โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

DGA รอ “รมต.ดีอีใหม่” ปั้นแผนรัฐบาลดิจิทัลระดับชาติ คาดงบปีแรกเท่าเดิม 4 พันลบ.

Manager Online

อัพเดต 18 มิ.ย. 2562 เวลา 19.11 น. • เผยแพร่ 18 มิ.ย. 2562 เวลา 19.11 น. • MGR Online

DGA หรือสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล อัปเดตความคืบหน้าล่าสุดหลังครบ 1 เดือนที่พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัลมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 23 พฤษภาคม 62 ระบุต้องรอ “รมต.ดีอี” ร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเพื่อคลอดพิมพ์เขียวระดับชาติภายในปีนี้ ขณะเดียวกันก็รองบประมาณที่คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 4 พันล้านบาทเพื่อให้ระบบ One Stop Service เกิดเต็มรูปแบบ รวมถึงระบบเชื่อมโยงข้อมูล GDX ให้เสร็จทันกำหนด 2 ปี มั่นใจผลดีรัฐบาลดิจิทัลไม่ได้อยู่แค่ประชาชนและข้าราชการสะดวกกว่าเดิม แต่เป็นประเทศไทยที่จะได้รับประโยชน์เพราะประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น คาดต่อไปการจัดนโยบายให้ประชาชน จะไม่ต้องคลุมทั้ง 77 จังหวัดในนโยบายเดียว แต่จะเลือกให้เข้ากับประชาชนแต่ละพื้นที่ได้เลย

ดร. ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ DGA กล่าวว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนใน 5 ปีนับจากที่ พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัลมีผลบังคับใช้ คือการไม่ใช้หลักฐานสำเนาที่เป็นกระดาษเลย, การให้บริการติดต่อภาครัฐออนไลน์แบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียวหรือ One Stop Service และการเชื่อมโยงข้อมูลสาธารณะของรัฐสู่นักพัฒนา โดยย้ำว่าผลจาก พ.ร.บ. นี้จะเป็นยาแรงที่กำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องจัดทำข้อมูลและบริการในรูปแบบดิจิทัล (Digitization) และจะต้องแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน (Integration) รวมถึงข้อมูลที่ไม่ลับ ก็จะต้องเปิดเป็น Open Data

“กฏหมายนี้ไม่ได้ขอความร่วมมือ แต่เป็นกึ่งบังคับว่า 5 ปีจะต้องเห็นอะไรบ้าง อย่างแรกคือเราจะได้ดิจิทัลเซอร์วิสดีๆจากภาครัฐ เช่น One Stop Service, Digital ID, ePayment เป็นการยกระดับบริการรัฐให้เท่าเอกชน เอกชนสะดวกเท่าใดภาครัฐก็จะเป็นแบบนั้น ภาระประชาชนจะลดลง อีกคนที่จะได้ประโยชน์คือข้าราชการ จะไม่ต้องทำหนังสือขอดูข้อมูล การวางแผนงบประมาณจะทำได้มีประสิทธิภาพ ข้อมูลทุกอย่างจะมากองที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ข้าราชการจะทำงานได้ง่ายขึ้น แลกเปลี่ยนข้อมูลได้ด้วยปลายนิ้ว”

พ.ร.บ.ยาแรง

ดร. ศักดิ์ กล่าวถึงพ.ร.บ. การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 หรือ พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัลว่าเป็นก้าวแรกที่ต้องมีอีกหลายก้าวตามมา โดยพ.ร.บ.นี้สามารถแก้ปัญหาการคร่อมของกฏหมาย ปลดล็อกเรื่องใบขับขี่ดิจิทัลที่เคยเป็นปัญหาระหว่างกรมการขนส่งกับตำรวจจราจร

“สุดท้ายต้องแก้ที่จราจร เพราะกฏหมายนี้จะบังคับให้เชื่อมข้อมูลกัน ใบขับขี่ดิจิทัลจะเทียบเท่ากับบัตรจริง ถ้าล็อกอินเข้าไป ก็จะเช็กได้ อนุมัติได้เลย ไม่ต้องขอสำเนา”

กฏหมายนี้ยังเป็นครั้งแรกที่มีการระบุถึงเรื่อง “ธรรมาภิบาลข้อมูล” ซึ่งไม่มีกฏหมายใดของไทยที่เคยบัญญัติว่า “ให้มีธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ เป็นกรอบในการจัดการบริหารข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ” โดยจะอยู่ในรูปกรอบดำเนินงานที่ชัดเจน เพื่อให้ข้อมูลในระบบมีความถูกต้อง ทันสมัย พร้อมที่จะเอาไปต่อยอดและพัฒนา

ธรรมาภิบาลข้อมูล เป็น 1 ใน 8 ใจความสำคัญของกฎหมาย พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล ซึ่งได้แก่ 1. ให้มีการจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (แผนระดับชาติ) 2. ให้มีคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 3. ให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายนี้ 4. ให้มีธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ เป็นกรอบในการจัดการบริหารข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ 5. ให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำข้อมูลและบริการในรูปแบบดิจิทัล (Digitization) 6. ให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบดิจิทัล (Open Government Data) 7. ให้หน่วยงานของรัฐแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน (Integration) และมีศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง 8. สนับสนุนการเชื่อมโยงบริการดิจิทัล ให้เกิดบริการสาธารณะแบบเบ็ดเสร็จ

นางสาวอภิณห์พร อังคกมลเศรษฐ์ รองผู้อำนวยการ DGA กล่าวว่าแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลขณะนี้อยู่ระหว่างการทำแผนปัจจุบัน เพื่อเสนอให้ค.ร.ม.อนุมัติ โดยสิ่งที่ทำไปแล้วคือการระดมความเห็นจากทุกส่วน ได่แก่ หน่วยงานรัฐด้วยกัน ประชาชน และธุรกิจ เป็นโร้ดแม็ปที่พร้อมจะปฎิบัติจริง ซึ่งเมื่อมีกฏหมายแล้ว และมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลแล้ว คณะกรรมการส่วนอื่นในชุดนี้ก็จะร่วมเสนอทิศทาง นโยบาย เพื่อทำเป็นพิมพ์เขียวในนามบลูพรินท์ของประเทศ คาดว่าพิมพ์เขียวจากคณะกรรมการแห่งชาติจะเป็นรูปร่างภายในปีนี้

One Stop Service ต้องเกิด

ด้านนางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ DGA กล่าวถึง One Stop Service ว่าเป็นบริการที่เกี่ยวข้องกับประชาชนตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต หลักการคือประชาชนสามารถเข้าขอใช้บริการจากจุดเดียว ลดขั้นตอน ลดการกรอกแบบฟอร์ม เพราะสามารถใช้ฟอร์มเดียวกับทุกงาน

“เช่นการโอนบ้าน แจ้งความประสงค์ครั้งเดียวเลยว่าต้องการโอนน้ำ และไฟด้วย ระบบหลังบ้านจะส่งไปยัง 3 หน่วยงาน ไม่จำเป็นต้องไปยื่นเรื่องติดต่อ 3 หน่วยงาน นี่คือสิ่งที่ One Stop Service ทำได้”

แต่หากเป็น One Stop Service ของเอกชน ตัวอย่างเช่น เอกชนที่ต้องการเปิดร้านอาหาร จากเดิมอาจต้องไปขอ 7-8 ใบอนุญาต เพื่อให้บริการคาราโอเกะ ที่จำหน่ายสุราและบุหรี่ ตามทุกสิ่งที่ให้บริการแล้วต้องมีหน่วยงานอนุญาตก่อนให้บริการ จุดนี้ One Stop Service จะช่วยให้เอกชนสามารถกรอกแบบฟอร์มเดียวแล้วระบุว่าต้องการให้บริการอะไร ทั้งหมดทำได้ในขั้นตอนเดียว

จากผลบังคับใช้ของกฏหมายนี้ แปลว่าเมืองไทยจะต้องเกิด One Stop Service ให้ได้ การที่ One Stop Service จะเกิดได้ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหลายหน่วยงาน และข้อมูลนั้นต้องมีคุณภาพ ดังนั้น งานสำคัญที่ DGA ต้องทำคือการสร้างศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ Government Data Exchange Center (GDX) เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลให้ทุกหน่วยงานเชื่อมได้ ข้อมูลที่จะถูกเชื่อมใน GDX คือ เอกสาร ทะเบียน ใบอนุญาตที่ราชการออกให้ ทำให้ใบอนุญาตเป็นดิจิทัล GDX จะไม่ต้องพกสำเนาบัตร เพราะทุกฝ่ายดึงจาก GDX มาทำธุรกรรมได้ และอีกประเภทคือข้อมูลบิ๊กดาต้าที่จำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งอาจต้องใช้ข้อมูลหลายหน่วยงานมาวิเคราะห์

“พ.ร.บ. นี้จะกำหนดให้ทุกหน่วยต้องเปิด และแชร์ข้อมูล กฏหมายนี้ทำให้ทุกข้อมูลเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนกันได้ โดยที่ไม่ได้เก็บไว้เลย แต่เป็นเครื่องมือกลางให้เกิดการแลกเปลี่ยนกัน ทำให้สิ่งที่เคยเป็นอุปสรรค หายไป ที่ผ่านมาไม่ใช่ว่าหน่วยงานรัฐไม่เคยทำ แต่เป็นการขอความอนุเคราะห์ ไม่เป็นรูปธรรมขนาดนี้”

GDX เต็มรูปแบบจะใช้เวลาพัฒนา 2 ปี จุดนี้ผู้บริหาร DGA เชื่อว่าไม่นานเกินไป และเป็นเวลาที่เหมาะสมในการทำให้เกิดได้จริง ปัจจุบันมีการเชื่อมโยงขอใบอนุญาตบริการภาครัฐแล้วกว่า 40 ใบอนุญาต ที่เว็บไซต์ biz.govchannel.go.th โดยเริ่มนำร่องกับบริการที่ต้องใช้หลักฐานเป็นบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน และนิติบุคคลก่อนในช่วงแรก

ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าจุดมุ่งหวังของ พ.ร.บ. นี้ครอบคลุมทุกบริการรัฐฯ แม้อาจไม่สามารถปรับใช้กับใบอนุญาตทุกประเภทในระบบราชการไทย แต่ DGA มั่นใจว่า พ.ร.บ. จะช่วยให้เกิดหน่วยงานรัฐที่ลดความยุ่งยาก ซึ่งจะให้มากกว่าความสะดวก เพราะประเทศไทยจะพัฒนาได้หากเอกชนเพิ่มขีดความสามารถ ผู้ประกอบการได้รับการส่งเสริมให้นำข้อมูลไปใช้ ทั้งข้อมูลการเดินทางเรียลไทม์, ข้อมูลระดับน้ำ และข้อมูลการเกษตรซึ่งมีการหารือมาแล้ว ขณะเดียวกันก็จะทำให้เกิดความโปร่งใส รัฐสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปีแรกยังรอฤกษ์ Digital ID

ภายในปีแรก DGA เชื่อว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในหน่วยงานรัฐที่ให้บริการภาคธุรกิจราว 70-80 หน่วยงาน และหน่วยงานที่ให้บริการประชาชน 120 หน่วยงาน โดยหากระบบ Digital ID พร้อมให้บริการจริงปลายปีนี้ตามนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย DGA จะผลักดันให้เกิดบริการที่คนไทยจะสามารถเรียกดูทะเบียนบ้าน ข้อมูลสวัสดิการ ใบสั่งปรับผู้ขับขี่รถ และบริการอื่นอีกกว่า 20 บริการผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยไม่ต้องจดจำรหัสผ่านให้ยุ่งยาก

นอกจาก Digital ID ดร.ศักดิ์ย้ำว่าต้องการเวลาในการก่อร่างรัฐบาลดิจิทัล เนื่องจากสำนักงานต้องเข้าไปช่วยเหลือบางหน่วยงานรัฐ โดยในระดับกรม ประเทศไทยมีจำนวนมากกว่า 400 หน่วย และมีศูนย์ให้บริการมากกว่าแสนแห่งซึ่งรวมทั้งโรงเรียนรัฐกว่า 7 หมื่นแห่ง, อบต., โรงพยาบาล และโรงพัก จุดนี้ยังต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะเริ่มเปลี่ยนรูปแบบการทำงานกี่ร้อยหน่วยงานในปีแรก เบื้องต้นประเมินว่าจะเริ่มที่ 300 หน่วยงาน

ไม่เพียง Digital ID และเวลา แต่ DGA ยังต้องการงบประมาณเพื่อสานฝันด้วย โดย 3 ปีที่แล้ว DGA เคยเป็นข่าวว่าได้รับการจัดสรรงบประมาณรัฐบาลดิจิทัลมากกว่า 4,000 ล้านบาท แต่เงินจำนวนนี้ไม่ถูกส่งถึงสำนักงาน DGA ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฐานะของรัฐบาลจัดตั้งในขณะนั้น สำหรับปี 2562 คาดว่างบประมาณที่ได้จะยังอยู่ในระดับเดิม และความจริงจังของนโยบายที่มี พ.ร.บ. ผลักดันจะไม่ทำให้รูปการณ์ซ้ำรอยเดิม

“งบประมาณ 4,000 ล้านบาทนี้ไม่เกี่ยวข้องกับส่วนเครือข่ายหรือเน็ตเวิร์ก แต่เป็นส่วนสำหรับจัดสร้าง OSS GDX และงานบริการดิจิทัลแก่หน่วยงานที่ไม่พร้อม” ดร. ศักดิ์กล่าวหลังจากระบุว่า “เรารอแค่รัฐบาล เพราะวันนี้โร้ดแมปพร้อม เราเตรียมสร้างความรับรู้ให้ภาครัฐ เหลืออีกส่วนคือการวางแผน ซึ่งเราไม่อยากให้มีแต่แผน เงินก็ไม่มีให้แบบที่เคยเป็น”.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0