โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Anna Wintour ราชินีน้ำแข็งผู้ประสบความสำเร็จ หรือ มนุษย์นิวเคลียร์วงการแฟชั่นกันแน่? - เพจพื้นที่ให้เล่า

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 11 ก.ค. 2563 เวลา 00.57 น. • เพจพื้นที่ให้เล่า

ถ้าพูดถึงสตรีทรงอิทธิพลแนวหน้าของโลก และ ผู้หญิงที่คร่ำหวอดวงการแฟชั่นมาอย่างยาวนาน อมตะแบบฆ่าไม่ตาย อย่างไรก็ต้องคิดถึงคนคนนี้ 'Anna Wintour'

ในปี 2017 ที่ผ่านมา นิตยสาร Forbes ที่คอยจัดอันดับบุคคลในโลกเรา ก็ได้จัดอันดับรายชื่อสตรีที่ทรงอิทธิพลในอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงออกมาอีกครั้ง โดยคราวนี้คนที่ได้รับตำแหน่งอันดับ 1 ได้แก่..แอนนา วินทัวร์ บรรณาธิการนิตยสาร Vogue New York ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 ทุกคนมักจะคุ้นชินกับผู้หญิงคนนี้ในทรงผมสั้นเต๋อ สวมแว่นตาดำใหญ่โตของ Chanel เป็นหลัก

เล่าคร่าวๆ ถึงพื้นเพของเธอ แอนนาเกิดเมื่อปี 1949 ที่กรุงลอนดอน โดยมีคุณพ่อชาวอังกฤษและคุณแม่ชาวอเมริกัน โดยความสามารถทางการทำสื่อสิ่งพิมพ์ของเธอนั้นได้รับการถอดแบบมาจากคุณพ่ออย่างไม่มีผิดเพี้ยน เรียกได้ว่าแกะมาทุก DNA เลยทีเดียว เพราะคุณพ่อของเธอคือ Charles Wintour ผู้ทำงานเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ชั้นนำในลอนดอนทั้ง London Evening Standard และ Sunday Express นอกจากนั้นยังมีนิสัยเย็นชาอย่างเหลือเชื่อ จนได้รับฉายาว่า Chilly Charlie สิ่งนี้ทำให้คนมักพูดกันอย่างติดตลกว่านิสัยนี้เป็นสิ่งที่แอนนาได้รับจากพ่อมายิ่งกว่าความสามารถในการทำงานซะอีก ซึ่งเธอก็เริ่มสนใจแฟชั่นและติดตามหนังสือแฟชั่นมาตลอดตั้งแต่เด็กจนโต จนกระทั่งเมื่ออายุ 16 ปี เธอก็ได้ตัดสินใจเลิกเรียนและหางานทำเกี่ยวกับแฟชั่น เริ่มจากพนักงานขายเสื้อผ้า พยายามหาความรู้และร่ำเรียนด้านแฟชั่น จนสุดท้ายก็สามารถทำงานอยู่ในแนวหน้าของวงการได้อย่างปัจจุบัน
คนไหนที่ไม่ได้อยู่ในวงการแฟชั่นอาจเคยรู้จักและผ่านตาหน้าของเธอมาบ้างตามสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกงานสังคม การชมแฟชั่นวีค การให้สปอนเซอร์ดีไซเนอร์ใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งแวดวงคนดูหนังเอง เพราะแอนนาคนนี้คือต้นแบบของบรรณาธิการนางมารร้ายในหนังเรื่อง The Devil Wears Prada (2006) หนังโด่งดังอมตะที่หลายคนชื่นชอบ เป็นหนังที่ทำมาจากหนังสือชื่อเดียวกันที่ผู้เขียนเคยทำงานเป็นเลขาของแอนนามาก่อน ตอนนั้นเรียกได้ว่าแอนนาเจอกระแสต่อต้านอย่างหนัก คำที่ผู้คนในวงการแฟชั่นมักเรียนขานเธออย่าง ราชินีน้ำแข็ง, นิวเคลียร์วินทัวร์ และดาร์ธ เวเดอร์ ยิ่งกลายเป็นสิ่งตอกย้ำถึงมุมมองของคนแฟชั่นที่มีต่อแอนนาในแง่ลบ ถึงแม้ไม่กี่ปีมานี้ นักแสดงสาวที่เล่นในเรื่องจะออกมาเปิดเผยว่า ตัวต้นแบบของบรรณาธิการแฟชั่นตัวจี๊ดได้ถูกประกอบสร้างจากคนในวงการ Hollywood 2 คนด้วยกัน ไม่ใช่แอนนาซะทีเดียว แต่ก็เป็นเรื่องที่ถูกออกมาเปิดเผยในภายหลังมากๆ ผู้คนต่างได้สงสัยและลืมเลือนกันไปหมดแล้ว 

ภาพเทียบระหว่างบทบรรณาธิการในภาพยนตร์เรื่อง The Devil Wears Prada และแอนนา วินทัวร์
ภาพเทียบระหว่างบทบรรณาธิการในภาพยนตร์เรื่อง The Devil Wears Prada และแอนนา วินทัวร์

แต่ถึงอย่างนั้นเรื่องราวดราม่าใหญ่โตในครั้งนั้นก็ยิ่งทำให้แอนนาก้าวกลับมายืนอยู่ในสื่อแนวหน้าของสังคมได้แกร่งกว่าเดิม การทำงานอันโหดคงเส้นคงวาของเธอยังคงเป็นที่พูดถึงปัจจุบัน พอๆกับในอดีตที่เธอเคยมีส่วนเกี่ยวข้องในดราม่าเกี่ยวกับการทำงานมามากมาย ตั้งแต่การปฏิรูปวงการนิตยสารด้วยการเอานักแสดง Hollywood มาขึ้นปกหนังสือแทนนางแบบ การสนใจดึงนักร้องและไอดอลเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนวงการแฟชั่น และการต่อสู้เปลี่ยนแปลงการทำงานในแฟชั่นวีค 

Michaela Bercu บนปก Vogue ในปี 1988 ปกนิตยสาร Vogue อเมริกาเล่มแรกที่แอนนา วินทัวร์ดูแล
Michaela Bercu บนปก Vogue ในปี 1988 ปกนิตยสาร Vogue อเมริกาเล่มแรกที่แอนนา วินทัวร์ดูแล

ถึงใครจะเรียกก่นด่าเธอว่าอย่างไร อีกมุมหนึ่งมีดีไซเนอร์ไม่น้อยต่างก็ดีใจที่แอนนาอยู่ในวงการ เพราะเธอเป็นเหมือนแม่พระที่คอยผลักดันและแก้ไขปัญหาให้กับดีไซเนอร์ทุกคนที่รู้จัก หลายคนถึงกับยืนยันว่าเธอจริงใจและให้ค่ากับเพื่อนในวงการมาก ซึ่งผิดกับสิ่งที่สื่อและคนทั่วไปเข้าใจในตัวแอนนาเป็นอย่างมาก
 

สำหรับหลายคนที่มองว่าวงการแฟชั่นเป็นเรื่องไร้สาระ เป็นศาสตร์ที่สนใจแค่ความสวยงาม แต่รู้หรือไม่ว่าแท้จริงโลกของเรานั้น มีเม็ดเงินจำนวนมากที่หมุนไปด้วยกลไกลของแฟชั่นวีคและแบรนด์ความงาม ต้องบอกว่ามากเพียงพอที่จะกำหนดกลไกการบริหารเศรษฐกิจของแต่ละประเทศได้เลย และหนึ่งบุคคลที่กำหนดกลไกทางการตลาดและเศรษฐศาสตร์ตรงนี้อย่างเด็ดเดี่ยว มีทักษะในการอ่านเกมที่ขาดลอยก็คือบรรณาธิการแฟชั่นอันดับหนึ่งอย่าง แอนนา วินทัวร์

ที่สำคัญภาพการตลาดของเธอเต็มไปด้วยความทะเยอทะยานและออกนอกกรอบ ผู้บริโภคไม่ว่าจะเพศไหน วัยไหนก็ต่างได้รับอิทธิพลที่จะตัดสินใจซื้อแฟชั่นหรือไลฟ์สไตล์อะไรบางอย่างจากแอนนาและทีมงานอยู่ดี เพราะตัวเธอไม่ได้คร่ำหวอดอยู่แต่ในวงการแฟชั่นเท่านั้น แอนนายังทำงานขับเคลื่อนวงการต่างๆ ควบคู่กับแฟชั่นมาแต่ไหนแต่ไร ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า.. เธอได้นำ celebrities นักกีฬา นักดนตรี นักบอลที่มีชื่อเสียงในอดีต รวมถึงเหล่านักแสดงแนวหน้าของโลกมาขึ้นปก เพื่อทำยอดขาย ฝ่าฟันความเชื่อเดิมๆ ที่ให้พื้นที่เฉพาะกับนางแบบ-นายแบบ กลายเป็นการสร้างกระแสครั้งใหญ่และพิสูจน์ตัวเองให้คนกลับมาสนใจนิตยสาร Vouge กันมากขึ้น แม้กระทั่งวง Spice Girls ที่โด่งดังเป็นพลุแตกในอดีต แต่มีคนในวงการแฟชั่นหลายคนคัดค้านที่จะร่วมงานด้วย แอนนาก็ยังเอามาขึ้นปกทำให้เกิดการพูดถึงนิตยสารในวงกว้าง ถึงแม้ตอนท้ายแอนนาจะเคยออกมาให้สัมภาษณ์หลังจากเหตุการณ์นั้นว่า ใจจริงเธอก็ไม่ค่อยโอเคกับการตัดสินใจครั้งนั้นของตัวเองเท่าไรก็ตามที 

เขาสามารถเชิญแขกรับเชิญมาเซอร์ไพรส์คนได้

จริงๆ เห็นแบบนี้ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เดินบนปุยเมฆได้มาง่ายๆ ไปซะหมด ครั้งหนึ่งแอนนาได้พบเจอกับความผิดพลาดที่เป็นหลักชัยในการใช้ชีวิตเช่นเดียวกัน เป็นช่วงปี 1975 ที่เธอโดนไล่ออกจากนิตยสาร Harper's Bazaar หลังจากทำงานได้เพียง 9 เดือน เท่านั้นยังไม่พอ พอเธอไปเริ่มทำงานที่ใหม่ในนิตยสารใหม่ นิตยสารนั้นก็ถูกปิดตัวลงไปด้วยปัญหาการเงินอีก ก่อนจะเดินทางมาสู่ Vouge เป็นลำดับสุดท้าย

โดยแอนนาได้กล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า "ทุกคนควรจะผ่านการล้มเหลวอย่างน้อยหนึ่งครั้ง เพราะนั่นจะเป็นบทเรียนที่สอนเราว่า ความสมบูรณ์แบบนั้นไม่มีจริง สิ่งสำคัญคือคุณต้องรู้จักการพ่ายแพ้ เพราะนั่นคือความเป็นจริงของชีวิต”

คงไม่มีใครตอบได้ 100 เปอร์เซนต์ว่าเราควรจะเรียกขานเธอว่าอย่างไรในชีวิต เรียกว่าผู้หญิงเก่ง ราชินีน้ำแข็ง หรือคำเรียกขานสุดโต่งอย่างมนุษย์นิวเคลียร์
เพราะสุดท้ายแล้วคนคนหนึ่งเองก็คงจะสามารถสวมหมวกได้หลายใบเช่นเดียวกัน 
แต่จะดีไม่ดีอย่างไร สิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับกับผู้หญิงคนนี้ คือเธอเป็นผู้นำที่เจนสนาม แกร่งจนประสบความสำเร็จได้อย่างเหลือเชื่อจริงๆ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0