โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Blind Experience 2019 : แสงหิ่งห้อยที่ต้องใช้จินตนาการ

The Momentum

อัพเดต 22 ส.ค. 2562 เวลา 07.17 น. • เผยแพร่ 22 ส.ค. 2562 เวลา 07.17 น. • คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

In focus

  • Blind Experience 2019 คืองานที่พาผู้ชมไปสู่โลกของผู้พิการทางสายตา งานแบ่งเป็นสองส่วนคือ ส่วนแรกคือนิทรรศการที่ให้เรียนรู้การใช้ชีวิตของคนตาบอด ไม่ว่าจะการดมกลิ่น รับประทานอาหาร วาดรูป หรือพูดคุยทำความรู้จักกับคนอื่นทั้งที่ใส่ผ้าปิดตา 
  • ส่วนที่สองคือละครเวที เรื่องเล่าจากหิ่งห้อยที่ดัดแปลงมาจาก Grave of the Firefliesของอิซาโอะ ทาคาฮาตะ ซึ่งโปรโมทว่าเป็นละครเวที 6 มิติ (รส กลิ่น เสียง สัมผัส เวลา และ จินตนาการ) และผู้สร้างก็ทำได้ตามที่โปรโมทอย่างแทบจะครบครัน
  • ช่วงท้ายเต็มไปด้วยความเมโลดราม่าและการบิลด์อารมณ์ แม้ในช่วงที่ผู้ชมเริ่มจะ ‘เก็ท’ แล้วว่าละครต้องการสื่ออะไร ความลับของละครคืออะไร แต่ตัวบทก็ยังดาหน้าเรียกน้ำตาไม่หยุดยั้ง

เป็นเรื่องน่าสนใจดีที่ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนของปีนี้จะมีการแสดงที่มีธีมเกี่ยวกับประสาทสัมผัสและการรับรู้อยู่หลายเรื่อง อาทิ Sunny Side Up: เกือบสุขละครเวทีมีกลิ่น, The (Un)Governed Bodyงานแสดงเคลื่อนไหวด้วยร่างกายที่ว่าด้วยการเข้าทรง และ Blind Experience 2019 ที่พาผู้ชมไปสู่โลกของผู้พิการทางสายตา 

ปกติแล้วเมื่อพูดถึงการแสดง ละครเวที มหรสพ อีเวนต์ ใดๆ ก็ถึงนึก ‘การดู’ และการใช้ ‘ตา’ แต่ก็มีบางงานที่คอนเซ็ปต์หลักคือการขจัดการมองเห็นของผู้ชมไป ที่ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ร่วมก็เช่น Dine in the Darkการรับประทานอาหารในห้องมืดมิดที่ไม่รู้เลยว่าสิ่งที่วางอยู่ตรงหน้าคืออะไร หรืออีกงานคือ สงครามดอกไม้การแสดงเดี่ยวของ นิกร แซ่ตั้ง ที่ชักชวนให้ผู้ชมหลับตา จากนั้นศิลปินจะเล่าการต่อสู้อันน่าเศร้าของเหล่าดอกไม้ (ที่น่าจะเป็นการเปรียบเปรยถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ) จำได้ว่ารอบที่ผู้เขียนดูผู้ชมพากันร้องไห้หลายคน

สำหรับงาน Blind Experience 2019 จะมีสองส่วนด้วยการ เริ่มด้วยส่วนของนิทรรศการที่ให้เรียนรู้การใช้ชีวิตของคนตาบอด ไม่ว่าจะการดมกลิ่น รับประทานอาหาร วาดรูป หรือพูดคุยทำความรู้จักกับคนอื่นทั้งที่ใส่ผ้าปิดตา แต่โซนที่ผู้เขียนชอบมากที่สุดคือการคลำงานปั้นของเด็กตาบอดแล้วทายว่ามันคือสัตว์อะไร แน่นอนว่ารูปลักษณ์ของมันไม่ค่อยจะเหมือนของจริงเท่าไร แต่นั่นเพราะเด็กๆ ต้องปั้นมันขึ้นมาจากคำบอกเล่าของผู้อื่นและจินตนาการต่อเอาว่าสัตว์เหล่านี้หน้าตาเป็นอย่างไร เป็นการทำให้เข้าใจคนตาบอดในมุมที่ไม่เคยคิดมาก่อน   

ส่วนที่สองเป็นการแสดงละคร ‘เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย’ แน่นอนว่าผู้ชมจะต้องใส่ผ้าปิดตาตลอดการแสดง พิธีกรในงานยังย้ำด้วยว่าผู้ชมไม่จำเป็นต้องนั่งแถวหน้า จะนั่งตรงไหนก็ได้ เพราะการแสดงจะเกิดขึ้นทุกส่วนรอบห้อง ในด้านเรื่องราวของละครนั้นก็ว่าด้วยยายที่เล่าให้หลานฟังถึงชะตากรรมของไม้และน้ำ พี่ชายและน้องสาวที่ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในช่วงสงคราม 

ตอนที่เห็น Blind Experience 2019 โปรโมทว่าเป็นละครเวที 6 มิติ (รส กลิ่น เสียง สัมผัส เวลา และ จินตนาการ) ผู้เขียนแอบฉงนในใจอยู่เหมือนกัน แต่สรุปแล้วเขาทำได้ตามนั้นเกือบครบครัน ในฉากเข้าป่าหรือเดินตลาดมีกลิ่นที่แตกต่างกัน บางซีนที่เป็นการเดินทางก็มีการขยับจริงๆ แต่สิ่งที่ต้องใช้มากที่สุดสำหรับละครเรื่องนี้คือจินตนาการ คนดูแต่ละคนจะมีภาพของตัวละครไม้และน้ำในหัวสมองต่างกันไป หรือฉากที่สองพี่น้องไปชื่นชมฝูงหิ่งห้อย ทั้งการแสดง บทพูด เพลงประกอบ การร้องเพลง ล้วนกระตุ้นให้เรานึกภาพความสวยงามเหล่านั้น

จุดที่ชอบคือการแสดงเรื่องนี้เกิดขึ้นแบบ 360 องศาจริงตามที่เขาบอกไว้ เนื่องจากตัวละครจะเดินทางไปเรื่อย นักแสดงจึงย้ายตำแหน่งไปตามจุดต่างๆ หรืออีกประเภทคือฉากแอ็คชั่นที่ใช้เสียงคน เสียงเอฟเฟกต์สร้างความวุ่นวาย ทำให้เกิดความระทึกได้อย่างยิ่ง อย่างไรก็ดี เมื่อฉากโกลาหลเหล่านี้ถูกใส่เข้ามาถึง 2-3 ครั้งในช่วงหลังของละคร มันก็เริ่มดูเฝือ ไม่น่าตื่นเต้น และล้นเกินไปสักหน่อย

อีกสิ่งที่ไม่ค่อยเข้าทางผู้เขียนนักคือช่วงท้ายเต็มไปด้วยความเมโลดราม่าและการบิลด์อารมณ์ ซึ่งส่วนตัวแล้วออกจะฟูมฟายเกินไป เอาเข้าจริงผู้ชมเริ่มจะ ‘เก็ท’ แล้วว่าละครต้องการสื่ออะไร ความลับของละครคืออะไร แต่ตัวบทก็ยังดาหน้าเรียกน้ำตาไม่หยุด (ผู้ชมข้างหลังผู้เขียนสะอื้นไห้แบบน็อนสต็อป) แต่ที่ต้องชมคือแม้ว่าละครจะฟูมฟายแค่ไหนแต่นักแสดงในรอบผู้เขียนก็พูดไดอะล็อกได้ชัดถ้อยชัดคำ ถือเป็นเรื่องถูกต้องสมควร เพราะละครเรื่องนี้ใช้ ‘การฟัง’ เป็นส่วนใหญ่ การออกเสียงของนักแสดงจึงเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญ

ว่ากันตามตรงแล้ว Blind Experience 2019 อาจจะน่าตื่นเต้นในเรื่องเทคนิคและการนำเสนอ แต่ส่วนของเนื้อเรื่องไม่ได้เกินความคาดหมายอะไรนัก (พูดได้อีกแบบว่า Style น่าสนใจ แต่ Content เฉยๆ) แต่ทั้งนี้มีเรื่องน่าขบคิดว่าละครดัดแปลงจากหนังเรื่อง Grave of the Fireflies(1988) หรือ สุสานหิ่งห้อยของอิซาโอะ ทาคาฮาตะ อาจมองเผินๆ ว่าสองพี่น้องทั้งในหนังและละครช่างมีชะตากรรมอาภัพน่าสงสารจากภาวะสงคราม ถึงกระนั้นทาคาฮาตะเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าเขาไม่ได้ต้องการให้คนดูเห็นอกเห็นใจตัวละครเด็กในเรื่อง หากแต่ต้องการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำและการตัดสินใจของพวกเขามากกว่า 

ซึ่งสิ่งนั้นคงไม่เกิดขึ้นใน Blind Experience 2019 ที่ความเมโลดราม่าทำให้คนดูพร้อมใจกันร้องห่มร้องไห้กับตัวละคร (กับกรณีของ ‘สุสานหิ่งห้อย’ ก็เช่นกัน) ทว่าประเด็นนี้ไม่ถือว่าเป็นปัญหาของละคร เพราะแม้ Blind Experience 2019จะได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘สุสานหิ่งห้อย’ หากแต่ผู้สร้างก็มีเป้าประสงค์ในแบบของตัวเอง  

อีกประเด็นคือเรื่องของตัวบท เมื่อลองพิจารณาแล้วคุณยายเล่าเรื่องราวยืดยาวของไม้กับน้ำเพื่อเป็นกุศโลบายให้หลานสาวตัดสินใจว่าจะเก็บหรือปล่อยหิ่งห้อย หากแต่อยู่ดีๆ คุณยายก็เกิดอาการ let it go ปล่อยวางอดีตของตัวเองได้ขึ้นมาเสียอย่างนั้น มันเลยราวกับว่าคุณยายกำลังโปรเจคต์ความเจ็บปวดของตัวเองให้กับหลานหรือเปล่า และเรื่องราวนี้จะกลายเป็นบาดแผลทางใจของเธอหรือไม่ อย่างไรก็ดี ความเจ็บปวดของคุณยายเกิดขึ้นจากสงคราม เป็นความเจ็บปวดทางประวัติศาสตร์ เป็นความทรงจำร่วมของมนุษยชาติที่จะไม่หายไปตามกาลเวลา การบอกเล่าให้คนรุ่นหลังฟังก็อาจจะดีกว่าการเก็บเงียบไว้ 

* Blind Experience 2019 เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย แสดงถึง 31 สิงหาคม 2562 ที่ Lido Connect (BTS สยาม) ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/theblindstheatrethailand/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0