โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

COVID-19  ฝ่ายขวาสหรัฐฯ และโลกทัศน์แบบ Zombie Idea

The101.world

เผยแพร่ 08 เม.ย. 2563 เวลา 06.05 น. • The 101 World
COVID-19  ฝ่ายขวาสหรัฐฯ และโลกทัศน์แบบ Zombie Idea

ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี[1] เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพ

 

Paul Krugman นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อดัง เขียนบทความล่าสุดลงใน The New York Times ชื่อ Covid-19 Brings Out All the Usual Zombies: Why virus denial resembles climate denial

ประเด็นหลักของ Krugman ในบทความขนาดสั้นชิ้นดังกล่าว คือการวิจารณ์วิธีคิดเบื้องหลังการรับมือกับปัญหาเชื้อไวรัสแพร่ระบาด ทั้งของประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ และเหล่าบรรดากลุ่มสื่อมวลชน นายทุน และฐานมวลชนฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมของสหรัฐฯ

Krugman เสนอว่า โลกทัศน์หรือวิธีคิดของบรรดาฝ่ายขวาสหรัฐฯ ต่อปัญหาเชื้อไวรัสโควิด-19 คือการมองว่ามันเป็นเรื่องหลอกลวง หรือถ้าเป็นจริง ก็เป็นเพียงเรื่องเล็กๆ ที่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตอะไร

ในอีกแง่หนึ่ง ฝ่ายขวาเชื่อว่าหากรัฐบาลสหรัฐฯ พยายามที่จะเข้าไปแก้ปัญหาหรือเข้าไปแทรกแซงเพื่อรับมือกับไวรัสมากเกินไป อาจยิ่งเป็นการทำลายระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ให้ย่ำแย่ลงกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมุ่งโทษว่าปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นคือความผิดของประเทศจีน และเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกฝ่ายขวาจึงเสนอให้เรียกไวรัสโควิดว่าเป็น "Chinese virus”

ด้วยโลกทัศน์เช่นนี้ของทรัมป์และฝ่ายขวา จึงส่งผลให้การทำงานของนักระบาดวิทยาในสหรัฐฯ ที่พยายามเสนอทางออกในการรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส กลับถูกโจมตีอย่างหนักจากฝ่ายที่อยู่ภายใต้โลกทัศน์แบบข้างต้นว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเรื่องหลอกลวงหรือไม่ก็เรื่องเล็กน้อยที่ไม่มีความสำคัญ โดยนักระบาดวิทยาที่พยายามออกมาอธิบายผ่านสื่อสาธารณะ มักโดนกล่าวหาว่าเป็นส่วนหนึ่งของ "รัฐพันลึก" (deep state) ที่พยายามออกมาสร้างเรื่องราวเพื่อเล่นงานทรัมป์และทำลายกลไกของตลาดเสรี

Krugman ชี้ว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรอบนี้เป็นเหมือนเดจาวูที่คล้ายคลึง และย้ำเตือนให้เรานึกถึงทัศนคติของทรัมป์และฝ่ายขวาที่มีต่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ดังที่เมื่อปี 2012 ทรัมป์เคยเขียนลงในทวิตเตอร์ว่า "แนวคิดเรื่องโลกร้อนเป็นสิ่งที่ถูกสร้างโดยประเทศจีน เพื่อที่จะทำให้ภาคการผลิตของสหรัฐฯ แข่งขันไม่ได้"

ทัศนคติดังกล่าวไม่ต่างกับกรณีของไวรัสโควิด-19 ทั้งทรัมป์และฝ่ายขวามองว่า คำอธิบายเรื่องสภาวะโลกร้อนคือเรื่องหลอกลวง และการพยายามของรัฐเพื่อลงมือแก้ปัญหา หรือแทรกแซง จะเป็นการทำลายระบบเศรษฐกิจให้เสียหาย ดังนั้นจึงหันไปโทษว่าเป็นความผิดของประเทศจีนเสีย

และคล้ายกับที่นักระบาดวิทยาถูกโจมตีในกรณีเชื้อโควิด-19 เมื่อมองย้อนกลับไป เราก็พบว่านักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศที่พยายามออกมาอธิบายปัญหาสภาวะโลกร้อน ก็ถูกโจมตีและถูกกล่าวหามาอย่างต่อเนื่องนานนับทศวรรษแล้วเช่นกัน

เราจึงเห็นได้ว่า การตอบสนองของพวกฝ่ายขวาในสหรัฐฯ ต่อกรณีไวรัสโควิด-19 นั้นมีความคล้ายคลึงอย่างมากกับกรณีของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้กรณีทั้งสองจะมีความแตกต่างกันในแง่ของระยะเวลาที่ส่งผลกระทบ

คำถามของ Krugman ก็คือ อะไรคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มอาการปัดปฏิเสธ ไม่ยอมรับความจริง (denialism) ของพวกฝ่ายขวาในสหรัฐฯ ?

Krugman พยายามตอบคำถาม โดยอ้างถึงหนังสือของเขาที่ตีพิมพ์ออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งอธิบายแนวคิดที่แพร่กระจายและครอบงำอยู่ในการเมืองสหรัฐ แนวคิดที่เขาเรียกว่า "zombie idea" หรือ แนวความคิดที่แม้จะถูกพิสูจน์ด้วยหลักฐานจำนวนมากว่าเป็นเรื่องไม่จริง แต่กระนั้นก็ยังมีคนที่เชื่อในแนวคิดดังกล่าวอยู่ เหมือนซอมบี้ที่ตายแล้วแต่ยังคงไล่กัดกินสมองของผู้คน

ตัวอย่างของแนวคิดแบบซอมบี้ที่มีพลังมากที่สุดแนวคิดหนึ่งในการเมืองสหรัฐฯ นั่นคือ แนวคิดที่เชื่อว่า การลดภาษี (tax cuts) ให้พวกคนรวย จะช่วยให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตหรือเกิดปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่แม้จะถูกพิสูจน์ด้วยงานวิจัย หลักฐาน และข้อเท็จจริงจำนวนมากว่าไม่จริง แต่ก็ยังทำงานครอบงำสมองของคนจำนวนมากอยู่จนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับแนวคิดที่พยายามปฏิเสธความจริงว่า มีปัญหาภาวะโลกร้อนเกิดขึ้น ก็ถือเป็นอีกหนึ่งแนวคิดแบบซอมบี้ที่ทรงพลังมากในหมู่ฝ่ายขวาของสหรัฐฯ

แต่ทำไมพวกฝ่ายขวาจึงมองการแพร่ระบาดของไวรัสด้วยโลกทัศน์ที่คล้ายกับกรณีการลดภาษีให้คนรวย และกรณีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ? อะไรคือแรงผลักดันเบื้องหลังที่ทำให้พวกเขามีวิธีคิดเช่นนั้น?

Krugman เสนอคำอธิบายว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แนวคิดแบบซอมบี้ยังสามารถทำงานครอบงำสมองผู้คนจำนวนไม่น้อยอยู่ คือปัจจัยเรื่องผลประโยชน์ทางการเงินส่วนตนแบบเปลือยๆ นั่นแหละ ตัวอย่างเช่น การสนับสนุนข้อดีของนโยบายการลดภาษีให้คนรวย ทำให้เกิดผลดีต่อบรรดาเศรษฐีนายทุนที่ย่อมได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการลดภาษีดังกล่าว ขณะที่แนวคิดปฏิเสธสภาวะโลกร้อน ก็มักได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผลประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล

ความเป็นจริงดังกล่าวสอดคล้องกับที่ Upton Sinclair เคยกล่าวว่า "เป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนให้คนหันมาเข้าใจ หากเงินเดือนของเขาขึ้นอยู่กับการที่เขาไม่เข้าใจมัน"

อย่างไรก็ตาม Krugman เห็นว่า ในกรณีของเชื้อโควิด-19 เป็นเรื่องที่อธิบายได้ยากกว่า ว่าใครหรือกลุ่มใด ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงหรือโดยอ้อมจากการพยายามลดทอนความจริงและความสำคัญของปัญหาการแพร่กระจายเชื้อไวรัส

เพราะในแง่ระยะเวลาของไวรัสโควิด-19 ต่างจากกรณีของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวคือ ปรากฏการณ์โลกร้อนอาจใช้เวลาหลายทศวรรษกว่าจะเห็นผลกระทบที่เป็นรูปธรรม จึงทำให้พวกกลุ่มนายทุนอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลมีเวลาค่อนข้างมากในการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ของตนและผลิตซ้ำความเชื่อผิดๆ ต่อไปได้ แต่ในกรณีของโควิด19 นั้น กลับใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ เราก็ได้เห็นผลกระทบอันเลวร้ายน่ากลัวของมันแล้ว จากการที่ผู้นำและรัฐบาลของสหรัฐฯ ปฏิเสธความจริงและไม่ยอมรับความสำคัญของปัญหาดังกล่าว

Krugman เสนอข้อวิเคราะห์ว่า แม้กรณีไวรัสโควิด-19 จะมีเรื่องผลประโยชน์ส่วนตนของกลุ่มนายทุนและฝ่ายขวาเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่จริงๆ เหมือนกับแนวคิดแบบซอมบี้เรื่องโลกร้อนและการลดภาษีให้คนรวย แต่เขากลับเห็นว่ากรณีของโควิด-19 มีปัจจัยอื่นที่สำคัญกว่าอยู่ 2 ประการ ที่ส่งผลให้มาตรการการรับมือกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ของสหรัฐฯ แย่กว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากถูกครอบงำด้วยแนวคิดแบบซอมบี้

ประการแรก เนื่องจากสหรัฐฯ มีขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมที่มักอยู่บนฐานความเชื่อและปลูกฝังทัศนคติแบบที่สอนให้มีระยะห่าง มีความระแวงสงสัย และรังเกียจความคิดเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย ที่ชอบออกมาบอกว่าคุณผิดอย่างนู้นอย่างนี้ หรือชอบออกมาชี้นำความเห็นของคุณด้วยความเชี่ยวชาญของพวกเขา

นี่เป็นปัจจัยสำคัญที่อธิบายว่า ทำไมจึงเกิดปรากฎการณ์ความเชื่อที่รังเกียจวิทยาศาสตร์ขึ้นในกลุ่มอนุรักษ์นิยมของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนทรัมป์ทั้งในการรับมือกับปัญหาโลกร้อนและปัญหาเชื้อไวรัสแบบผิดพลาด

ประการที่สอง พวกฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมยึดถือความเชื่ออยู่เรื่องหนึ่ง นั่นคือ ความกลัวว่าจะมีผลกระทบแง่ลบเกิดขึ้นต่อผลประโยชน์ของพวกเขา หากนโยบายการแทรกแซงของรัฐบาลประสบความสำเร็จ กล่าวคือ พวกฝ่ายขวาหวาดกลัวว่า หากรัฐบาลเริ่มมีนโยบายในการแทรกแซงเชิงสาธารณะจนเกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพขึ้นจริงในพื้นที่หนึ่ง ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะแห่กันหันไปสนับสนุนให้รัฐบาลขยายการแทรกแซงไปยังพื้นที่อื่นๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะกลายเป็นความเสี่ยง การแทรกแซงดังกล่าวอาจส่งผลกระทบแง่ลบต่อผลประโยชน์ของพวกเขา

ในทางหลักการ การจะออกมาตรการทางสาธารณสุขเพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำไปสู่การสร้างโครงการสุขภาพทางสังคมคล้ายๆ ในกรณีของ Medicaid ซึ่งในทางปฏิบัติย่อมไม่เป็นผลดีต่อกลุ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องแน่ๆ

ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมจึงมักต่อต้านนโยบายแทรกแซงของรัฐบาล แม้ว่าการแทรกแซงดังกล่าวจะเป็นผลดีต่อส่วนรวม และแม้จะเป็นการแทรกแซงแบบที่ไม่ได้นำไปสู่การกระจายรายได้เลยก็ตาม เพราะพวกฝ่ายขวาไม่ต้องการให้ประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งมองว่ารัฐบาลมีนโยบายแทรกแซงจนเกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ

ด้วยเหตุนี้ Krugman จึงสรุปว่า สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความผิดพลาดและล้มเหลวของนโยบายการรับมือกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ของทรัมป์ มาจากธรรมชาติของขบวนการทางการเมืองและสังคมในสหรัฐฯ และมาจากแนวคิดแบบซอมบี้ของกลุ่มฝ่ายขวาที่สนับสนุนเขาอยู่ มากกว่าจะมาจากบุคลิกลักษณะนิสัยที่ไม่ดีของทรัมป์ในแง่ปัจเจกเพียงโดดๆ

หากลองเดินตามการวิเคราะห์ของ Krugman ดูอย่างถี่ถ้วน ผู้เขียนคิดว่าเราอาจลองนำบทเรียนดังกล่าวมาเปรียบเทียบ เพื่อทำลองความเข้าใจกรณีของสังคมไทย ว่าอะไรคือโลกทัศน์หรือแนวคิดแบบซอมบี้ที่แพร่กระจายและครอบงำในวิธีคิดของผู้นำ คณะรัฐบาล และฐานมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาลอยู่ จนส่งผลให้นโยบายและมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของไทยออกมาแบบครึ่งๆ กลางๆ  “น้อยเกินไป สายเกินการ” หรือไร้ประสิทธิภาพจนน่ากังวล มากกว่าจะมองว่าเป็นเพียงปัญหาจากการไร้ความสามารถของผู้นำไม่กี่คนเท่านั้น (ซึ่งไม่ได้หมายความว่าผู้นำไม่ใช่ปัญหานะครับ)

 

 

[1] นักศึกษาปริญญาโท สาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0