โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

BLUE JAY - บทเรียนของเวลาที่ไม่สามารถรักษาได้ทุกสิ่ง - เพจ Kanin The Movie

TALK TODAY

เผยแพร่ 22 ต.ค. 2562 เวลา 17.00 น. • เพจ Kanin The Movie

ทุกคนต่างมี “ความทรงจำ” ที่อยากกลับไปอีกครั้ง

และเช่นกัน มันอาจมี “บางเรื่อง” ที่เราไม่อยากนึกถึงอีก

เชื่อว่าทุกคนต้องเคยมีจังหวะหนึ่งในชีวิตที่ “เผลอไผล” นึกถึงเรื่องราวบางเหตุการณ์ในอดีต ความทรงจำที่ครั้งหนึ่งเราเคยบันทึกลงในสถานที่ สิ่งของ คำพูด หรือว่าใครสักคน แน่นอนว่าความเผลอไผลครั้งนั้นทำให้เราย้อนกลับไปเจอทั้งช่วงเวลาดี ๆ และช่วงเวลาแย่ ๆ ที่ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ทางความคิดและความรู้สึกแตกต่างกันไป บ้างอาจมีผลกระทบเล็กน้อย และบ้างอาจอยู่ในระดับสาหัส หลาย ๆ คนก้าวผ่านความรู้สึกนั้นได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็มีบางคนที่ยังคงติดหล่มไม่สามารถออกมาได้ “Blue Jay” คือหนึ่งในภาพยนตร์ที่พาผู้ชมไปสำรวจประเด็นดังกล่าวอย่างน่าสนใจผ่านเรื่องราวของการหวนกลับ เผชิญหน้ากับอดีต และเรียนรู้ที่จะเดินต่อไปยังอนาคต ซึ่งหนังไม่เพียงแต่บอกว่าความเผลอไผลดังกล่าวนั้นมีผลลัพธ์ต่อชีวิตมากเพียงใด แต่ยังแสดงให้เห็นว่า “เวลา” สามารถทำอะไรกับชีวิตเราได้บ้าง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่หนังอธิบายอย่างเข้มข้นผ่านเรื่องของการโหยหาช่วงเวลาที่ผ่านมา และบาดแผลจากอดีตที่ไม่มีวันรักษาได้

Blue Jay เล่าเรื่องราวของ จิม ชายที่เดินทางกลับมายังเมืองเกิดเพื่อจัดการบ้านเก่าของเขาสำหรับการขาย ระหว่างที่เขากำลังวุ่นกับการรีโนเวท จิม ได้พบกับ อแมนด้า โดยบังเอิญที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต เธอคือคนรักเก่าของเขาสมัยไฮสคูลที่ไม่ได้เจอหน้ากัน 20 กว่าปี ทั้งสองทักทายกันตามประสาอดีตคนรู้จัก (ด้วยความรู้สึกกระอักกระอ่วนเล็กน้อย) ก่อนจะนำมาซึ่งบทสนทนาระยะยาวตลอดวันที่ไม่เพียงทำให้ทั้งคู่ได้รับรู้เรื่องราวชีวิตของกันและกัน แต่ยังพาทั้งสองหวนคืนถึงความหลังต่อความทรงจำต่าง ๆ อีกครั้งด้วย 

โปรเจ็กต์ Blue Jay เริ่มต้นมาจากคืนหนึ่งที่ มาร์ค ดูปลาสส์ (เจ้าของบท/โปรดิวเซอร์และแสดงนำในบทจิม) ตื่นขึ้นมาร้องไห้อย่างหนักหน่วงด้วยความรู้สึกโหยหาอดีต คิดถึงความรักที่ผ่านพ้นมานาน และยังครุ่นคิดด้วยว่าชีวิตตัวเองในปัจจุบันเป็นอย่างที่เคยจินตนาการไว้หรือเปล่า แม้ในตอนนี้ ดูปลาสส์ จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีลูก มีภรรยา แต่จุดหนึ่งเขาก็เคยเป็นเพียงเด็กอายุ 15 ที่ใช้เวลาทั้งคืนนั่งเขียนไดอารี่ระบายความในใจถึงเรื่องชีวิตตัวเอง (ซึ่งในหนังมีการเกริ่นถึงไดอารี่เช่นกัน เป็นไดอารี่พรรณนาถึงความสัมพันธ์อันหวานเลี่ยน) การที่เขารู้สึกแย่กับตัวเองต่อการตื่นขึ้นมา ก็เพราะว่าตัวตนเหล่านั้นที่เขาเคยครอบครองได้ตายไปแล้ว ชีวิตวัยเด็กที่เคยเป็นของเขาได้หายไปอย่างถาวร และเขาก็ไม่รู้ว่าจะเรียกคืนกลับมาได้อย่างไร

ความเผลอไผลดังกล่าวได้ปรากฏเด่นชัดผ่านชีวิตของชายหญิงสองคนที่วนกลับมาเจอกันอีกครั้งเพื่อให้พวกเขาได้ทบทวนความหลังของชีวิตตัวเอง สิ่งที่น่าสนใจของหนังคือการค่อย ๆ กะเทาะเปลือกทีละชั้นของความทรงจำที่มีผลลัพธ์ต่อความรู้สึกแตกต่างกันไป ตั้งแต่เรื่องขำ ๆ น่ารัก ๆในเทปบันทึกเสียง ไดอารี่สมุดส่วนตัว ร้านค้าที่ชอบไปกันประจำ และหลากหลายเรื่องราวที่ซุกซ่อนอยู่ในเมืองแห่งนี้ รอคอยให้พวกเขาค้นพบมันอีกครั้ง ซึ่งไม่ว่าทั้งสองจะสามารถจดจำรายละเอียดเหล่านั้นได้ดีหรือไม่ มันก็ได้หล่อหลอมอยู่ในชีวิตของทั้งสองไปแล้วเรียบร้อย ไม่ว่าคุณจะยังกลายเป็นคนแบบนั้นหรือเปลี่ยนแปลงเป็นคนอื่นแล้ว การนึกถึงอดีตย่อมย้ำเตือนหรือทำให้เราทบทวนถึงตัวเองในปัจจุบันด้วยกันเสมอ ซึ่งใน Blue Jay เราจะได้เห็นว่าทั้ง จิม และ อแมนด้า ต่างเติบโตมากลายเป็นคนที่แตกต่างจากสมัยไฮสคูล ทั้งมุมมองความคิด ความโรแมนติกไร้เดียงสา หรือกระทั่งความสัมพันธ์อันหอมหวานของทั้งคู่ แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็พบว่าบาดแผลบางอย่างยังคงฝังลึกอยู่ในชีวิต ปรากฏอยู่ในความรู้สึกที่ไม่สามารถอธิบายได้เพราะเหตุผลและต้นทางของเรื่องเหล่านั้นถูกทับถมจมหายไปหมดแล้ว

สิ่งที่ดีของ Blue Jay คือการที่มันไม่ใช่ภาพยนตร์ Nostalgia ที่พยายามให้แง่งามกับความทรงจำหรืออดีตอันหอมหวานทั้งหมด หลาย ๆ ครั้งการกลับไปก็นำมาซึ่งบาดแผลที่ยากจะรักษาด้วยเช่นกัน หนังจึงให้ความรู้สึกโรแมนติกปนกระอักกระอ่วนซึ่งเป็นโจทย์ที่ ดูปลาสส์ สนใจจะนำมาเล่าเช่นกันผ่านการตั้งคำถามถึงโมเมนต์ที่วันหนึ่งเราอาจกลับไปเจอเพื่อนสมัยไฮสคูล เพราะเขาคิดว่าถึงแม้ปัจจุบันคุณจะมีชีวิตที่ดีพร้อม แต่ลึก ๆ ทุกคนต่างมีความรู้สึกอยากหลบซ่อนจากผู้คนในอดีตที่รู้จักเรา หรือเราอาจจะรู้สึกละอายใจที่ไม่ได้เติบโตมาเป็นคนในแบบที่ใคร ณ ตอนนั้นคิดหรือคาดหวังว่าเราจะเป็น - จิม และ อแมนด้า ต่างมีความรู้สึกแย่ ๆ เหล่านั้นลึก ๆ ในการกลับมาพบกัน พวกเขาอาจจะรู้สึกเอนจอยกับการได้สนทนากับแฟนเก่า ได้นึกถึงความไร้สาระและสารพัดสิ่งที่ทำด้วยกันสมัยเรียน แต่ลึก ๆ พวกเขาเองก็รู้สึกแย่จากทั้งสิ่งที่เคยทำลงไปและสิ่งที่พวกเขาเป็นในปัจจุบัน บทเรียนสำคัญของหนังจึงเป็นการเผชิญหน้ากับความย่ำแย่เหล่านั้นผ่านระยะเวลาที่ล่วงเลยหลายสิบปี การได้เจอตัวเองในวันวานผ่านตัวเองในวันนี้แม้จะเป็นความจริงที่เจ็บปวด แต่ก็ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้และเติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน (ชอบมุมมองนี้ของ ดูปลาสส์ มาก ๆ ต่อให้คุณไม่ได้เติบโตหรือถูกหล่อหลอมกลายมาเป็นคนที่อยากเป็น การที่คุณไม่ได้โตมาเป็นคนที่คุณฝัน ช่วงเวลา ระยะทางที่ผ่านพ้นมันก็ทำให้คุณใจสลายได้เช่นกัน) 

ในระหว่างที่ จิม และ อแมนด้า กำลังเพลิดเพลินอย่างมีความสุขกับการกลับไปทำตัว “เหมือนเด็ก” ท้ายที่สุดความจริงอย่างหนึ่งที่พวกเขาต่างฝืนที่จะกล่าวออกมาก็ได้ถาโถมใส่ทั้งคู่อย่างไม่ทันตั้งตัว ทั้งเรื่องของจดหมายที่ จิม เขียนไว้ฉบับแรก และการตัดสินใจทำแท้งของ อแมนด้า ที่นำไปสู่การเลิกราของทั้งสองโดยไม่มีวันหวนกลับมาเจอกันอีกครั้ง ความไม่เข้าใจในวันนั้นได้ค่อย ๆ เลือนหายไปจากความทรงจำ พร้อม ๆ กับการหายไปในชีวิตประจำวันของทั้งคู่ กระนั้น ทั้งการได้หวนกลับบ้านเกิด ได้กลับมายังพื้นที่ที่เคยใช้ชีวิตสมัยวัยรุ่นก็ทำให้เธอและเขาได้ตระหนักว่าเรื่องราวเหล่านั้นยังคงอยู่ไม่จากไปไหน ซึ่งเรารู้สึกได้ตั้งแต่วินาทีแรกที่ จิม เห็น อแมนด้า ในซุปเปอร์มาร์เก็ตและเลือกที่จะไม่เข้าไปทักทายกับเธอ

แม้ว่าช่วงท้ายเรื่องของ Blue Jay จะให้ความรู้สึกโดดออกจากบรรยากาศหนังทั้งเรื่องพอสมควร แต่เพราะความฉับพลันแบบนั้นนี่เองที่ทำให้เราเห็นถึงความเจ็บปวดของตัวละครได้ดีที่สุด การโวยวาย ทำลายข้าวของ และร้องไห้อย่างเสียสติของ จิม ทำให้เราเห็นว่าช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมาไม่ได้รักษาสิ่งใดเลย (ตรงกันข้าม มันอาจผลักให้เขาย่ำแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ) แน่นอนว่าทั้งสองต่างแยกย้ายกันไปใช้ชีวิตตามทิศทางของตัวเอง แต่เมื่อพวกเขาได้เจอกัน เรื่องราวที่ยังขาดการซ่อมแซมแก้ไขก็ได้ปรากฎขึ้นให้เผชิญหน้าทันที มันจึงเป็นเรื่องเศร้าไม่น้อยที่ใครสักคนต้องทนอยู่กับความรู้สึกนี้อย่างเนิ่นนานโดยที่พวกเขาไม่สามารถหาทางออกได้ แบกรับความเจ็บปวดจนค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นความเฉยชา และหลงลืมไปว่าเราเคยรู้สึกแย่กับมันมากเพียงใด ซึ่งมันค่อนข้างน่ากลัวมาก ๆ โดยเฉพาะการที่หนังแสดงให้เห็นผลกระทบต่อชีวิตของ อแมนด้า ถึงการที่เธอเป็นโรคซึมเศร้า พบว่ามีความรู้สึกแย่ ๆ โผล่เข้ามาในชีวิตที่เหมือนจะสมบูรณ์แบบของเธอ โดยที่เธอเองก็ไม่รู้ว่ามาจากไหนและเกิดขึ้นได้ยังไง 

อาจจะเป็นเพราะว่ามันไม่มีอะไรเลย ชีวิตฉันไม่มีปัญหาอะไรเลย

ฉันน่าจะมีความสุข แต่มันก็มีความเศร้า ฉันก็ไม่รู้มันมาจากไหน

แม้ว่า Blue Jay จะเป็นหนังที่ดูใจสลายและใจร้ายกับผู้ชมอยู่ไม่น้อย ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบทสรุปของหนังกลายเป็นบทเรียนที่ดีต่อชีวิตเราจริง ๆ โดยเฉพาะเรื่องของ “เวลา” ที่ถูกใช้เพื่ออธิบายชีวิตที่มีต่อความทรงจำ ความรู้สึก หรือสิ่งอื่นๆที่ล่วงเลยผ่านมานานราวกับเป็นนิรันดร์ ความเผลอไผลของชายหญิงสองคนที่ได้หวนรำลึกถึงความหลังทำให้เราเห็นว่า หลาย ๆ ครั้งเวลาก็ไม่เคยลดทอนบางสิ่งที่เกิดขึ้นเลยสักนิด จริงอยู่ที่บางเรื่องราวอาจค่อย ๆ ถูกรักษาจากเวลาที่ผ่านเลยไป แต่การที่มันไร้ซึ่งความเข้าใจ ยอมรับ หรือเผชิญหน้า เวลาอาจทำให้เราทุกข์ทรมานตามจำนวนวินาทีที่เดินไปข้างหน้าได้เช่นกัน เพราะนี่คือหนังอันว่าด้วยอดีตแต่ทุกสิ่งที่ถูกจับจ้องคือชีวิตคนในปัจจุบัน ชีวิตที่จำต้องเติบโตขึ้นเป็นใครสักคนที่ทั้งคาดหวังและไม่เคยคาดคิด ปะปนไปด้วยความสุข ความเจ็บปวด และความละอายใจ เราอาจจะเรียกว่านี่คือภาพยนตร์ที่อธิบายการเติบโตได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่งก็ได้ แม้ว่าจะเป็นมุมมองที่บางคนเลือกจะมองข้ามก็ตาม

เวลาอาจเปลี่ยนแปลงบางสิ่ง แต่ในขณะเดียวกัน เวลาก็ตอกย้ำการคงที่ไม่แปรเปลี่ยนของบางอย่างเช่นกัน , นี่คือหนึ่งในภาพยนตร์ที่เรารักที่สุดในชีวิต และอยากแชร์ให้หลายๆคนได้ดูกัน ใครที่สนใจ Blue Jay สามารถรับชมได้ทาง Netflix ครับ และถ้าใครชอบผลงานของ มาร์ค ดูปลาสส์ ก็ไปตามต่อที่ Paddleton (2019) ได้เลย เป็นหนังดราม่าตลกแสบ ๆ ที่ว่าด้วยเพื่อนบ้านสองคนกับโรคร้ายที่กำลังจะคร่าชีวิตหนึ่งในพวกเขา แน่นอนว่าปวดร้าวใจสลายไม่ต่างกัน) 

.

.

ติดตามบทความของเพจ Kanin The Movie ได้บน LINE TODAY ทุกวันพุธ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0