โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

มารู้จักกับหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” กัน

Wealthy Thai

อัพเดต 14 เม.ย. เวลา 17.49 น. • เผยแพร่ 25 มิ.ย. 2564 เวลา 12.40 น. • ดร.ธนัยวงศ์ กีรติวานิชย์

รู้กันไหมครับว่า “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy)” ไม่ใช่“ทฤษฎี (Theory)” ตามหลักวิชาการของฝั่งตะวันตก หากแต่เป็นแนวคิด หรือหลักปฎิบัติในการดำเนินชีวิตภายใต้พระราชดำริของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9” ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงภายใต้ทุกสถานการณ์ และใช้ได้กับประชาชนทุกคน ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย และมีอยู่คู่กับประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานานแล้ว
อย่างไรก็ตาม หลายๆ คนชอบคิดกันไปว่า “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นเรื่องของการอยู่กับบ้านเฉยๆ ไม่ต้องออกไปไหน หรือเป็นการผันชีวิตตนเองไปเป็นเกษตรกรยึดหลัก “การเกษตรทฤษฎีใหม่” ซึ่งแท้จริงแล้วกลับเป็นคนละเรื่องกัน เนื่องจากการอยู่บ้านเฉยๆ มักเป็นข้ออ้างของคนที่เกียจคร้านไม่ใช่เรื่องการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแต่อย่างใด ในขณะที่การเกษตรทฤษฎีใหม่ก็เป็นแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านเกี่ยวกับการจัดสรร และบริหารจัดการที่ดินเพื่อใช้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก

จริงๆ แล้วการใช้ชีวิตปกติธรรมดาๆ ก็เป็นไปตามหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ได้ โดยไม่ต้องลาออกจากงานเพื่อไปทำการเกษตรแต่อย่างใด ทั้งนี้ก็เพราะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนชาวไทยสามารถดำเนินชีวิตในทุกๆ ด้านบนทางสายกลางได้อย่างมีอิสระ พึ่งพาตนเองได้ และไม่ประมาท ตลอดจนสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงประกอบด้วย หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ดังนี้

  • ห่วงที่ 1 ความพอประมาณ (Moderation) หมายถึง การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และเหมาะสมกับฐานะของตนเองตามความจำเป็นในการดำรงชีวิตอย่างพอดี ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป จะทำการใดก็ควรให้เหมาะสมกับอัตภาพของตน หลีกเลี่ยงจากความโลภ ความอยากได้อยากมี ตลอดจนไม่เบียดเบียน และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเอง และผู้อื่น

  • ห่วงที่ 2 ความมีเหตุผล (Reasonableness) หมายถึง การตัดสินใจดำเนินการใดๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผลด้วยความถี่ถ้วนรอบคอบ ตามหลักความเป็นจริง หลักวิชาการ หลักกฎหมาย หลักศีลธรรม และหลักจริยธรรมที่ดีงาม ไม่หลงเชื่อใคร หรืออะไรง่ายๆ เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีสติก่อนลงมือทำการใดๆ ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตจากการกระทำนั้นว่าถูกต้องหรือไม่

  • ห่วงที่ 3 การมีภูมิคุ้มกันที่ดี (Self-immunity) หมายถึง ความสามารถในการพึ่งพาตนเอง สามารถปรับตัว และดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ประมาท รวมถึงมีการเตรียมตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างรอบคอบ

  • เงื่อนไขความรู้ (Knowledge) หมายถึง การฝึกฝน และพัฒนาตนเองให้มีความรอบรู้เกี่ยวกับหลักวิชาการ และเรื่องต่างๆ ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตอย่างรอบด้าน สามารถนำความรู้ต่างๆ เหล่านั้นมาพิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบ เพื่อนำไปใช้ในการปฎิบัติภายใต้โอกาส และช่วงเวลาที่เหมาะสมได้

  • เงื่อนไขคุณธรรม (Ethical Qualifications) หมายถึง การดำเนินชีวิตโดยยึดหลักคุณธรรมเป็นพื้นฐานทั้งด้านจิตใจ และการกระทำ ตั้งมั่นทำความดี ละอายต่อการทำความชั่ว มีความซื่อสัตย์สุจริต ขยันอดทน มีจิตสาธารณะ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มีความเมตตากรุณา รู้จักแบ่งปัน ตลอดจนช่วเหลือผู้อื่นที่ด้อยโอกาสกว่า

จึงอาจกล่าวได้ว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นรากฐานในการดำเนินชีวิตที่แท้จริงในสังคมไทย แน่นอนว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้เป็นเพียงแค่แนวคิดในการดำเนินชีวิตของประชาชนชาวไทยเท่านั้น หากยังได้รับการยกย่อง และเป็นที่ยอมรับไปไกลทั่วโลก โดยเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 องค์กรสหประชาชาติ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ แก่ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” และยังได้ให้การยกย่องว่า “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” จะเป็นแนวทางที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกใบนี้อีกด้วยครับ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0