โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Begin Again: ให้เสียงเพลงกำหนดหัวใจ - เพจ Cineflections

TALK TODAY

เผยแพร่ 06 ก.ย 2562 เวลา 17.01 น.

‘เพลง’ เป็นอะไรสำหรับคุณ

หลับตา เสียบหูฟัง แล้วกดปุ่ม ‘เล่น’

บางคนเลือกที่จะเปิดลำโพง แล้วปรับเสียงให้ดังที่สุด ขณะบางคนรักที่จะฟังเพลงบรรเลงสด ผ่านเสียงกีตาร์และเครื่องเสียงของนักดนตรี

‘เสียงเพลง’ ย่อมมีความหมายเฉพาะตัวต่อคนแต่ละคน เหมือนที่เรามอง จดจำ เรียบเรียง และเล่าเรื่องราวเรื่องเดียวกันผ่านคนละมุม ‘ดนตรี’ ย่อมเยียวยาและสอดแทรกเข้ามีบทบาทเข้าในชีวิตของคนๆหนึ่งแตกต่างกันออกไป รวมถึงการตีความประโยค ภาษา และเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในเนื้อเพลงนั้นๆ ด้วย

Begin Again (2013) หนัง (แทรก) เพลงโรแมนติกคอเมดี้ของ John Carney จอห์น คาร์นีย์ ผู้กำกับหนังเพลงอินดี้ Once (2007) ดึงความสนใจและแทรกตัวเข้ามาในหัวใจเงียบๆ กับเพลงในฉากเดี่ยวเปิดไมค์อะคูสติกของนางเอก เกรต้า เจมส์ (Keira Knightley เคียร่า ไนท์ลีย์)

ถึงการร้องเพลงของไนท์ลีย์จะไม่เทียบเท่าศิลปินอาชีพ เสียงหวานบางๆฉาบความเศร้าหงอย การแสดง และท่วงท่าการร้องเพลงของเธอนั้นสื่ออารมณ์ของเพลงจนจุกหัวใจ ‘A Step You Can’t Take Back’ เป็นเพลงเปิดเรื่องที่ต้อนรับผู้ชมเข้า ‘หนึ่งจุดต่ำ’ ของชีวิตสาวคนหนึ่งเมื่อเลิกกับแฟนและอกหักใหม่ๆ ก่อนจะพาเดินทางไปด้วยกันตามเส้นทางในหนังจนถึงจุดอิ่มตัว ครบวงจรหัวใจโซเซหาทางไปในที่สุด

ตัวหนังเป็น ‘หนังเพลง’ ที่ดูง่าย จับใจ และ ‘อิน’ จนเป็นส่วนหนึ่งของหนังและเอาใจช่วยตัวละครได้ไม่ยาก

แท้จริงแล้ว เนื้อเพลงของเพลงที่เปิดซ้ำๆกันอยู่ ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนก็ตาม ก็ส่วนใหญ่วนเวียนอยู่กับเรื่องหัวใจ อารมณ์ ความรู้สึกผันแปรที่มนุษย์สองคนพึงมีต่อกัน แต่ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบรรยากาศของยุค อ้างอิงสิ่งที่เป็นที่รู้จักในสมัยนั้น นำ ‘เรื่องเก่า’ มา ‘เล่าใหม่’ ผ่านถ้อยคำที่เหมาะเจาะกับประสบการณ์ที่คนเคยพบเจอมา ที่จอห์น คาร์นี่ย์เขียนเนื้อเพลงออกมาได้เรียบง่าย หากสวยงามด้วยภาษา การเปรียบเปรย และภาพที่คำต่างๆวาดไว้ แสดงถึงความอัจฉริยะของเขาในการทำให้ ‘เพลง’ และ ‘ดนตรี’ ที่เกิดจากเขาเดียว มาเป็น ‘เพลง’ และ ‘ดนตรี’ ของทุกๆคน

หากสิ่งที่ทำให้ Begin Again โดดเด่นในความทรงจำเรา คือประโยคหนึ่งรูปแบบของความสัมพันธ์ที่เรามีต่อ ‘เพลง’ และ ‘เสียงดนตรี’

“That’s what I love about music. One of the most banal scenes is suddenly invested with so much meaning! All these banalities - they’re suddenly turned into these… these beautiful, effervescent pearls. From music. - นั่นแหละคือสิ่งที่ผมชอบเกี่ยวกับดนตรี หนึ่งในฉากที่ธรรมดามากมายกลับเต็มไปด้วยความหมายทันที ความธรรมดาพวกนี้ — จู่ๆ ก็กลายเป็นพวก …พวกไข่มุกสวยงามสุกสกาวมีชีวิตชีวา จากดนตรี” แดน (Mark Ruffalo มาร์ค รัฟฟาโล่) โปรดิวเซอร์ผู้คร่ำหวอดในวงการกล่าวกับเกรต้า ขณะนั่งตรงฟุตบาธ แบ่งหูฟังกันฟังคนละข้าง

ทันทีที่คุณใส่หูฟัง ทันทีที่คุณเปิดเพลง ดนตรีก็เติมเต็มฉากตรงหน้าคุณให้มีชีวิต เรียกว่าใส่ชีวิต ละเลงสีสัน เริ่มเคาะจังหวะให้กับความ ‘ทุกวัน’ ธรรมดาสามัญของปัจจุบัน จริงอยู่ที่คุณตัดโลกรอบข้างออกและสร้าง ‘ฟองสบู่ - bubble’ รอบตัวขึ้นมากับเสียงดนตรีที่คุณเลือกเอง (อาจเป็นแนวเพลงที่ตัดกับสิ่งแวดล้อมอย่างสิ้นเชิงเลยก็ได้) แต่ดนตรีให้อิสระนั้นแก่คุณ ให้คุณเลือก ‘บรรยากาศ’ ของตัวเอง

ดนตรีทำให้ ‘ทุกวัน’ มีความหมาย และ Begin Again เป็นหนังโมเดิร์นยุค 2010’s ที่พูดกับเราตรงๆเรื่องนี้ และ Begin Again อีกที่เปิดเผย ‘ความลับ’ ของหลายๆคนอย่าง playlist ที่ฟังว่าจริงๆแล้วส่วนตัวแค่ไหน

“You can learn a lot about a person by what’s on their playlist - คุณสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับคนๆหนึ่งได้เยอะโดยดูจากเพลงในเพลย์ลิสต์ของเขา” เพลย์ลิสต์บ่งบอก ‘ตัวตน’ ของเราในหลายๆมุม เรามักมีเหตุผลที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังเพลงที่ฟังบ่อย เพลงที่อิน สไตล์ดนตรีที่ชอบ วงที่ชอบ ทั้งนั้น ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ที่น่าสนใจคือลำดับเพลงที่เลือกฟังในเพลย์ลิสต์ การจัดวาง ไต่ระดับอารมณ์ของคนๆหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ที่แดนและเกรต้าแลกเปลี่ยนเพลย์ลิสต์กันฟัง ถือเป็นการแบ่ง ‘ส่วนหนึ่ง’ ของ ‘ตัวเขา’ ในช่วงเวลานั้นๆ ให้กับอีกฝ่าย เพื่อรู้จักอีกฝ่ายดีขึ้น เพื่อ ‘ประสบ’ ผ่านพ้นโมเม้นต์ธรรมดาที่ไม่ธรรมดาเพราะเสียงดนตรีไปด้วยกัน

ถึงมาร์คจะไม่ใช่พระเอกของเรื่อง และคาร์นีย์เขียนให้เกรต้า ‘จบ’ Begin Again ตามชื่อหนังด้วยการ ‘เดินหน้าต่อไป’ จากความสัมพันธ์เก่าและอดีตข้างหลังเธอ การดูฉากนี้ก็ทำให้ความคิดหนึ่งแวบขึ้นในหัวทุกครั้ง:

สุดท้ายแล้ว หัวใจคนเราก็อยากอยู่ใกล้คนที่ทำให้สบายใจ คนที่เหมือนโลกทั้งใบยามที่เราใส่หูฟังอยู่กับเขาสองคน

คนที่อาจไม่ฟังเพลงเหมือนเราเป๊ะๆ แต่ฟังกับเราได้ คนที่เราร้องเพลงให้ฟังระหว่างเดินข้างกันสะพานลอยอย่างสนิทใจโดยไม่สนว่าใครจะได้ยิน

คำคมจากนักเขียนชาวฝรั่งเศส Paul Geraldy พอล เจอรัลดี กล่าวว่า “Memory is a poet, not a historian - ความทรงจำเป็นนักกวี ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์” และส่วนหนึ่งของการเป็นนักกวีคือการจดจำด้วยความรู้สึก จดจำเพราะความรู้สึก

อย่างน้อยต้องมีคนสักคนในชีวิตละ ที่เราฝังเขาไว้ในเพลงๆ หนึ่ง ในเพลย์ลิสต์ๆหนึ่ง รู้จักเขาผ่านเพลงที่ส่งให้กัน จดจำเขาจากเนื้อเพลงที่ผ่านสถานการณ์ต่างๆด้วยกันมา และพยายามลืม ก้าวผ่านความทรงจำเกี่ยวกับเขาด้วยเสียงเพลง อย่างที่เกรต้าทำ

Begin Again (ที่ถูกคนแอบแซวขณะหนังฉายระยะแรกๆว่าชื่อไปพ้องกับชื่อเพลงของ Taylor Swift เทย์เลอร์ สวิฟต์ ในอัลบั้ม Red (2012) ที่เกี่ยวกับการเริ่มต้นใหม่เช่นกัน) โดยตัวตนของคำแล้วสื่อถึง ‘การเริ่มต้น’ กับ ‘อีกครั้ง’ วลีที่แฝงความหวัง การก้าวต่อ การกล้าที่จะเผชิญกับคำว่า ‘อีกครั้ง’ ของชีวิต

สองปีถัดมา คาร์นีย์กลับสู่รากอินดี้ของเขาอีกครั้งกับ Sing Street (2016) หนังที่ฝังอยู่ในที่พิเศษแห่งความทรงจำเรามากกว่า Begin Again ด้วยเวลาและเหตุการณ์ในชีวิตขณะตัดสินใจดูหนัง

ตัดภาพจากเสียงเพลงในหูฟังของเกรต้า ณ นิวยอร์กที่วุ่นวาย สำหรับคนไกลบ้าน มายังเสียงดนตรีสดของวงอัลเทอร์นาทีฟสมัครเล่นวัยรุ่น ในสุดซอยของดับลิน และขยับมุมโฟกัสของหนังจากความรักและการค้นพบตัวตนตัวเองของหญิงสาวมาสู่การเติบโตและทวงคืน ‘ความเป็นตัวของตัวเอง’ ระหว่างการ coming of age ของเด็กหนุ่ม

Sing Street พาเราย้อนเวลาสู่ช่วง ‘ก่อน’ Begin Again ผ่านมุมมองของเด็กหนุ่มอย่าง Connor คอเนอร์ แทนเกรต้า

ทั้งการต่อต้านและลุกขึ้น ‘แผลงฤทธิ์’ ต่อระบบระเบียบโรงเรียนคริสเตียนและบาทหลวงผู้อำนวยการโรงเรียนผู้เข้มงวด เหมือนที่เกรต้าต่อต้านและลุกขึ้นสู้ระบบ ‘ตามใจผู้ฟังในตลาด’ ของบริษัทค่ายเพลง

การค้นพบ จับทาง ฝึกฝนและยึดมั่นในเสียงของตัวเอง ในด้านการเขียนและร้องเพลงสไตล์ตัวเอง รวมถึงการ ‘รวมวง’ ด้วยคนรอบตัว ของคอเนอร์ เอมอน และผองเพื่อน เหมือนเกรต้าและเพื่อนๆของแดน

และการเริ่มรัก เลิกรัก และสานความสัมพันธ์ใหม่(ในแง่ที่สร้าง happy ending ตอนจบอย่างมีหวังให้กับหนัง) หลังรู้ ‘ความจริง’ เกี่ยวกับคนที่แอบชอบ ที่วาดฝันไว้สวยงามเกินจริง เหมือนที่เกรต้าเริ่มรัก ร้างรัก แล้วทิ้งรัก ตัดใจ วางอดีตไว้อย่างสงบและเดินออกมาอย่างมีหวัง

Sing Street พาเราตามกลุ่มเด็กหนุ่มไป ณ สถานที่ต่างๆในละแวกใกล้เมืองของเขาในไอร์แลนด์ ระหว่างถ่ายทำ ‘มิวสิควิดีโอสมัครเล่น - home music video’ คล้ายการตามวงของเกรต้าอัดเพลงนอกสถานที่และเปิดหูเปิดตาในจุดเด่นต่างๆ ท่ามกลางฤดูร้อนอันสดใสของนิวยอร์กไปพร้อมๆกัน

หากที่สำคัญที่สุดคือ Sing Street แสดงถึงการเยียวยาและ ‘หลีกหนี’ ความจริง (แม้จะในระยะชั่วคราวสั้นๆ) ของคอเนอร์ผ่านดนตรี

เขาเริ่มเขียนเพลงด้วยความรู้สึกแรงกล้าถึงสิ่งปลุกเร้ารอบตัวและใกล้ตัว เหมือนเกรต้าถึงคนรักที่ยังวนเวียนในหัวของเธอ และสำหรับคอเนอร์ ราฟิน่า (Lucy Boynton ลูซี่ บอยล์ตัน) เป็นแรงบันดาลใจ muse คนที่เขาแทบจะเชิดชูขึ้นหิ้ง โดยไม่รู้อะไรอื่นเกี่ยวกับเธอนอกจากมาดที่แสนมีเสน่ห์ น่าค้นหา และหลงใหลเลย

สายตาที่คอเนอร์มองราฟิน่าครั้งแรกคือสายตาที่เราเคยผ่านมาแล้วทั้งนั้น การบังคับตัวเองให้คุยกับคนที่แอบชอบ และทำตัวให้ดีเกินกว่าที่เป็น เพราะเขาดูเหมือนใกล้เกินเอื้อมในความคิดเรา และความสัมพันธ์ไม่น่าจะพัฒนาได้ไปไกลกว่าที่เป็น และอย่างที่เริ่มค้น แต่เพราะหัวใจที่กระตุ้นด้วยความ ‘อยากลอง’ เราถึงยอมที่จะเดิมพันด้วยความสุขตัวเองและทิ้งศักดิ์ศรีไว้หน้าประตู

ไม่นาน คอเนอร์ก็ค้นพบ ‘เบื้องหลัง’ ของราฟิน่า ผู้ไร้ครอบครัวและล่องลอยในชีวิต เหมือนที่เกรต้าค้นพบ ‘ตัวตน’ จริงของเดฟ ผู้ขายจิตวิญญาณและอุดมการณ์ให้บริษัทค่ายดนตรียักษ์ใหญ่อย่างง่ายดาย และหลงในแสงสีจนเผลอใจให้กับสาวข้างตัวเมื่อไกลเธอ

คอเนอร์นิยามวงของตัวเองว่า ‘futurist’ มุ่งหาอนาคต - ในแบบที่ละทิ้ง ‘ความโหยหาอดีต - nostalgia’ อย่างสิ้นเชิง โดยไม่มองกลับไป และจะมองตรงหน้าเท่านั้น (“not looking backwards, just forwards”) และเพราะตามภาษากรีกที่แท้จริงแล้ว nostalgia หมายถึง ‘ความเจ็บปวดจากบาดแผลเก่า - pain from an old wound’ (จากซีรีส์ Mad Men - 2007-2015) จึงยิ่งจำเป็นที่ทั้งคอเนอร์และเกรต้าจะมองไปข้างหน้า ลืมบาดแผล และความเจ็บปวดชองแผล ที่อย่างไรก็ติดตัว เกาะกินใจไป แล้วเดินต่อ

สุดท้าย Sing Street ก็วนกลับมาเจอ Begin Again ด้วยก้าวใหม่ในโลกใหญ่ของคอเนอร์ ที่ละทิ้งทุกอย่างที่เขารู้จักไว้ข้างหลัง เหมือนที่เกรต้าทิ้งบ้านเกิดที่อังกฤษ(อย่างน้อยก็ในระยะตอนจบของหนัง) เพื่อคิดหาเส้นทางใหม่ในชีวิตใหม่หลัง ’หลุดพ้น’ บาดแผลเก่า

“How do you move on? - คุณจะเดินต่อไปได้อย่างไร” J.R.R. Tolkien เจ อาร์ อาร์ โทลเคียน นักเขียนนิยายชื่อดังอย่าง Lord of the Rings เคยตั้งคำถามไว้ “You move on when your heart finally understands that there is no turning back - คุณจะเดินต่อได้ก็ต่อเมื่อหัวใจของคุณเข้าใจในที่สุดว่าไม่มีการหันหลังกลับมา”

ไม่มีความช้า เร็ว หรือวิธีที่ถูก ผิด ในการเดินต่อของหัวใจจากอารมณ์และความรู้สึกถึงสิ่งและคนที่เราผูกพัน เรื่องของหัวใจ เรื่องเวลาที่จะนานเท่าไหร่หัวใจถึงจะ ‘เข้าใจ’ ความจริงตรงๆที่เหมือนจะง่ายความจริงนี้ เป็นการยืดหยุ่นที่แล้วแต่ความแข็งแกร่งหัวใจของแต่ละคน

จะ Begin Again กดเปิดเพลงแล้วเริ่มใหม่ อย่างไร เมื่อไหร่ เราแนะนำให้ตามเกรต้าและคอเนอร์ไปเมื่อใจคุณพร้อมเท่านั้นละ

ติดตามบทความของ CINEFLECTIONS ได้บน LINE TODAY ทุกวันเสาร์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0