โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

Covid-19 วิกฤติรุนแรงธุรกิจโรงหนัง ยุค New Normal เหลือที่นั่ง 25% ยังต้องลุ้นให้ขายเต็ม

Brandbuffet

อัพเดต 03 มิ.ย. 2563 เวลา 16.41 น. • เผยแพร่ 01 มิ.ย. 2563 เวลา 11.53 น. • Brand Move !!

วิกฤติ Covid-19 ส่งผลกระทบไปทุกอุตสาหกรรม “โรงภาพยนตร์” ก็สาหัสไม่ต่างกัน เพราะไม่เคยมีเหตุการณ์ไหนที่ทำให้โรงหนังต้องปิดพร้อมกันทั่วโลกเหมือนครั้งนี้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด กว่า 2 เดือน ที่ธุรกิจต้องหยุดนิ่ง แม้ในวันที่กลับมาเปิดได้อีกครั้ง 2 ค่ายโรงหนัง SF-Major ยังต้องเจอโจทย์ยากกับโรงหนังยุค New Normal จัดที่นั่งเว้นระยะห่างทำให้ที่นั่งหายไป 75% ต่อรอบ เหลือ 25% ที่ขายได้ก็ยังต้องไปลุ้นให้เต็ม

โรงภาพยนตร์เป็นหนึ่งในกิจการที่ได้ปลด Lockdown ระยะ 3 ให้กลับมาเปิดได้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2563  ภายใต้มาตรการเว้นระยะห่าง (Physical Distancing) ทำใหจำนวนที่นั่งต่อรอบต่อโรงเหลือ 25% นั่นเท่ากับโอกาสทางการขายหายไป 75%  เมื่อคนดูลดลงส่งผลต่อเนื่องถึงยอดขาย ป๊อปคอร์นและเครื่องดื่ม รวมทั้งรายได้จาก โฆษณาในโรงภาพยนตร์ ที่ต้องลดตามไปด้วย

อีกอุปสรรคใหญ่ของโรงหนัง คือ Movie Line-up หรือ “หน้าหนัง” ที่จะดึงคนออกมาดูในโรง ในสถานการณ์โควิด-19 ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์บางเรื่องประกาศเลื่อนโปรแกรมไปปีหน้า การเปิดโรงหนังด้วยข้อจำกัดมากมายเช่นนี้ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ปี 2563 จึงเป็นปีที่ต้องเผชิญกับวิกฤติรุนแรงที่สุด     

คุณพิมสิริ ทองร่มโพธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
คุณพิมสิริ ทองร่มโพธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

วิกฤติหนักสุดอุตสาหกรรมหนัง

เจนเนอเรชั่น 2 โรงภาพยนตร์ SF คุณพิมสิริ ทองร่มโพธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ย้ำว่า “สถานการณ์ Covid-19 หนักจริงๆ เป็นสิ่งที่หนักในทุกธุรกิจ หนักทุกคน เป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นทั่วโลก สิ่งที่แย่คือ เราไม่รู้ว่ามันจะจบลงเมื่อไหร่”

ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดไปจนถึงภาครัฐประกาศมาตรการ Lockdown เอสเอฟ ได้ปิดโรงภาพยนตร์ทุกสาขาตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 การปิดครั้งนั้นยังไม่รู้ว่าจะได้กลับมาให้บริการอีกเมื่อไหร่ ให้พนักงาน 1,000 คน หยุดอยู่บ้าน Work from Home

การปิดไป 75 วัน เป็นการปิดโรงหนังที่ยาวนานที่สุดตั้งแต่เปิดธุรกิจ  Covid-19 ไม่ได้หนักเฉพาะประเทศไทย แต่เจอผลกระทบเหมือนกันทั่วโลก เพราะไม่เคยต้องปิดโรงหนังมาก่อน  

การกลับมาเปิดโรงหนังอีกครั้งยังต้องอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด Covid-19 อย่างเคร่งครัด การจัดที่นั่งจึงต้องเว้นระยะห่างแบบ 2 ที่นั่ง เว้น 2 ที่นั่ง แถวเว้นแถว ทำให้จำนวนที่นั่งต่อรอบเหลือ 25% เท่านั้น นอกจากนี้การกำหนดเวลาเคอร์ฟิว ทำให้จำนวนรอบต่อวัน ลดลงไป 2 รอบ จากปกติรอบสุดท้าย 22.00 น. ปรับเป็นรอบสุดท้าย 18.15 น. เพื่อให้ผู้ชมและพนักงานกลับถึงที่พักทันเคอร์ฟิว

นอกจากนี้ต้องสร้างความมั่นใจให้ผู้ชมพร้อมกับมาดูหนังอีกครั้ง ด้วยมาตรการดูแลความปลอดภัยต่างๆ ในการใช้บริการ ทั้งการอบฆ่าเชื้อภายในโรงภาพยนตร์ การดูแลระบบปรับอากาศ หรือการพัฒนาแอปพลิเคชั่นให้ใช้งานง่ายเพื่อลดการสัมผัสระหว่างบุคคล เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดจุดสัมผัสต่างๆ การตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าชมภาพยนตร์

"วันนี้ทุกธุรกิจเป็นเหมือนกันหมด เพราะการกลับมาเปิดแบบมีข้อจำกัด ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบมากกว่าช่วงที่ปิด ธุรกิจโรงหนังเมื่อเปิดบริการจะมีค่าใช้จ่ายต้นทุนคงที่ทันที ทั้งค่าเช่าพื้นที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ พนักงาน แต่โอกาสการทำรายได้หายไปเยอะ ในสถานการณ์นี้เอสเอฟเองยังประคองธุรกิจไปได้ เพราะที่ผ่านมาก็ลงทุนอย่างระมัดระวังมาตลอด"

แม้รายได้จะลดลงจากมาตรการต่างๆ แต่โรงภาพยนตร์ในเครือเอสเอฟ จะไม่มีการปรับราคาบัตรชมภาพยนตร์ แม้ว่าจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น เพราะไม่มีนโยบายผลักภาระต้นทุนให้กับลูกค้า เช่นเดียวกับในสภาวะปกติที่ยังคงฉายหนังแม้จะมีผู้ชมเพียงคนเดียว

หลังกลับมาเปิดโรงหนังอีกครั้ง สิ่งที่ทุกคนเป็นกังวล คือ จะมีหนังฉายหรือไม่ ก็ต้องยอมรับว่ามีหนังฟอร์มยักษ์เลื่อนฉายไปปีหน้า แต่ก็ยืนยันว่ามีค่ายหนังไทยและต่างประเทศพร้อมสนับสนุนโรงภาพยนตร์ให้กลับมาเปิดบริการและตลอดปีนี้ โดยหนังที่เข้าโรงปีนี้ จะมีระยะเวลาฉายในโรงนานขึ้น จากปกติ 2 สัปดาห์ น่าจะอยู่ได้ถึง 4 สัปดาห์ จากจำนวนหนังที่ถูกเลื่อนโปรแกรมไปปีหน้า

"สัญญาณที่ดีของธุรกิจโรงหนัง คือ ช่วงที่ปิดก็มีผู้ชมสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียกับเราว่าเมื่อไหร่จะเปิด เพราะคิดถึงการดูหนังแล้ว ต้องบอกว่าการดูสตรีมมิ่งที่บ้านไม่เหมือนการดูหนังในโรงภาพยนตร์แน่นอน วันนี้หลายคนอยากออกจากบ้าน แต่ก็ยังระวังตัวให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อด้วย"

วันนี้เชื่อว่าทุกคนคิดถึงการดูหนัง เพราะโรงหนังยังเป็นความบันเทิงราคาถูก ตั๋วหนังเริ่มต้นที่ 160 บาท ช่วงเวลาพิเศษมีราคา 80 บาท โรงหนังจึงเป็นสถานที่ให้ความสุขและต้องปลอดภัยด้วยในช่วงโควิดนี้

ลุ้นฟื้นไตรมาส 3 เลื่อนแผนเข้าตลาด

การปิดโรงหนังไป 75 วัน และก่อนหน้านั้นที่เริ่มมีสถานการณ์แพร่ระบาดในเดือนกุมภาพันธ์ มาถึงวันที่กลับมาเปิดได้อีกครั้ง นั่นเท่ากับว่ารายได้ทั้งปีหายไปแล้ว 1 ใน 4 หลังจากนี้ยังต้องดูพฤติกรรมผู้ชมว่าจะกลับมาดูหนังในโรงภาพยนตร์มากน้อยแค่ไหน บางกลุ่มต้องการออกจากบ้าน บางกลุ่มก็ยังวิตกกับสถานการณ์ Covid-19  ปีที่ผ่านมาเอสเอฟ ขายตั๋วหนังได้ 20 ล้านใบ ปีนี้ยังยากที่จะประเมิน เพราะสถานการณ์ต้องดูกันแบบรายสัปดาห์

คุณพิมสิริ มองว่าหากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงจนถึงเป็นศูนย์รายต่อเนื่อง ภาครัฐจะผ่อนคลายมาตรการ Physical Distancing ในโรงหนังมากขึ้น เพื่อจัดที่นั่งได้เพิ่มขึ้น การฟื้นตัวอาจจะอยู่ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 เพราะค่ายหนังเองต้องใช้เวลาโปรโมทภาพยนตร์ก่อนเข้าโรง 3 สัปดาห์ด้วยเช่นกัน

จากสถานการณ์ Covid-19 ที่เกิดขึ้นมาโดยไม่คาดคิด ทำให้ปีนี้ ที่ครบรอบ 20  ปีของ เอสเอฟ ต้องเลื่อนแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปก่อน จากเดิมที่จะเข้า SET ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ส่วนการลงทุนเปิดสาขาใหม่ยังเป็นปกติปีละ 4 สาขา ปัจจุบันมี 65 สาขาทั่วประเทศ

“การทำธุรกิจปีนี้คงไม่ต้องพูดถึงกำไร แม้กลับมาเปิดโรงหนังได้อีกครั้ง แต่โอกาสหารายได้ลดลง ขณะที่ต้นทุนเท่าเดิม ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะร้านค้าในศูนย์การค้า ต้องการให้โรงหนังเป็นแม่เหล็กดึงคนเข้าศูนย์ฯ จึงต้องร่วมมือกันเพื่อช่วยกันประคับประคองธุรกิจในช่วงนี้ไปให้ได้”

“เมเจอร์” หวังครึ่งปีหลังฟื้น

สถานการณ์ Covid-19 ที่เริ่มแพร่ระบาดในเดือนกุมภาพันธ์ จนถึงมาตรการ Lockdown อีกค่ายใหญ่โรงภาพยนตร์  "เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์"  ต้องปิดโรงหนังทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563  และปิดธุรกิจพื้นที่เช่าตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2563 ทำให้ผลประกอบการไตรมาสแรกปีนี้ เมเจอร์ฯ มีรายได้ 1,322 ล้านบาท  -45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน  ขาดทุนสุทธิ 285 ล้านบาท -219% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี กำไร 214 ล้านบาท

คุณนรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าหลังกลับมาเปิดโรงภาพยนตร์อีกครั้งในวันที่ 1 มิถุนายนนี้  ได้กำหนดมาตรการ Social Distancing  ในโรงหนังเว้นระยะห่าง 2 ที่นั่ง เว้น 2 ที่นั่ง ในแถวเดียวกัน และจัดที่นั่งแถวเว้นแถว ทำให้จำนวนที่นั่งเหลือ 25% ต่อรอบ โดยยังคงนโยบายไม่ขึ้นราคาตั๋วหนัง

“จำนวนที่นั่งเหลือ 25% ต่อรอบ ยังต้องลุ้นว่าจะขายได้เต็มหรือไม่ หลังจากเปิดช่วงแรกอาจจะได้ขายได้ 20%  เมื่อมีหนังใหม่ทยอยเข้าโรง น่าจะได้เต็ม 25%  หากเป็นเช่นนั้นก็ถือว่ายังไปได้ในสถานการณ์วิกฤติแบบนี้  ปกติอัตราเฉลี่ยการขายที่นั่ง (occupancy rate) อยู่ที่ 30-35%”

ปีนี้มียังโปรแกรมหนังไทยและต่างประเทศฟอร์มยักษ์หลายเรื่องออกฉาย หนังไทย เรื่องแรกในเดือนมิถุนายนนี้ คือ พจมานสว่างคาตา ที่น่าจะทำยอดได้ดีในต่างจังหวัด  เดือนกรกฎาคม มีหนังฟอร์มยักษ์ Mulan

นอกจากนี้ยังมี Top Gun: Maverick   รวมทั้งหนัง TENET ของผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน ซึ่ง วอร์เนอร์ ยืนยันแล้วว่าจะออกฉายปีนี้  และอีกหลายเรื่องที่จะออกมาในไตรมาส 4

ปัจจุบันเมเจอร์ฯ มีรายได้จากการขายตั๋ว 70%  ป๊อปคอร์นและเครื่องดื่ม 20% และโฆษณา 10% ช่วงที่โรงหนังปิดลูกค้าที่ลงโฆษณาในโรงภาพยนตร์ยังไม่ได้ตัดงบ แต่เปลี่ยนไปใช้ผ่านสื่อออนไลน์ของเมเจอร์ฯ แทน และจะกลับมาใช้เหมือนเดิมเมื่อโรงหนังกลับมาเปิดแล้ว

“หากสถานการณ์ Covid-19 ดีขึ้น เชื่อว่าจะมีมาตรการคลายล็อกมากขึ้นอีก ทำให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์ฟื้นตัวได้ในครึ่งปีหลัง ปีนี้เมเจอร์ฯ วางเป้าหมายให้เท่ากับปี 2562”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0