โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Bangkok Design Week 2020 มีอะไรให้ดู? เตรียมตะลุยย่านสร้างสรรค์ทั่วกรุงเทพฯ 1-9 ก.พ. นี้

THE STANDARD

อัพเดต 28 ม.ค. 2563 เวลา 10.32 น. • เผยแพร่ 28 ม.ค. 2563 เวลา 10.31 น. • thestandard.co
Bangkok Design Week 2020 มีอะไรให้ดู? เตรียมตะลุยย่านสร้างสรรค์ทั่วกรุงเทพฯ 1-9 ก.พ. นี้
Bangkok Design Week 2020 มีอะไรให้ดู? เตรียมตะลุยย่านสร้างสรรค์ทั่วกรุงเทพฯ 1-9 ก.พ. นี้

วนเวียนกลับมาอีกครั้งสำหรับเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพ หรือ Bangkok Design Week 2020 ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันแล้ว และครั้งนี้เขากลับมาแบบใหญ่ขึ้น กว้างขึ้น เพิ่มเติมย่านใหม่เข้ามาให้ชาวกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยวได้สนุกสนานกับการออกไปเดินเล่นนอกบ้าน ดูงานดีไซน์สร้างสรรค์ เพื่อเติมแรงบันดาลใจ และตระหนักถึงความสำคัญของงานออกแบบที่เกิดขึ้นโดยมันสมองของคนไทย ตั้งแต่วันที่ 1-9 กุมภาพันธ์นี้

 

สิ่งหนึ่งที่เราต้องทำความเข้าใจตรงกันคือ Bangkok Design Week นี้ทุกคนในกรุงเทพฯ คือเจ้าของร่วม แม้ว่าจริงๆ แล้วเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ จะจัดขึ้นมาโดยมีแม่งานหลักคือ TCDC หรือศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ก็จริง แต่ TCDC เองก็มีหน้าที่เป็นเพียงตัวกลางที่ควบรวมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนไว้ด้วยกันเพื่อจัดงานนี้ขึ้นมา โดยจุดประสงค์หลักก็เพื่อแสดงศักยภาพของกรุงเทพฯ ในเรื่องของ ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ (Creative Economy) ผ่านการใช้ความคิดสร้างสรรค์และงานออกแบบ นอกจากนี้ยังส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เป็นหนึ่งในฐานะกลไกขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจภาพรวมทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในวันที่จำนวนประชากรในเมืองกำลังจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก

 

หัวใจหลักในปีนี้ของ Bangkok Design Week 2020 คือธีม ‘Resilience: New potential for living ปรับตัว>อยู่รอด>เติบโต’ ที่พร้อมนำเสนองานออกแบบ และงานสร้างสรรค์ที่สะท้อนความคิดและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของกรุงเทพฯ ต่อสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ผ่านงานสร้างสรรค์ตั้งแต่ระดับของงานทดลอง ไปจนถึงผลงานที่ส่งผลด้านธุรกิจและสังคมในภาคใหญ่อีกด้วย ซึ่งยั่วล้อกับเรื่องราวของสัดส่วนประชากรที่เพิ่มขึ้นมาก จากรายงานของสหประชาชาติว่าด้วยสัดส่วนของประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันร้อยละ 55 เป็นร้อยละ 68 และเมื่อจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองเพิ่มขึ้น พื้นที่ของเมืองจึงต้องมีเพิ่มมากขึ้น

 

เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงนี้ แนวคิดในการวางแผนและบริการจัดการเมืองสมัยใหม่จึงต้องให้ความสำคัญทั้งในเรื่องการพัฒนาด้านกายภาพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และยังต้องสร้างให้เมืองเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กันไป การส่งเสริมเมืองให้มีคุณลักษณะ ‘Resilience’ หรือความทนทานและการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น และภายในงานเราจะได้เห็นแนวคิดที่น่าสนใจของงานออกแบบที่สร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของสังคมที่มีความแตกต่าง สร้างความปลอดภัยและส่งเสริมการเข้าถึงบริการสาธารณะ

 

รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การร่วมมือกันตั้งแต่ระดับบุคคล ชุมชน สถาบัน องค์กร ให้หล่อหลอมเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นเมืองที่มีความสามารถในการอยู่รอดและเติบโตได้ในทุกสถานการณ์ ซึ่งในปีนี้งานได้ขยายวงกว้างไปยังเขตใหม่ๆ นอกเหนือจาก Creative District อย่างย่านเจริญกรุงแล้ว ปีนี้ยังมีพื้นที่อารีย์-ประดิพัทธ์, Thong-Ek Creative Neighborhoodย่านสร้างสรรค์ทองหล่อ-เอกมัย และสามย่าน ที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของงาน และเราได้ลิสต์ผลงานน่าสนใจส่วนหนึ่งมาให้คุณได้ลองชมกันก่อน

 

 

เจริญกรุง-ตลาดน้อย

ขึ้นชื่อว่าเป็นถนนสายแรกของประเทศไทย มันต้องมีอะไรน่าสนใจและอยู่คู่ถนนเส้นนี้มายาวนาน จึงเป็นที่มาของธีม เมด อิน เจริญกรุง ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างธุรกิจและชุมชนท้องถิ่นกับนักออกแบบ ร้านค้า ธุรกิจ ช่างฝีมือ ทั้งในย่านและนอกย่าน เพื่อสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เมนูใหม่ การเล่าเรื่องแบบใหม่ ที่จะกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะใน ‘เจริญกรุง’ เท่านั้น เพื่อให้ธุรกิจดั้งเดิมเหล่านี้สามารถปรับตัว อยู่รอด และเติบโตด้วยตัวเองได้อย่างยั่งยืน

 

ในย่านนี้เราจะได้พบกับงานคอลลาบอเรชันมากมายที่น่าสนใจ มีทั้งผลิตภัณฑ์และอาหารเครื่องดื่มให้เราได้เดินไปลิ้มลอง ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกันของ

  • ‘เอี๊ยะแซ’ ร้านยาดมสมุนไพรจีนอายุกว่า 100 ปี ที่จับมือกับ Zlapdash Studio เพื่อออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับลูกอมสมุนไพรจีน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของร้าน ดูร่วมสมัยและน่าซื้อมากๆ
  • ทางด้าน ‘นิวเฮงกี่’ ร้านอาหารจีนโบราณเก่าแก่กว่า 60 ปี ก็ร่วมมือกับ Arn Creative Studio เพื่อสร้างการเล่าเรื่องแบรนด์และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่
  • และที่เป็นไฮไลต์ของย่านนี้คือ บ้านทำตราตั้งองค์ครุฑแห่งแรกของกรุงเทพฯ ที่จะร่วมมือกับศิลปินอย่าง พิชญา อุทัยเจริญพงษ์ และ Vinn Patararin เพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กบอกเล่าเรื่องความเป็นมาและวิธีการทำตราตั้งองค์ครุฑ

 

 

ทองหล่อ-เอกมัย

Thong-Ek Creative Neighborhood (ทองเอก) คือชื่อเก๋สำหรับย่านสร้างสรรค์ใหม่ในบริเวณทองหล่อ-เอกมัย ที่ปีนี้พวกเขาร่วมมือกันเป็นครั้งแรกเพื่อสร้างงานออกแบบ งานเสวนา ผ่านผู้คนและสถานที่อันเป็นทรัพยากรสำคัญที่มีอยู่ในย่าน ที่หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าแถวละแวกนี้นอกจากจะเป็นแหล่งไลฟ์สไตล์เก๋ๆ แล้ว ยังมีร่องรอยของอดีตหลบซ่อนอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนทรงโมเดิร์นหลังใหญ่ ร้านอาหารชื่อดังระดับตำนาน ชุมชนริมคลอง ศาสนสถาน และที่สำคัญคือผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นี่มานานหลายสิบปี ว่ากันว่าตั้งแต่ช่วงปี 1960 ละแวกซอยสุขุมวิท 55 และสุขุมวิท 63 เป็นย่านชานเมืองแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ที่ถูกจับจองโดยผู้คนรุ่นปู่ย่า สิ่งที่เราจะได้เห็นในย่านนี้ก็มีหลากหลายจริงๆ ไม่ว่าจะเป็น

 

  • เวิร์กช้อป ‘ทำปุ๋ยจากเศษอาหาร’ โดย ชูเกียรติ โกแมน จาก My City Farm หนึ่งในทีมงานสวนผักคนเมือง จับมือกับเว็บไซต์ Urban Creature ที่ออฟฟิศอยู่เอกมัย ซอย 8 พวกเขาจะเปิดบ้านให้ความรู้เกี่ยวกับการทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารที่ใครก็สามารถทำตามได้ง่ายๆ เพื่อช่วยโลกลดขยะอาหาร
  • เนื้อตุ๋นจากร้านวัฒนาพานิชเองก็เป็นส่วนหนึ่งในงานนี้ เพราะจะถูกนำมาเล่าผ่านมุมมองใหม่ของ เชฟแทน-ภากร โกสิยพงษ์ ซึ่งถ่ายทอดวัฒนธรรมอาหารและวัตถุดิบท้องถิ่นชั้นเยี่ยมซึ่งซุกซ่อนอยู่ในย่านเอกมัย ผสานเข้ากับรสสัมผัสของผักสวนครัวไทย และดอกไม้กินได้ กลายเป็นฟิวชันฟู้ดพร้อมเสิร์ฟในบรรยากาศห้องอาหารป๊อปอัพที่ออกแบบโดยแบรนด์หนังอย่าง Mobella
  • นิตยสาร art4dเองก็ร่วมมือกับ Shma ฉายภาพยนตร์สารคดีของ Boris B. Bertram ผู้กำกับชาวเดนมาร์กที่ใช้เวลา 2 ปีในการสำรวจความหมายของคำว่าบ้าน ผ่านพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก และถ่ายทอดออกมาเป็นสารคดีความยาว 68 นาที

 

 

สามย่าน

สามย่านในสายตาของเราในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คือส่วนผสมของความเก่าและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งแต่เดิมเป็นย่านชาวจีนเก่าแก่ที่เป็นแหล่งรวมร้านอาหารและงานช่างเหล็กและยานยนต์ ซึ่งในปีนี้พวกเขามีกิจกรรมไฮไลต์มากมาย ทั้งที่ TCDC Commons ในอาคาร IDEO Q Chula-Samyan, อาคารสามย่านมิตรทาวน์ และสตูดิโอเปิดใหม่ล่าสุด The Shophouse 1527 ที่รีโนเวตจากตึกแถวไร้ผู้คนให้เป็นพื้นที่ทดลองสำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชน เพื่อเปิดโอกาสให้นักออกแบบหมุนเวียนกันมานำเสนอไอเดียและทำงานร่วมกัน

 

  • กลุ่มนักออกแบบดอกไม้ที่ชื่อว่า PHKA (ผกา) จะร่วมกับ The Shophouse 1527 นำเสนองานอินสตอลเลชันดอกไม้ ในชื่อ ‘PHKA: KARMA’ นำเสนอเนื้อหาที่สื่อสารถึงวิกฤตการณ์ภาวะโลกร้อนที่เป็นปัญหาเร่งด่วน โดยใช้ดอกไม้เป็นสื่อกลางเปรียบเทียบถึงผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิตระบบนิเวศไปจนถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างมีมิติ
  • DATA AND SPACE at MOD นิทรรศการศิลปะที่นำเสนอข้อมูลเชิงสถิติและปริมาณของสามย่านในหัวข้อต่างๆ อาทิ ปริมาณร้านอาหารในย่าน จำนวนคนอยู่อาศัย จัดแสดงรูปแบบของ Digital Visualization ภายในพื้นที่อาคารตึกแถว ในรูปแบบของการฉายภาพ Projection Mapping ลงบนผนังและพื้นที่ภายในอาคาร

 

 

Ari-Pradipat

อีกย่านใหม่ที่เข้ามาในปีนี้คือ อารีย์-ประดิพัทธ์ ที่มีความเปลี่ยนแปลงของย่านไปทั้งในด้านการใช้งานและปัญหาท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยแนวสูง การเกิดขึ้นของโฮสเทลและคาเฟ่สำหรับนักเดินทางรุ่นใหม่ และแหล่งรวมของนักสร้างสรรค์หลากสาขา เรื่องราวในย่านนี้จะถูกบอกเล่าและแก้ไขปัญหาบางอย่างด้วยกระบวนการคิดและลงมือทำร่วมกันอย่างเป็นระบบของทั้งคนในพื้นที่และผู้มาเยือน ผ่านกิจกรรมใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การทำงาน การกิน และการเดินทางในย่านนี้

 

  • Mood Hopping กิจกรรมสำรวจพื้นที่และอารมณ์โดย Faiyen Design Studio ที่จะให้คุณไปสำรวจคาเฟ่ไปพร้อมกับการสำรวจอารมณ์และเข้าใจตัวเองท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคม เมือง ซึ่งเป็นกิจกรรมการออกแบบประสบการณ์เพื่อนำเอาความรู้ความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิต และการจัดการกับอารมณ์
  • บริเวณถนนพหลโยธิน ซอยอารีย์ 1-2 และถนนประดิพัทธ์ จะกลายเป็นพื้นที่ ‘Have a rest’ โดย PAGA Architects ร่วมกับ Op-portunist สร้างต้นแบบพื้นที่สร้างสรรค์ ที่ปรับปรุงคุณภาพการเดินและรองรับการหยุดพักระหว่างทางสัญจร ที่จะสามารถเป็นพื้นที่สาธารณะที่สบาย มีร่มเงา คงทนต่อการใช้งานและเอื้อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในย่าน

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานที่จะเกิดขึ้นใน Bangkok Design Week 2020 และถ้าคุณอยากสัมผัสประสบการณ์เหล่านี้ด้วยตัวเอง งานจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1-9 กุมภาพันธ์นี้ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/BangkokDesignWeek/และที่ THE STANDARD POP

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0