โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

"BDMS vs BH" 2 ยักษ์ใหญ่ใน Sector Healthcare ?

Stock2morrow

อัพเดต 24 พ.ค. 2561 เวลา 08.05 น. • เผยแพร่ 22 พ.ค. 2561 เวลา 10.20 น. • Stock2morrow
“BDMS vs BH” 2 ยักษ์ใหญ่ใน Sector Healthcare ?

หากพูดถึง Sector Healthcare ในตลาดหลักทรัพย์ คงปฎิเสธไม่ได้ว่าสองยักษ์ใหญ่ในวงการนี้คงหนีไม่พ้นบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (BDMS) และบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (BH) ที่ต่างมีกลยุทธ์และจุดแข็งที่แตกต่างกัน หลายท่านอาจเคยได้อ่านบทวิเคราะห์เกี่ยวกับหุ้น 2 ตัวนี้มาบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม ผมอยากนำเสนอมุมมองใหม่ พร้อมข้อมูลของไตรมาสแรกปี 2561 ที่ผ่านมา ให้ท่านผู้อ่านได้ใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนการลงทุน ก่อนอื่นเรามาดูโครงสร้างล่าสุดของแต่ละบริษัทกันก่อนครับ

BANGKOK DUSIT MEDICAL SERVICES PUBLIC COMPANY LIMITED (BDMS)

(https://www.bangkokhospital.com/index.php/th/corporate)

เครือข่ายธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ โดยมีโรงพยาบาลทั้งในไทยและกัมพูชารวมทั้งสิ้น 45 แห่ง (ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2560) ประกอบไปด้วย 6 กลุ่มโรงพยาบาล ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลบี เอ็น เอช กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท กลุ่มโรงพยาบาลเปาโล และกลุ่มโรงพยาบาลรอยัล ไม่นับรวมกลุ่มโรงพยาบาลที่ BDMS ถือหุ้นแต่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารอีก 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลรามคำแหง โรงพยาบาลเอกอุดร และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่ถือหุ้นอยู่ 38.2%, 25.1% และ 20.5% ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนด้านการรักษาพยาบาล ได้แก่ ธุรกิจห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ผลิตยา น้ำเกลือ และร้านขายยาและเวชภัณฑ์ รวมทั้งสิ้น 14 บริษัท

Hightlights ของ BDMS

(1.) เป็น Brand ที่เป็นที่ยอมรับและมีความน่าเชื่อถือ

(2.) เนื่องจากมีการนำกลยุทธ์การควบรวมกิจการ (Merge and Acquisition; M&A) มาใช้ ทำให้อัตราการขยายตัวของเครือข่ายสูงมาก นำไปสู่การประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) โดยในปัจจุบัน เป็นธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีเครือข่ายด้านการแพทย์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

(3.) เป็น Global Brand ที่มีขนาด Market Capitalization ใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลกในกลุ่ม Healthcare และเป็นอันดับ 1 ของโลกในด้าน Net Profit Margin ที่ 9% ทำให้เป็นหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ

เพิ่มเติมสำหรับท่านที่อยากทราบ (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 9 ต.ค. 2560)

- Hospital Corporation of America – USA (Market Cap. 27,206 USD mm)

- IHH Healthcare Berhad – Malaysia (Market Cap. 11,192 USD mm)

- Universal Health Services – USA (Market Cap. 10,540 USD mm)

- Ramsay – Australia (Market Cap. 10,097 USD mm)

- BDMS – Thailand (Market Cap. 9,661 USD mm)

BUMRUNGRAD HOSPITAL PUBLIC COMPANY LIMITED (BH)

(http://bangkok.travel/wp-content/uploads/2013/04/Bumrungrad-hospital.jpg)

เป็น Standalone Hospital คือ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ประกอบไปด้วย 5 อาคาร ได้แก่ อาคารบำรุงราษฎร์อินเตอร์เนชั่นแนลคลินิก อาคารโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อินเตอร์เนชั่นแนล อาคารบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ทาวเวอร์ อาคารไวทัลไลฟ์ และอาคารบำรุงราษฎร์ เรสซิเดนซ์ แอนด์ ออฟฟิศ อย่างไรก็ตาม ได้มีความพยายามเจาะตลาดต่างประเทศโดยการเข้าไปถือหุ้นของโรงพยาบาลอูลานบาตอร์ ซองโด ที่ประเทศมองโกเลีย และเปิดบำรุงราษฎร์คลินิกที่ย่างกุ้ง ประเทศพม่า ปัจจุบันยังไม่มีการผลิตยา เวชภัณฑ์ หรือน้ำเกลือ (หรือธุรกิจต้นน้ำอื่นๆ เช่นเดียวกับ BDMS)

Highlights ของ BH

(1.) เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทย และแห่งแรกในเอเชียที่ได้รับ Joint Commission International (JCI) Accreditation ซึ่งเป็นการรับรองมาตรฐานการแพทย์สากล (และต่อมา BDMS ก็ทยอยได้รับ JCI Accreditation เช่นกัน) เนื่องจากเป็นเจ้าแรกที่ได้รับรอง JCI ผู้ป่วยต่างชาติตั้งแต่ระยะแรกๆ จึงนิยมเข้ารับการรักษาที่นี่

(2.) ต่างกับ BDMS ที่ใช้กลยุทธ์ M&A ทาง BH จะใช้วิธีพุ่งความสนใจไปที่โรงพยาบาลเดียว ทำให้การควบคุมคุณภาพทำได้ง่าย ใช้ทรัพยากรได้คุ้มค่า และไม่ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก แม้จะมีการไปลงทุนในบริษัทต่างๆ แต่ก็ทำการขายหรือลดทุนไปเป็นระยะ ทำให้สัดส่วนการลงทุนตรงนี้ไม่ได้สูงมาก

(3.) แม้จะเป็น Standalone Hospital แต่ BH ก็ได้พยายามเจาะตลาดต่างประเทศ (เช่นเดียวกับ BDMS ที่มีโรงพยาบาลอยู่ในกัมพูชา 2 แห่ง) โดยเข้าไปถือหุ้น 41% ของโรงพยาบาลอูลานบาตอร์ ซองโด ซึ่งเป็นโรงพยาบาล 88 เตียงของมองโกเลีย และได้เปิดบำรุงราษฎร์คลินิกที่ย่างกุ้ง ประเทศพม่า ดังกล่าวข้างต้น

การเติบโตของธุรกิจ

เรามาดูอัตราการเติบโตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาของทั้ง BDMS และ BH กันครับ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นการวิเคราะห์ย้อนหลังค่อนข้างนาน และในบางปีอาจมีกำไร (ขาดทุน) พิเศษ จึงขอใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Cash Flow from Operation; CFO) แทนกำไรสุทธิ (Net Profit) ในการคำนวณเพื่อลดความคาดเคลื่อนในส่วนนี้ครับ

หากพิจารณาค่าเฉลี่ยย้อนหลังของทั้งสองบริษัท จะพบว่า มี %CFO growth/year ค่อนข้างใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม จุดหนึ่งที่มีความแตกต่างอย่างชัดเจนคือ เม็ดเงินลงทุนของ BDMS ที่สูงและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (5,182.86 ล้านบาท, 9,492.23 ล้านบาท และ 11,869.65 ล้านบาท ในปี 2558, 2559 และ 2560 ตามลำดับ) เมื่อเทียบกับ BH (1,784.88 ล้านบาท, 1,556.23 ล้านบาท และ 5,867.60 ล้านบาท ในปี 2558, 2559 และ 2560 ตามลำดับ) โดยล่าสุด BDMS ได้เข้าไปซื้อกิจการโรงแรมเพื่อปรับปรุงเป็นศูนย์สุขภาพครบวงจร (BDMS Wellness Clinic) เน้นการดูแลป้องกัน (Preventive) มากกว่าการรักษา (Curative) ซึ่งหากนับรวมงบลงทุนและปรับปรุงทรัพสินย์แล้ว จะเป็นมูลค่าเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆ ในอนาคตอันใกล้ เช่น Phoenix Project จำนวน 175 เตียง ซึ่งอยู่ในแผนการปี 2562-63 อีกด้วย ในขณะที่ฟากของ BH กลับไม่ได้มีข่าวด้านการลงทุนมากนัก

ตัวเลขทางการเงิน

ในด้านความแข็งแกร่งทางการเงิน ผมอยากชี้ให้เห็นถึงตัวเลขที่น่าสนใจบางตัวของ BH และ BDMS ในงบการเงิน Q1 ปี 2561 ครับ

ณ วันที่ 31 มี.ค. 2561 BH มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดทั้งสิ้น 4,209.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,738.63 ล้านบาท (หรือประมาณ 70%) นับจาก 31 ธ.ค. 2561 หรือเมื่อ 3 เดือนก่อน นอกจากนี้ ยังมีเงินลงทุนระยะสั้นอีก 5,432.90 ล้านบาท นั่นคือ BH ถือเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นไว้ทั้งสิ้น 9,641.96 ล้านบาท คิดเป็น 79% ของสินทรัพย์หมุนเวียนทั้งหมด (Current Assets) หรือเป็น 38% ของสินทรัพย์ทั้งหมด กล่าวอีกนัยก็คือ BH มีเงินสดในมือเยอะมาก ที่จะใช้เป็นทุนสำรองหากเกิดภาวะวิกฤติขึ้นในอนาคต นอกจากนี้หากคิดรวมหนี้สินทั้งหมด ทั้งหมุนเวียนและไม่หมุนเวียน (Total Liabilities) จะอยู่ที่ 7,442.87 ล้านบาท แปลว่าหาก BH ต้องการจะจ่ายหนี้ที่มีทั้งหมด ก็สามารถจะทำได้ทันที โดยที่ไม่ต้องไปกู้ หรือขายสินทรัพย์ใดๆ ไม่แปลกใจเลยที่ BH จะมี Current Ratio สูงถึง 2.84 เท่าและมี D/E ratio เพียง 0.43 เท่า

ในขณะเดียวกัน BDMS ณ วันที่ 31 มี.ค. 2561 มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดทั้งสิ้น 6,562.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,471.50 ล้านบาท (คิดเป็น 29%) นับจาก 31 ธ.ค. 2561 รวมกับเงินลงทุนชั่วคราวอีก 573.26 ล้านบาทเป็นทั้งสิ้น 7,135.92 ล้านบาท คิดเป็น 58% ของสินทรัพย์หมุนเวียนทั้งหมด หรือเป็น 28% ของสินทรัพย์ทั้งหมด จะเห็นว่า ถ้าเทียบกับขนาดของธุรกิจแล้ว BDMS ถือเงินสดในมือน้อยกว่า แต่นั่นก็เป็นเพราะว่า BDMS ได้ลงทุนกับการขยายเครือข่ายโรงพยาบาลไปเป็นจำนวนมาก ทำให้สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนในส่วนของที่ดินอาคารและอุปกรณ์สุทธิ (Net Property Plant and Equipment; Net PP&E) ของ BDMS มีมูลค่าสูงถึง 71,853.29 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ BH ที่ 11,624.64 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.2 เท่าของ BH เลยทีเดียว

ด้านความถูกความแพง

ในด้านความถูกความแพง PER ของ BDMS และ BH มีค่าใกล้เคียงกันที่ 35.39 เท่าและ 34.71 เท่าตามลำดับ ในขณะที่ PER ของกลุ่มอยู่ที่ 34.00 เท่า ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่า หุ้นในกลุ่มโรงพยาบาล "ไม่ถูก" เนื่องจากค่า Premium ที่ค่อนข้างสูง คำถามที่สำคัญคือ เมื่อไหร่ที่จะเรียกว่า "ไม่แพง" สำหรับหุ้นในกลุ่มนี้

สำหรับ BH ผมจะขอใช้วิธีการประเมิน Intrinsic Value ของ Benjamin Graham ที่เรียกว่า Net Current Asset Value (NCAV) โดยที่ NCAV = Current Assets – Total Liabilities (12,213.62 – 7,442.87 = 4,770.75 ล้านบาท) โดยตามทฤษฎีของ Graham บริษัทจะน่าเข้าลงทุนก็ต่อเมื่อมี Margin of Safety อย่างน้อย 33.33% นั่นคือ Market Capitalization ควรจะน้อยกว่า 2/3 ของ NCAV หรือน้อยกว่า 3,180.50 ล้านบาท (ในขณะที่ Market Cap. ปัจจุบันสูงถึง 139,191.151 ล้านบาท!!)

ในส่วนของ BDMS เนื่องจากไม่สามารถใช้วิธี NCAV ได้เพราะตัวเลขมีค่าเป็นลบ จึงขออนุญาตใช้ Net PP&E ที่อยู่ในรูปของ Book Value (BV) มาใช้แทน โดยตำราส่วนใหญ่นิยมใช้ P/BV < 3 เท่าเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเข้าซื้อ (หรือหาก P/BV > 3 เท่าจะต้องวิเคราะห์แล้วว่า Expected Earnings จะมากพอที่จะทำให้ BV เพิ่มขึ้นจนทำให้ P/BV กลับมาอยู่ที่ 3 เท่าหรือน้อยกว่าได้) เนื่องจาก BDMS มี Non-Current Assets ในรูปของที่ดินและอาคารที่มีมูลค่าสูง เปรียบเทียบกับ Book Value Per Share ปัจจุบันของ BDMS ที่ 4.25 บาท นั่นคือ ราคาที่ถือว่าไม่แพงหากใช้เกณฑ์ดังกล่าว จะอยู่ที่ 13.10 บาทต่อหุ้น หรือประมาณครึ่งหนึ่งของราคาซื้อขายในปัจจุบัน!!

จะเห็นว่า ไม่ว่าจะใช้วิธีใดคิด ก็มีความเป็นไปได้ยากที่ราคาหุ้นของบริษัททั้งสองจะลงมาอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่า "ไม่แพง" แม้ว่าจะอยู่ในภาวะวิกฤติก็ตาม เนื่องจากหุ้นราคา "ไม่ถูก" จึงเป็นการลงทุนโดยคาดหวังว่าผลประกอบการจะเติบโตต่อเนื่อง (เพราะแม้ว่าจะแพงแล้ว ก็อาจมีแพงกว่าได้นั่นเอง) ข้อน่าสังเกตอีกจุดหนึ่งคือ เนื่องจาก BDMS เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ BH โดยถือครองหุ้นอยู่ 20.5% นั่นคือ หากนับเฉพาะในไตรมาสที่ผ่านมา กำไรของ BDMS ได้มาจาก BH ทั้งสิ้น 221.63 ล้านบาท คิดเป็น 7.6% ของกำไรใน Q1 2561 ซึ่งผมคิดว่าก็ตรงไปตรงมา ในเมื่อลูกดี ลูกเก่ง แม่ก็ย่อมได้รับอานิสงค์ไปด้วย … จริงไหมครับ?

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อมูลที่เปิดเผยเป็นสาธารณะของบริษัททั้งสองเท่านั้น ผมคงไม่สามารถบอกได้ว่าหุ้นตัวไหนดีกว่ากัน คงต้องเป็นหน้าที่ของนักลงทุนทุกท่านในการพิจารณาไตร่ตรองด้วยตัวท่านเองครับ

บทความจากโครงการนักเขียน Stock Writer เขียนโดย Invisible 

https://www.stock2morrow.com/discuss/topic/Stock%20Writer 

stock2morrow

ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่ LINE@stock2morrow, FB:stock2morrow และ www.stock2morrow.com 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0