โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

BETTER BANGKOK สร้างกรุงเทพฯ ให้น่าอยู่ ในมุมมอง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

BLT BANGKOK

อัพเดต 10 ธ.ค. 2562 เวลา 03.05 น. • เผยแพร่ 09 ธ.ค. 2562 เวลา 06.40 น.
2bd63c7c3fa565546392ae480159c5b6.jpg

“การพัฒนาเมือง โดยให้ความสำคัญทั้งเส้นเลือดใหญ่ คือเมกะโปรเจกต์ และเส้นเลือดฝอย หรือโครงการขนาดเล็กควบคู่ไป เป็นหัวใจสร้างเมืองให้น่าอยู่ ขณะที่ภาครัฐ หรือผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์ที่ดี มีความโปร่งใส พร้อมเปิดข้อมูลเมืองผ่านระบบ Open Bangkok ให้ประชาชนร่วมตรวจสอบการทำงาน และทุกคนทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันพัฒนาเมือง เพราะผู้ว่าฯ  ไม่ใช่ฮีโร่ที่จะแก้ปัญหาได้ด้วยตัวคนเดียว”
แนวคิดของชายผู้ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ซึ่ง BLT มีโอกาสได้ร่วมฟัง “รศ.ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อดีตผู้บริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และอดีตรองศาสตราจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Better City จะทำเมืองให้ดีขึ้นได้อย่างไร” จัดโดย ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) 
เมืองที่ดีควรเป็นอย่างไร? 
เมืองที่ดีต้องมีไม้บรรทัดหรือตัวชี้วัด 3 ด้าน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ คือ “ยั่งยืน” (Sustainable) การที่คนรุ่นนี้และการพัฒนาในปัจจุบันต้องไม่เบียดเบียนคนรุ่นหน้า “ครอบคลุม” (Inclusive) หมายถึงทำเมืองให้ทุกคน ทุกกลุ่มได้ประโยชน์เหมือนกัน และเข้าถึงบริการสาธารณะได้เท่าเทียมกัน
“ยุติธรรมและเข้าใจ” (Fair & Empathy) การพัฒนาเมืองไม่จำเป็นต้องยึดเพียงแค่กฎหมาย แต่ให้นึกถึงความเข้าใจกันและกันพร้อมสร้างรูปแบบนโยบายที่ยุติธรรมกับทุกคน
รู้จักกรุงเทพฯ ดีหรือยัง
Better Bangkok มิติของอนาคตเมืองจะน่ากลัว ถ้าเราไม่เตรียมเมืองให้พร้อม สุดท้ายก็จะอยู่ไม่ได้ คนเก่งจะหนีไปอยู่เมืองที่ดีต่อคุณภาพชีวิต เหลือแต่แรงงานหรือคนที่ไม่มีทางเลือกจริงๆ ต่อไปหากเมืองไม่ดีคนก็ออกไปอยู่ที่อื่นได้เพราะสามารถสื่อสารและทำงานผ่านอินเทอร์เน็ต ต้องคิดกันว่าจะรับมือตรงนี้อย่างไร 
“ก่อนอื่นต้องถามว่า เรารู้จักกรุงเทพฯ ดีหรือยัง คำขวัญกรุงเทพฯ ที่ว่า ‘กรุงเทพฯ ดุจเทพสร้าง เมืองศูนย์กลางการปกครอง วัดวังงามเรืองรอง เมืองหลวงของประเทศไทย’ ส่วนตัวผมคิดว่าไม่สัมพันธ์กับชีวิต หากย้อนไปดูคำขวัญที่ใช้ช่วงก่อนเดือน พ.ศ. 2555 ที่ว่า ‘ช่วยชุมชนแออัด ขจัดมลพิษ แก้ปัญหารถติด ทุกชีวิตรื่นรมย์’ ดูเป็นชีวิตจริงมากกว่า”

กทม. เมืองศูนย์รวมอำนาจ 
กรุงเทพฯ มี 50 เขต มี 16 สำนัก มีโครงสร้างการบริหารที่ค่อนข้างรวมศูนย์และทับซ้อนกันอยู่ เขตมีอำนาจของตัวเอง สำนักก็มีอำนาจของตัวเอง ที่น่าสนใจคือเขตใหญ่เทียบเท่าเทศบาล แต่ ผอ.เขต ไม่ผูกพันกับเขต ไม่เข้าใจพื้นที่ ไม่ตอบสนองต่อคนในพื้นที่มากนัก เพราะมาตามเทอม บางคนอยู่ในตำแหน่ง 2-3 ปีก็ย้ายไปที่อื่น ไม่เหมือนต่างจังหวัดที่บางคนอยู่เป็น 10 ปี ในอนาคตควรกำหนดเรื่องเคพีไอ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการประมินผลงานของ ผอ.เขต จะมีการตอบโจทย์ที่ดีขึ้น 
รายได้ กทม. ปีละ 86,000 ล้านบาท ไม่น้อยเลย รัฐบาลให้อีก 20,000 ล้านบาท รวมแล้วมากกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี มากกว่ากระทรวงคมนาคม ที่น่าแปลกคือ กทม. มีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายสะสม คือใช้เงินน้อยกว่ารายได้ มีรายรับมากกว่ารายจ่าย และไม่ต้องส่งคืน กทม. จึงมีเงินสดฝากธนาคารเกือบ 60,000 ล้านบาท มีเงินเหลือเยอะแต่ไม่กล้าใช้ อาจเพราะมีการตรวจสอบที่เข้มข้น ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่แฟร์ที่เก็บภาษีเราแล้วเอาไปฝากธนาคาร จึงเป็นคำถามว่าในอนาคตจะบริหารเงินให้ดีกว่านี้ได้หรือไม่
มี “รถไฟฟ้า” ก็ไม่พอแก้ปัญหาเมือง 
กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เริ่มจากมีคลอง แล้วมีถนน ทำให้เมืองกระจาย นี่คือปัญหาของกรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันคนหนีจากในเมืองออกไปอยู่รอบนอกมากขึ้น ผังเมืองเราเน้นแออัดข้างใน คือให้สร้างตึกสูง ออฟฟิศอยู่ข้างใน แล้วผลักคนให้กระจายออกไปอยู่ข้างนอก ที่อยู่อาศัยก็ถูกผลักออกไปรอบนอก คนอยู่ในเมืองคือคนที่อยู่คอนโดมิเนียม ซึ่งมีราคาแพง คนที่ซื้อไม่ได้ต้องตัดสินใจที่จะยอมเดินทาง บ้านกับที่ทำงานจึงอยู่ไกลกัน สุดท้ายก็เป็นปัญหารถติดเพราะว่าต้องขับรถเข้ามาในเมือง ในวันหนึ่งเราใช้เวลาเดินทางไปกลับ 2 ชั่วโมง เท่ากับว่าปีหนึ่งใช้เวลาเดินทางอยู่บนรถ 1 เดือน เพราะเราเดินทางจากข้างนอกเข้าข้างใน และรถไฟฟ้าก็แก้ไม่ได้เพราะไม่ได้เป็น Door to Door
กทม. ไม่ได้เป็นผู้วิเศษ 
มีคนพูดว่าถ้าผมเป็น ผู้ว่าฯ กทม. แก้ปัญหารถติดให้หน่อย ถามว่าจะแก้ได้หรือ เพราะ กทม. ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อย่างเรื่องจราจร มีถึง 37 หน่วยงานที่รับผิดชอบ อยู่บนฟุตพาทเป็นหน้าที่ของ กทม. ก้าวลงถนนเป็นของตำรวจจราจร รถไฟฟ้ามีหลายเจ้าของ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ค่าโดยสารแพงเพราะมีค่าเข้าระบบที่ต้องจ่าย สถานีเดียวกันยังคนละชื่อ เช่น จตุจักร-หมอชิต อโศก-สุขุมวิท สีลม-ศาลาแดง ถ้าเป็นเจ้าของเดียวน่าจะดีขึ้น จะเก็บค่าน้ำเสียซึ่งต้องวัดจากน้ำใช้ ไฟฟ้าดับก็ไม่ใช่ กทม. ดู และยังกำกับดูแลโดยกระทรวงมหาดไทยที่สั่งปลดผู้ว่าฯ ได้ เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่าผู้ว่าฯ กทม. คือผู้วิเศษที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ผู้ว่าฯ กทม. ต้องเล่นบทบาทเจ้าบ้านที่เข้มแข็ง เป็นตัวแทนของคนกรุงเทพฯ ในการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ และต่อสู้เพื่อคนกรุงเทพฯ

เส้นเลือดใหญ่-ฝอยต้องพัฒนาคู่กันไป 
อีกปัญหาคือเรามีดีคือเรื่องเมกะโปรเจกต์ ดีที่เส้นเลือดใหญ่ แต่เส้นเลือดฝอยยังติดขัด เช่น โรงพยาบาลผู้สูงอายุที่บางขุนเทียน 3,000 ล้านบาท ดี ทันสมัย แต่เข้าถึงยาก รถเมล์ยังไปไม่ถึง ถ้าจาก 3,000 ล้านบาท กระจายเป็น 30 ล้านบาท 100 โครงการอยู่ในชุมชนจะดีกว่าไหม เรามีเตาเผาขยะ 10,000 ล้าน แต่ยังเก็บขยะแบบเดิมไม่คัดแยก มีอุโมงค์ยักษ์เป็นเส้นเลือดใหญ่ แต่ใหญ่แค่ไหนถ้าเส้นเลือดฝอยเอาน้ำไปถึงไม่ได้น้ำก็ท่วม ปัญหาของ กทม. จริงๆ ไม่ใช่ปัญหาของเมกะโปรเจกต์ แต่เป็นการบริหารจัดการเส้นเลือดฝอยในพื้นที่ ทำยังไงให้เส้นเลือดฝอยหล่อเลี้ยงชีวิตคนได้ 
จะสร้าง Better Bangkok อย่างไร
จะสร้าง Better Bangkok อย่างไร ทุกคนก็บอกว่าผู้ว่าฯ จะต้องเก่งแก้ปัญหาให้ กทม. ผมว่าไม่จริง ผมเชื่อว่า กทม. จะดีได้ไม่ใช่แค่ผู้ว่าฯ คนเดียว ต้องมี 4 ส่วนร่วมกัน คือ ภาครัฐ วิชาการ ธุรกิจ และประชาชน ถ้าไม่ร่วมกันก็จะเป็นอย่างนี้ไปตลอดชาติ ไม่มีทางที่จะไปฝากความหวังว่าผู้ว่าฯ จะแก้ปัญหาได้ 
เริ่มที่ประชาชน ต้องปรับแนวคิด อย่าไปหวังว่าทุกอย่างจะต้องแก้ปัญหาโดยรัฐ เพราะเมืองคือประชาชน เมืองสะท้อนเรา ต้องเริ่มที่ตัวเรา เจอปัญหารถติดไม่ใช่แค่ก่นด่ารัฐบาลหรือ กทม. แต่ต้องคิดว่าการขับรถออกมา คุณก็เป็นส่วนร่วมทำให้รถติด ต้องเปลี่ยนไปใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อลดปัญหา ต้องแชร์ความรับผิดชอบ และต้องมีวินัย 
ภาควิชาการก็สำคัญเพราะเป็นมันสมอง ภาคธุรกิจก็สำคัญเช่นกันในการมีส่วนร่วมปรับปรุงเมืองให้ดีขึ้น เพราะงบประมาณของประเทศยังสู้ของภาคธุรกิจไม่ได้ ตัวอย่างที่ดีคือสกายวอล์คย่าน   ราชประสงค์ที่เอกชนร่วมกันสร้าง เชื่อว่าต่อไปจะทำรัฐบาลไม่ต้องออกเงินทำ เอกชนจ่ายให้หมดเพราะว่าสามารถเชื่อมเข้าตึกของตัวเองได้ 

ที่จอดรถสาธารณะ ผมถามจากแท็กซี่ว่าห้างไหนมีที่จอดรถที่ดีที่สุด เขาบอกว่าเป็นมาบุญครอง จัดที่จอดรถไว้ด้านหลังไม่เบียดเบียนพื้นที่ถนน แต่ยังมีหลายห้างที่ไม่สนใจ ปล่อยให้แท็กซี่จอดข้างถนน ไม่จัดพื้นที่ของตัวเองเพื่อส่วนรวม ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องของกฎหมายแต่เป็นจิตสำนึกที่เอกชนมาร่วมกัน การจัดที่จอดรถสาธารณะสำคัญกว่าที่จอดรถส่วนตัว เพราะว่าคนใช้เยอะกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่า ในอนาคตห้างสรรพสินค้าในเมืองควรลดที่จอดรถ เพื่อบังคับให้คนนั่งรถไฟฟ้ามา กฎหมายผังเมืองอาจต้องเปลี่ยนไม่ต้องมีที่จอดรถในห้างแล้ว ซึ่งเทรนด์ช่วงหลัง มีบริษัทพัฒนาเมืองต่างๆ ที่จะช่วยไกด์รัฐบาลได้ 
ทั้งภาควิชาการ ธุรกิจ ประชาชน ต้องร่วมมือกัน โดยมีหัวใจสำคัญคือภาครัฐ หรือก็คือผู้นำ เป็นผู้กำหนดนโยบาย ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ข้อกฎหมายบังคับ ไม่ต้องเน้นแค่การลงทุนเมกะโปรเจกต์ แต่ใช้ความป็นผู้นำ ทีมเวิร์ค ที่มีวิสัยทัศน์ในการปรับความคิด เปลี่ยนพฤติกรรม และร่วมกันพัฒนาเมืองด้วยความโปร่งใส ภาครัฐ หรือ กทม. ต้องเปิดข้อมูลขึ้นออนไลน์ Open Bangkok ให้ประชาชนเข้าถึง มีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูล ตรวจสอบความถูกต้อง และนำเสนอปัญหาร่วมด้วยได้ ขณะที่รัฐหรือ กทม. ต้องส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมย่านต่างๆ และพัฒนาเทคโนโลยีให้ดิจิทัลกับอนาล็อกสมดุลกัน ให้คนรุ่นเก่าที่มีฝีมือแต่เป็นยังเป็นอนาล็อก ยังออฟไลน์ มาเจอกับกลุ่มดิจิทัล กลุ่มออนไลน์ 
“เรื่องเมืองสมาร์ทซิตี้ ไม่ต้องถึงฉลาดมาก สมาร์ทซิตี้เป็นยูโทเปียอย่างหนึ่ง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นกิมมิคของการขายของ แต่เทคโนโลยีไม่สามารถให้คำตอบหรือคำถามได้ ต้องมาจากนโยบายเป็นหลักว่าอะไรคือเรื่องสำคัญที่ต้องใช้ อย่าไปเห่อเทคโนโลยีเกินไป เช่น กล้อง CCTV ป้ายแท็กซี่อัจฉริยะ ที่มีแต่ไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต”
คุณชัชชาติกล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า “อย่าคิดว่าทุกอย่างต้องให้รัฐเป็นคนทำ ต้องมาจากความร่วมมือของเราทุกคน โดยมีรัฐกำหนดนโยบาย อนาคตไม่มีซูเปอร์ฮีโร่ ไม่มีใครแก้ปัญหาเมืองได้เอง ผมยืนยัน ทุกคนต้องร่วมกันทำให้เมืองดีขึ้น”   

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0