โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

CPTPP จ่อเข้าสภาสัปดาห์หน้า แฮชแท็กต้านกลับมาว่อนเน็ต

The Bangkok Insight

อัพเดต 06 มิ.ย. 2563 เวลา 06.14 น. • เผยแพร่ 06 มิ.ย. 2563 เวลา 06.10 น. • The Bangkok Insight
CPTPP จ่อเข้าสภาสัปดาห์หน้า แฮชแท็กต้านกลับมาว่อนเน็ต

CPTPP เข้าสภาพิจารณา สัปดาห์หน้า ขณะแฮชแท็ก #คัดค้านCPTPP  #NoCPTPP และ  #ไม่เอาCPTPP กลับมาเต็มโลกโซเชียลมีเดียอีกครั้ง หลัง "สรท." ออกมาหนุนให้ไทยเข้าร่วมเจรจา

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ออกมายืนยันว่าในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรระหว่างวันที่ 10-11 มิถุนายนนี้ ที่ประชุมจะยกเรื่องความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก  ขึ้นมาหารือกันด้วย

การเคลื่อนไหวข้างต้นเกิดขึ้น หลังในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีตัดสินใจที่จะระงับการหารือถึงเรื่องที่จะให้ไทยเข้าเป็นสมาชิก "CPTPP"  เอาไว้ก่อน ท่ามกลางเสียงคัดค้านอย่างหนักจากภาคประชาชน ภายใต้การนำของกลุ่ม FTA Watch สถานการณ์ที่ทำให้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตัดสินใจไม่เสนอเรื่องนี้เข้าสู่วาระการประชุม

CPTPP
CPTPP

แฮชแท็กต้าน CPTPP กลับมาว่อนเน็ต 

อย่างไรก็ดี ช่วงปลายสัปดาห์นี้ ประเด็นเรื่องการเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าวของไทย กลับมาเป็นหัวข้อร้อนแรงบนโลกโซเชียลมีเดียอีกครั้ง ชาวโลกออนไลน์พากันติดแฮชแท็ก #คัดค้านCPTPP #NoCPTPP และ #ไม่เอาCPTPP  เมื่อ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) โดย น.ส.กัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสรท. ออกมาแถลงสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมการเจรจา

ระหว่างการแถลงข่าว เรื่องการคาดการณ์สถานการณ์ส่งออกปี 2563  ที่สรท. คาดว่าจะติดลบถึง 8% จากการระบาดของโควิด-19 ความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐ และค่าเงินบาทแข็งค่านั้น  น.ส.กัญญภัค ได้เสนอแนะวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อภาครัฐ 6 ข้อด้วยกัน และหนึ่งในจำนวนนี้คือ "สนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยสงวนสิทธิ์ให้สามารถถอนตัว หากทราบรายละเอียดเงื่อนไขหรือไม่สามารถเจรจาให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ

ข้อเสนออีก 5 ข้อ ประกอบไปด้วย

  • เร่งผลักดันการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อื่นๆ อาทิ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และ FTA ระหว่างไทย กับสหภาพยุโรป (อียู)
  • ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้แข็งค่ากว่า 34 บาทต่อดอลลาร์
  • เร่งใช้งบประมาณภาครัฐเพื่อลงทุนสร้างความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจ
  • พิจารณาการค้าในรูปแบบ Trade to Localization มุ่งเน้นไปที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนและกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม)
  • ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเพื่อกระตุ้นปริมาณการส่งออก และให้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) พิจารณาปลดล็อกมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการได้คล่องตัวมากขึ้น

ประธาน สรท. ยอมรับในการแถลงข่าวว่า เรื่อง CCTP เป็นเรื่องอ่อนไหวมาก ๆ" ซึ่งทำให้ สรท. ไม่อยากจะกล่าวเฉพาะเจาะจงถึงข้อตกลงนี้

"เรามองในเรื่องของการเปิดตลาด ทั้งเขตการค้าเสรี (FTA) แบบทวิภาคีหรือพหุภาคี เราไม่ได้เน้นเฉพาะ CPTPP อย่างเดียว และเรายังรอดูท่าทีของสหรัฐ ว่าเขาจะเอายังไงกับเรื่องนี้ต่อ" น.ส.กัญญภัคกล่าว พร้อมให้เหตุผลถึงการสนับสนุนในเรื่องนี้

CPTPP
CPTPP

เหตุผลที่ต้องเข้าร่วม

น.ส.กัญญภัค ระบุว่า สรท.ไม่ได้สนับสนุนการเข้าร่วมเจรจาการค้าเฉพาะข้อตกลงนี้ แต่มองเห็นโอกาสที่จะเปิดตลาดส่งออกจากการเข้าร่วมเจรจากรอบการค้าเสรีทุกกรอบ ไม่ว่าจะเป็นทวิภาคีหรือพหุภาคี ทั้ง FTA กับรายประเทศและกลุ่มประเทศ เช่น FTA กับอียู และ RCEP ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่

การที่ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี (จีเอสพี) ทั้งจากสหรัฐ และสหภาพยุโรป ทำให้ไทยต้องจ่ายอัตราภาษีเต็ม อีกทั้งยังไม่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเพราะค่าแรงที่แพง และความสามารถที่จำกัดของแรงงานไทยในด้านดิจิทัล ทำให้เสียเปรียบคู่แข่ง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยข้อตกลงทางการค้าในระดับทวิภาคีและพหุภาคีมาช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้ระบบเศรษฐกิจและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน

"ตอนนี้เวียดนามกำลังจะแซงหน้าเราแล้ว การเติบโตด้านการส่งออกและเศรษฐกิจของเขาก็โตขึ้น การลงทุนจากต่างประเทศที่เข้าเวียดนามก็มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นเพราะเวียดนามได้รับจีเอสพีแล้ว ยังเป็นเพราะเวียดนามทำ FTA กับประเทศต่าง ๆ มากถึง 53 ประเทศ ขณะที่ไทยทำสัญญา FTA กับ 19 ประเทศ"

เข้าได้ก็ต้องออกได้

ประเด็นสำคัญในข้อเสนอของ สรท. ที่ให้เข้าร่วมเจรจาคือ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะต้องสงวนสิทธิให้ถอนตัวจากการเจรจาได้ หากพบว่ารายละเอียดเงื่อนไขต่าง ๆ ไม่เป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศ

"เราไม่ได้บอกว่าเข้าไปแล้วต้องผูกมัดตัวเอง และไม่ใช่ว่าเมื่อไปเจรจาแล้วเราต้องยอมเขาทุกอย่าง ถ้าเรารับเงื่อนไขไม่ได้ ไม่พร้อม เราก็ถอยออกมาเตรียมตัวก่อนได้ เมื่อพร้อมเราอาจจะกลับไปคุยใหม่ หรือไปคุยแบบทวิภาคีก็ได้"

"การเจรจาไม่ว่าจะในกรอบไหนเราก็ไม่อยากเสียเปรียบ ถ้ามีโอกาสที่จะเข้าไปร่วมนั่งคุย ดูเงื่อนไขและเจรจาเพื่อเป็นประโยชน์กับภาคธุรกิจของไทยก็ควรจะทำ ไม่ใช่พอมีข้อกังวลแล้วก็ไม่เข้าไปเลย เราควรเข้าไปคุยก่อน ถ้าไม่ได้ในสิ่งเที่เราต้องการ เราก็ยังถอนตัวออกมาได้ เรามองในเชิงธุรกิจการค้า ถ้าตรงไหนที่เป็นโอกาส เราก็อยากให้เข้าไปศึกษาก่อน อย่าเพิ่งปิดโอกาส"

ภาครัฐต้องดูแลเรื่องผลกระทบจากข้อตกลงทางการค้า

ประธาน สรท.บอกว่าภาคเอกชนรับรู้ถึงข้อกังวลของภาคประชาสังคม ทั้งเรื่องสิทธิของเกษตรกร ด้านสาธารณสุขและด้านสิทธิแรงงาน ซึ่งไม่ว่าจะเข้าร่วมเจรจา CPTPP หรือไม่ก็ตาม ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และภาครัฐควรจะต้องหามาตรการปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

"ไม่ว่าจะเจรจาในกรอบไหน ภาครัฐควรมีกฎหมายปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน"

รู้จัก CPTPP และข้อกังวลของภาคประชาสังคม

"CPTPP" มีชื่อเต็มว่า Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership คือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ปัจจุบันมีสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม มีเพียง 7 ประเทศที่ให้สัตยาบันเข้าร่วม ได้แก่ เม็กซิโก ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย และเวียดนาม

ข้อตกลงนี้ เป็นการปรับโฉมมาจาก TPP (Trans-Pacific Partnership) ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งเคยมีสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมด้วย แต่ภายหลังได้ถอนตัวออกไปเมื่อปี 2560

แต่ประเทศสมาชิกที่เหลือยังเดินหน้าความตกลงต่อภายใต้ชื่อใหม่นี้  โดยครอบคลุมการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก รวมถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม กลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ

ข้อกังวลของกลุ่มคัดค้าน 

  • การเข้าร่วมความตกลงนี้จะส่งผลให้ไทยต้องแก้กฎหมายบางฉบับที่อาจเกิดผลกระทบต่อภาคเกษตรและระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิในเมล็ดพันธุ์พืช การคุ้มครองสิทธิบัตรยา รวมถึงการคุ้มครองการลงทุนให้ชาวต่างชาติ
  • ไทยต้องเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญา UPOV1991 ว่าด้วยพันธุ์พืชทันทีหากเข้าร่ว ซึ่งอนุสัญญานี้ให้ความคุ้มครองบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรในการผูกขาด เมล็ดพันธุ์ยาวนานถึง 15-20 ปี ทำให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกรอบเพาะปลูก
  • เนื้อหาในข้อตกลงหลายส่วนที่ส่งผลต่อการเข้าถึงยา การพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศ และส่งผลต่อเรื่องสุขภาพและระบบสาธารณสุข เช่น การผูกโยงการขึ้นทะเบียนตำรับยากับระบบสิทธิบัตร (Patent linkage) ข้อผูกมัดในบทว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐและทรัพย์สินทางปัญญา
  • ทำให้การใช้มาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร หรือ (Compulsory Licensing หรือ CL) ทำได้ยากขึ้น เนื่องจากสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องตามบทคุ้มครองการลงทุน

ที่มา : BBC

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0