โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

กีฬา

Culture of the Blues : แนวทางและวัฒนธรรมของชลบุรี เอฟซี สโมสรไทยที่ใครก็รัก

Main Stand

อัพเดต 21 ส.ค. 2562 เวลา 11.28 น. • เผยแพร่ 20 ส.ค. 2562 เวลา 17.00 น. • ณัฐนันท์ จันทร์ขวาง

“ชลบุรี เอฟซี” เป็นชื่อสโมสรที่แฟนบอลไทย คุ้นหูเป็นอย่างดี ในฐานะต้นแบบ ทีมลูกหนังท้องถิ่นนิยม ที่มีการบริหารองค์กรอย่างเป็นมืออาชีพ 

แม้ผ่านเวลามานานกว่าทศวรรษ ทัพฉลามอาจไม่ยิ่งใหญ่เหมือนเมื่อก่อน และห่างหายจากความสำเร็จมาเป็นเวลานาน แต่สโมสรแห่งนี้ก็ยังมีแรงดึงดูดให้ผู้เล่นชื่อดัง ยอมลดเงินเดือน และปฏิเสธข้อเสนอที่ดีกว่า ตบเท้ามาสู่ทีมฉลามชลกันอย่างไม่ขาดสาย

Main Stand ขอพาทุกท่านไปล้วงหลังบ้านของสโมสร ชลบุรี เอฟซี เพื่อทำความรู้จัก แนวทางการทีมฟุตบอล และวัฒนธรรมองค์กร ที่แตกต่างและไม่เหมือนเคยเปลี่ยนไป แม้เวลาผ่านนานหลายสิบปี

รากฐานจากเยาวชน

จุดเริ่มต้นของสโมสรชลบุรี เอฟซี มาจากทีมฟุตบอลของโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา เมื่อทางโรงเรียนได้ชักชวนให้ ธนศักดิ์ สุระประเสริฐ และ อรรณพ สิงห์โตทอง สองศิษย์เก่าของโรงเรียน เข้ามาบริหารทำทีมฟุตบอล เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนแห่งนี้

“คุณตุ๋ย (ธนศักดิ์ สุระประเสริฐ) เขาเป็นคนที่มีแต่ให้ ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน เขารับเด็กที่โนเนม ไม่มีโรงเรียนไหนเอา ขอแค่มีใจรักฟุตบอล เขาก็รับมาเลี้ยงดูอยู่ที่บ้าน 40-50 คน ดูแลทุกอย่าง อาหาร 3 มื้อ ที่พัก เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม กลับบ้านก็ให้เงินติดตัวอีก ใครพามาฝากก็รับเลี้ยงไว้หมด” อรรณพ สิงห์โตทอง รองประธานสโมสร ชลบุรี เอฟซี กล่าวถึงนโยบายที่เป็นรากฐานของสโมสรจนถึงทุกวันนี้

การให้โอกาสเด็ก กลายเป็นแนวทางสำคัญที่สร้างชื่อเสียงให้กับทีมฟุตบอลโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา เยาวชนมากมายเดินทางจากทั่วประเทศไทย เดินทางมาศึกษาวิชาฟุตบอลที่เมืองน้ำเค็ม และก้าวเป็นกำหลังหลักของสโมสรชลบุรี เอฟซี ในอนาคต

พิภพ อ่อนโม้ จากจังหวัดพิจิตร, โกสินทร์ หทัยรัตนกุล สุรีย์ สุขะ และสุรัตน์ สุขะ จากจังหวัดสกลนคร นักเตะเหล่านี้คือตัวอย่างของเด็กจากต่างจังหวัด ที่ได้รับโอกาสก้าวเข้ามาเรียนในโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา โดยมีที่พักและอาหารให้ฟรี พร้อมทั้งสวัสดิการด้านอื่นอีกมากมาย จากความตั้งใจจริงของผู้บริหารทีม ที่อยากให้โอกาสเด็กเหล่านี้ ได้มีอนาคตที่ดีบนเส้นทางฟุตบอลอาชีพ

"ตอนหลังเราจึงไปทำทีมฟุตบอลให้โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ที่เพิ่งเปิดใหม่ในจังหวัด เราได้พวกไอ้ชลทิตย์ (จันทคาม), อำไพ มุธาพร, เจษฎากร เหมแดง, อดุล หละโสะ, เกียรติประวุฒิ สายแวว ทำไปได้สักพัก ร.ร.จุฬาภรณ์ฯ เริ่มมีชื่อเสียงได้แชมป์ กลายเป็นว่า เราประสบความสำเร็จทั้ง 2 โรงเรียนที่ทำ” อรรณพ สิงห์โตทอง กล่าวถึงการสร้างนักเตะในจังหวัดชลบุรี ที่ขยายตัวสู่จุฬาภรณราชวิทยาลัย

ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจังหวัดชลบุรี พัฒนานักเตะฝีเท้าดีขึ้นมามากมายในระดับโรงเรียน คือไม่มีสโมสรฟุตบอลอาชีพให้นักเตะเหล่านี้ลงเล่น จึงมีการจัดตั้งสโมสรฟุตบอลชลบุรี–สันนิบาตฯ สมุทรปราการ ในปี ค.ศ. 1997 เพื่อเป็นที่รองรับให้กับนักเตะที่ปั้นขึ้นมา แล้วไม่สามารถหาสโมสรอื่นเล่นได้

ส่วนนักเตะฝีเท้าดีเช่น พิภพ อ่อนโม้ หรือ โกสินทร์ หทัยรัตนกุล จะถูกส่งไปเล่นยังสโมสรอาชีพในศึกไทยลีก จากการแนะนำของอรรณพ สิงห์โตทอง ที่ต้องการให้เยาวชนที่ปั้นขึ้นมา ได้รับโอกาสที่ดีกว่าจะมาเล่นให้ทีมชลบุรี–สันนิบาตฯ สมุทรปราการ ที่ยังคงลงเล่นในการแข่งขันลีกรอง หรือ ดิวิชั่น 1

Photo : Oknation 

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ก่อตั้งสโมสรชลบุรี เอฟซี ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ เกิดขึ้นเมื่อ สมาคมกีฬาจังหวัดชลบุรี ได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขัน โปรวินเชียลลีก ฤดูกาล 2000 ลีกฟุตบอลระดับสูงสุดของสโมสรในเขตภูมิภาค แทนที่จังหวัดปัตตานี ที่มีปัญหาด้านงบประมาณและขอถอนตัวออกไป

สโมสรชลบุรี เอฟซี ลงเล่นในศึกโปรวินเชียลลีก จนถึงฤดูกาล 2005 อันเป็นฤดูกาลประวัติศาสตร์ของโปรวินเชียลลีก เนื่องจากอันดับ 1 และ อันดับ 2 ในฤดูกาลดังกล่าว จะได้สิทธิเลื่อนชั้นสู่ไทยลีก ลีกฟุตบอลอันดับหนึ่งของประเทศไทย ที่ขณะนั้นยังจำกัดให้แค่ทีมในกรุงเทพมหานคร

ทัพฉลามชลคว้าแชมป์ในฤดูกาลดังกล่าว และก้าวขึ้นสู่ไทยลีก จากฝีเท้าของศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา และโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ที่พวกเขาปลุกปั้นขึ้นมาด้วยตัวเอง โดยนักเตะเหล่านี้จะยังคงเป็นกำลังหลักของสโมสรต่อไป จนสโมสรก้าวสู่จุดสูงสุดด้วยการคว้าแชมป์ไทยลีก มาครองในฤดูกาล 2007 
 

Photo : Oknation 

การคว้าแชมป์ไทยลีกของสโมสรชลบุรี เอฟซี สร้างแรงกระแทกครั้งใหญ่แก่วงการฟุตบอลไทย ไม่ใช่แค่ในแง่ของทีมท้องถิ่นที่คว้าแชมป์ลีก แต่ยังรวมถึงแง่ของการเป็นสโมสรฟุตบอล ที่ปลุกปั้นนักเตะเยาวชนสัญชาติไทยของตัวเอง ขึ้นมาแกนหลักของสโมสร จนทีมประสบความสำเร็จในท้ายที่สุด

แนวทางการปั้นเยาวชนของชลบุรี เอฟซี จึงกลายเป็นต้นแบบการทำทีม ของสโมสรฟุตบอลไทยในเวลาต่อมา ทัพฉลามชลแสดงให้ทุกทีมเห็นว่า ความสำเร็จไม่จำเป็นต้องมาจากการทุ่มซื้อนักเตะทีมชาติ หรือผู้เล่นจากต่างประเทศเสมอไป 

การปั้นเยาวชนอย่างมีระบบแบบแผน สามารถประสบความสำเร็จได้ ดั่งที่สโมสรชลบุรี เอฟซี คว้าแชมป์ไทยลีกในฤดูกาล 2007 แม้ไม่เงินมากมายหลายสิบล้าน หนุนหลังเหมือนสโมสรอื่นในไทยลีกขณะนั้น

ครอบครัวที่ผูกพัน

การคว้าแชมป์ไทยลีกของสโมสรชลบุรี เอฟซี ปลุกกระแสฟุตบอลไทยที่แต่เดิมเคยจำกัดวงในเมืองหลวง ให้กระจายตัวไปสู่ส่วนภูมิภาค แทบทุกจังหวัดมีทีมฟุตบอลเป็นของตัวเอง และเริ่มมีเจ้าของสโมสรหน้าใหม่ ที่มีทุนมหาศาล พร้อมทุ่มซื้อนักเตะฝีเท้าดี และให้เงินเดือนหลายแสนบาท เพื่อดึงดูดนักเตะเหล่านั้นเข้าไปร่วมทีม

ในช่วงเวลาที่หลายทีมกำลังเติบโต และลงทุนด้วยเม็ดเงินมากมายเพื่อไขว่คว้าความสำเร็จ ชลบุรี เอฟซี ต้องเจอกับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักเตะมากมายหลายคนถูกสโมสรที่มีเงินมากกว่าดึงตัวออกไป ทำให้ทัพฉลามชลที่เคยยิ่งใหญ่ และปลุกกระแสบอลไทยสู่ภูมิภาค ไม่สามารถคว้าแชมป์รายการใหญ่ได้อีก ตั้งแต่แชมป์เอฟเอ คัพ เมื่อฤดูกาล 2010 (ไม่นับแชมป์ร่วมจากเหตุการณ์สำคัญในปี 2016) 

Photo : Facebook : Chonburi Football Club

“หลังจากเราได้แชมป์ (เอฟเอ คัพ 2010) ประมาณ 3 ปี มันเข้าสู่ยุคที่ทีมของเราโรยรา แต่ละคนเริ่มอยากออกไปหาความท้าทายใหม่ บางคนอยู่ในช่วงบั้นปลายการค้าแข้ง อยากไปเก็บเงินที่อื่น เพราะเขารู้ว่าทีมเรามีเงินไม่มาก” ศศิศ สิงห์โตทอง ผู้จัดการทีมชลบุรี เอฟซี กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทีมชลบุรี เอฟซี 

นักเตะชื่อดังที่เคยช่วยทีมชลบุรี เอฟซี ในยุครุ่งเรือง ไม่ว่าจะเป็น โกสินทร์ หรือ สินทวีชัย หทัยรัตนกุล, อดุล หละโสะ ,ณัฐพงศ์ สมณะ, เจษฏากร เหมแดง และ เกียรติประวุฒิ สายแวว เริ่มทยอยออกจากสโมสรในช่วงปี 2014-2016 ด้วยเหตุผลส่วนตัวของแต่ละคนที่แตกต่างกันออกไป

“มีหลายคนเดินมาเราบอกว่า ผมไม่อยากอยู่แล้วนะ ที่อื่นเขาให้เงินเยอะ ที่ผ่านมานักเตะบางคน เขาก็เดินมาคุยกับเราตรงๆ เราก็โอเค ในเมื่อมันเป็นความพอใจของนักเตะ ต่อให้เราไม่อยากให้ไป เพราะนี่คือนักเตะที่เราสร้างมา เราก็อยากให้เขาอยู่ที่นี่ สร้างผลงานต่อยอดให้กับสโมสร” ศศิศ สิงห์โตทอง กล่าวถึงเหตุผลที่นักเตะทยอยเดินออกจากชลบุรี เอฟซี

“แต่ในเมื่อมันเป็นความพอใจของนักเตะบางคน ที่อยากย้ายเพราะได้เงินเยอะกว่าเป็นเท่าตัว เราห้ามเขาไม่ได้ ก็ต้องปล่อยให้ไป อีกด้านก็เหมือนปิดกั้นอนาคตเขา เพราะเขาย้ายไปก็ได้เงินเยอะ อยู่ที่นี่ได้เงินน้อย รั้งเขาไว้ เราก็เพิ่มเงินให้เขาไม่ได้ มันก็เป็นความพอใจของนักเตะ เราต้องยอมรับความจริง ว่าเราไม่มีเงินไปสู้ทีมอื่น”

Photo : Line Today

การเสียนักเตะตัวหลักออกจากทีมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลถึงฟอร์มในสนามของชลบุรี เอฟซี อย่างชัดเจน แต่แทนที่จะทุ่มเงินเพื่อซื้อนักเตะฝีเท้าดีเข้ามาทดแทน ทัพฉลามยังคงยึดแนวทางเดิม คือการปั้นเยาวชนจากอคาเดมีของตัวเองต่อไป แม้การเจียระไนเพชรเม็ดงามสักเม็ด จะใช้เวลานาน แต่พวกเขาอดทนรอได้ เพื่อสร้างความสำเร็จจากเยาวชนในทีมเหมือนดั่งวันวาน

เกริกฤทธิ์ ทวีกาญจน์, นพนนท์ คชพลายุกต์ และ ชนินทร์ แซ่เอียะ คือเยาวชนจากทัพฉลามชลที่ก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักตลอดหลายปีที่ผ่านมา บวกกับสายเลือดใหม่อย่าง สหรัฐ สนธิสวัสดิ์, วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ, กฤษดา กาแมน และ สิทธิโชค ภาโส ที่ถูกสร้างขึ้นมาภายใต้การควบคุมดูแลของ “โค้ชเฮง” วิทยา เลาหกุล ประธานพัฒนาเทคนิค สโมสรชลบุรี เอฟซี

“ตอนนี้โค้ชเฮงเป็นคนดูแลอคาเดมีของเรา แกก็จะคอยสอนคอยบอกถึงแนวทางสโมสร อีกทางพวกเด็กก็จะเรียนรู้ด้วยตัวเองว่าสโมสรเราเป็นแบบนี้ คุณเล่นฟุตบอลเพื่ออะไร เป้าหมายในอนาคตของตัวเองคืออะไร ทีมเราไม่ได้โฟกัสแค่ คุณต้องติดทีมชุดใหญ่ชลบุรี แต่คุณต้องยืนระยะให้ได้ ก้าวไปติดทีมชาติ ทั้งชุดใหญ่หรือชุดเยาวชน” ศศิศ สิงห์โตทอง กล่าว

Photo : Cheerthaipower 

ไม่ใช่แค่ทีมโค้ชที่คอยบอกกล่าวนักเตะรุ่นใหม่ ถึงแนวทางของการเป็นนักฟุตบอลอาชีพที่ดี นักเตะรุ่นพี่ในสโมสรชลบุรี เอฟซี ยังมีอิทธิพลอย่างมากกับนักเตะรุ่นน้องในทีม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ พิภพ อ่อนโม้ กัปตันทีมหมายเลข 10 ผู้ถูกยกย่องจากแฟนบอลให้เป็นเจ้าชายฉลาม จากความจงรักภักดีที่มีให้สโมสรอย่างไม่เสื่อมคลาย จนกลายเป็นต้นแบบแก่นักเตะรุ่นหลังหลายคน ที่ต้องการจะพิสูจน์ตัวเองให้แฟนบอลยอมรับ เหมือนดั่งตำนานกองหน้ารายนี้

“ก้อง (เกริกฤทธิ์ ทวีกาญจน์) ก็มีพิภพ (อ่อนโม้) เป็นตัวอย่าง มันก็อยากพิสูจน์ตัวเองว่า สามารถเป็นเจ้าชายฉลามแบบพิภพ พี่โม้ (พิภพ อ่อนโม้) เองก็คอยสอนก้องว่า การเป็นกัปตันทีมที่ดีต้องทำอย่างไร วางตัวอย่างไร” ศศิศ สิงห์โตทอง กล่าวถึงอิทธิพลของรุ่นพี่ที่มีต่อทีม

Photo : Thairath

“ที่นี่ผมว่าทุกคนมันผูกพันกัน เราเคยอยู่ร่วมกัน มีความเป็นครอบครัว ความเป็นกันเอง ความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง ไม่แบ่งก๊กแบ่งเหล่าในทีม บรรยากาศแบบนี้แหละ เราอยู่กับแบบครอบครัวจริงๆ เราเป็นแบบนี้กันมาแต่แรกแล้ว”

ความสนิทสนมระหว่างนักเตะในทีม หรือแม้กระทั่งผู้บริหารสโมสร ที่ทุกคนอยู่กันอย่างเป็นครอบครัว เต็มไปด้วยความอบอุ่น และไม่กดดันกันมากเกินไป ทุกคนจึงรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นสโมสรเป็นอย่างดี ทั้งเรื่องของงบประมาณที่จำกัด, แนวทางของทีมในระยะยาว และ ความตั้งใจของผู้บริหารที่ให้โอกาสนักฟุตบอลเสมอ

ความผูกพันที่เป็นมากกว่าทีมฟุตบอลนี้ ส่งผลให้นักเตะหลายรายเลือกปัดรายได้มหาศาลจากสโมสรอื่น และฝากอนาคตในการค้าแข้งไว้กับชลบุรี เอฟซี ต่อไป 

กองกลางดาวรุ่งอนาคตทีมชาติไทยอย่าง วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ ตัดสินใจต่อสัญญายาวกับสโมสรไปอีก 7 ปี หรือ เกริกฤทธิ์ ทวีกาญจน์ ที่ยังคงสวมเสื้อสีฟ้าน้ำเงินต่อไป จนได้ใส่หมายเลข 10 และเป็นกัปตันทีม ตามรอย พิภพ อ่อนโม้ ผู้เป็นต้นแบบของเขา

“ก้อง (เกริกฤทธิ์ ทวีกาญจน์) ใช้ชีวิตกับชลบุรีมาตั้งแต่ป.6 จนถึงตอนนี้ก็เกือบ 20 ปีแล้ว ก้องน่าจะซึมซับอะไรหลายอย่าง ทั้ง นโยบายสโมสร ความคิดของผู้ใหญ่ เอาตรงๆนะ มันคงรู้ว่าพ่อผม (อรรณพ สิงห์โตทอง) บ้าฟุตบอลขนาดไหน รู้ว่าแต่ละปี ขาดทุนเป็นหลายสิบล้าน ก้องรู้เรื่องของสโมสรหมด มันรู้ว่าที่ดินบ้านผมต้องไปอยู่ในธนาคาร กู้เงินมาใช้จ่ายกับสโมสร” ศศิศ สิงห์โตทอง กล่าวถึงความจงรักภักดีของนักเตะในทีมชลบุรี เอฟซี

Photo : Goal Thailand

“เราก็เคยบอกก้องแล้วว่า ย้ายไปเล่นที่อื่นเถอะ ได้เงินเยอะกว่ามาก มากกว่ากว่าอยู่ที่นี่เป็นเท่าตัว ก้องพูดประมาณว่า ถ้าเขาไป คนจะว่าพ่อผมขายก้องกิน เขาไม่อยากให้แฟนบอลว่าแบบนั้น”

“ผมว่านักเตะเหล่านี้อยู่กับเรามานาน เข้าใจว่านโยบายเราเป็นแบบนี้ ผู้ใหญ่ในทีมเราเป็นแบบนี้ คือที่นี่ให้แต่ฟุตบอลจริงๆ พวกเขารู้ว่าทีมเราหวังดีกับตัวเขา พวกเขาก็เลยจงรักภักดีที่จะอยู่กับทีมยาวๆ”

ผลตอบแทนของความตั้งใจ

ความทุ่มเทในการสร้างอนาคตแก่เยาวชนบนเส้นทางฟุตบอล โดยไม่หวังผลตอบแทนของผู้บริหารชลบุรี เอฟซี เริ่มกลับมาตอบแทนพวกเขา ในการแข่งขันฤดูกาล 2019 เมื่อสโมสรต้องเจอกับความยากลำบากในการหนีตกชั้น หลังนักเตะที่มีอยู่ในทีมส่วนใหญ่เป็นดาวรุ่งทีมีฝีเท้าดี แต่ยังไร้ประสบการณ์ และไม่สามารถรับมือกับความกดดัน บนสังเวียนโตโยต้า ไทยลีก ที่เหลือเพียง 16 ทีม ในฤดูกาลล่าสุด

ตลาดซื้อขายเลกสองที่ผ่านมา สโมสรชลบุรี เอฟซี จึงดึงนักเตะมากประสบการณ์ ที่เคยประสบความสำเร็จคว้าแชมป์ไทยลีก อย่าง ดัสกร ทองเหลา, ธีรเทพ วิโนทัย, สินทวีชัย หทัยรัตนกุล และ มงคล นามนวด เข้ามาสู่ทีม เพื่อแก้วิกฤติที่เกิดขึ้นในฤดูกาลนี้

Photo : SportDesk

“ลีซอ (ธีรเทพ วิโนทัย) กับ ดัสกร (ทองเหลา) สองคนนี้ไม่เคยอยู่ชลบุรี แต่เขารู้ดีว่านโยบายที่นี่เป็นอย่างไร เราพุดคุยกันตลอดว่า นโยบายสโมสรเราคืออะไร เงินมีแค่ไหน ถ้าคุณอยากมา ก็มา แต่เงินเดือนต้องลดไปครึ่งหนึ่งเลยนะ เพราะว่าเราไม่มีเงิน” ศศิศ สิงห์โตทอง กล่าวถึงเบื้องหลังการดึงฉลามรุ่นเก๋าเข้าสู่ทีม

“ส่วนตี๋ (สินทวีชัย หทัยรัตนกุล) ผมว่าไม่ต้องพูดถึงเรื่องความจงรักภักดี เขาตั้งใจมาที่นี่ เพื่อตอบแทนพ่อผม (อรรณพ สิงห์โตทอง) เลยล่ะ ความดีที่ชลบุรีเคยมีให้เขา เขาจึงเลือกลดเงินตัวเอง ไม่ไปอยู่ทีมหัวตารางที่ได้ลุ้นแชมป์ ทั้งที่เป็นบั้นปลายอาชีพของเขา ตี๋อาจจะเล่นได้อีกสองสามปี ถ้าเขาไปทีมหัวตาราง เขามีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ แต่เขาก็เลือกที่จะมาช่วยเรา”

“กรณีของ มงคล (นามนวด) เขายอมจ่ายเงินซื้อสัญญาตัวเอง เพื่อมาอยู่กับชลบุรี วันนั้นเขาโทรหาผมบอกว่า พี่บอล (ศศิศ สิงห์โตทอง) ผมจบม.6 ที่ชลบุรี ผมเล่นมาแล้วทั้ง บีจี, เมืองทอง, ราชนาวี, อยู่ทีมนู่นทีมนี่ แต่ผมไม่เคยรับใช้ชลบุรีเลย เขาบอกกับผมว่า เขาอยากกลับมาเล่นที่นี่มาก”

“ผมก็บอกเขาไปตรงๆว่า เราไม่มีเงิน เงินเดือนเขาเคยได้เดือนละเป็นหลักแสน ที่นี่ไม่มีจ่าย เขาต้องลดลงมาครึ่งหนึ่ง แถมหนองบัว (หนองบัว พิชญ เอฟซี) ก็บอกว่า มงคลยังมีสัญญากับทีมอยู่ ถ้าเราจะเอาตัวเขามา ต้องจ่ายเงินค่ายกเลิกสัญญา”

Photo : Facebook : Chonburi Football Club

“ผมก็วัดใจเขา บอกว่า ผมไม่มีเงินค่าฉีกสัญญานะ สุดท้าย เขาส่งสลิปโอนเงินค่าฉีกสัญญามาให้ดู ว่ายอมฉีกสัญญาตัวเอง เพื่อย้ายมาอยู่ชลบุรี ผมก็ประทับใจนะ ว่าเขาอยากกลับมาอยู่กับเราจริงๆ”

การย้ายเข้าสู่สโมสรชลบุรี เอฟซี ของผู้เล่นรุ่นเก๋า สร้างความสงสัยแก่ฟุตบอลไทยจำนวนไม่น้อย ว่าเหตุใดนักเตะเหล่านี้ จึงปฏิเสธสโมสรชั้นนำ ที่มีทั้งความสำเร็จและเม็ดเงินที่มากกว่า เพื่อมาค้าแข้งกับทัพฉลามชล ที่กลายสภาพเป็นทีมกลางตาราง และมีศักยภาพด้อยกว่าทีมลุ้นแชมป์ในแทบจะทุกด้าน

“เขาไม่ได้มองเรื่องเงินแล้ว เขามองเรื่องใจมากกว่า ทุกคนอยากพิสูจน์ตัวเองที่ชลบุรี เขารู้ว่าชลบุรีเป็นทีมที่ไม่มีเงิน แต่เป็นทีมที่มีแฟนบอลบ้าคลั่ง แฟนบอลคลั่งไคล้ พวกเขาก็มีความสุขที่ได้มาเล่น แล้วเห็นคนดูเต็มสนาม” ศศิศ สิงห์โตทอง ตอบข้อสงสัย ว่าเหตุใดนักเตะชื่อดังจึงเลือกชลบุรี เอฟซี

“วันหนึ่งเมื่อนักเตะรู้ว่า เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องใหญ่ เขาจะอยากกลับมาอยู่ที่นี่ เพราะเล่นให้ทีมอื่นแล้วมันไม่มีความสุข หลายคนก็ซื้อบ้านที่ชลบุรี ครอบครัวอยู่ที่นี่ เขาจะอยากไปที่อื่นทำไม”

“โอเค มันอาจจะมีช่วงเวลาหนึ่ง ช่วงเวลาที่เขาต้องกอบโกย สุดท้ายเขาก็กลับมา เพราะทุกคนที่จากชลบุรีไป เป็นการจากไปด้วยดีตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้น การกลับมาของนักเตะแต่ละคน มันไม่ใช่ปัญหา เพราะเราไม่ได้ทะเลาะกัน ไม่ได้ขายเขาออกไป โดยที่มีฝั่งหนึ่งไม่พอใจ ถ้ามันจากกันด้วยดี จะกลับมาอีกที ก็ไม่มีปัญหาอะไร”

Photo : Mthai

หลังผ่านไป 24 เกมในโตโยต้า ไทยลีก ฤดูกาล 2019 ชลบุรี เอฟซี แหวกว่ายหนีกระแสน้ำวนของการตกชั้น ขึ้นมาอยู่อันดับ 7 ของตาราง โดยมี 33 คะแนน จากการเสริมเติมผู้เล่นรุ่นเก่าที่เข้ามากลมกลืนกับเยาวชนเลือดใหม่ของทีมอย่างลงตัว

ไม่เพียงแค่ผลงานในสนาม ที่ผู้เล่นมากประสบการณ์เข้ามาช่วยเหลือรุ่นน้องในทีม ศศิศ สิงห์โตทอง อธิบายว่า อิทธิพลของนักเตะเหล่านี้มีมากกว่าที่แฟนบอลเห็นบนสนามหญ้า จากวัฒนธรรมสโมสรที่เน้นความเป็นครอบครัว และไม่แบ่งก๊กแบ่งเหล่า ทำให้ทุกคนรวมกันเป็นหนึ่ง ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทัพฉลามชล กลับมาฟอร์มแรงอีกครั้ง ในช่วงครึ่งฤดูกาลหลัง

“ก่อนหน้านี้ ก้อง (เกริกฤทธิ์ ทวีกาญจน์) ก็เหมือนเป็นรุ่นพี่สุดในทีม พอเลกสอง เราได้ตัวประสบการณ์อย่าง ลีซอ (ธีรเทพ วิโนทัย) ดัสกร (ทองเหลา) หรือตี๋ ตี๋ (สินทวีชัย หทัยรัตนกุล) คนเหล่านี้เข้ามาเสริมเติมให้ก้อง ได้ดูรุ่นพี่ทีมมีความมืออาชีพเป็นตัวอย่าง”

“ก้องมันก็บอกว่า พี่ตี๋ พี่ลีซอ พี่โก้ มาเป็นกัปตันทีมแทนผมเลย ทุกคนบอกก้องว่า กูมาที่นี่เพื่อช่วยมึง มาช่วยให้ทีมมันดีขึ้น มาคอยสนับสนุนมึง ไม่ได้มาเป็นกัปตันทีมแทนมึง เพราะกูอีกไม่กี่ปี กูก็เลิก แต่มึงยังต้องเล่นอีกหลายปี มึงก็ต้องทำหน้าที่ตรงนี้อีกหลายปี”

“พวกรุ่นพี่ที่เข้ามาก็คอยสอนอะไรพวกนี้ให้เด็กในทีม ตัวลีซอหรือโก้เอง เราได้เขาเข้ามา บรรยากาศการซ้อมในทีมมันก็ดีขึ้น สนุกขึ้น มีการนัดกันกินกาแฟก่อนซ้อม หรือซ้อมเสร็จ เรามานั่งกินข้าวด้วยกัน นั่งกินร้านนมกัน อะไรแบบนี้ มันก็ช่วยให้ทีมเราที่เคยเครียดจากการแข่งขัน มันบรรยากาศดีขึ้น”

นับแต่วันแรกที่สโมสรชลบุรี เอฟซี เริ่มเดินทางบนการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพ พวกเขาต้องเจอกับเรื่องราวต่างๆมากมาย ทั้งช่วงเวลาที่ก้าวขึ้นจุดสูงสุด และช่วงเวลาที่ก้าวถอยหลังเพื่อเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น ไม่เคยเปลี่ยนผันวัฒนธรรมความเป็นชลบุรี เอฟซี ที่สโมสรยังคงยึดมั่นในสิ่งที่ทำตั้งแต่วันแรก นั่นคือ “การให้โอกาส” ที่ค่ากว่าความสำเร็จใด

ไม่ว่าเวลาผ่านไปเท่าไร สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปของสโมสรชลบุรี เอฟซี คือความเป็นมากกว่าสโมสรกีฬา อันเปี่ยมมนตร์เสน่ห์, วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ที่ดึงดูดนักเตะชื่อดัง และแฟนบอลให้เข้ามาจนเต็มความจุสนาม แม้จะไร้ความสำเร็จมานานเกือบสิบปี

Photo : Panpench Romsye

“การให้โอกาสคนมันเป็นนโยบายที่เราทำกันมาตั้งแต่แรกแล้ว มันเป็นคุณค่าทางจิตใจ มันเป็นคุณธรรมที่เรามีตั้งแต่แรกแล้วว่าเราต้องให้โอกาสคน”

“ผมมองว่า นักเตะเหล่านี้ที่อยู่กับเรา เขาเห็นชลบุรีเป็นทีมฟุตบอลจริงๆ รู้ว่าผู้ใหญ่ที่นี่ให้โอกาสคน มันเหมือนตอบแทนกัน ที่นี่มีบุญคุณกับเขา สักวันเขาต้องกลับมาช่วย”

“เรื่องที่ชลบุรีทำมาตลอด มันคงมีอิทธิพลสำหรับใจเขา ถ้าสิ่งที่เราทำมันไม่ไปโดนใจ นักเตะคงไม่ยอมลดเงินตัวเองแล้วลงมาเล่นให้กับเรา ทุกคนที่ย้ายมามีโอกาสไปอยู่ทีมอื่นที่ได้เงินดีกว่า และมีโอกาสลุ้นแชมป์ แต่เขายอมลดเงิน แถมลงมาอยู่กับทีมหนีตกชั้นอีก”

“ผมว่าสิ่งที่เราทำมาตลอด มันคงไปยึดเหนี่ยวจิตใจเขา ความดี ความจริงใจ ที่เรามีให้พวกเขา เราไม่เคยหวังผลประโยชน์อะไร ผมว่าสิ่งเหล่านี้ ความดีที่เราทำ มันไปโดนใจเขาจริงๆ” ” ศศิศ สิงห์โตทอง กล่าวทิ้งท้าย ถึงแนวทางที่ไม่เคยเปลี่ยนไปของชลบุรี เอฟซี

Photo : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0