โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

EV แรง ! ยอดจดทะเบียนพุ่ง 5 ปี พลังงานเร่งปั้นแผนส่งเสริมนักลงทุน

The Bangkok Insight

อัพเดต 22 พ.ย. 2562 เวลา 11.53 น. • เผยแพร่ 22 พ.ย. 2562 เวลา 11.53 น. • The Bangkok Insight
EV แรง ! ยอดจดทะเบียนพุ่ง 5 ปี พลังงานเร่งปั้นแผนส่งเสริมนักลงทุน

"สนธิรัตน์" เร่งโปรโมทรถ EV หลังยอดจดทะเบียนพุ่ง ปี 62 กว่า 2.4 หมื่นคัน เร่งทำแผนส่งเสริมให้เป็นอุตสาหกรรมของประเทศ พร้อมชวนลงทุนตั้งสถานีบริการ-แบตเตอรี่เก็บประจุไฟฟ้า ย้ำเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 

ข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก พบว่า มียอดรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนแล้วเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 9,585 คันปี 2557 ขยับเป็น 20,484 คันในปี 2561 ปัจจุบัน ณ เดือนกันยายน 2562 อยู่ที่ 24,380 คันแล้ว

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เล่าสถานการณ์ว่า ขณะนี้แนวโน้มการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับทิศทางของเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน และกระแสลดการใช้น้ำมันที่ก่อมลพิษ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยระดมความเห็นจากทุกภาคส่วน จัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ทั้งสถานีให้บริการ และอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้า

สำหรับโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าของกระทรววพลังงาน เริ่มตั้งแต่ปี 2559-2563 นำร่องการใช้งานกลุ่มรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า และเตรียมพร้อมสู่รถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล ในปี 2564 จะขับเคลื่อนอย่างเต็มรูปแบบ มีการพัฒนาระบบบริหารจัดการการอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ การพัฒนาระบบบริหารความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ ร่วมกับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (Vihicle to Grid)

“เราได้เร่งพัฒนาระบบต่างๆ รองรับความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มที่ และสนับสนุนให้ใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ โดยเชื่อว่าหากคนไทย หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เมืองจะพัฒนาเป็น Smart City ได้ไม่ยาก สร้างความสะดวกในการใช้ชีวิต ประหยัดพลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษด้วย ”

ทั้งนี้ ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ปี 2558-2579 (Energy Efficiency Plan : EEP 2015) กระทรวงมีเป้าหมายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจนถึงปี 2579 รวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านคัน ทั้งในรูปแบบยานยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด และยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่

สิ่งที่กระทรวงพลังงาน ต้องเร่งพัฒนาต่อไป คือ ยกระดับอุตสาหกรรมไฟฟ้าในอนาคต เพื่อรองรับความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่มากขึ้นจากภาคขนส่ง และรถ EV พร้อมส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยพัฒนา

โดยขณะนี้ สถาบันวิทยสิริเมธี ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดตั้งโรงงานต้นแบบผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและลิเธียมซัลเฟอร์ กำลังผลิต 500 ก้อนต่อวัน และนำแบตเตอรี่ไปทดสอบกับรถยนต์ และเรือไฟฟ้า รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า แล้ว

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ ในการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตระบบกักเก็บพลังงาน ประเภทแบตเตอรี่ ให้เป็นอุตสาหกรรมอนาคตของประเทศ รองรับความนิยมใช้รถยนต์ EV ที่สูงขึ้นตลอดเวลา รวมทั้งกำลังหาแนวทางในการจัดการกับแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วด้วย เพื่อให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นผู้ผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง

ทางด้านสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) หน่วยงานที่มีบทบาทในการทำแผนพลังงานของประเทศ ขณะนี้กำลังเร่งทำแผนพัฒนารถ EV เป็นรูปธรรม นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สนพ. กล่าวว่า อยู่ระหว่างศึกษาโครงสร้างพื้นฐานของรถ EV ให้พร้อมรับแนวทางการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมไฟฟ้าในปัจจุบัน ทั้งด้านภาคการผลิตและขนส่ง หลักการ คือ ภาครัฐต้องเป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อน และส่งเสริมให้ต้นทุนการผลิตมีราคาถูกลง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0