โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

BDMS ในวันที่ขายยาแก้ปวด

Wealthy Thai

อัพเดต 18 ก.ย 2562 เวลา 06.23 น. • เผยแพร่ 18 ก.ย 2562 เวลา 06.23 น. • wealthythai
BDMS ในวันที่ขายยาแก้ปวด

BDMS หรือบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เป็นหุ้นคลาสสิคขวัญใจนักลงทุนต่างชาติเสมอมา ล่าสุดในช่วงวันที่ 1-10 กันยายน (MTD) นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้น BDMS มากที่สุด อยู่ที่ 2,640.4 ล้านบาท และถ้าดูตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) ก็ติดลำดับ 3 โดยซื้อสุทธิ 7,437 ล้านบาท ทั้งนี้ถ้าดูขนาดของบริษัท ก็ใหญ่พอๆ กัน โดยเป็นหุ้น Top10 ที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ฯ รองจาก PTT, AOT, CPALL, ADVANC, SCC, PTTEP และ SCB

 

 
อะไรทำให้ BDMS มีสถานะแข็งแกร่ง จนขึ้นเป็น Top5 โรงพยาบาลเอกชนโลก และก้าวต่อจากนี้เป็นอย่างไร วันนี้ Wealthy Thai ชวนมาพูดคุยเรื่องหุ้นตัวนี้กันอีกสักรอบ

 

 
ย้อนไปเมื่อปี 47 ปีที่แล้ว “ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” ก่อตั้งโรงพยาบาลกรุงเทพขึ้น ในชื่อบริษัทขณะนั้นคือ กรุงเทพดุสิตเวชการ ก่อนจะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอีก 19 ปีหลังจากนั้น โดยปัจจุบันเป็นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดในไทยและในอาเซียน มีเครือข่ายโรงพยาบาลในไทยและกัมพูชา รวม 46 แห่ง จำนวนเตียงรวม 8,011 เตียง ซึ่งดำเนินการผ่านโรงพยาบาล 6 กลุ่ม ประกอบด้วย

 

 

  • กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ
  • กลุ่มโรงพยาบาลสมติเวช
  • โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
  • กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท
  • กลุ่มโรงพยาบาลเปาโล
  • กลุ่มโรงพยาบาลรอยัล

 
การเติบโตของ BDMS ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของนพ.ปราเสริฐหรือหมอเสริฐ ที่แม้ว่าจะลงจากเก้าอี้บริหารเมื่อต้นปี 2562 นี้เอง จากคดีปั่นหุ้น แต่ยังคงสถานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 17.86% ทั้งนี้ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา หมอเสริฐได้รับการจัดอันดับ “เศรษฐีอันดับ 1” 6 ปีซ้อน!!!!

 
ถ้าเราแกะดูแต่ละธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น “สายการบินบางกอก แอร์เวย์ส” หรือช่องโทรทัศน์ “PPTV” เองก็ดี สิ่งที่เหมือนกันคือความพรีเมี่ยมที่แตกต่าง ถ้าเทียบในธุรกิจเดียวกัน ไลน์ของหมอเสริฐจะเห็นความชัดเจน

 

 
สำหรับธุรกิจโรงพยาบาล ใครจะคิดว่าจะไปครอสกับ “ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท” ได้  แถมยังกล้าซื้อที่ดิน “ปาร์ค นาย เลิศ” ใจกลางกรุงเทพด้วยมูลค่า 10,800 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงแต่การขยายตัวของโรงพยาบาลรับเทรนด์เฮลท์ แคร์ และสังคมผู้สูงอายุแล้ว การมีที่ดินผืนงามย่านเพลินจิต-ชิดลม ย่อมจะสร้างมูลค่าได้มหาศาลในอีกอนาคต

 
การขยับตัวขยายธุรกิจแต่ละครั้งสร้างแรงสะเทือนเสมอ จึงไม่แปลกที่วันนี้ BDMS จะเป็นเครือข่ายโรงพยาบาลที่ใหญ่ติดอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งความน่าสนใจนอกจากการขยายศูนย์เฉพาะทาง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง การใช้เทคโนโลยีในการรักษาพยาบาล ตลอดจนการได้รับการรับรองการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยวิกฤตทั้งทางบก เรือ น้ำ อากาศแล้ว ปัจจุบัน BDMS ขยายธุรกิจกลุ่มที่ non Hospital มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มยา 

 

ลุยธุรกิจยา

 
สิ่งที่น่าสนใจหลังจากนี้คือ BDMS กำลังต่อเรือขยายธุรกิจ “ยาและเวชภัณฑ์” เป็นกลุ่มก้อนได้มากขึ้น ดังนี้

 

  • สหแพทย์เภสัช (The Medicpharma) มีโรงงานตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร จังหวัดสมุทรสาคร พื้นที่ 15 ไร่ โดยสินค้าเด่นคือการขายยาพาราเซตามอล “บาคามอล” (Bakamal) ขยายตลาดเจาะผู้บริโภคทั่วไป โดยเข้าซื้อกิจการสหแพทย์เภสัช เมื่อ 2 ปีที่แล้ว 

 

  • เอ.เอ็น.บี. ลาบอราตอรี่ (อำนวยเภสัช) สินค้าดังก็คือ น้ำเกลือ Klean & Kare (รอยัล บางกอกเฮ็ลธ์แคร์ ในเครือ BDMS เข้าซื้อกิจการ)

  • เยเนอรัล ฮอสปิตัล โปรดัคส์ (GHP) หรือเดิมชื่อบริษัท แอบบอทท์ ฟาร์มา (ร่วมทุนระหว่างองค์กรเภสัชกรรม และบริษัท แอบบอทท์ แล็บบอราทอรี่ส์) ประกอบธุรกิจผลิตน้ำยาปราศจากเชื้อ สำหรับฉีดเข้าหลอดโลหิตดำ (Intravenous Solutions) ได้แก่ น้ำเกลือ น้ำตาลกลูโคส และเวชภัณฑ์อื่นๆ

  • เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ ผู้ให้บริการด้านการสนับสนุนบริการทางการแพทย์ เพื่อขยายรายได้จากส่วน non Hospital มากขึ้น

  • เซฟดรัก เซ็นเตอร์ (ร้านขายยา Save Drug) โดยซื้อกิจการมาจากเจ้าของเดิม เพื่อขยายเครือข่ายร้านขายยา

 

ซึ่งจะเห็นว่ากลุ่มรายได้จากการขายน้ำเกลือ ยา เวชภัณฑ์ เติบโตขึ้น 3 ปีติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 3,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่า  BDMS หันมาเน้นการผลิตยาและเวชภัณฑ์มากขึ้น 

 

 

นอกจากนี้มีธุรกิจประกันสุขภาพ ผ่านบริษัท กรุงเทพประกันสุขภาพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท กรุงเทพ พรีเมียร์ นายหน้าประกันภัย จำกัด ตลอดจนการขยายกลุ่มนักท่องเที่ยว “Medical Tourism” ซึ่งปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนหันมาสนใจการรักษาพยาบาลผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ปลายปีที่แล้ว BDMS เลยทำเอ็มโอยูกับ “Ping An Good Doctor” ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพออนไลน์อันดับ 1 ของจีน ปัจจุบันมีผู้ใช้งานสูงที่สุดในโลก หรือประมาณ 228 ล้านคน

 

 

*มุมมองนักวิเคราะห์ *

 

 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) แนะนำซื้อโดยให้ราคาเป้าหมาย 30 บาท ประเมินอัตรากำไรอยู่ในช่วงขาขึ้น คาดกำไรหลักเติบโตเฉลี่ย 15% CAGR ในช่วงปี 2561-2564 หนุนโดยอัตรากำไร (EBITDA margin) ที่ฟื้นตัวดีขึ้น โดยคาดว่า EBITDA margin จะเพิ่มขึ้นเป็น 25% ในปี 2566 จาก 22% ในปี 2561 จากอัตราการใช้พื้นที่เตียงที่เพิ่มขึ้นและการฟื้นตัวของโรงพยาบาล 5 แห่ง ที่ขาดทุนก่อนหน้า

 

 

บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ แนะนำซื้อ 27 บาท  ประเมินผู้ป่วยต่างชาติยังเติบโตดี แม้รายจ่ายเพิ่มกดดันระยะสั้น จากไตรมาส 2/2562 ที่ผ่านมา รายได้ธุรกิจ non-hospital (ผลิตและจัดจำหน่ายยา) ไม่สดใส เพียงแค่ทรงตัว โดยยอดขายส่งออกของโรงงานยาลดลง จากผลกระทบค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นมาก และร้านขายยา Save Drug ซึ่งเช่าพื้นที่ห้างเป็นส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะค่าเช่าแพง ขณะที่ร้านยาที่มียอดขายดี ส่วนใหญ่ถูกยกเลิกต่อสัญญา โดยทางห้างนำพื้นที่ไปทำเองแทน

 

 

อย่างไรก็ตามยังคงตั้งเป้ารายได้ปีนี้เติบโต 6-8% EBITDA Margin ที่ 22% จากการเปิดบริการโปรเจ็คใหญ่ (ย้ายศูนย์สมอง ศูนย์กระดูก และศูนย์ระบบประสาทไขสันหลัง มาอยู่ในตึก Bangkok International Hospital รวมถึงมีห้องตรวจศูนย์อายุรกรรม ระดับ VIP และห้อง ICU ด้วย)

 

 

รายได้ประกันต่างจังหวัดโต *40% *

 

 

บล.เอเชีย เวลท์ แนะนำซื้อ ให้ราคาเป้าหมาย 27.50 บาท เนื่องจากมองว่าในอนาคตการเข้าไปเจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มประกัน จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพราะสามารถใช้ประกันได้เฉพาะในเครือ BDMS เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันรายได้จากลูกค้ากลุ่มประกันโตถึง 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเฉพาะในต่างจังหวัด และมองครึ่งปีหลังรายได้จากกลุ่มประกันจะเพิ่มขึ้น เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้รายได้รวมโตได้มาก

 

 

 

นอกจากนี้มองว่าการกลับมาของลูกค้าในตะวันออกกลาง จะช่วยหนุนการเติบโตของบริษัท โดยปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้น จาก 28% เป็น 30% ของรายได้รวม ซึ่งคาดว่าในครึ่งปีหลังจะยังใช้บริการในปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนรายได้จากการใช้บริการของคนจีนลดลง เป็นผลจากนโยบายการส่งเงินออกนอกประเทศของจีน และเน้นการบริโภคภายในประเทศจีนมากขึ้น

 

 

ขณะที่บล.หยวนต้า มองต่างกับ 3 โบรกเกอร์ข้างต้น โดยแนะนำ “เก็งกำไร” เนื่องจากมองว่าระยะสั้นยังไม่น่าสนใจ ด้วยแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 3/2562 ที่ยังมีโอกาสปรับลดลงเมื่อเทียบกับฐานกำไรที่สูงในปีก่อน แม้ว่าไตรมาสนี้จะเป็นช่วงไฮซีซั่นก็ตาม ทั้งนี้ได้ปรับลดประมาณการกำไรปกติในปี 2562 ลงจากเดิม 8% เหลือ 9,628 ล้านบาท จากการปรับสมมติฐาน

 

  • รายได้ลดลง 9%
  • EBITDA Margin จากเดิมที่ 6% เหลือ 22%
  • สวนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง 11% จากแนวโน้มกำไรของ BH ที่ต่ำกว่าคาด (ซึ่งบริษัทถืออยู่ 88%)

 

 

ความเสี่ยงของ *BDMS ก็ใช่ว่าจะไม่มี *

 

 

ในด้านความเสี่ยง มีอะไรบ้าง? อย่าลืมโรงพยาบาลอื่นก็มีจุดแข็งเช่นกัน เพราะฉะนั้นนักลงทุนยังต้องรอจังหวะลงทุนให้ดี เพราะธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง นอกจากการแข่งขันกับโรงพยาบาลเอกชนในระดับเดียวกันแล้ว BDMS ยังต้องแข่งขันกับโรงพยาบาลเอกชนระดับกลางและระดับล่างด้วย นอกจากนี้รายได้จากการพึ่งพิงผู้ป่วยต่างชาติก็มีความเสี่ยง รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่อาจจะมีการโยกย้ายได้ ก็เป็นส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วย

 

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0