประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้ โดยเงื่อนไขการลงทุนของ SEF จะต้องลงทุนในกลุ่มหุ้นยั่งยืน ร่วมกับการลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในสัดส่วน 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (Net Asset Value : NAV)

ขณะเดียวกัน หุ้นยั่งยืนเป็นหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ซึ่งการลงทุนในหุ้นยั่งยืนจะเป็นการลงทุนที่นำปัจจัยด้าน ESG มาวิเคราะห์ควบคู่ไปกับข้อมูลทางการเงินของบริษัท เพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

สำหรับรายชื่อของหุ้นยั่งยืนจะประกาศโดย ตลท. ทุก 6 เดือน และเป็นหลักทรัพย์ที่อยู่ใน Thailand Sustainability Investment index (SET THSI index) โดยรายชื่อหุ้นยั่งยืนล่าสุดได้ประกาศไปเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีจำนวนทั้งหมด 53 หลักทรัพย์ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม 10.35 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 58.31% ของหลักทรัพย์ทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ และมีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลโดยเฉลี่ย ณ มิ.ย.62 ที่ 3.01% เทียบกับ 2.69% ของทั้งตลาด โดย 53 หลักทรัพย์ดังกล่าวจะถูกใช้ในการคำนวณ SET THSI index ในช่วงเดือน ก.ค. - ธ.ค.63

ทั้งนี้ SEF มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างจาก LTF โดยสิ่งที่เหมือนกันในหลักการคือ ผู้ที่จะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการลงทุนใน SEF ทั้งการนำไปหักลดหย่อนเงินได้ และการยกเว้นภาษีจากกำไรเมื่อขายคืน จำเป็นจะต้องถือครอง SEF ให้ครบ 7 ปีปฏิทินเหมือน LTF ด้านความความแตกต่างนั้น มี 2 ประเด็นหลักด้วยกัน ได้แก่

1.นโยบายการลงทุน เดิมนโยบายการลงทุนของ LTF ต้องลงทุนในหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65% แต่ SEF เปลี่ยนเป็นให้ลงทุนในหุ้นยั่งยืนและกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานไม่น้อยกว่า
65% ของ NAV

2.สิทธิประโยชน์ทางภาษี เดิมสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ LTF นั้น
ให้ใช้ลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของเงินได้ หรือไม่เกิน 5
แสนบาทต่อ 1 ปีภาษี แต่สำหรับ SEF นั้น สามารถใช้สิทธิ์ได้ 30% ของรายได้ หรือไม่เกิน 2.5
แสนบาทต่อ 1 ปีภาษี จะเห็นว่า
ผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 1.67 ล้านบาทต่อปี
จะสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้มากกว่าเดิม ขณะที่ผู้มีรายได้มากกว่า 1.67 ล้านบาทต่อปี จะใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้น้อยลง
ซึ่งเป็นความตั้งใจที่อยากให้คนรายได้ปานกลางมีการเก็บออมระยะยาวมากขึ้น
ดังที่แสดงในตารางด้านล่าง

ทั้งนี้ ทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษีและนโยบายการลงทุนที่ต้องลงทุนในหลักทรัพย์ที่อยู่ในกลุ่มหุ้นยั่งยืน และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานของ SEF ที่ FETCO เสนอต่อกระทรวงการคลัง อาจเป็นประโยชน์ต่อทั้งประชาชน ภาครัฐ และภาคธุรกิจ ดังนี้

1.ประชาชน ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยสามารถนำเงินลงทุนใน SEF ไปหักเป็นค่าลดหย่อนเงินได้ ที่ต้องเสียภาษี ซึ่งด้วยเกณฑ์การลดหย่อนใหม่ของ SEF จะสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางเก็บออมมากขึ้น

2.ภาครัฐ จะได้ประโยชน์จากการระดมทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระงบประมาณการลงทุนและการก่อหนี้สาธารณะของภาครัฐหากต้องลงทุนโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในระยะต่อไป

3.ภาคธุรกิจ หลักทรัพย์ที่ผ่านเกณฑ์ได้อยู่ใน SET THSI index จะได้รับประโยชน์จากการที่ประชาชนลงทุนผ่าน SEF มากขึ้น ตามแรงกระตุ้นจากการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี นอกจากนี้ภาคธุรกิจที่มีโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานยังได้รับประโยชน์ผ่านการระดมทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม FETCO ได้เสนอแนวทางของ SEF ไปตั้งแต่เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา แต่ยังเป็นเพียงขั้นตอนการรับหลักการของกระทรวงการคลังเท่านั้น และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ลงทุนใน SEF นั้น ยังอยู่ในระยะการศึกษาความเป็นไปได้ แม้ว่า SEF จะเป็นมาตรการที่จะช่วยทั้งประชาชนในแง่สิทธิประโยชน์ทางภาษี ภาครัฐและธุรกิจในแง่ของการระดมทุน แต่กระทรวงการคลังยังมีความกังวลต่อ SEF ในประเด็นของการเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจรายใหญ่บางราย และมาตรการทางภาษีที่มุ่งเน้นไปที่ผู้มีเงินได้ที่มีฐานะปานกลางขึ้นไป ทั้งนี้กระทรวงการคลังยังต้องการศึกษาเพิ่มเติม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0