โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

CP ปิดดีลประวัติศาสตร์ไฮสปีด ‘หมอเสริฐ-คีรี’ ทุ่ม 3 แสนล้าน คว้าอู่ตะเภา

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 26 มิ.ย. 2563 เวลา 07.36 น. • เผยแพร่ 21 ต.ค. 2562 เวลา 03.55 น.
ไฮสปีด2

เจรจาต่อรองมาเกือบปี ในที่สุดรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ไฮสปีดแห่งความหวังของ“รัฐบาลประยุทธ์” กำลังจะแจ้งเกิดในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมี “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเซ็นสัญญาร่วมทุนรัฐและเอกชนครั้งประวัติศาสตร์ มูลค่าถึง 224,544 ล้านบาท ถือเป็นผลงานชิ้นใหญ่

ภายใต้ฤกษ์ 24 ต.ค. จะเซ็นปิดดีลกับกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ประกอบด้วย บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง, บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น, บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นผู้ชนะประมูล 117,227 ล้านบาท รับสัมปทาน 50 ปี

แต่ต้องลุ้นกันตัวโก่ง เมื่อ“กลุ่ม ซี.พี.” พลาดประมูลโครงการ “เมืองการบินอู่ตะเภา” ที่คิดจะต่อยอดกับไฮสปีดเทรน

“ธนินท์ เจียรวนนท์” แม่ทัพใหญ่ ซี.พี. ได้เปิดใจโค้งสุดท้ายไว้ว่า “รถไฟความเร็วสูงเป็นการลงทุนมีความเสี่ยง แต่มีโอกาสสำเร็จ ถ้ารัฐเข้าใจ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมเสี่ยงกับเอกชน อย่าให้เอกชนรับเสี่ยงฝ่ายเดียว”

ทำให้รัฐบาลนั่งไม่ติด ต้องเร่งเคลียร์ให้โครงการได้ไปต่อ เพราะกลัวว่า “เจ้าสัวจะถอดใจ” พร้อมแก้ปมการส่งมอบพื้นที่ 100% ที่เป็นข้อต่อรองให้ยอมรับกันได้ทั้ง 2 ฝ่าย

แบ่งส่งมอบพื้นที่ 3 เฟส

ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) มี “บิ๊กตู่” นั่งหัวโต๊ะ ได้เคาะแผนส่งมอบพื้นที่ที่ปรับใหม่ ตามที่คณะอนุกรรมการบริหาร ซึ่งมี “อุตตม สาวนายน” และคณะกรรมการคัดเลือกเสนอ

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี กล่าวว่า แผนส่งมอบพื้นที่และสาธารณูปโภคของเดิม จะทำให้เอกชนทำงานยาก เพราะให้เอกชนเจรจากับ 8 หน่วยงานสาธารณูปโภคเอง มีจุดตัด 200 กว่าจุด บอร์ดอีอีซีมองว่า ถ้าเอกชนต้องดูเองทั้งหมด จะช้าและก่อสร้างลำบาก

จึงปรับแผนใหม่ โดยส่งมอบ 3 เฟส คือ 1.สถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ 28 กม. โครงสร้างแอร์พอร์ตลิงก์เดิม พร้อมส่งมอบทันที แต่ต้องจ่ายค่าเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ 10,671 ล้านบาทก่อน 2.สถานีสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา 170 กม. ส่งมอบใน 2 ปี แต่เร่งให้ได้ 1 ปี 3 เดือน และ 3.สถานีพญาไท-ดอนเมือง 22 กม. ส่งมอบใน 4 ปี เร่งรัดได้ 2 ปี 3 เดือน เพื่อเปิดบริการสถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ปลายปี 2566 ส่วนสถานีพญาไท-ดอนเมือง อาจเสร็จปี 2567-2568

“ตลอด 2-3 เดือนได้เร่งเคลียร์ส่งมอบพื้นที่ให้เอกชน ปล่อยการรถไฟฯทำคนเดียวคงไม่ไหว ทั้งงบประมาณรื้อย้าย ระยะเวลาที่ชัดเจน เพื่อให้งานเร็วขึ้น เอกชนรับทราบเงื่อนไขนี้แล้ว ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกจะนำแนบท้ายสัญญาเตรียมเซ็น 24 ต.ค.นี้ ถ้าส่งมอบไม่ทัน รัฐจะชดเชยเวลาให้ แต่ไม่จ่ายค่าชดเชย” นายคณิศกล่าว

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า อุปสรรคคือเวนคืนที่ดิน ผู้บุกรุก และระบบสาธารณูปโภค ต้องประสานหน่วยงานให้รื้อย้าย ส่วน ร.ฟ.ท.จะเคลียร์ผู้บุกรุก และรอ พ.ร.ฎ.เวนคืนบังคับใช้ ในเดือน พ.ย.-ธ.ค.
ถึงเริ่มเข้าพื้นที่ได้

“หลังเซ็นสัญญาการรถไฟฯจะเข้าพื้นที่เวนคืน ย้ายผู้บุุกรุก เอกชนก็ออกแบบให้เสร็จ 3 เดือน และเร่งส่งมอบช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ให้เสร็จไม่เกิน 2 ปี ซึ่งการให้เริ่มงานหรือออก NTP จะขยายเป็น 2 ปี ซึ่งกลุ่ม ซี.พี.เห็นชอบแล้ว”

เปิดทางยกเลิกสัญญา

นายวรวุฒิกล่าวถึงกรณียกเลิกสัญญาและจ่ายเงินอุดหนุนก่อนกำหนดพิจารณาได้ในอนาคต เพราะสัญญา 50 ปีได้ยืดหยุ่น เช่น ทีโออาร์กำหนด 2 ปีนี้ ถ้ารัฐไม่ส่งมอบพื้นที่ให้ ก็ยกเลิกได้

ส่วนการจ่ายเงินให้กลุ่ม ซี.พี. 117,227 ล้านบาท จะยึดทีโออาร์จ่ายปีที่ 6-15 หลังเปิดบริการ แต่ทีโออาร์เปิดโอกาสกรณีจำเป็น หากเปิดบริการบางส่วนก็ยื่นให้ ร.ฟ.ท.เสนอบอร์ดอีอีซี เสนอ ครม.จ่ายเงินร่วมลงทุนบางส่วน

ขณะที่รถไฟความเร็วสูงกำลังเดินหน้า แต่กลุ่ม ซี.พี.ยังมีใจกับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก พื้นที่ 6,500 ไร่ มูลค่า 290,000 ล้านบาท ล่าสุด ยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด หลังคณะกรรมการคัดเลือกไม่เปิดซองที่ยื่นช้า 9 นาที

ซึ่ง “เมืองการบินอู่ตะเภา” ถือเป็นสมรภูมิแข่งขันของกลุ่มเจ้าสัวระหว่าง “ซี.พี.” ที่ยื่นในนามกลุ่มกิจการร่วมค้าธนโฮลดิ้ง และพันธมิตร บมจ.อิตาเลียนไทย บมจ.ช.การช่าง และ บจ.บี.กริม
จอยต์เวนเจอร์ โฮลดิ้งส์

ส่วน “กลุ่มบีทีเอส” ผนึกนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ แห่งบางกอกแอร์เวย์ส ยื่นในนามกลุ่มกิจการร่วมค้า BBS มี บมจ.การบินกรุงเทพ ถือหุ้น 45% บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ของคีรี กาญจนพาสน์ ถือหุ้น 35% และ บมจ.ซิโน-ไทยฯ รับเหมาของตระกูล “ชาญวีรกูล” ถือหุ้น 20% มี “กลุ่มแกรนด์คอนซอร์เตี้ยม” นำโดย บมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้, บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น และ บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็นมาแจม

โดยกองทัพเรือเปิดให้เอกชนร่วมทุน PPP net cost 50 ปี ผลตอบแทนที่รัฐจะได้ 59,224 ล้านบาท เป็นตัวชี้ขาด ต่างจากไฮสปีดที่ตัดเชือกกันด้วย “จำนวนเงินให้รัฐร่วมทุนน้อยที่สุด”

หมอเสริฐ-คีรี คว้าอู่ตะเภา

ผลเปิดซองราคาของกลุ่มบีทีเอสและกลุ่มแกรนด์คอนซอร์เตี้ยม ออกมาแล้วเมื่อวันที่ 11 ต.ค. รอประกาศผู้ชนะเป็นทางการ 21 ต.ค.นี้ แม้ผลทางการยังไม่ออก แต่ข่าววงในระบุ “กลุ่มคีรี-หมอเสริฐ” ชนะขาดลอย โดยเสนอผลตอบแทนคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันให้รัฐมากถึง 3 แสนล้านบาท หากรวม 50 ปี แตะที่ล้านล้านบาท ทิ้งห่างกลุ่มแกรนด์คอนซอร์เตี้ยมที่เสนอ 1.1 แสนล้านบาท ห่างกรอบราคากลางอยู่หลายเท่าตัว

วิเคราะห์ว่า งานนี้ “คีรี” อยากเอาคืน “ซี.พี.” ที่กดราคาต่ำ ตัดหน้าไฮสปีด

หากไม่มีอะไรพลิก คงเปิดซองที่ 4 เป็นข้อเสนอเพิ่มเติมของกลุ่มบีทีเอสต่อไป จะด้วยราคาที่สูงลิ่วหรือไม่ รวมถึงต้องลุ้นต่อว่า จะมีเงื่อนไขพิสดารเหมือนไฮสปีดหรือไม่เช่นกัน

รายงานข่าวกล่าวว่า กลุ่มบีทีเอสเสนอรายได้ให้รัฐมาก เพราะสนามบินอู่ตะเภาเป็นธุรกิจกำไรมหาศาล ต่างจากรถไฟความเร็วสูง ถ้าได้ก็คุ้มค่ากับบางกอกแอร์เวย์สด้วย ที่มีธุรกิจการบินครบวงจรรองรับอยู่ รวมถึงดิวตี้ฟรี ส่วนบีทีเอสเป็นดีเวลอปเปอร์อสังหาฯและโรงแรม ด้านซิโน-ไทยฯก็เชี่ยวชาญสร้างโครงการขนาดใหญ่

ทั้งหมดคือ 2 บิ๊กโปรเจ็กต์ ในมือกลุ่มเจ้าสัวเมืองไทยที่จะขยายอาณาจักรสู่อีอีซี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0