โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

CRC กับการควบรวมเพื่อโต ย่างก้าวของยักษ์ค้าปลีกไทยรายใหม่

Wealthy Thai

อัพเดต 19 ธ.ค. 2562 เวลา 02.11 น. • เผยแพร่ 19 ธ.ค. 2562 เวลา 02.11 น. • wealthythai
CRC กับการควบรวมเพื่อโต  ย่างก้าวของยักษ์ค้าปลีกไทยรายใหม่

ช่วงต้นปีหน้า จะมีหุ้นใหญ่ในหมวดค้าปลีกอีกตัวที่เข้าเทรดในตลาดหุ้น นั่นก็คือ CRC หรือบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แม้ว่าการเข้าเทรดของ CRC จะเป็นการระดมทุนแบบ IPO แต่ CRC ไม่ใช่ “หุ้นใหม่” แต่ CRC เป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มจิราธิวัฒน์ ซึ่งเป็นเจ้าของ “เซ็นทรัล” ห้างค้าปลีกที่อยู่คู่คนไทยมา 72 ปีแล้ว!!
เพราะฉะนั้นการเข้ามาของ CRC จะไม่ได้ทำให้จำนวนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มขึ้นอีก 1 หุ้น แบบหุ้นเข้าใหม่ตัวอื่นๆ  แต่ CRC จะมาแทนที่หุ้น ROBINS หรือบริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) ซึ่งทางตลาดหลักทรัพย์ฯ อธิบายว่าการเปลี่ยนจากหุ้น ROBINS มาเป็น CRC นั้น เป็นการควบรวมกิจการ (M&A) ประเภทหนึ่ง เพื่อเพิ่มโอกาสและศักยภาพการเติบโตของบริษัท โดยในส่วนของการได้มาซึ่ง “หุ้น” จะทำได้ 3 รูปแบบ ดังนี้

  • ชำระค่าหุ้นเป็นเงินสด (Cash)
  • แลกหุ้น (Share Swap)
  • ซื้อหุ้นผ่านการจัดตั้ง Holding Company

 

เพราะฉะนั้นการออกและเสนอขายหุ้นไอพีโอ CRC ต้นปี 2563 จะทำควบคู่ไปกับการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (เทนเดอร์หุ้น) ROBINS ในรูปแบบการแลกหุ้น คือหมายถึงว่าผู้ถือหุ้น ROBINS ก็จะกลายเป็นผู้ถือหุ้น CRC เลยอัตโนมัติ ตามที่ในไฟลิ่งระบุว่า ผู้ถือหุ้น ROBINS จะได้รับค่าตอบแทนเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทแทนการชำระด้วยเงินสด (Share Swap) ที่ราคาเสนอซื้อเท่ากับ 66.5 บาทต่อหุ้น
รูปแบบการเสนอขายหุ้นทั้งหมด แบ่งเป็น 1.หุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 1,620,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท (รวมที่ทำเทนเดอร์หุ้น ROBINS แล้ว) และ 2.หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Hawthorn Resources Limited จำนวนไม่เกิน 611,714,300 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.0 บาท ให้แก่ประชาชนทั่วไป ดังนั้นภายหลังจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนทั้งหมดในครั้งนี้แล้ว บริษัทฯ จะมีทุนชำระแล้วเป็นจำนวนไม่เกิน 6,320,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวนไม่เกิน 6,320,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.0 บาท

 

 

ความได้เปรียบของ CRC หลังเข้าตลาด

ล่าสุดนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มองว่า CRC เป็น Flagship Company ของเซ็นทรัล ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดในไทย มีแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน ทั้งเซ็นทรัลเองก็ดี รวมถึงซูเปอร์สปอร์ต เพาเวอร์บาย แฟมิลี่มาร์ท ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น ล้วนแต่เป็นแบรนด์ร้านค้าปลีกที่ครอบคลุมทั่วประเทศ
สำหรับการจัดโครงสร้างใหม่ ธุรกิจที่เป็นค้าปลีกหรือรีเทล จะอยู่ใน CRC ทั้งหมด จากเดิมที่อาจจะกระจายอยู่ในโรบินสันบ้าง เซ็นทรัลบ้าง แต่หลังจากนี้กลุ่มธุรกิจจะชัดเจนขึ้น แม้ว่าจะเป็นร้านที่อยู่ในเซ็นทรัล พลาซ่า เช่น โรบินสัน ก็จะอยู่ใน CRC ส่วนบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN จะเป็นบริษัทที่ดูแลเรื่องพื้นที่ให้เช่า โครงการอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ CENTEL หรือบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) จะทำธุรกิจร้านอาหารและโรงแรมไปเลย
“เพราะฉะนั้นถ้ามองในเชิงการแข่งขัน CRC ได้เปรียบพอสมควร ทั้งแบรนด์ที่แข็งแกร่ง รวมถึงอำนาจการต่อรองกับซัพพลายเออร์ จากปริมาณการสั่งซื้อที่ค่อนข้างสูง และโตต่อเนื่องหลายปีติดต่อกัน”
สำหรับการเติบโตในต่างประเทศ เซ็นทรัลมีห้าง “รีนาเซนเต้” ซึ่งเป็นศูนย์การค้าที่มีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) เบอร์หนึ่งในอิตาลี หรืออยู่ที่ 48% แม้ว่าสาขาจะไม่ได้มีจำนวนมากก็ตาม แต่ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวในอิตาลีที่ขยายตัวดี ทำให้รีนาเซนเต้ได้รับผลดีตามไปด้วย เพราะมาร์เก็ตแชร์ของเซ็นทรัลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (เปรียบเทียบกับช่วงปี 60 ที่มีมาร์เก็ตแชร์ 30%)
ขณะเดียวกันสำหรับประเทศเพื่อนใกล้เรือนเคียงอย่าง “เวียดนาม” ก็เติบโตสูง ทั้งจากปัจจัยเศรษฐกิจเวียดนามที่โตวันโตคืน และจำนวนประชากรที่สูงถึง 95.54 ล้านคน รวมถึงปัจจัยเฉพาะตัวของอุตสาหกรรมค้าปลีก ที่เวียดนามมีโมเดิร์นเทรด อยู่ที่ 5.3% เท่านั้น ส่วนใหญ่ยังเป็นค้าปลีกแบบดั้งเดิม เพราะฉะนั้นยังมีรูมที่บริษัทค้าปลีกไทยจะโตได้อีกมาก ทั้งบิ๊กซีที่เซ็นทรัลเข้าไปลงทุน รวมถึงเหงียนคิมที่เข้าไปร่วมทุนกับบริษัทเวียดนาม เพื่อเจาะตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนาม ซึ่งก็มีแนวโน้มดี   
เพราะฉะนั้นบริษัทจึงได้เปรียบในแง่ของ Economy of Scale ตลอดจนการประหยัดต้นทุนจากการใช้แบ็คออฟฟิศร่วมกันกับโรบินสัน ทำให้บริษัทควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น
นอกจากนี้มีมีข้อมูลที่น่าสนใจจาก “ยูโรมอนิเตอร์” ที่รายงานว่าแม้ปัจจุบันคนจะหันไปซื้อสินค้าออนไลน์กันมากขึ้น ทำให้อีคอมเมิร์ซขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่คาดว่าในอีก 4 ปีข้างหน้า หรือในปี 2566 ยังมีคนกว่า 93% ตัดสินใจที่จะซื้อของจากร้านค้าหรือในช้อป
ดังนั้นในอนาคตออนไลน์-ออฟไลน์จะเชื่อมโยงกันมากขึ้น เช่น ดูสินค้าจากสมาร์ทโฟนและไปซื้อของที่ห้าง หรือไปเดินดูของที่ห้าง และค่อยมาซื้อมาแอพฯ เป็นต้น เข้าทางกลยุทธ์ “ออมนิชาแนล” ของ CRC ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน   

 

 

 

 

 

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0