โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Change a bit, Change a bite ปรับวัตถุดิบอีกนิด ดีกับทั้งเรา ดีกับทั้งโลก

WWF-Thailand

เผยแพร่ 14 มิ.ย. 2562 เวลา 17.01 น.

หลายคนอาจจะกำลังมองว่า วิถีการกินอาหารที่สามารถช่วยโลกได้นั้นยากลำบาก การจะเริ่มกินเพื่อสุขภาพและเพื่อโลกดูต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมฉับพลัน  แต่จริงๆ แล้ว มันไม่ได้ยากอย่างที่ทุกคนคิด   การจะปรับพฤติกรรมการกินที่เคยกินมาทั้งชีวิต…ภายในวันเดียว   มันก็ดูเป็นสิ่งที่ยากจริงๆ   แต่! มันก็ยังมีทางที่เป็นไปได้ หากเราค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนกันไปทีละนิด  ไม่ต้องฝืนใจ แต่เพียงแค่ลองหันมาใส่ใจการกิน 

ลองดูตัวอย่างง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถทำกันได้  แค่วัตถุดิบเล็กน้อยที่เราปรับเปลี่ยน นอกจากส่งผลให้เรามีสุขภาพที่ดีขึ้น   ยังส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา  ที่จะส่งผลกับสุขภาพของเราทุกคนในระยะยาว 

*เปลี่ยนจากแป้ง เป็นอะไรดี ? *

ลองหาของกินที่ให้คาร์โบไฮเดรตแทนแป้งด้วย โฮลเกรน เช่น  กินข้าวกล้องแทนข้าวขาว กินขนมปังโฮลวีตแทนขนมปังขาว  กินซีเรียลข้าวโอ๊ตแทนซีเรียลที่มีรสหวานจากน้ำตาล 

เนื่องจากข้าวขาวจะใช้พลังงานในการขัดสีมากกว่าข้าวกล้อง ข้าวขาว เป็นข้าวที่มีการนำไปกระเทาะเปลือกออกแล้วนำไปขัดสีเอาส่วนเยื่อหุ้มออกไปมากถึง 5-7 ครั้ง  แต่ข้าวกล้องเป็นข้าวที่ผ่านการกระเทาะออกจากเปลือกเพียงครั้งเดียว ซึ่งในส่วนนี้ทำให้มีสารอาหารอยู่ครบ มีจมูกข้าวที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งต่างจากข้าวขาว 

แต่จะให้ดีและปลอดภัยที่สุด ก็คือการ #กินออร์แกนิก เลือกข้าวที่ปลูกแบบอินทรีย์ จะได้ไม่มีสารเคมีตกค้างและไม่ใช้สารเคมี ซึ่งเป็นอันตรายต่อดินและแหล่งน้ำ รวมไปถึงเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ด้วย ก่อนซื้อข้าวลองดูคำอธิบาย เลือกหาข้าวที่ปลูกแบบอินทรีย์ มีมาตรฐานรับรอง 

นอกจากนี้ การกินโฮลวีต ยังสามารถกินได้ทั้งหมดแบบ #กินไม่เหลือทิ้ง เรียกได้ว่า ใช้ประโยชน์ทุกส่วนของพืช และยังให้วิตามินสูงอีกด้วย 

*ไม่ชอบกินผักจริงๆ จะทำยังไงดี ? *

ถึงจะไม่ค่อยได้กินผัก แต่เราก็อาจจะมีของกินอื่นๆ ที่ชอบกินบ่อยๆ ลองหาเมนูที่สามารถเพิ่มผักหรือผลไม้ลงไปในเมนูอาหารแต่ละมื้อได้ เช่น  ใส่ผักเพิ่มลงไปในไข่เจียวในตอนเช้า อย่างหอมใหญ่ พริกหยวก บร็อคโคลี มะเขือเทศ เห็ดหอม ใส่เบอร์รี่เป็นท็อปปิ้งโยเกิร์ตหรือซีเรียล หรือใส่ลงไปในสมูทตี้เย็นชื่นใจ 

การเพิ่มผักลงไปในเมนูอาหาร ก็ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงซะทีเดียว เรายังได้กินของที่ชอบตามเดิม เพียงแค่ “เพิ่มเติม” ตัวช่วยให้สุขภาพร่างกายดีขึ้น ซึ่งมีงานวิจัยบอกไว้ว่า การเพิ่มผักผลไม้ลงไปในเมนูอาหารเล็กๆน้อยๆ สามารถช่วยลดอัตราการเกิดโรคหัวใจได้ 4%  

และหากผักผลไม้เหล่านี้เป็นพืชผักออร์แกนิก (ผักอินทรีย์) ที่เติบโตเก็บเกี่ยวได้ตามฤดูกาล ไม่ต้องใช้สารเคมี ก็จะทำให้แหล่งเพาะปลูกนั้นมีสภาพดินและแหล่งน้ำที่สมบูรณ์ เกิดการเพาะปลูกที่ยั่งยืน ส่งผลผลิตที่ปลอดภัยต่อร่างกายคนปลูกและคนกินต่อไปได้อีกนาน  

*ชอบกินเนื้อสัตว์ แต่อยากลดลงบ้าง ควรเริ่มยังไง ? *

เนื้อสัตว์ยังคงเป็นอาหารที่คนนิยมสูง ซึ่งเราไม่ต้องงดเนื้อสัตว์อย่างถาวรก็ได้ แค่ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นการไม่กินเนื้อสัตว์ "หนึ่งวันในหนึ่งสัปดาห์" อาจจะเริ่มจากมื้อใดมื้อหนึ่งก่อน ลองกำหนดขึ้นมาวันใดวันหนึ่ง แล้วทำติดต่อกันในทุกสัปดาห์ ให้วันนั้นเราได้สนุกกับการหาของกินดีๆ มาทดแทน  อย่างเช่น กินโยเกิร์ต ซีเรียล หรือที่นิยม อิ่มท้อง และมีประโยชน์มาก คือเมนูที่ทำจากไข่เป็นอาหารมื้อเร่งรีบอย่างไส้กรอก แฮมเบอร์เกอร์  ไก่ทอด

เพราะการลดการกินเนื้อสัตว์ = ลดการเกิดก๊าซมีเทนจากการปศุสัตว์และการผลิตเนื้อสัตว์ที่จะปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลกได้ 

เมื่อความต้องการทางเนื้อสัตว์ค่อยๆ ลดลง ผู้ประกอบการก็จะผลิดเนื้อสัตว์น้อยลง และส่งผลต่อภาพรวมระยะยาว ทำให้โลกของเราค่อยๆ ดีขึ้นได้

*ชอบรสเนย ชอบความมันบนขนมปัง จะเปลี่ยนเป็นอะไรดี ? *

เนย มักจะทำจากไขมันสัตว์ ถ้าอยากจะลองปรับเปลี่ยน ลองใช้ "น้ำมันมะกอก" แทนเนยกันดู เช่นเมนูน่ากิน อัดแน่นด้วยประโยชน์ อย่างขนมปังปิ้งน้ำมันมะกอกอะโวคาโด ซึ่งกินร่วมกับไข่ดาวได้

เพราะน้ำมันมะกอกทำจากไขมันพืช เป็นหนึ่งทางเลือกลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์ ซึ่งมักจะมีกระบวนที่ไม่เป็นต่อสิ่งแวดล้อมทั่วโลก 

การกินอะโวคาโดยังมีประโยชน์มาก ทั้งต่อคนกินและธรรมชาติ เพราะอะโวคาโดเป็นไม้ยืนต้น สามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ จึงเรียกได้ว่าเป็น "อาหารสร้างป่า" และในตอนนี้สามารถปลูกในไทยได้แล้ว  

นอกจากนี้ หากเปลี่ยนมากินอาหารที่มีส่วนประกอบของอะโวคาโดเป็นประจำทุกวัน ต่อเนื่องนาน 7 วัน จะช่วยให้ระดับไขมันคอเลสเตอรอลรวมลดลง 17% LDL คอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ลดลงถึง 22% อีกด้วย! 

*ถ้าอยากได้โปรตีนนอกเหนือจากนมวัว จะเปลี่ยนไปกินอะไร ? *

นมวัว น่าจะเป็นของติดตู้เย็นสำหรับหลายๆ บ้าน ซึ่งเป็นอาหารที่ให้คุณค่าทางโภชนาการหลายอย่าง แต่ในกระบวนการกว่าจะได้นมจากวัวมาถึงมือเรา ก็ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสูงมากเช่นกัน

ลองมาปรับนิดเปลี่ยนหน่อย จากกการดื่มนมหรือโยเกิร์ต เป็นน้ำเต้าหู้อินทรีย์ (จากถั่วเหลืองที่ปลูกแบบออร์แกนิก)  เพราะน้ำเต้าหู้ มีโปรตีนสูงไม่แพ้นมวัวเลยทีเดียว  

ตัวอย่างเหล่านี้เป็นการปรับเปลี่ยนการกินทีละนิด หยิบจับวัตถุดิบที่บางทีเราอาจไม่เคยลอง มาดัดแปลงให้เป็นอาหารคุณภาพ เริ่มต้นจากตัวเราเอง เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเราและคนรอบข้าง ช่วยกันทำให้เกิดการผลิตและการกินที่ยั่งยืน ที่ยังอร่อยเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือเป็นมิตรต่อโลก  

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.slimfast.co.uk/recipes/veggie-recipes/veggie-omelette

https://www.nbcnews.com/better/health/8-small-summer-diet-swaps-add-huge-health-payoffs-ncna782916

https://www.thairicedb.com/productintro-detail.php?id=15

https://www.nbcnews.com/better/health/8-small-summer-diet-swaps-add-huge-health-payoffs-ncna782916

http://www.lemonfarm.com/?page_id=4418

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0