โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Alopecia Areata อยู่ๆผมของหนูก็ร่วงเป็นหย่อม

Motherhood.co.th

เผยแพร่ 16 ก.ค. 2562 เวลา 06.30 น. • Motherhood.co.th Blog
Alopecia Areata อยู่ๆผมของหนูก็ร่วงเป็นหย่อม

Alopecia Areata อยู่ๆผมของหนูก็ร่วงเป็นหย่อม

คุณพ่อคุณแม่อาจจะทำใจได้บ้างแล้วเวลาเห็นผมของตัวเองหลุดร่วงไปตามวัย แต่เวลาที่เห็นผมลูกร่วง แถมมีอาการร่วงเป็นหย่อมอีก ย่อมใจไม่ดีแน่ มารู้จักกับ Alopecia Areata หรือโรคผมร่วงเป็นหย่อม โรคนี้จะมีวิธีรักษาอย่างไร แล้วจะป้องกันได้หรือไม่ คุณพ่อคุณแม่ติดตามอ่านกันนะคะ

โรคผมร่วงเป็นหย่อมเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ไปทำลายต่อมรากผม
โรคผมร่วงเป็นหย่อมเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ไปทำลายต่อมรากผม

อาการผมร่วงในเด็ก

อาการผมร่วงในเด็กนั้นเกิดจากสาเหตุหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการถักผมที่แน่นเกินไปจนเกิดแรงรั้ง หรือโรคชอบถอนผมตัวเองเล่น แต่ที่พบสาเหตุได้มากที่สุดคือ Alopecia Areata หรือโรคผมร่วงเป็นหย่อม เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่ากายทำปฏิกิริยากับการเติบโตของเส้นผม

Alopecia Areata หรือโรคผมร่วงเป็นหย่อมนั้น เชื่อกันว่าเกิดมาจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ไปทำลายต่อมรากผม จนทำให้ผมร่วง โดยอาการสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกาย เช่น ผม คิ้ว ขนตา หนวด รักแร้ และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยด้วย แต่จะพบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ซึ่งปริมาณของผมหรือเส้นขนที่ร่วงและที่งอกขึ้นมาใหม่นั้นจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย และปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่รักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ แต่ก็มีวิธีที่ช่วยเร่งให้ผมงอกออกมาใหม่ได้เร็วขึ้นและป้องกันการร่วงในอนาคต

อาการของโรคผมร่วงเป็นหย่อม

เด็กที่ป่วยโรคนี้จะมีอาการผมร่วงเป็นหย่อมๆ โดยปกติผมบริเวณที่ร่วงจะมีลักษณะเป็นวงกลมเท่ากับเหรียญขนาดใหญ่ อาจมีอาการคันหรือมีผื่นแดงขึ้นมาด้วยในบริเวณที่ผมร่วง แต่ก็พบได้ไม่มาก หรืออาจมีขนในส่วนอื่นๆร่วงร่วมด้วย เช่น ขนตา คิ้ว ขนตามแขนหรือขา

ผมและขนที่หลุดร่วงออกไปนั้นจะสามารถงอกกลับขึ้นมาใหม่ได้ภายในระยะเวลาเฉลี่ย 3-4 เดือน หรืออย่างช้าสุดก็ภายใน 1 ปี แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่งอกกลับคืนมาอีกเลย ทั้งนี้ อาการผมร่วงเป็นหย่อมอาจจะหายไปแล้วกลับมาได้อีก ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลและไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะกลับมาหรือไม่ นอกจากอาการผมร่วงเป็นหย่อมแล้ว ผู้ป่วยอาจจะมีอาการผมร่วงทั้งศีรษะ (Alopecia Totalis) และอาการเส้นขนตามร่างกายหลุดร่วง (Alopecia Universalis) เพิ่มด้วย

นอกจากนี้โรคผมร่วงเป็นหย่อมยังสามารถเกิดอาการที่เล็บได้ด้วย ซึ่งเล็บจะเกิดความผิดปกติ เช่น เล็บขรุขระ เล็บเปราะ หรือมีจุดแดงบริเวณโคนเล็บ แต่ก็เป็นอาการที่พบได้ค่อนข้างน้อย

ขนและผมที่ร่วงนั้นจะงอกขึ้นใหม่ได้เองภายใน 3-4 เดือน
ขนและผมที่ร่วงนั้นจะงอกขึ้นใหม่ได้เองภายใน 3-4 เดือน

สาเหตุของโรคผมร่วงเป็นหย่อม

โรคผมร่วงเป็นหย่อมเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยที่ความผิดปกตินี้จะไปสร้างความเสียหายต่อรูขุมขน จนทำให้รูขุมขนมีขนาดเล็กลงและไม่สามารถผลิตเส้นผมขึ้นมาได้ ซึ่งโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย และแม้ว่าปัจจัยที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องจะยังไม่สามารถทราบได้แน่ชัด แต่อาจมีปัจจัยบางอย่างที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในโรคนี้ได้ เช่น

  • ความผิดปกติทางพันธุกรรม อย่างกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม
  • มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้ หรือเป็นโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน เช่น โรคเบาหวานประเภท 1 โรคเกี่ยวกับไทรอยด์ โรคด่างขาว โรคภูมิแพ้ตัวเอง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือภาวะลำไส้เป็นแผล (Ulcerative Colitis) เป็นต้น
  • การเจ็บป่วยอื่นๆ เช่น การติดเชื้อไวรัส
  • การได้รับยาบางชนิด
  • ความเครียด

การวินิจฉัยโรคผมร่วงเป็นหย่อม

แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการของโรคนี้ได้ด้วยการตรวจดูหนังศีรษะตรงที่ผมร่วง และตัวอย่างเส้นผมในบริเวณที่เกิดอาการ รวมทั้้งอาจวินิจฉัยเพิ่มเติมได้ด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้

  • ตรวจชิ้นเนื้อหนังศีรษะ โดยนำตัวอย่างผิวหนังบริเวณที่เกิดอาการไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อหาสาเหตุของอาการผมร่วง
  • ตรวจเลือด แพทย์อาจะตรวจเลือดเพื่อดูระบบภูมิคุ้มกันว่ามีความผิดปกติใดหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้ โดยวิธีนี้จะสามารถบอกได้ถึงปริมาณสารต่างๆที่อยู่ภายในเลือด เช่น ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ ปริมาณโปรตีนที่บ่งชี้การอักเสบ และปริมาณธาตุเหล็ก เป็นต้น

การรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อม

ปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ แต่เบื้องต้นแพทย์จะแนะนำให้รอจนผมงอกออกมาเอง ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน เพราะปกติแล้วผมของผู้ป่วยจะสามารถงอกขึ้นมาเองได้โดยไม่ต้องทำการรักษา อีกทั้งโรคนี้ก็ไม่ได้มีอันตรายร้ายแรงกับผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม มีบางวิธีที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีผมงอกขึ้นมาได้ไวเร็วกว่าวิธีตามธรรมชาติ ได้แก่

  • การใช้สเตียรอยด์

สเตียรอยด์จะเข้าไปยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่สร้างความเสียหายแก่รูขุมขน และทำให้เส้นผมสามารถงอกขึ้นใหม่ได้อีกครั้ง ซึ่งการใช้สเตียรอยด์มีหลายรูปแบบ ทั้งแบบฉีดซึ่งได้ผลดีในกรณีที่ผมไม่ได้ร่วงเป็นบริเวณกว้างมากนัก และแบบทาที่จะเห็นผลช้ากว่า และจะต้องรอเป็นเวลา 3-6 เดือน โดยการใช้ยาชนิดนี้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

  • การใช้ยาปลูกผม 

การรักษาด้วยวิธีนี้มีโอกาสสำเร็จน้อย โดยปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนจึงจะเริ่มเห็นผล แต่หากใช้ยาปลูกผมมาเป็นเวลามากกว่า 1 ปีแล้ว ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ควรหยุดยาแล้วเปลี่ยนไปใช้วิธีการรักษาอื่นแทน

  • การทำภูมิคุ้มกันบำบัด

การทำภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการให้สารที่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพที่ผิวหนังลงบนบริเวณผมที่ร่วง เพื่อทำให้เกิดการอักเสบที่จะนำไปสู่การกระตุ้นให้ผมกลับมางอกขึ้นใหม่ได้อีกครั้ง แต่วิธีการนี้มีผลข้างเคียงที่อาจทำให้เกิดโรคผิวหนังชนิดอื่นตามมาได้

  • วิธีการอื่นๆ

ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารเสริมจำพวกวิตามินหรือสมุนไพร รักษาด้วยวิธีการฝังเข็ม ซึ่งอาจช่วยให้ผมงอกขึ้นมาใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม วิธีเหล่านี้เป็นเพียงการรักษาทางเลือก ที่ยังไม่ได้รับการยืนยันทางการแพทย์ว่าจะช่วยรักษาอาการผมร่วงเป็นหย่อมหรือทำให้อาการดีขึ้นได้ ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกทอดลองใช้การรักษาทางเลือกใดๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

ผู้ป่วยเสี่ยงเป็นโรคทางภูมิคุ้มกัน เช่น โรคเกี่ยวกับไทรอยด์ โรคด่างขาว
ผู้ป่วยเสี่ยงเป็นโรคทางภูมิคุ้มกัน เช่น โรคเกี่ยวกับไทรอยด์ โรคด่างขาว

ภาวะแทรกซ้อนของโรคผมร่วงเป็นหย่อม

  • อาการทางร่างกาย ผู้ป่วยอาจเสี่ยงเป็นโรคทางภูมิคุ้มกันชนิดอื่น เช่น โรคเกี่ยวกับไทรอยด์ โรคด่างขาว หรือโรคโลหิตจาง
  • อาการทางจิตใจ ผู้ป่วยอาจเกิดความเครียด รู้สึกแปลกแยก หรืออาจเป็นโรคซึมเศร้าได้

การป้องกันโรคผมร่วงเป็นหย่อม

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดที่ใช้ป้องกันโรคผมร่วงเป็นหย่อมได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกและป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดตามมา รวมทั้งคนที่ไม่ได้ป่วยด้วยโรคนี้ก็สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เป็นโรคนี้ได้ เช่น

  • ผ่อนคลายความเครียด เพราะความเครียดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีสารบำรุงเส้นผม เช่น วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี และธาตุสังกะสี เป็นต้น
  • ใส่วิก สวมหมวก หรือทาครีมกันแดดบริเวณหนังศีรษะที่เกิดอาการ เพื่อป้องกันไม่ให้แสงแดดทำอันตรายต่อหนังศีรษะ
  • สวมแว่นกันแดดในกรณีที่โรคส่งผลให้คิ้วหรือขนตาร่วง เพราะอาจมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ดวงตาได้ เนื่องจากไม่มีคิ้วและขนตาคอยป้องกัน

แม้ว่าจะยังไม่มีวิธีที่รักษาโรคให้หายไปได้อย่างถาวร แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องคอยให้กำลังใจเขาจนกว่าผมจะงอกขึ้นมาตามปกติ ในระหว่างนี้ก็หมั่นรับประทานอาหารที่จะช่วยบำรุงผม รวมทั้งรักษาพื้นที่หนังศีรษะที่รอผมขึ้นของลูกให้ดี รอรับผมใหม่ที่จะขึ้นมาในอนาคต

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0