โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Carbon Footprint ร่องรอย...ที่เราเหยียบย่ำโลก

Horrorism

อัพเดต 10 มี.ค. 2563 เวลา 00.00 น. • เผยแพร่ 10 มี.ค. 2563 เวลา 07.40 น. • Horrorism

 

       ในปี 2019 นี้ เกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อมมากมายจนผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจและปรับวิถีชีวิตเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ เห็นได้ชัดจากการจัดแคมเปญรณรงค์ต่าง ๆ มากมาย เช่น การลดและงดใช้หลอดพลาสติกกับถุงพลาสติกที่ย่อยสลายยาก และการผลิตสินค้าจากขยะหรือของเหลือใช้ เป็นต้น ถือเป็นความตั้งใจดี ๆ ของมวลมนุษยชาติที่ทำเพื่อโลกและคนรุ่นหลัง

 

ที่มาของภาพ : pixabay

 

       วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับต้นเหตุสำคัญของการทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มองภาพได้ชัดขึ้นว่าวิกฤตสิ่งแวดล้อมทั่วโลกเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกคนต้องช่วยกันตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป

รอยเท้าคาร์บอน หรือ Carbon Footprint เป็นคำที่เริ่มได้ยินกันมากขึ้นเมื่อมีการพูดถึงในประเด็นของปัญหาภาวะโลกร้อนที่มนุษย์กำลังเผชิญอยู่ แล้วคาร์บอนที่ว่านี้คืออะไร ? มีรอยเท้าได้อย่างไร ? ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไร ?

ถ้าจะกล่าวคร่าว ๆ รอยเท้าคาร์บอนนั้นเกิดจากการใช้ชีวิตของมนุษย์ทุกคนบนโลกนี้ และช่วยเร่งภาวะโลกร้อนให้เกิดเร็วขึ้นนั่นเอง

 

ที่มาของภาพ : pixabaykisspng

 

       คำนิยามของรอยเท้าคาร์บอน คือ ปริมาณแก๊สเรือนกระจก (Green House Gases) ที่เราปลดปล่อยทั้งหมด (โดยคิดคำนวณแปลงให้เป็นปริมาณที่เทียบเท่ากับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อให้ง่ายต่อการเปรียบเทียบ) มีหน่วยเป็นตันของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (TCO2eq.) โดยคำนวณในช่วงระยะเวลา 1 ปี  ซึ่งกิจกรรมของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดรอยเท้าคาร์บอน แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  • รอยเท้าคาร์บอนทางตรง คือ การที่เราปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์โดยตรง จากการเผาผลาญเชื้อเพลิงจากซากพืชซากสัตว์ รวมถึงการบริโภคไฟฟ้า และการใช้ยานพาหนะต่าง ๆ เช่น  การเดินทางโดยใช้รถยนต์ รวมไปถึงเครื่องบิน
  • รอยเท้าคาร์บอนทางอ้อม คือ การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากผลผลิต หรือผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ โดยคำนวณร่วมกับกระบวนการผลิต เช่น การบริโภคอาหาร การใช้ถุงพลาสติกและผลิตภัณฑ์จากโฟม ฯลฯ

       กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ ถือเป็นสิ่งจำเป็นของมนุษย์ นั่นแปลว่าเราหลีกเลี่ยงที่จะไม่ปล่อยแก๊สเรือนกระจก ตัวการเพิ่มอุณหภูมิของโลกไม่ได้เลย ตราบใดที่เรายังดำเนินชีวิตอยู่

 

ที่มาของภาพ : pixabay

 

       อยากรู้หรือไม่ว่า คุณปล่อยคาร์บอนออกมาปริมาณมากน้อยเท่าไหร่ใน 1 ปี มีวิธีคำนวณรอยเท้าคาร์บอนง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่คุณเข้าไปในเว็บไซต์เกี่ยวกับการคำนวณรอยเท้าคาร์บอน หรือ Carbon calculator ยกตัวอย่างเช่นที่ carbonfootprint.com               

 

 

       ในขั้นตอนของการคำนวณ ต้องการข้อมูลพื้นฐานของคุณและครอบครัว ได้แก่ จำนวนคนในครอบครัว ปริมาณการใช้ไฟฟ้า ปริมาณการใช้เชื้อเพลิง ระยะทางในการเดินทางด้วยพาหนะประเภทต่าง ๆ เมื่อกรอกข้อมูลครบ ระบบจะคำนวณออกมา เป็นค่าเฉลี่ยปริมาณคาร์บอนที่คุณปลดปล่อยออกมา และบอกว่าอยู่ในระดับที่มากหรือน้อยเพียงใด นอกจากจะคำนวณในภาคบุคคลแล้ว ภาคธุรกิจก็สามารถคำนวณปริมาณคาร์บอน ที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากการดำเนินธุรกิจได้อีกด้วย

 

ที่มาของภาพ : carbonfootprint

 

       ปัจจุบัน มีธุรกิจเกี่ยวกับรอยเท้าคาร์บอนเกิดขึ้นมากมาย เพราะในเมื่อเราต้องใช้ชีวิตอยู่และปลดปล่อยสารเรือนกระจกต่อไปเรื่อย ๆ เราจึงต้องหาวิธีที่จะลดปริมาณแก๊สเหล่านี้ พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าคนในเมืองใหญ่ต้องใช้พลังงานมาก และไม่สามารถลดปริมาณแก๊สเหล่านี้ได้ ก็ให้คนในเมืองที่ใช้พลังงานน้อยช่วยลดปริมาณรอยเท้าคาร์บอนเป็นการชดเชยกัน จึงเกิดธุรกิจซื้อ-ขาย Carbon Footprint ซึ่งประเทศที่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ใช้พลังงานและปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกในปริมาณมาก มักไปซื้อพื้นที่ปลูกต้นไม้ในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้ต้นไม้ช่วยลดรอยเท้าคาร์บอนที่ประเทศตนเองปลดปล่อยออกมา แทนที่จะใช้วิธีการลดการใช้พลังงานในประเทศตนเอง

 

ที่มาของภาพ :  pixabay

 

       ก้าวเบาๆ เพื่อเรา…เพื่อโลก แนะนำวิธีลดการผลิตแก๊สเรือนกระจกที่ทุกคนทำได้ง่าย ๆ ดังนี้

  • ปลูกต้นไม้
  • ประหยัดไฟฟ้า
  • ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง
  • ใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม
  • หันมาใช้จักรยาน
  • งดใช้สินค้าฟุ่มเฟือย
  • นำของเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่
  • ลดการใช้ถุงพลาสติกและโฟม

       ณ วินาทีนี้ เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้วิธีลดภาวะโลกร้อน แต่หลายคนยังไม่เริ่มลงมือทำอย่างจริงจัง และมักคิดว่า เพียงคน ๆ เดียว เพียงส่วนเล็ก ๆ จะไปช่วยอะไรได้ โลกมันคงไม่เลวร้ายภายในวันนี้พรุ่งนี้…ขอให้คุณเลิกคิดถึงตัวเอง แต่คิดถึงชะตากรรมมนุษยชาติในอนาคต เพราะถ้าคุณไม่คิดจะทำอะไรบางอย่างให้โลกนี้ดีขึ้น รอยเท้าคาร์บอนที่คุณเหยียบย่ำโลกในวันนี้จะสะเทือนไปถึงลูกหลาน ที่เราไม่อาจรู้ได้เลยว่า…มันจะร้ายแรงเพียงใด

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0