โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Cape Town’s Water Crisis เมื่อเคปทาวน์มีน้ำเหลือให้ชาวเมืองใช้ได้เพียง 90 วัน

a day magazine

อัพเดต 17 ก.พ. 2563 เวลา 16.48 น. • เผยแพร่ 17 ก.พ. 2563 เวลา 16.37 น. • Little Thoughts

ภาพแม่น้ำเจ้าพระยาแห้งเหือดจนเผยให้เห็นผิวดินแตกระแหงที่ปรากฏบนบิลบอร์ดหน้าจอ LCD ทั่วกรุงเทพฯ ราวกับเทศกาลศิลปะของเมืองสร้างปฏิกิริยาให้ชาวกรุงเทพฯ ได้ไม่น้อย

เปล่า…มันยังเป็นเพียงภาพในจินตนาการ ทั้งภาพแม่น้ำเหือดแห้งและโฆษณาบนบิลบอร์ดนั่นแหละ แต่คงจะดีไม่น้อยหากมีใครลุกขึ้นมาทำโฆษณาอย่างนั้นให้เราดู เพื่อเตือนให้รู้ว่าเรากำลังจะเจอวิกฤตภัยแล้งที่หนักหนาที่สุดในรอบหลายสิบปี

ในปีเลขสวยอย่างปี2020 นี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะย้อนกลับไปมองเมืองที่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้มากกว่าอย่าง ‘เคปทาวน์’ ที่แม้จะเป็นเมืองหลวงของประเทศแอฟริกาใต้ แต่ก็ใช่ว่าจะรอดพ้นวิกฤตภัยแล้งแต่อย่างใด ตรงกันข้าม พวกเขาเคยเผชิญภาวะวิกฤตขั้นสุดด้วยการกำหนดวันที่เรียกว่าDay Zero อันหมายถึงวันที่พวกเขาจะไม่เหลือน้ำให้ใช้แม้แต่เพียงหยดเดียว

Day Zero ของเคปทาวน์เป็นข่าวไปทั่วโลก เพราะการไม่มีน้ำเหลือให้ใช้เลยอาจจะไม่ต่างจากวันสิ้นโลกสักเท่าไหร่ แต่หายนะที่รออยู่ตรงหน้าก็อาจทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ใหม่เช่นกัน สารคดีCape Town’s Water Crisis Approaches Day Zero ที่เผยแพร่ในรายการDateline ทางสถานีโทรทัศน์SBS ของออสเตรเลีย เมื่อปี2018 ทำให้เราเห็นภาพนั้น

การจัดการน้ำของเคปทาวน์

ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ประชากรของเคปทาวน์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ45 แต่ทางการไม่สามารถจัดการน้ำให้เพียงพอกับจำนวนประชากร และเมื่อแอฟริกาใต้เผชิญภัยแล้งติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี เมื่อถึงจุดหนึ่งเคปทาวน์จึงมีน้ำเหลือให้ชาวเมืองใช้ได้เพียง90 วัน โดยทางการกำหนดDay Zero เอาไว้ในวันที่21 เมษายน2018

คำว่า ‘เหลือให้ใช้’ ไม่ได้หมายความว่าเปิดก๊อกน้ำแล้วจะมีน้ำไหลออกมาในแบบที่เราคุ้นเคย แต่หมายถึงการจ่ายน้ำแบบจำกัดสัดส่วน ซึ่งเริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ของปีนั้น สารคดีพาเราไปดูครอบครัวชนชั้นกลางในเคปทาวน์ ประกอบไปด้วยพ่อ(เดวิด) แม่(รูท) กับลูกสาวอีก 2 คน ที่ต้องบริหารการใช้น้ำที่ได้รับวันละ50 ลิตรต่อคน(เทียบกับอัตราการใช้น้ำปกติของชาวออสเตรเลียคือวันละ300 ลิตรต่อคน)

พวกเขายังใช้ชีวิตได้เป็นปกติ หากนั่นหมายถึงการกิน นอน หรือขับถ่าย แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาก็คือกรอบปฏิบัติง่ายๆ ที่ว่า นอกเหนือจากน้ำที่ใช้ดื่ม-กินและกิจกรรมที่ต้องการน้ำสะอาดเท่านั้นที่จะใช้ ‘น้ำแรก’ จากก๊อกประปา

ส่วนกิจกรรมที่ต้องใช้น้ำนอกเหนือจากนั้นจะเป็นน้ำที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว น้ำที่ใช้อาบจะถูกนำไปเติมชักโครก(ยืนอาบน้ำในกะละมังพลาสติกเพื่อเก็บน้ำ) และแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกครั้งที่พวกเขาจะกดชักโครกทุกครั้งที่มีใครสักคนขับถ่าย และแน่นอนว่าไม่ใช่อาบน้ำกันวันละ 2 ครั้ง แต่อยู่ราวๆ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง รูทผู้เป็นแม่สารภาพว่านี่คือส่วนที่ยากเพราะเธอยังไม่ชินกับความเหนอะหนะไม่สบายตัวนัก

โควต้าการใช้น้ำของชาวเมืองก่อนถึง Day Zero

เรื่องน่ารักมีอยู่ว่า ไม่เพียงพวกเขาจะใช้น้ำได้ตามโควต้า แต่ครอบครัวในสารคดีนี้ยังมีเป้าหมายที่จะลดการใช้น้ำให้ได้ทุกเดือน ในวันที่สารคดีนี้ไปถ่ายทำตัวเลขอยู่ที่41 ลิตรต่อคนต่อวัน

ส่วนเรื่องน่ารักกว่านั้น แทนที่จะอนุญาตให้ตัวเองอาบน้ำได้นานหรือบ่อยขึ้นเพราะยังมีโควต้าการใช้น้ำเหลืออยู่ พวกเขากลับเลือกที่จะลดตัวเลขให้ต่ำกว่า41 ในเดือนถัดไปมากกว่า

เมื่อวิกฤตเดินมาถึงตรงหน้า เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ก็อาจกลายเป็นความธรรมดาใหม่ไปได้ไม่ยาก

ไม่เพียงครอบครัวของรูทและเดวิดที่เอาจริงเอาจังกับการใช้น้ำ เพราะเมื่อพวกเขาออกไปนอกบ้านตัวเลขการใช้น้ำก็คือสิ่งที่ผู้คนพูดคุยกัน รูทบอกว่าเธอรู้สึกอายที่ใช้น้ำมากกว่าเพื่อนร่วมงาน เราอาจมองสิ่งนี้เป็นเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่ทำให้ทุกครอบครัวพยายามลดตัวเลขการใช้น้ำให้น้อยลงก็ได้

อย่างไรเสียครอบครัวชนชั้นกลางอย่างรูทและเดวิดยังโชคดีที่บ้านของพวกเขามีน้ำไหลออกมาจากก๊อก แต่สำหรับหลายครัวเรือนมันหมายถึงการที่ผู้คนต้องไปเข้าคิวรองน้ำจากก๊อกน้ำสาธารณะในวันที่ก๊อกน้ำในบ้านไม่มีน้ำออกมาสักหยด ภาพผู้คนแบกถังน้ำกลับบ้านแทบไม่ต่างจากในอดีตที่เรายังต้องหาบน้ำมาใช้

บางครอบครัวต้องใช้เวลาทั้งวันตระเวนไปตามจุดต่างๆ เพื่อหาก๊อกน้ำสาธารณะที่มีน้ำไหลออกมา แม้กระทั่งไปแบกน้ำทะเลเพื่อเอากลับไปเติมชักโครกที่บ้าน(เคปทาวน์เป็นเมืองหลวงที่อยู่ติดชายฝั่งทางตะวันตกของแอฟริกาใต้) ขณะเดียวกันทางการก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ผู้คนใช้น้ำน้อยลง แต่สิ่งที่พวกเขากลัวคือความตื่นตระหนกและความโกรธแค้นที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง

น้ำคือชีวิต และน้ำก็สะท้อนให้เห็นปัญหาในชีวิต

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า ‘น้ำ’ เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตที่สะท้อนให้เห็นโครงสร้างทางสังคมที่มีปัญหาได้เป็นอย่างดี จะว่าไปแล้วเคปทาวน์กับกรุงเทพฯ ก็มีสิ่งที่เหมือนกันหลายอย่าง นอกจากจะเป็นเมืองหลวงที่อยู่ติดชายฝั่งทะเล ทั้งคู่ยังเป็นอภิมหานคร หรือ megacity ซึ่งหมายถึงเมืองที่มีคนอยู่อาศัยจริงแตะหลักสิบล้าน และเป็นเมืองที่คะแนนติดลบหนักมากในเรื่องความเท่าเทียม

กลับมายังเคปทาวน์ ลำพังภาวะปกติชาวเคปทาวน์มากถึง 1 ใน 4 ที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดก็มีน้ำประปาให้ใช้รวมกันเพียงร้อยละ5 ของที่ทั้งเมืองใช้ ไม่ว่าจะเป็นประปาหรือสุขาพวกเขาต้องเข้าคิวกันใช้จากพื้นที่ส่วนกลาง และสำหรับพวกเขาทุกวันแทบจะเป็นDay Zero อยู่แล้ว

เพื่อจำกัดการใช้น้ำและความโกรธเกรี้ยวให้ได้ผล ทางการถึงกับต้องมีหน่วย ‘ตำรวจน้ำ’ คอยตระเวนตรวจตราเพื่อไม่ให้มีการทำผิดกฎหมาย ร้านล้างรถจะให้บริการได้ก็ต่อเมื่อน้ำที่ใช้ไม่ได้มาจากก๊อกประปา การที่ใครสักคนถือถังน้ำไปตักน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะจึงถือว่าผิดกฎหมาย

ชาวเคปทาวน์ต้องผ่านช่วงเวลานี้ร่วมกันหลายเดือน และ Day Zero อย่างเป็นทางการก็ไม่เกิดขึ้น หลังจากที่ทางการเลื่อนกำหนดวันออกไปเป็นปลายเดือนมิถุนายน และก่อนจะถึงวันนั้นฝนก็ตกลงมา

นึกภาพไม่ออกเลยว่านาทีที่พวกเขาเห็นฝนตกลงมาความรู้สึกจะเป็นยังไง

สิ่งที่เหลืออยู่คือการที่โลกเรียนรู้มากมายจากเคปทาวน์ที่ไม่ต่างจากเสียงปลุกให้ตื่นว่ามีหายนะรออยู่ตรงหน้า โดยเฉพาะในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลกที่สุ่มเสี่ยง ซึ่งเม็กซิโกซิตี้เป็นอีกเมืองที่เผชิญปัญหานี้ไม่น้อยไปกว่าเคปทาวน์เลย

หากไม่นับเรื่องน่ารักอย่างเพลงประหยัดน้ำความยาว 2 นาทีที่เอาไว้ร้องตอนอาบน้ำ หรือการที่ร้านเสริมสวยเชิญชวนให้ผู้คนนำน้ำรวมถึงผ้าเช็ดผมของตนเองไปด้วยหากต้องการใช้บริการ หรือไอเดียแข่งขันของสตาร์ทอัพในหัวข้อเสื้อยืดใครจะสกปรกได้มากที่สุด เรื่องดีที่สุดที่เกิดขึ้นก็คือการที่ชาวเมืองเคปทาวน์บอกกับทุกคนว่าพฤติกรรมนั้นเปลี่ยนได้

ว่าแต่การเปลี่ยนพฤติกรรมในเมืองอื่นของโลกจะเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ คำตอบที่ดีที่สุดอาจเป็นของรองผู้ว่าฯ เมืองเคปทาวน์ผู้รับผิดชอบเรื่องน้ำประปา ที่ตอบคำถามว่าเขารู้สึกผิดพลาดในการรับมือสถานการณ์บ้างไหมว่า“เราควรเริ่มวางแผนเร็วกว่านี้ แต่มันก็เป็นเรื่องง่ายเหลือเกินที่จะย้อนกลับไปพูดในสิ่งที่ย้อนกลับไปแก้ไขไม่ได้แล้ว”

Highlights

  • ย้อนสำรวจวิกฤตDay Zero ของเคปทาวน์ เมืองหลวงของประเทศแอฟริกาใต้ ที่เป็นข่าวไปทั่วโลกจากการไม่มีน้ำเหลือให้ใช้เลยสักหยด
  • ทางการต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ผู้คนใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยสิ่งที่พวกเขากลัวก็คือความตื่นตระหนกและความโกรธแค้นที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง
  • ชาวโลกได้เรียนรู้มากมายจากเคปทาวน์ ไม่ต่างจากเสียงปลุกให้ตื่นว่ามีหายนะรออยู่ตรงหน้า โดยเฉพาะในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลกที่สุ่มเสี่ยง
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0