โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Checklist ฝุ่น PM2.5 แก้ปัญหาถึงไหนแล้ว? ส่องความคืบหน้าแผนแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองของรัฐบาล

The MATTER

อัพเดต 21 ม.ค. 2563 เวลา 12.30 น. • เผยแพร่ 21 ม.ค. 2563 เวลา 12.15 น. • Quick Bite

หลายวันมานี้ค่าฝุ่นในกรุงเทพฯ ขึ้นสูง และไม่มีแนวโน้มว่าจะลด จนหลายคนอาจสงสัยว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรกับเรื่องนี้เลยหรอ? 

จริงๆ แล้วหลังประกาศให้การแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นเป็นวาระแห่งชาติ รัฐบาลได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เพื่อใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาฝุ่นของหน่วยงานต่างๆ

The MATTER ได้สำรวจแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เพื่อดูว่ารัฐบาลทำอะไรแล้วบ้างเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 

 

ตั้งหน่วยปฏิบัติการทำฝนหลวง

ในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ‘การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง’ ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการทำฝนหลวง เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นที่เกิดขึ้นในจังหวัดต่างๆ  โดยปัจจุบัน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั้งหมด 5 ศูนย์ เพื่อให้ครอบคลุมการทำงานใน 77 จังหวัด ได้แก่ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ, ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง, ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก และศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้  ซึ่งแต่ละศูนย์ก็จะมีหน่วยปฏิบัติการทำฝนหลวงต่างๆ ประจำการอยู่

วางระบบการเดินทางร่วมกันของเจ้าหน้าที่ราชการ 

การทำระบบการเดินทางร่วมกันของเจ้าหน้าที่ราชการ (Car Pooling หรือ Ride Sharing) ถูกระบุในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติว่า เป็นมาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้นในปี พ.ศ.2562 ซึ่งการใช้รถร่วมกัน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์บนท้องถนน อันเป็นที่มาของปัญหาฝุ่น นอกจากนี้จะช่วยแก้ปัญหารถติดด้วย 

ทำระเบียบและระบบที่รองรับการทำงานจากระยะไกลของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ได้มีการสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทำงานจากข้างนอก ในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ซึ่งระบุว่าให้การทำระเบียบและระบบที่รองรับการทำงานจากระยะไกลของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกำหนดให้มีการขยายในวงกว้างต่อไปเป็นมาตรการระยะสั้นในปี พ.ศ.2562

นอกจากการสนับสนุนภายในแล้ว ภาครัฐพยายามผลักดันแนวคิดนี้กับประชาชนด้วย ซึ่งในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา อนุทิน ชาญวีรกุล  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สนับสนุนให้คนทำงานอยู่บ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง

ขยายพื้นที่จำกัดเวลารถบรรทุกขนาดใหญ่เข้ามาในกรุงเทพฯ จากวงแหวนรัชดาภิเษก เป็นวงแหวนกาญจนาภิเษก 

ตอนนี้ภาครัฐกำลังพยายามเสนอให้มีการขยายพื้นที่จำกัดเวลารถบรรทุกไปยังพื้นที่วงแหวนรอบนอก เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง อย่างล่าสุดรัฐบาลได้เสนอ 12 มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ซึ่งคณะรัฐมนตรีรับหลักการแล้วในวันนี้ (21 ม.ค.)

โดย 1 ใน 12 มาตรการ คือ การขยายเขตพื้นที่จำกัดเวลารถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯ จากวงแหวนรัชดาภิเษก เป็นวงแหวนกาญจนาภิเษก และยังมีมาตรการอื่นๆ ที่น่าสนใจอีก เช่น การห้ามรถบรรทุกเข้ามาในกรุงเทพฯ ชั้นใน ในวันคี่ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 

ให้ ขสมก. เปลี่ยนรถโดยสารประจำทางเก่าเป็นรถ NGV ให้ครบ 489 คัน ภายใน มีนาคม พ.ศ.2562 

บริษัท SCN ผู้ชนะการประมูลรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ได้ส่งมอบรถโดยสารปรับอากาศ NGV ให้กับขสมก. ครบตามสัญญา 489 คัน ในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ ขสมก. สามารถนำรถ NGV มาใช้ได้ทันในเดือนมีนาคม พ.ศ.2562 

อย่างไรก็ตาม หากอิงตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ในอนาคต ขสมก. ต้องเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางทั้งหมดเป็นรถที่มีมลพิษต่ำ (ถไฟฟ้า/NGV/มาตรฐาน Euro VI) ซึ่งเป็นมาตรการแก้ไขปัญหามลพิษในระยะยาว (2565 - 2567)

บังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษจากรถยนต์ใหม่ Euro 6 ภายในปี พ.ศ.2565 

ในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ได้กำหนดให้มีการบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ Euro 5 ภายในปี 2564 และ Euro 6 ภายในปี 2565 ซึ่งเป็นความพยายามของภาครัฐในควบคุมการปล่อยควันเสียของรถยนต์ 

ซึ่งปัจจุบันค่ายรถต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Audi, BMW, Isuzu, Mazda หรือ Volvo เป็นต้น ก็ออกมาประกาศว่าพร้อมที่จะปรับรถที่จำหน่ายในประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ Euro 5 ภายในปี 2564 และ Euro 6 ภายในปี 2565 

กำหนดให้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 10 ppm ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2567

รัฐบาลมีแผนจะนำน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 10 ppm มาจำหน่ายในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากที่สุด ก่อนที่จะมีการบังคับใช้กฏหมายให้รถทุกคันใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 10 ppm ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2567 

น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 10 ppm จะเป็นน้ำมันที่ทำให้เกิดการเผาไหม้สมบูรณ์ และทำให้รถยนต์ปล่อยฝุ่นละอองน้อยกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรฐาน Euro 4 (มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 100 ppm) ที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบัน 

ให้เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องมือตรวจควันดำแบบทึบแสงแทนเครื่องมือตรวจควันดำแบบกระดาษกรองทั้งหมดภายใน 1 มกราคม พ.ศ. 2568

ปัจจุบันกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) ได้เริ่มให้เจ้าหน้าที่เปลี่ยนมาใช้เครื่องมือตรวจควันดำแบบทึบแสง แทนแบบเก่าที่เป็นกระดาษกรอง ที่มีข้อจำกัด คือ ตรวจวัดมลพิษบางอย่างได้คลาดเคลื่อนและทำให้เกิดความผิดพลาดในการเก็บตัวอย่างไอเสีย 

และในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2568 กรมควบคุมมลพิษจะออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทศ.) เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด ซึ่งจะระบุให้มีการนำเครื่องมือตรวจควันดำแบบทึบแสงมาใช้ในการตรวจสภาพรถ แทนเครื่องมือตรวจควันดำแบบกระดาษกรอง

อย่างไรก็ตามมาตรการที่กล่าวมาก็เป็นแค่บางส่วนในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ 'การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ซึ่งหากใครต้องการอ่านแผนฉบับเต็ม สามารถไปดูได้ที่ลิงก์นี้ (http://air4thai.pcd.go.th/webV2/download_book.php?bookid=35)

Illustration by  Sutanya Phattanasitubon

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0