โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

CPTPP : ระหว่างโอกาสทางธุรกิจ กับชีวิตเกษตรกรและการเข้าถึงยารักษาโรค

Khaosod

อัพเดต 05 มิ.ย. 2563 เวลา 17.08 น. • เผยแพร่ 05 มิ.ย. 2563 เวลา 17.08 น.
_112741080_101884321_254689898970000_6506723295633604608_n.jpg

CPTPP : ระหว่างโอกาสทางธุรกิจ กับชีวิตเกษตรกรและการเข้าถึงยารักษาโรค - BBCไทย

ข้อเสนอแนะเพียงไม่กี่ประโยคของประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ที่สนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) ทำให้แฮชแท็ก #คัดค้านCPTPP #NoCPTPP และ #ไม่เอาCPTPP กลับมาเต็มโซเชียลมีเดียอีกครั้ง

การคัดค้าน CPTPP ถึง "จุดพีค" ช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมา เมื่อมีรายงานว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เตรียมหารือเรื่องการเข้าเป็นสมาชิกของความตกลงนี้ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ซึ่งภาคประชาชน นำโดยกลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างหนัก จนในที่สุดนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถอนวาระออกจากการประชุม เขาให้เหตุผลภายหลังว่าเป็นเพราะ อยากให้สังคมได้มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันเสียก่อนหรืออย่างน้อยก็ต้องมีการฟังความเห็นครบถ้วน

ต่อมามีกระแสข่าวว่า ครม.จะหารือเรื่องนี้อีกครั้งในวันที่ 19 พ.ค. คราวนี้ภาคประชาชนซึ่งรวมตัวกันเป็น "เครือข่ายต่อต้าน CPTPP" ออกมาคัดค้านเช่นเคย แต่สุดท้ายแล้วเรื่องนี้ก็ไม่ได้อยู่ในวาระการประชุมของ ครม. ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่มีรายงานว่าเป็นผู้ผลักดันให้ไทยเข้าร่วมความตกลงนี้ "ลาป่วย"

ท่าเรือ
ท่าเรือ

สัปดาห์ต่อมา ความเคลื่อนไหวเรื่อง CPTPP ย้ายจากทำเนียบรัฐบาล ไปอยู่ที่รัฐสภา เมื่อนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.พรรคภูมิใจไทยแถลงข่าวการยื่นญัตติด่วนเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบ CPTPP ซึ่ง ส.ส.พรรคภูมิใจไทยเห็นว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศไทยในด้านต่าง ๆ เช่น เวชภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ สาธารณสุข อุตสาหกรรม การเกษตร และการจดสิทธิบัตร

การกลับมาอีกครั้งของ #คัดค้านCPTPP #NoCPTPP #ไม่เอาCPTPP

การไม่นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม.และการรอกระบวนการในรัฐสภาทำให้ประเด็น CPTPP "เงียบ" ลงไปพักหนึ่ง ก่อนจะกลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้งหลังการแถลงข่าวของ สรท. เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ในหัวข้อคาดการณ์สถานการณ์ส่งออกปี 2563 ซึ่ง น.ส.กัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธาน สรท.คาดว่าจะติดลบถึง 8 เปอร์เซ็นต์จากการระบาดของโควิด-19 ความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ และค่าเงินบาทแข็งค่า

แต่สิ่งที่ทำให้การแถลงข่าวของ สรท. "กลายเป็นประเด็น" ขึ้นมาก็คือข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีทั้งหมด 6 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ "สนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยสงวนสิทธิ์ให้สามารถถอนตัว หากทราบรายละเอียดเงื่อนไขหรือไม่สามารถเจรจาให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ รวมถึง เร่งผลักดันการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อื่นๆ อาทิ RCEP Thai-EU"

ส่วนอีก 4 ข้อเสนอ คือ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้แข็งค่ากว่า 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ, เร่งใช้งบประมาณภาครัฐเพื่อลงทุนสร้างความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจ, พิจารณาการค้าในรูปแบบ Trade to Localization มุ่งเน้นไปที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนและกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม), ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเพื่อกระตุ้นปริมาณการส่งออก และให้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) พิจารณาปลดล็อกมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการได้คล่องตัวมากขึ้น

ประธาน สรท. ยอมรับในการแถลงข่าวว่าข้อเสนอเรื่อง CPTPP "เป็นเรื่องอ่อนไหวมาก ๆ" ซึ่งทำให้ สรท. ไม่อยากจะกล่าวเฉพาะเจาะจงถึงข้อตกลงนี้

"เรามองในเรื่องของการเปิดตลาด ทั้งเขตการค้าเสรี (FTA) แบบทวิภาคีหรือพหุภาคี เราไม่ได้เน้นเฉพาะ CPTPP อย่างเดียว และเรายังรอดูท่าทีของสหรัฐฯ ว่าเขาจะเอายังไงกับเรื่องนี้ต่อ" น.ส.กัญญภัคกล่าว

บรรดารัฐมนตรีด้านการค้าถ่ายรูปหมู่ร่วมกันหลังลงนามในข้อตกลง CPTPP ที่กรุงซานติอาโก ประเทศชิลี เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2018
บรรดารัฐมนตรีด้านการค้าถ่ายรูปหมู่ร่วมกันหลังลงนามในข้อตกลง CPTPP ที่กรุงซานติอาโก ประเทศชิลี เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2018

ทำไมต้อง CPTPP

วันนี้ (5 มิ.ย.) น.ส.กัญญภัคให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยถึงเหตุผลที่ สรท.ออกมาสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP โดยไม่หวั่นไหวต่อเสียงคัคด้านของภาคประชาสังคมที่กังวลเรื่องผลกระทบโดยเฉพาะสิทธิในการเก็บเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรและเรื่องสิทธิบัตรยา สรุปประเด็นได้ดังนี้

  • ไม่ได้สนับสนุนแค่ CPTPP

สรท.ไม่ได้สนับสนุนการเข้าร่วมเจรจาการค้าเฉพาะ CPTPP แต่มองเห็นโอกาสที่จะเปิดตลาดส่งออกจากการเข้าร่วมเจรจากรอบการค้าเสรีทุกกรอบ ไม่ว่าจะเป็นทวิภาคีหรือพหุภาคี ทั้ง FTA กับรายประเทศและกลุ่มประเทศ เช่น FTA กับอียู และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่

น.ส.กัญญภัคมองว่า การที่ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี (จีเอสพี) ทั้งจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ทำให้ไทยต้องจ่ายอัตราภาษีเต็ม อีกทั้งยังไม่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเพราะค่าแรงที่แพง และความสามารถที่จำกัดของแรงงานไทยในด้านดิจิทัล ทำให้เสียเปรียบคู่แข่ง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยข้อตกลงทางการค้าในระดับทวิภาคีและพหุภาคีมาช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้ระบบเศรษฐกิจและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน

"ตอนนี้เวียดนามกำลังจะแซงหน้าเราแล้ว การเติบโตด้านการส่งออกและเศรษฐกิจของเขาก็โตขึ้น การลงทุนจากต่างประเทศที่เข้าเวียดนามก็มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นเพราะเวียดนามได้รับจีเอสพีแล้ว ยังเป็นเพราะเวียดนามทำสัญญาเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่าง ๆ มากถึง 53 ประเทศ ขณะที่ไทยทำสัญญา FTA กับ 19 ประเทศ"

  • เข้าได้ก็ต้องออกได้

ประเด็นสำคัญในข้อเสนอของ สรท. ที่ให้เข้าร่วมเจรจา CPTPP คือทีมเจรจาคือกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะต้องสงวนสิทธิให้ถอนตัวจากการเจรจาได้หากพบว่ารายละเอียดเงื่อนไขต่าง ๆ ไม่เป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศ

"เราไม่ได้บอกว่าเข้าไปแล้วต้องผูกมัดตัวเอง และไม่ใช่ว่าเมื่อไปเจรจาแล้วเราต้องยอมเขาทุกอย่าง ถ้าเรารับเงื่อนไขไม่ได้ ไม่พร้อม เราก็ถอยออกมาเตรียมตัวก่อนได้ เมื่อพร้อมเราอาจจะกลับไปคุยใหม่ หรือไปคุยแบบทวิภาคีก็ได้"

"การเจรจาไม่ว่าจะในกรอบไหนเราก็ไม่อยากเสียเปรียบ ถ้ามีโอกาสที่จะเข้าไปร่วมนั่งคุย ดูเงื่อนไขและเจรจาเพื่อเป็นประโยชน์กับภาคธุรกิจของไทยก็ควรจะทำ ไม่ใช่พอมีข้อกังวลแล้วก็ไม่เข้าไปเลย เราควรเข้าไปคุยก่อน ถ้าไม่ได้ในสิ่งเที่เราต้องการ เราก็ยังถอนตัวออกมาได้ เรามองในเชิงธุรกิจการค้า ถ้าตรงไหนที่เป็นโอกาส เราก็อยากให้เข้าไปศึกษาก่อน อย่าเพิ่งปิดโอกาส"

สนับสนุนและคัดค้าน
สนับสนุนและคัดค้าน
  • ภาครัฐต้องดูแลเรื่องผลกระทบจากข้อตกลงทางการค้า

ประธาน สรท.บอกว่าภาคเอกชนรับรู้ถึงข้อกังวลของภาคประชาสังคม ทั้งเรื่องสิทธิของเกษตรกร ด้านสาธารณสุขและด้านสิทธิแรงงาน ซึ่งไม่ว่าจะเข้าร่วมเจรจา CPTPP หรือไม่ก็ตาม ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และภาครัฐควรจะต้องหามาตรการปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

"ไม่ว่าจะเจรจาในกรอบไหน ภาครัฐควรมีกฎหมายปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน"

  • สหรัฐฯ อาจกลับเข้ามา

ขณะนี้สหรัฐฯ ไม่ได้เข้าร่วม CPTPP แต่หากในอนาคตกลับเข้ามา ประเทศที่เป็นภาคีอยู่ก่อนก็อาจจะได้เปรียบเพราะมีส่วนในการเจรจาเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้

  • ถ้าไม่เข้า CPTPP ก็ต้องเจรจาทวิภาคี

ถ้าหากสุดท้ายแล้ว รัฐบาลตัดสินใจไม่เข้าร่วมเจรจา CPTPP สรท.ก็ยังเห็นความจำเป็นที่จะต้องเปิดตลาดต่อไปด้วยการเจรจาการค้าในระดับทวิภาคี

"(เจรจา) กับสหรัฐฯ เราก็ได้เริ่มไปแล้ว ซึ่งโดนัลด์ ทรัมป์เองก็เคยพูดว่าสนใจที่จะเจรจาการค้าในระดับทวิภาคีมากกว่าการเจรจาการค้าแบบพหุภาคี แม้แต่อังกฤษเมื่อออกจากอียูก็มาเจรจาทวิภาคีกับสหรัฐฯ" ประธาน สรท. ให้ข้อเสนอทิ้งท้าย

CPTPP เข้าสภาฯ สัปดาห์หน้า

บีบีซีไทยสอบถามนายศุภชัย ใจสมุทร ถึงความคืบหน้าเรื่องการเสนอเรื่องการตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลกระทบ CPTPP ได้รับคำตอบว่าคาดว่าจะมีการบรรจุเป็นวาระสัปดาห์หน้า ซึ่งล่าสุดวันนี้ (5 มิ.ย.) นายนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาลได้ออกมายืนยันแล้วว่าในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 10-11 มิ.ย.นี้ จะมีการพิจารณาเรื่อง CPTPP CPTPP เข้าสภาฯ สัปดาห์หน้า

รู้จัก CPTPP และข้อกังวลของภาคประชาสังคม

CPTPP มีชื่อเต็มว่า Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership คือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ปัจจุบันมีสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม มีเพียง 7 ประเทศที่ให้สัตยาบันเข้าร่วม ได้แก่ เม็กซิโก ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย และเวียดนาม

CPTPP เป็นการปรับโฉมมาจาก TPP (Trans-Pacific Partnership) ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งเคยมีสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมด้วย แต่ภายหลังได้ถอนตัวออกไปเมื่อปี 2560 แต่ประเทศสมาชิกที่เหลือยังเดินหน้าความตกลงต่อภายใต้ชื่อของ CPTPP

ข้อตกลงนี้ครอบคลุมการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก รวมถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม กลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ

หนึ่งในข้อกังวลของกลุ่มผู้คัดค้านข้อตกลง CPTPP คือเกษตรกรจะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้เพาะปลูกในฤดูกาลต่อ ๆ ไปได้
หนึ่งในข้อกังวลของกลุ่มผู้คัดค้านข้อตกลง CPTPP คือเกษตรกรจะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้เพาะปลูกในฤดูกาลต่อ ๆ ไปได้

สำหรับข้อกังวลบางประการของกลุ่มผู้คัดค้านข้อตกลงนี้ ได้แก่

  • การเข้าร่วมความตกลงนี้จะส่งผลให้ไทยต้องแก้กฎหมายบางฉบับที่อาจเกิดผลกระทบต่อภาคเกษตรและระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิในเมล็ดพันธุ์พืช การคุ้มครองสิทธิบัตรยา รวมถึงการคุ้มครองการลงทุนให้ชาวต่างชาติ
  • ไทยต้องเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญา UPOV1991 ว่าด้วยพันธุ์พืชทันทีหากเข้าร่วม CPTPP ซึ่งอนุสัญญานี้ให้ความคุ้มครองบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรในการผูกขาด เมล็ดพันธุ์ยาวนานถึง 15-20 ปี ทำให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกรอบเพาะปลูก
  • เนื้อหาในความตกลง CPTPP หลายส่วนที่ส่งผลต่อการเข้าถึงยา การพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศ และส่งผลต่อเรื่องสุขภาพและระบบสาธารณสุข เช่น การผูกโยงการขึ้นทะเบียนตำรับยากับระบบสิทธิบัตร (Patent linkage) ข้อผูกมัดในบทว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐและทรัพย์สินทางปัญญา
  • ความตกลง CPTPP ยืนยันสิทธิของประเทศสมาชิกในการใช้มาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร หรือ (Compulsory Licensing หรือ CL) เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงยาของประชาชนในทุกกรณี ตามที่ความตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) กำหนดให้ทำได้
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0