โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Asperger Syndrome รับมืออย่างไรหากลูกเป็น

Motherhood.co.th

เผยแพร่ 17 ก.ค. 2562 เวลา 09.00 น. • Motherhood.co.th Blog
Asperger Syndrome รับมืออย่างไรหากลูกเป็น

Asperger Syndrome รับมืออย่างไรหากลูกเป็น

หาเราพูดถึงเด็กพิเศษ พ่อแม่ทั่วไปคงรู้จักออทิสติกกันแล้ว แต่ถ้าพูดถึง "Asperger Syndrome" อาจจะยังไม่ใช่สิ่งที่คุ้นเคยในบ้านเราสักเท่าไหร่ หากลูกรักมีอาการของแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม เขาจะแสดงอาการอย่างไร และมีวิธีรักษาหรือบำบัดได้หรือไม่ วันนี้ Motherhood จะมาแบ่งปันข้อมูลให้คุณพ่อคุณแม่เตรียมกันรับมือกันค่ะ

มาทำความรู้จักกับ Asperger Syndrome

Asperger Syndrome หรือกลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ คือกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติทางการทำงานของระบบประสาท ที่จัดอยู่ในกลุ่มของกลุ่มโรคออทิสติค (Autistic Spectrum Disorders) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการของโรคที่มีปัญหาด้านพฤติกรรม และพัฒนาการทางด้านการพูด เช่น โรคออทิสติค (Autism) และพฤติกรรมแปลกอื่นๆที่มีลักษณะคล้ายออทิสติค

แอสเพอร์เกอร์ซินโดรมเป็นความบกพร่องของพัฒนาการที่มีลักษณะเฉพาะตัว โดยจะบกพร่องในทักษะทางสังคม ร่วมกับมีพฤติกรรมหมกมุ่น ทำซ้ำๆ ไม่ค่อยยืดหยุ่น จนเกิดผลเสียต่อการดำรงชีวิต การเรียน การทำงาน และการเข้าสังคม ส่วนด้านการใช้ภาษา สามารถสื่อสารได้ปกติ แต่ไม่เข้าใจลูกเล่น สำนวน หรือมุกตลกต่างๆ มีระดับสติปัญญาปกติ ความจำดี แต่มีปัญหาในการนำไปประยุกต์ใช้

อาการแสดงออกของผู้ป่วยแอสเพอร์เกอร์ มักเริ่มแสดงออกมาในช่วงที่เด็กอายุประมาณ 3 ขวบ และส่วนใหญ่กว่าจะมีอาการต่างๆให้เห็นชัดเจนพอที่จะวินัจฉัยได้ ก็มักจะเป็นในช่วงที่มีอายุ 5-9 ปีขึ้นไป

Asperger Syndrome เป็นความบกพร่องของพัฒนาการรูปแบบหนึ่ง อยู่ในกลุ่มเดียวกับโรคออทิสติค
Asperger Syndrome เป็นความบกพร่องของพัฒนาการรูปแบบหนึ่ง อยู่ในกลุ่มเดียวกับโรคออทิสติค

ทำไมถึงเรียกว่ากลุ่มอาการ?

สาเหตุที่จัดเป็นกลุ่มอาการของโรค เนื่องจากอาการของผู้ป่วยแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันได้หลากหลาย ทั้งในรูปแบบของอาการที่แสดงออก และความรุนแรงของปัญหา แม้ว่าผู้ป่วยสองคนจะได้รับการวินิจฉัยโรคเหมือนกัน แต่จะเห็นว่าอาการและความสามารถทางด้านทักษะของผู้ป่วยแต่ละคนจะแตกต่างกันได้ค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงนิยมแบ่งอาการเหล่านี้ออกตามความสามารถและทักษะของผู้ป่วย เช่นกรร

  • Low-Functioning คือ กลุ่มที่มีความสามารถในการพูด การใช้ภาษา และการปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นๆได้น้อย
  • High-Functioning คือ กลุ่มที่มีความสามารถในการพูด การใช้ภาษา และการปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นๆได้ดี
  • Autistic Tendencies คือ กลุ่มที่มีอาการคล้ายออทิสติค
  • Pervasive Developmental Disorder คือ กลุ่มที่มีปัญหาทางด้านพัฒนาการผิดปกติ ทำอะไรซ้ำๆ ย้ำคิดย้ำทำ ใช้เรียกผู้ป่วยที่มีอาการแสดงออกของออทิสติค ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักมีความสามารถและทักษะต่างๆค่อนข้างดี เหมือนกับกลุ่มที่จัดเป็น High-Functioning Autism

ย้อนไปเมื่อปีค.ศ. 1940 มีรายงานถึงกลุ่มอาการผิดปกติด้านพฤติกรรมและพัฒนาการของเด็ก โดยนายแพทย์ ฮานส์ แอสเพอร์เกอร์ (Hans Asperger) ที่เป็นผู้ค้นพบกลุ่มอาการลักษณะนี้ในคนไข้ของเขา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาดและมีสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่เด็กเหล่านี้มีปัญหาค่อนข้างมากในด้านทักษะในการเข้าสังคม โดยเฉพาะการสื่อสารกับผู้อื่นให้เข้าใจ และการปฏิบัติตนเมื่ออยู่ร่วมกับคนอื่นๆ

แอสเพอร์เกอร์ต่างกับออทิสติคอย่างไร

แม้ว่าแอสเพอร์เกอร์จะเเป็นกลุ่มอาการที่คล้ายกับโรคออทิสติค (Autism) แต่อาการแสดงก็ไม่เหมือนเสียทีเดียว โดยแอสเพอร์เกอร์มีพัฒนาการด้านภาษาดีกว่าออทิสติค แต่ก็จะมีอาการบางอย่างที่คล้ายกัน เช่น ไม่ค่อยสบตาคน ชอบแยกตัว เข้ากับเพื่อนไม่ค่อยได้ ชอบพูดเรื่องที่ตัวเองสนใจโดยที่ไม่ได้สังเกตว่าผู้ร่วมสนทนาจะสนใจด้วยหรือเปล่า

ปัญหาหลักของเด็กที่มีอาการแอสเพอร์เกอร์คือการเข้าสังคม
ปัญหาหลักของเด็กที่มีอาการแอสเพอร์เกอร์คือการเข้าสังคม

อาการแสดงออกของแอสเพอร์เกอร์

อาหารหลักคือมีปัญหาในการเข้าสังคมกับคนอื่นๆ ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น มีความหมกมุ่นอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เหมือนเป็นแบบย้ำคิดย้ำทำ มักชอบทำอะไรซ้ำๆ หรือมีรายละเอียดในการปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันที่เหมือนเดิมเสมอ หรืออาจชอบสวมใส่เสื้อผ้าบางแบบซ้ำๆกัน โดยไม่เปลี่ยนไปใส่แบบอื่นเลย

มีลักษณะการพูดที่แปลก รวมทั้งพฤติกรรมบางอย่างที่แปลกไปจากธรรมดา เด็กเหล่านี้มักไม่ค่อยมีสีหน้าที่แสดงออกถึงอารมณ์และความรู้สึก และมักจะมีปัญหาในการอ่านใจและภาษาท่าทางของคนอื่นๆที่ตนสนทนาด้วย บางรายมีความไวต่อสิ่งเร้าที่มาจากภายนอกมากกว่าคนทั่วไป เช่น อาจจะรู้สึกรำคาญกับแสงไฟเล็กๆบนเพดาน ในขณะที่คนอื่นๆอาจจะไม่ได้สังเกตด้วยซ้ำว่ามีไฟดวงนั้นอยู่

โดยทั่วไปเด็กที่มีปัญหาในกลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์นี้จะสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่อาจจะเกิดปัญหาบ้างเมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ โดยอาจมีพฤติกรรมการแสดงออกที่ไม่สมวัย ดูเด็กกว่าวัย (Socially Immature) หรือมีลักษณะแปลกๆต่างจากเด็กคนอื่น

ลักษณะอื่นๆที่อาจพบได้ในแอสเพอร์เกอร์ คือ พัฒนาการด้านเคลื่อนไหวและกล้ามเนื้อ จะค่อนข้างช้าหรือไม่คล่องตัวเท่าเด็กทั่วไป ดูเหมือนงุ่มง่ามกว่า และไม่ค่อยสนใจสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัว และอาจหมกมุ่นอยู่กับบางเรื่องอย่างมาก เช่น อาจสนใจหรือพูดแต่เรื่องไดโนเสาร์อย่างเดียวอยู่ตลอดเวลา แสดงความหมกมุ่นมากเกินเด็กวัยเดียวกัน เรื่องที่เขาสนใจมักจะเป็นเรื่องที่เด็กในวัยเดียวกันไม่สนใจ เช่น ชอบดูโลโก้สินค้า เวลาไปเห็นที่ไหนก็ดูและจำชื่อแบรนด์ได้แม่นยำ เป็นต้น

เมื่อเด็กเหล่านี้โตเป็นผู้ใหญ่ ก็จะยังมีปัญหาในการเข้าสังคมกับผู้อื่น เช่น ไม่ค่อยสนใจในความรู้สึกของผู้อื่น ไม่ค่อยมีความเห็นอกเห็นใจ หรือมีอารมณ์ร่วมกับคนอื่นๆ ทำให้มีปัญหาในการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและคนรอบข้าง ปัญหาเหล่านี้จะยังคงอยู่ไปตลอด แม้ว่าจะมีอายุมากขึ้นหรือมีวุฒิภาวะที่มากขึ้นตามวัย แต่อาการแสดงออกจะยังมีให้เห็นเป็นช่วงๆได้

เด็กแอสเพอร์เกอร์มักมีความหมกมุ่นสนใจในเรื่องที่เด็กวัยเดียวกันไม่ค่อยสนใจ
เด็กแอสเพอร์เกอร์มักมีความหมกมุ่นสนใจในเรื่องที่เด็กวัยเดียวกันไม่ค่อยสนใจ

อาการแสดงของกลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ที่พบบ่อยในเด็ก

  • มีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับผู้อื่นอย่างไม่เหมาะสมกับวัย หรือไม่ชอบที่จะเข้าสังคมกับผู้อื่น
  • เรื่องที่พูดคุยมักเกี่ยวกับเรื่องของตนเองมากกว่าเรื่องอื่นๆหรือพูดถึงคนอื่น
  • มักชอบพูดซ้ำๆถึงเรื่องเดิมๆ ด้วยคำพูดที่เหมือนเดิม
  • มักไม่ค่อยมีไหวพริบปฏิภาณในเรื่องธรรมดาทั่วไป (Lack of Common Sense)
  • มักมีปัญหาในการใช้ทักษะด้านการอ่าน การเขียน หรือคณิตศาสตร์
  • มักมีความสนใจหรือหมกมุ่นในเรื่องบางเรื่องที่มีความซับซ้อน เช่น ลวดลายแพทเทิร์น วงจรไฟฟ้า หรือดนตรีคลาสสิค
  • การพูดและทักษะการพูดอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือดีกว่าเกณฑ์ กล่าวคือ เด็กจะรู้คำศัพท์มากและใช้ได้ถูกหลักไวยากรณ์ แต่ในแง่เนื้อหาหรือการสื่อความหมายในเรื่องที่พูดจะไม่เหมือนเด็กปกติ
  • ทักษะทางด้านอื่นๆที่ไม่ใช่ภาษาพูด มักอยู่ในเกณฑ์ปกติจนถึงต่ำกว่าปกติ
  • มีการเดินหรือเคลื่อนไหวที่ดูไม่คล่องตัว ทักษะการเคลื่อนไหวค่อนข้างต่ำกว่าเกณฑ์
  • มีพฤติกรรมแปลกๆ ดูไม่ค่อยมีมารยาทในบางครั้ง เมื่อต้องเข้าสังคม

ปัญหาของการเป็นเด็กแอสเพอร์เกอร์

ปัญหาที่เกิดขึ้นหลักๆคือ คนรอบข้างไม่เข้าใจ ด้วยความที่เขาพูดจาไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ เนื่องจากอ่านอารมณ์ของคนรอบข้างไม่ออกและขาด common sense เช่น เดินผ่านผู้ใหญ่ที่ยีนสูบบุหรี่ในโรงเรียน ก็ไปพูดกับเขาว่า "สูบบุหรี่ไม่ดีนะครับคุณน้า ทำให้ตายไว แล้วป้ายห้ามโรงเรียนก็ติดไว้ ทำไมยังกล้าสูบ" ก็อาจจะทำให้คนฟังเกิดความไม่พอใจได้ ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ของคุณพ่อคุณแม่ด้วย เพราะลูกจะโดนตำหนิ คนจะมองว่าพ่อแม่ไม่สั่งสอน ไม่อบรมมารยาทหรืออย่างไร เด็กจึงไม่รู้กาละเทศะแบบนี้ ทั้งที่พ่อแม่ส่วนมากก็สอนกันอย่างเต็มที่แล้ว แต่เด็กมีความบกพร่องจึงทำให้เขาไม่สามารถเข้าใจได้อย่างที่เด็กทั่วไปเข้าใจ

อะไรเป็นสาเหตุ?

ในปัจจบันพบว่าผู้ป่วยแอสเพอร์เกอร์มีแนวโน้มสูงขึ้น และเชื่อว่ามีความบกพร่องในสารพันธุกรรม ที่ก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดจากการถ่ายทอดจากรุ่นต่อรุ่น ค่อยๆสะสมความผิดปกติจนมาแสดงออกในรุ่นหนึ่ง หรือจะเป็นการกลายพันธุ์ของยีนกันแน่  ก็ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด

อาการที่เด่นชัดคือจะชอบแยกตัว ไม่ชอบมีปฏิสัมพันธ์กับบผู้อื่น
อาการที่เด่นชัดคือจะชอบแยกตัว ไม่ชอบมีปฏิสัมพันธ์กับบผู้อื่น

จะรู้ได้อย่างไรหากลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์

ในช่วงที่ลูกยังเล็กจะดูออกยากมาก เพราะเด็กก็มีหน้าตาและท่าทางที่เป็นปกติ แต่ข้อชวนสงสัยแรกคือ เด็กไม่ค่อยตอบสนอง จะไม่ค่อยอยากให้อุ้ม เวลาไปเล่นด้วยก็ไม่ค่อยสนใจ ไม่โต้ตอบ ไม่มอง ไม่ยิ้มด้วย สิ่งที่ยากสำหรับพ่อแม่คือ หากยังไม่เคยมีลูกมาก่อนก็จะไม่มีตัวเปรียบเทียบ ถ้าเคยมีลูกมาแล้วก็จะพอแยกความแตกต่างได้ แต่จะสามารถดูได้ชัดเจนขึ้นบ้างก็ต้องรอให้ลูกมีอายุ 1-2 ขวบขึ้นไป

เมื่อพ่อแม่ไม่สามารถแยกแยะได้หรือสังเกตพฤติกรรมของลูกได้ช้า หลายๆคนจึงมาพบแพทย์เมื่อเกิดปัญหาหนักแล้ว พบปัญหาเมื่อถึงวัยที่ต้องเข้าโรงเรียน ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เมื่อนั้นความแตกต่างและเข้ากันไม่ได้กับเด็กอื่นจะเผยชัดออกมา ดังนั้น หากพ่อแม่เริ่มมีความเอะใจสงสัยก็สามารถพาลูกมาตรวจประเมินได้เลย อย่ารอให้นานเกินไป อย่ากลัวที่จะรู้ว่าลูกมีอาการ หากไม่รีบพามารับการแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ เด็กจะเสียโอกาสได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสม และมีปัญหาในการเข้าสังคมติดไปจนโต สิ่งนี้น่ากลัวกว่ามาก

เบื้องต้นนั้นจิตแพทย์เด็กจะประเมินดูก่อนว่าต้องให้เด็กตรวจอะไรเพิ่มเติมและไปฝึกกับใครบ้าง เช่น ไปพบนักกิจกรรมบำบัดเพื่อฝึกสมาธิ ทักษะสังคม หรือฝึกพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหว หรือไปพบนักจิตวิทยาเพื่อปรับพฤติกรรม กระตุ้นพัฒนาการ ฉะนั้น การวางแผนการดูแลต้องรีบทำตั้งแต่เนิ่นๆ เด็กมีปัญหาในจุดไหนก็ต้องแก้ตรงนั้น เด็กยังขาดอะไรก็ต้องเสริมจุดนั้น นอกจากนี้ เด็กบางคนอาจมีปัญหาสมาธิสั้นร่วมด้วย และเด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์เกือบครึ่งจะมีปัญหาสมาธิสั้น

ลูกจะหายขาดได้ไหม?

แพทย์และตัวคุณพ่อคุณแม่เองสามารถร่วมมือกันพัฒนาให้ลูกมีอาการที่ดีขึ้นได้ด้วยการฝึกทักษะการดูแลตนเองในชีวิตประจำวัน ฝึกฝนทักษะทางสังคมอย่างต่อเนื่อง การพูดจาให้เหมาะสม และการเข้าสังคมกับเพื่อนฝูง ล้วนเป็ทักษะที่ต้องอาศัยการฝึกฝนตามสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

เมื่อลูกโตขึ้นและได้ทำงานที่เหมาะสมกับตนเอง เขาจะสามารถใช้ความสามารถที่มีได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเด็กแอสเพอร์เกอร์จะมีความสามารถสูง โดยเฉพาะกับเรื่องที่เขาหมกมุ่นสนใจเป็นพิเศษ เขาจะรู้จริงและรู้ลึกมากกว่าคนอื่นๆด้วยซ้ำ ในที่สุดแล้วเขาจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0