โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

Apple ถูกศาลห้ามขาย iPhone ในจีน

ลงทุนแมน

อัพเดต 12 ธ.ค. 2561 เวลา 12.13 น. • เผยแพร่ 12 ธ.ค. 2561 เวลา 12.50 น. • ลงทุนแมน

Apple ถูกศาลห้ามขาย iPhone ในจีน / โดย ลงทุนแมน

Apple ถูกศาลเมืองฝูโจวสั่งระงับการขาย iPhone ในประเทศจีน

คำฟ้องระบุว่า Apple ละเมิดสิทธิบัตรซอฟต์แวร์ 2 ฉบับของบริษัท Qualcomm ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่สัญชาติอเมริกัน

แล้วทำไมบริษัทอเมริกัน 2 บริษัท ดันไปทะเลาะกันที่ประเทศจีน?

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับบริษัท Qualcomm กันก่อน

Qualcomm เป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ก่อตั้งในสหรัฐอเมริกา และเป็นคู่ค้าทางธุรกิจกับ Apple ในด้านชิ้นส่วนเปลี่ยนสัญญาณดิจิทัล หรือ Wireless Modem

รายได้ของบริษํท Qualcomm
ปี 2016 รายได้ 7.7 แสนล้านบาท กำไร 1.9 แสนล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 7.3 แสนล้านบาท กำไร 0.8 แสนล้านบาท

โดยบริษัท Qualcomm มีรายได้หลักมาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 75% และค่าลิขสิทธิ์ (Licensing) สูงถึง 25%

อย่างไรก็ตาม บริษัท Qualcomm ถูกฟ้องร้องจากหลายประเทศทั่วโลกเรื่องการผูกขาดชิ้นส่วน Wireless Modem ที่นิยมใช้กันบนสมาร์ตโฟน

จนกระทั่ง Qualcomm ถูกสั่งปรับจากกรณีดังกล่าวถึง 2.5 หมื่นล้านบาท โดยคณะกรรมการการค้าประเทศไต้หวัน (Taiwan’s Fair Trade Commission) ในปี 2017

รวมถึง Apple บริษัทคู่ค้าที่ทำธุรกิจกันมายาวนาน กลับเข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยฟ้องร้อง Qualcomm ว่าผูกขาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และตั้งราคาสินค้าที่ไม่เป็นธรรม

พอเรื่องเป็นแบบนี้
Qualcomm ก็ได้ฟ้อง Apple กลับไปว่า..

Apple นำความลับทางการค้าและเทคโนโลยีของ Qualcomm ไปให้บริษัทคู่แข่งอย่าง Intel

มากไปกว่านั้น
ในปีนี้ Qualcomm ยังเดินหน้าฟ้องร้องเพิ่มเติมตั้งแต่กลางปี 2018 เรื่องที่ Apple ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาโดยสั่งฟ้อง Apple ทั้งในสหรัฐอเมริกา และในอีกหลายๆ ประเทศ

จนกระทั่ง การฟ้องร้องในประเทศจีนถูกพิจารณาให้ Apple มีความผิด..

ความผิดที่ว่าคือ Apple ละเมิดสิทธิบัตรเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ 2 ฉบับประกอบไปด้วย เทคโนโลยีการย่อขนาดภาพ และฟังก์ชันการจัดการแอปพลิเคชันโดยหน้าจอสัมผัส

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ศาลจีนออกคำสั่งระงับการขาย iPhone ในประเทศจีนตั้งแต่รุ่น iPhone 6 จนถึง iPhone X..

แล้วสินค้า Apple ขายในประเทศจีนมากขนาดไหน?

รายได้ของ บริษัท Apple Inc.

ปี 2015 รายได้ 7.7 ล้านล้านบาท มาจากประเทศจีน 1.9 ล้านล้านบาท (25%)

ปี 2016 รายได้ 7.1 ล้านล้านบาท มาจากประเทศจีน 1.6 ล้านล้านบาท (23%)

ปี 2017 รายได้ 7.5 ล้านล้านบาท มาจากประเทศจีน 1.5 ล้านล้านบาท (20%)

หมายความว่า ประเทศจีนเป็นเครื่องจักรผลิตเงินที่มีสัดส่วนกว่า 1 ใน 5 ของรายได้รวมตลอด 3 ปีล่าสุด

ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด หาก Apple ไม่สามารถกลับมาชนะคดีนี้ในศาลชั้นต่อไปได้
รายได้จากการขาย iPhone ในประเทศจีนอาจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม Apple ระบุว่า..

ข้อบังคับใช้จากศาลจีนส่งผลกระทบต่อ iPhone ที่วางขายบนระบบปฏิบัติการ iOS 11 ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการเก่า

สินค้าที่ผลิตในปีนี้ถูกอัปเกรดเป็น iOS 12 รวมถึง iPhone รุ่นใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวจะถูกวางขายเหมือนเดิมทั้งทางหน้าร้าน และเว็บไซต์เนื่องจากไม่ได้ละเมิดสิทธิบัตรของ Qualcomm..

อย่างไรก็ตาม รายงานของ Wall Street Journal ระบุว่าคนจีนนิยมซื้อ iPhone รุ่นเก่าเป็นสัดส่วนมากถึง 40% ของยอดขาย iPhone ทั้งหมด และประเมินตัวเลขยอดขายที่จะหายไปไว้ที่ 4 แสนล้านบาท..

ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ

รู้หรือไม่ว่า..
ปัจจุบัน Qualcomm และ Apple มีสิทธิบัตรที่ได้รับการยอมรับประมาณ 46,489 และ 25,033 ฉบับตามลำดับ

แต่ที่น่าสนใจคือ บริษัท Samsung

บริษัท Samsung มีการจดสิทธิบัตรที่ได้รับการยอมรับไปแล้วกว่า 335,155 ฉบับ มากกว่าสิทธิบัตรของ Apple, Google, Facebook, Amazon, Uber และ Netflix รวมกันทั้งหมด..

References
-https://www.wsj.com/articles/apple-hit-with-iphone-sales-ban-in-china-qualcomm-says-1544450774
-https://www.uspto.gov/
-https://investor.qualcomm.com/static-files/3bee5a52-757b-4ac6-9468-b0102bdc4418
-http://www.patsnap.com/resources/innovation/
-https://gizmodo.com/apple-and-qualcomm-slap-fight-continues-with-ban-on-i-1830994133
-https://www.thestreet.com/opinion/china-ban-apple-older-iphones-is-unsettling-14805834
-https://www.visualcapitalist.com/patent-wars-tech-innovation-supremacy/
-https://www.theukdomain.uk/patent-wars/#/
-https://www.theverge.com/2017/10/11/16461396/qualcomm-taiwan-fine-abusing-monopoly-position-modems

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0