โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

COVID-19…กับ5เหตุการณ์ “ที่สุด”เป็นประวัติการณ์

ฐานเศรษฐกิจ

อัพเดต 14 เม.ย. 2563 เวลา 04.40 น. • เผยแพร่ 09 เม.ย. 2563 เวลา 01.50 น. • Thansettakij

ผ่านมาแล้วกว่า3 เดือนที่ COVID-19 ได้แพร่ระบาดอย่างรุนแรงไปทั่วโลก ทำให้มีผู้ติดเชื้อจนถึงปัจจุบันแล้วกว่า8 แสนคน และคร่าชีวิตผู้คนกว่า4 หมื่นราย สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกปีนี้มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย(Recession) ครั้งแรกในรอบกว่า10 ปี ขณะเดียวกันยังก่อให้เกิด5 เหตุการณ์สำคัญที่สั่นคลอนเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยจะขออธิบายแต่ละเหตุการณ์ผ่านคำว่า“C-O-V-I-D” ดังนี้       

Circuit Breaker(CB)

มาตรการระงับการซื้อขายชั่วคราวถูกนำมาใช้มากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกวิกฤติในอดีต ตั้งแต่ต้นปีที่ COVID-19 เริ่มระบาด ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลงรุนแรงกว่า 30% ส่งผลให้ตลาดหุ้นหลายประเทศต้องงัดมาตรการ CB มาใช้มากเป็นประวัติการณ์ เช่น สหรัฐฯ ต้องใช้ CB ถึง 4 ครั้งในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ช่วงกลางเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา มากกว่าช่วงวิกฤติ Hamburger ที่ใช้เพียง 2 ครั้ง เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทยที่ใช้ CB ถึง 3 ครั้ง มากที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น

       

Oil Price 

ราคานํ้ามันดิ่งลงแรงที่สุด นับตั้งแต่ต้นปีราคานํ้ามันดิบปรับลงกว่า 60% มากที่สุดและเร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์ จากปัจจัยบั่นทอนทั้งทางด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยอุปสงค์นํ้ามันถูกกดดันจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่หดตัวจาก COVID-19 และถูกซ้ำเติมจากอุปทานนํ้ามันที่เพิ่มขึ้นหลังมีการทำสงครามราคาระหว่างซาอุดีอาระเบียกับรัสเซีย ถือเป็นสงครามราคาครั้งใหญ่อีกครั้งในอุตสาหกรรมนํ้ามันโลก จนมีการคาดการณ์อย่างสุดโต่งว่า ราคานํ้ามันอาจลดลงแตะระดับ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

 

Volatility 

ความผันผวนรุนแรงที่สุด เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา ดัชนีความผันผวน(VIX Index) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งถือเป็นดัชนีที่นิยมใช้เป็นตัวแทนความกลัวของนักลงทุน  พุ่งขึ้นไปแตะ 82.69 จุด สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีครั้งแรกในปี 2473 สูงกว่าช่วงวิกฤติ Hamburger ซึ่งขึ้นไปสูงสุดที่ 80.86 จุด ขณะเดียวกันดัชนี Dollar Index ซึ่งเป็นดัชนีสะท้อนความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นสูงสุดในรอบ 4 ปีภายใน 2 วัน(17-19 มีนาคม 2563) หลังนักลงทุนเทขายสินทรัพย์ทุกประเภท เพื่อหันมาถือเงินสด

 

Interest Rate 

อัตราดอกเบี้ยตํ่าที่สุด กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่หดตัวอย่างรุนแรงจาก COVID-19 ทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศต่างงัดนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมาใช้กันอย่างถ้วนหน้า ทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตํ่าสุดเป็นประวัติการณ์ในสหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย รวมถึงไทย ขณะที่หลายประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรปก็มีการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(Quantitative Easing : QE) มูลค่ามหาศาลกว่าช่วงวิกฤติ Hamburger สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นการใช้ยาแรงผ่านการอัดสภาพคล่องครั้งใหญ่ที่สุด ซึ่งต้องจับตามองว่าวิธีการข้างต้นจะได้ผลเหมือนวิกฤติหลายครั้งที่ผ่านมาหรือไม่

 

Double Shock 

ภาวะชะงักงันด้านอุปสงค์และอุปทานที่เกิดขึ้นพร้อมกัน วิกฤติเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติต้มยำกุ้งหรือวิกฤติ Hamburger มักมีต้นตอมาจากปัญหาในภาคการเงินที่ลุกลามจนกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านอุปสงค์เป็นหลัก(Demand Shock) แต่การระบาดของ COVID-19 รอบนี้ยังส่งผลกระทบถึงด้านอุปทาน(Supply Shock) อย่างรุนแรงจากการที่ภาคธุรกิจ ร้านค้า และโรงงานอุตสาหกรรมต้องหยุดดำเนินการเป็นวงกว้าง และอาจนำมาซึ่งการปิดกิจการในท้ายที่สุด การเกิด Double Shock อาจส่งผลให้เกิด Domino Effect เป็นวงกว้าง และแก้ไขได้ยากกว่าวิกฤติหลายครั้งที่ผ่านมา

คงพอจะเห็นได้ว่า เรากำลังอยู่ในวิกฤติเศรษฐกิจที่อาจรุนแรงและยืดเยื้อกว่าทุกครั้ง ท่ามกลางภาวะแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและความผันผวน ดังนั้น ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ส่งออกจำเป็นต้องตั้งสติและเตรียมรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าใช้จ่าย การบริหารสภาพคล่องให้เพียงพอ รวมถึงใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรอโอกาสที่จะกลับมาหลังวิกฤติผ่านพ้นไป

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,564 วันที่ 9-11 เมษายน 2563

       

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0