โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Evolution Arena 'ความเป็นเมือง' เร่งให้สิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการได้อย่างไร?

The MATTER

อัพเดต 18 ม.ค. 2562 เวลา 11.59 น. • เผยแพร่ 17 ม.ค. 2562 เวลา 11.58 น. • Byte

ไม่มีสถานที่ไหนเร่งสิ่งมีชีวิตให้มีวิวัฒนาการได้เร็วเท่า 'เมือง' ที่คุณอยู่อาศัย มันไม่เพียงเปลี่ยนคุณ แต่เปลี่ยนสิ่งมีชีวิตรอบๆ ตัวคุณด้วย ล่าสุดมีงานวิจัยพบว่า หนูในมหานครนิวยอร์กได้แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์คือ หนู Downtown และ หนู Midtown ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองที่มีปริมาณอาหารและความหนาแน่นของรถต่างกัน ส่งผลให้หนูของแต่ละพื้นที่มีความเฉพาะเจาะจงทางชีววิทยาด้วยเช่นกัน

เมืองในสายตาของนักชีววิทยาเป็นดั่ง Hotspot ของวิวัฒนาการ แม้จะยังไม่มีการสำรวจสายพันธุ์ใหม่ในเมืองมากพอ แต่จากหลายกรณีทำให้เห็นว่าเมืองมีปัจจัยที่ทำให้สิ่งมีชีวิตต้องดิ้นรนเอาตัวรอดในรูปแบบของตัวเอง

ถนนและคอนกรีต

ถนนและตึกที่โบกด้วยคอนกรีตมีการสะสมความร้อนและรังสีตลอดทั้งวัน ทำให้เมืองมีความร้อนจัดอยู่ตลอดเวลา สิ่งมีชีวิตจึงอาจปรับตัวให้สามารถต้านทานความร้อนได้เป็นพิเศษ เช่น พืชบางชนิดอาจพยายามต้านความร้อนด้วยรากที่ชอนไชได้ลึกขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็อาจเปราะบางต่อความหนาวเย็นเมื่อเทียบกับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในพื้นที่ชนบท

ตึกรามบ้านช่อง

ลักษณะการออกแบบตึกที่มิดชิด และมีซอยลัดเลาะวกวนซับซ้อนภายใต้ 'ซุปเปอร์บล็อก' ขวางกั้นไม่ให้สิ่งมีชีวิตสัญจรไปมาอย่างอิสระ ส่งผลให้พวกมันถูกกักขังอยู่ในบริเวณเดียว และทำให้ไม่เกิดการส่งต่อและแลกเปลี่ยนยีนกับสิ่งมีชีวิตนอกเครือญาติ กลายเป็นการบังคับให้มีการสืบพันธุ์กันเอง ไม่มีความหลากหลายทางพันธุกรรม เพิ่มโอกาสความพิการ ส่งต่อโรคที่เกิดจากพันธุกรรม และทำให้สิ่งมีชีวิตเปราะบางต่อโรค

รถและขนส่งมวลชน

คมนาคมของมนุษย์สร้างความปั่นป่วนให้สิ่งมีชีวิต มีรายงานว่า นกกระจอกบ้านมีปีกที่เล็กลงเนื่องจากพยายามบินหลบรถยนต์ที่วิ่งด้วยความเร็วสูง รูปแบบถนนยังบังคับให้สัตว์ต้องเดินทางรูปแบบใหม่ โดยอาจจะใช้ทางลัด ใช้ช่องใต้ดินในการสัญจร หรือเกาะติดไปกับรถยนต์เลยก็มี

ไฟสว่างไสวยามค่ำคืน

กลางคืนที่แสงจ้าสาดส่อง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสัตว์ในหลายแง่มุม โดยเฉพาะการไปรบกวนรูปแบบวัฏจักรการนอน ทำให้สิ่งมีชีวิตไม่รู้ว่ากลางคืนหรือกลางวัน ส่งผลให้พฤติกรรมการหากินและสืบพันธุ์เปลี่ยนไป สัตว์กินซากอาจออกหากินในเวลากลางวันมากขึ้น สิ่งมีชีวิตที่เคยใช้ชีวิตตอนกลางคืน เมื่ออยู่ในพื้นที่ที่กลางคืนมีแสงสว่างจ้า ก็มีโอกาสที่พวกมันจะเสียทักษะการมองเห็นในภาวะแสงน้อยไปด้วย

สารเคมีและมลพิษทางอากาศ

สารเคมีที่เป็นพิษมีแนวโน้มทำให้สิ่งมีชีวิตมีภูมิต้านทานมากขึ้น ซึ่งในหลายกรณีเป็นเรื่องแย่มากกว่า เช่น หนูที่ทนต่อโลหะหนักมากขึ้น ทำให้มันกินไม่เลือก และมีโอกาสแพร่กระจายสารพิษจากโลหะวัตถุที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์โดยที่พวกมันไม่เป็นอะไรเลย นอกจากนี้ยังมีหลายงานวิจัยยืนยันว่า มลพิษทางอากาศยิ่งทำให้สิ่งมีชีวิตกลายพันธุ์มากขึ้น

พื้นที่สีเขียวในเมือง

พื้นที่สีเขียวเป็นของจำเป็นที่ต้องมี เสมือนระเบียงกั้นระหว่างเมืองและธรรมชาติ ช่วยเป็นพื้นที่กันชนรักษาพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต และยังเป็นแหล่งเก็บ Subpopulation ของประชากรสิ่งมีชีวิตให้คงไว้ซึ่งความหลากหลาย ไม่ถูกเร่งวิวัฒนาการไปเสียหมด

อ้างอิงข้อมูลจาก

S. Miles et al., “Urbanization as a facilitator of gene flow in a human health pest,” Mol Ecol,27:3219–30, 2018.

T.J. Johnson, J. Munshi-South, “Evolution of life in urban environments,” Science, 358: eaam8327,2017.

E. Harris et al., “Urbanization shapes the demographic history of a native rodent (the white-footed mouse, Peromyscus leucopus) in New York City,” Biol Lett, 12:20150983, 2016.

Illustration by Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0