โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Alex Hong: ผู้กำกับภาพของ Parasite ให้สะท้อนความแตกต่างของชนชั้นออกมาอย่างสมบูรณ์แบบ

a day BULLETIN

อัพเดต 27 ม.ค. 2563 เวลา 05.10 น. • เผยแพร่ 17 ม.ค. 2563 เวลา 10.26 น. • a day BULLETIN
Alex Hong: ผู้กำกับภาพของ Parasite ให้สะท้อนความแตกต่างของชนชั้นออกมาอย่างสมบูรณ์แบบ

“ครั้งแรกที่ผมคุยกับผู้กำกับถึงเรื่องคอนเซ็ปต์หนัง มันเป็นเรื่องของคนแปลกหน้าแอบเข้ามาอยู่ในบ้านอันแสนอบอุ่นแค่นั้นเอง” อเล็กซ์ ฮง เล่าถึงการประชุมครั้งแรกกับ บง จุนโฮ ผู้กำกับหนังเรื่อง Parasite (2019) 

        “แต่พอพูดคุยกันต่อมาเรื่อยๆ จากเรื่องคนแปลกหน้าในบ้านหลังใหญ่ กลายเป็นความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ตรงนี้แหละ ที่เทคนิคงานภาพของผมมีส่วนร่วมอย่างเห็นได้ชัด”

        ก่อนที่เขาจะบอกเล่าถึงการถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในบทภาพยนตร์ของ บง จุนโฮ ด้วยแสงธรรมชาติ พื้นที่ และมุมกล้องในแบบต่างๆ ที่ช่วยสะท้อนความคิดในหัวของ บง จุนโฮ ให้ดู ‘ง่ายและสนุก’ อีกทั้งยังแฝงไปด้วยความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นเอาไว้ในหนังได้อย่างแยบยล

 

Alex Hong
Alex Hong

ผมใช้ภาพเล่าให้เป็นเรื่อง

        “เราคุยกันถึงบทสรุปในเรื่องราวครอบครัวคนจนที่แอบอาศัยในบ้านคนรวยเรียบร้อยแล้วก็เริ่มถ่ายทำ ดังนั้น ทุกอย่างต้องอยู่ในเงื่อนไขทั้งหมดที่พวกเราคุยกันไว้ตั้งแต่แรก ทั้งฉาก เส้นเรื่อง บทพูดทั้งหมดเราคิดเตรียมไว้หมดแล้ว หน้าที่ผมจึงมีแค่การ ‘ขยาย’ แนวคิดเหล่านั้นออกมาเป็นภาพให้สมจริงที่สุด”

        อเล็กซ์ ฮง เล่าถึงสไตล์การทำงานของ บง จุนโฮ​ ผู้กำกับที่แปลงทุกอย่างในหัวออกมาเป็นบทภาพยนตร์เรียบร้อยแล้ว ทั้งบทพูด การเคลื่อนไหวตัวละคร เหมือนหนังเรื่องก่อนหน้าที่เคยกำกับอย่าง Snowpiercer (2013) และ Okja (2017) ทำให้งานที่เหลือของเขา คือการเสริมสร้างเรื่องราวทำให้หนังของบง จุนโฮ ถ่ายทอดออกมาให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

        “สิ่งที่ผมคิดขึ้นมาก่อนเลยคือเรื่องแสง คุณจะเห็นได้ว่าแสงธรรมชาติสีขาว-ส้ม ดูอบอุ่น จะสาดเข้ามาผ่านหน้าต่างบานใหญ่รอบด้านในบ้านของคนรวยอยู่ตลอดเวลา กลับกันบ้านฝั่งคนจนจะใช้แสงไฟนีออนที่เราย้อมเขียวอีกทีหนึ่งซึ่งให้ความรู้สึกแตกต่างออกไป ความน่าสนใจคือบ้านหลังนั้นจะมีเพียงหน้าต่างเล็กๆ บานเดียวที่พวกเขาสามารถจะมองเห็นแสงธรรมชาติได้อย่างที่คนรวยเห็น” ในส่วนนี้อเล็กซ์พิถีพิถันเป็นพิเศษ ตั้งแต่การสร้างทั้งซอยขึ้นมา รวมไปถึงการเปลี่ยนมาใช้มุมกล้องเพื่อขับเน้นความคับแคบของพื้นที่เพื่อแสดงถึง ‘ความขาดแคลนในอภิสิทธิ์จากแสง ที่ชนชั้นล่างไม่สามารถสัมผัส’ มากขึ้นไปอีก

        “ผมต้องการให้คนดูรู้สึกอึดอัดเหมือนกับครอบครัวคนจน ดังนั้น นอกจากแสงไฟนีออนแล้ว ฉากในบ้านคนจนผมจะใช้ภาพมุมแคบเท่านั้น ซึ่งตรงข้ามกับบ้านคนรวยที่จะใช้ภาพมุมกว้างเป็นการเปรียบเปรยถึงชีวิตที่แตกต่างกัน”

        “สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือมุมมองของผู้ชม คุณจะเห็นว่า ถ้าเรากำลังถ่ายทอดเรื่องราวของคนจน ภาพส่วนใหญ่จะค่อนข้างแหงนขึ้นไปบนฟ้า เพื่อกดให้ตัวละครดูต่ำ กลับกันเวลาเราเล่าเรื่องคนรวย ภาพก็มักจะกดลงต่ำทำให้รู้สึกว่าพวกเขาอยู่ที่สูงมาก เพื่อสอดคล้องกับการเซตฉากที่คนรวยจะอยู่ที่ราบสูงส่วนครอบครัวคนจนเรียกได้ว่าแทบจะอยู่ใต้ดินเลยด้วยซ้ำ”

        เมื่อเขาพูดถึงเทคนิคการใช้มุมกล้องเล่าเรื่องแบบนี้ ก็ชวนให้เรานึกถึงหนังเรื่องหนึ่งของเขาเคยใช้เทคนิคคล้ายกันอย่าง Snowpiercer (2013) โดยครั้งนั้น เขาเลือกใช้ภาพจากซ้ายขบวนรถไฟไปทางด้านขวาตลอดเช่นกัน

        “อีกสิ่งถ้าคุณตั้งใจดูจริงๆ จะเห็นได้ว่า ครอบครัวคนรวยส่วนใหญ่เขาจะไม่ค่อยได้อยู่ในเฟรมเดียวกันนะ” เราเริ่มรู้สึกตื่นเต้นมากขึ้น เพราะนี้เป็นสัญลักษณ์ (Symbolic) แฝงในเรื่องที่ไม่เคยมองเห็นและได้ตีความเลย จึงถามต่อทันทีว่าเพราะอะไรคุณถึงตัดสินใจทำแบบนั้น

        “เพราะคนรวยเขามีกำลังทรัพย์มหาศาลสามารถมีพื้นที่ส่วนตัวได้กว้างขวางจนหลุดจากเฟรมของหนังไปได้ ต่างกับคนจนที่ไม่มีกำลังทรัพย์ขนาดนั้น ทำให้พวกเขามักปรากฏอยู่ทั้งครอบครัวร่วมในเฟรมเดียวกันตลอด

        “ดังนั้น ส่วนใหญ่เวลาเราถ่ายกันที่บ้านของคนรวย เราจึงต้องใช้วิธีการเคลื่อนกล้องจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่ง เพื่อสามารถเก็บเรื่องราวทั้งครอบครัวได้ ซึ่งต่างจากบ้านของคนจนที่เราสามารถตั้งกล้องแช่ได้ยาวๆ เลย”

 

Alex Hong
Alex Hong

ผมใช้ภาพสะท้อนบนความเหลื่อมล้ำ 

        “บ้านของคนรวยอาจดูทันสมัยและแปลกประหลาดจากบ้านคนเกาหลีทั่วไปที่พวกคุณมักเห็นกันตามหนังเรื่องอื่น แต่ผมอยากบอกให้พวกคุณรู้ว่า จริงๆ คนรวย เขาก็อยู่กันแบบนี้แหละ บ้านในหนังของเราจึงค่อนข้างตรงกับความเป็นจริงมากๆ ในระดับหนึ่งเลย”

        พูดถึงบ้านแล้ว มีฉากไหนบ้างไหมที่คุณพยายามถ่ายทอดความแตกต่างของบ้านทั้ง 2 ครอบครัวให้ดูแตกต่างจนน่าสิ้นหวังอย่างแท้จริง

        “ผมคิดว่าน่าจะเป็นฉากตอนจบที่ คีวู ลูกชายครอบครัวคนจนปีนเขาขึ้นไปดูพ่อของเขาที่ยังแอบอยู่ใต้ดิน นั่นเป็นไม่กี่ฉากในเรื่องที่เกิดขึ้นเองโดยที่เราไม่ได้เซตขึ้นมา เพราะจริงๆ ในสคริปต์ไม่ได้มีฉากนี้ มันควรจะข้ามไปตอนอ่านจดหมายเลย แต่หลังจากผมและผู้กำกับ ขึ้นมาสำรวจเขาด้านบนตรงนี้แล้วมีหิมะตกพอดี เลยตัดสินใจกันว่า เราน่าจะเพิ่มฉากนี้เข้าไป แน่นอนว่าซีนนี้ให้ความรู้สึกที่ ‘ดราม่า’ มากๆ ในเพราะในขณะที่คีวูเฝ้าดูพ่ออยู่ข้างนอกที่มีอากาศหนาวเหน็บ แต่เศรษฐีฝรั่งที่ซื้อบ้านหลังนี้ต่อก็เต้นรำอยู่ในบ้าน ภายใต้แสงไฟอบอุ่นโดยที่ไม่รู้เรื่องราวเหล่านี้เลยด้วยซ้ำ”

        เราขยับตัวเข้าไปใกล้อเล็กซ์มากขึ้น เพราะอยากเจาะลึกถึงประเด็นความไม่เท่าเทียมในสังคมในเรื่องอย่างลึกซึ้งด้วยคำถามที่ว่า เพราะพ่อครอบครัวคนรวยอย่างคุณพัคเขารวยมาก คิแทกพ่อฝั่งคนจนจึงมักคิดว่า เขาต้องเป็นหัวหน้าครอบครัวที่นอกใจภรรยาแน่ๆ นั่นคือสารที่พวกคุณต้องการเล่าในประเด็นนี้หรือเปล่า

        “หลายครอบครัวเป็นแบบนั้น แต่สำหรับ พัค ดงอิก สุดท้ายเราก็ไม่ได้หารือกันว่าเขานอกใจจริงหรือเปล่า เพราะเป้าหมายจริงๆ เราอยากให้เป็นเรื่องของคนชั้นกลางหรือล่างที่มองไปหาพวกคนรวยมากกว่า ว่าการเป็นคนรวยที่เพียบพร้อมไปด้วยทุกอย่างจะต้องนอกใจภรรยาแน่ๆ” ก่อนที่เขาจะอธิบายถึงความเจ็บปวดอันโหดร้ายยิ่งกว่า เพราะถึงแม้คนจนจะสงสัยใคร่รู้ในเรื่องราวคนรวยขนาดไหน แต่หากมองจากฝั่งคนรวยย้อนกลับไป พวกเขาแทบไม่เคยได้ยินเสียงของคนจนผ่านหูเข้ามาด้วยซ้ำ

        “สำหรับคนชั้นสูงแล้ว เรื่องแบบนี้แทบไม่ได้อยู่ในหัวสมองเขาเลย คุณจะสังเกตได้ว่าฉากที่มีพ่อคนจนถามเรื่องนี้กับพ่อคนรวย ในหัวของเขามีแต่คิดว่า ทำไมไอ้พนักงานขับรถคนนี้ถึงได้กล้าล้ำเส้นมาลามปามฉันได้ถึงขนาดนี้เชียว”

      อเล็กซ์ตอบคำถามด้วยอารมณ์ที่ลุกโชน ตอนนี้เราจึงมั่นใจแล้วเขาเริ่มเข้าสู่โหมดจริงจัง และพร้อมจะเล่าเรื่องความเหลื่อมล้ำในหนังได้ดีแล้ว เราจึงลองให้เขาเลือกฉากที่สะท้อนความเจ็บปวดจากความต่างของชนชั้นได้ดีที่สุดในเรื่องดู

        “ฉากที่ผมชอบสุดคือช่วงเวลาน้ำท่วมแล้วคีแทกเดินออกมาจากบ้าน ฉากนี้มีหลากหลายความหมายและอารมณ์ เป็นช่วงเวลาที่เขาหลงทางและรู้สึกว่าตัวเองไร้ความหมายที่สุด ก่อนที่เขาจะตัดสินใจทำการฆาตกรรมในตอนจบ นี่เป็นฉากที่สะเทือนอารมณ์ที่สุดในหนังเรื่องนี้แล้วสำหรับผม”

        เราเริ่มเงียบลง แล้วคิดไปถึงฉากนั้นอยู่พักหนึ่ง จนอเล็กซ์และทีมงานเริ่มขำในท่าทีการนึกภาพของเรา ที่ในหัวตอนนั้นมีคำถามที่อยากรู้ต่อมาคือ แล้วหนังเรื่องนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาแบบนี้ได้อย่างไรบ้าง

        “ผมว่าหนังทำให้เราได้เห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากกว่า มันไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้จริงๆ หรอก เพราะสุดท้ายสังคมจะเปลี่ยนหรือไม่ อยู่ที่คนไม่ใช่หนัง สิ่งที่เราทำได้คือการสร้างเรื่องราวเหล่านี้ให้เห็นได้ชัดเจนขึ้นจนไปกระตุ้นอะไรบ้างอย่างในตัวคนดู การถามว่าหนังคุณสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ไหม ผมทำไม่ได้หรอก ผมเองก็ยังไม่เข้าใจปัญหานี้อย่างถ่องแท้เลย ผมเป็นแค่นักเล่าเรื่องที่หวังจะเป็นหนึ่งในอีกหลายองค์ประกอบที่ช่วยแก้ปัญหาเท่านั้นเอง”

ศิลปินเขาไม่เคยแก้ไข แต่เขามักให้แรงบันดาลใจ

        “ผมเองไม่ได้เจอปัญหานี้โดยตรง ผมโตมาในครอบครัวที่ไม่ได้รวยและไม่ได้จน อีกทั้งสังคมรอบข้างก็มีฐานะพอๆ กัน เรื่องแบบนี้เลยค่อนข้างไกลตัวมากในวัยเด็ก แต่ถึงอย่างนั้น ผมก็ยังรู้ตัวว่าผมโตมาในสังคมที่กำลังพยายามแข่งขันในเรื่องฐานะกันอยู่ ผมเห็นหลายคนพยายามทุ่มสุดตัวเพื่อยกระดับตัวเอง เพียงเพื่อหวังว่าตัวเองจะสามารถเหยียดคนที่เขาฐานะยากจนกว่าได้บ้าง”

        ก่อนที่เขาจะกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า นี่คือเหตุผลที่ทำให้หนังเรื่องนี้ค่อนข้างจะเข้าถึงคนได้เยอะ เพราะมนุษย์แทบทุกคนมักจะมีอีโก้แบบนี้อยู่ด้วยกันทั้งนั้น

 

Alex Hong
Alex Hong

เรียบง่าย ซื่อตรง แต่ต้องชัดเจน

         มีหลายคนบอกว่าวิธีการทำงานของคุณคล้ายหนังฝั่งฮอลลีวูดมากเลยนะ มันต่างจากผู้กำกับเกาหลีคนอื่นมากเลย คุณรู้ตัวบ้างไหม เราเริ่มถามถึงเสน่ห์และสไตล์อันเป็นส่วนตัวของเขาดูบ้าง

        “ผมไม่รู้ตัวเลย (หัวเราะ) ผมแค่พยายามหาสไตล์ของตัวเอง หาสิ่งแปลกใหม่อยู่เสมอ หนัง 10 เรื่องแรกของผม เป็นเหมือนช่วงการทดลองที่ไม่เหมือนกันเลย จนสุดท้ายผมก็ได้พบกับสไตล์ของตัวเอง”

        แล้วสไตล์การทำงานของคุณคืออะไรล่ะ เราถามต่อ เพราะเชื่อว่าการทำงานให้มีคุณภาพออกมาได้อย่างต่อเนื่องขนาดนี้ เขาต้องมีเคล็ดลับบางอย่างภายใต้การกำกับภาพพวกนั้นอยู่เป็นแน่

        “อ๋อ ตอนนี้ไม่มีแล้ว (หัวเราะ) แค่ต้องตรงตามสคริปต์ของผู้กำกับ ถ้าให้ตอบสไตล์ของผมคืออะไร คงเป็นเหมือนลำโพงที่ช่วยขยายสิ่งที่ผู้กำกับเขากระซิบกับเราไว้ให้ออกมาดังที่สุด คุณรู้ไหมใน Burning (2018) ฉากที่แฮมีเต้นตอนพระอาทิตย์ตกดินที่เป็นฉากจำ (Memorable Scene) ในเรื่องนี้ จริงๆ ในบทภาพยนตร์ของ อี ชางดง ผู้กำกับเขามีแค่คำว่า “แฮมีสูบกัญชาแล้วลุกออกมาเต้นในช่วงพระอาทิตย์ตกดิน” แค่นี้เอง

 

 

        แล้วถ้าการบอกว่า แสงธรรมชาติคือสไตล์ของคุณล่ะ

        “ก็ใช่ เพราะถ้าพูดงานที่ผมทำมาส่วนใหญ่ก็มักจะเป็น  ‘No Artificial lighting’ นั่นคือต้องใช้แสงธรรมชาติเท่านั้น” อเล็กซ์ตอบกึ่งยอมรับกึ่งปฏิเสธเพราะเขายังแอบเชื่อมั่นในการทำงานแบบเป็ดที่พร้อมทำงานตามความต้องการของผู้กำกับได้เช่นเดิมอยู่

        “ผมไม่ค่อยชอบการแต่งเติมใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งหมดคือธรรมชาติ โดยเฉพาะ Burning ผมคาดหวังความสมจริงจากเรื่องนี้มากที่สุด เราหันมาใช้แสงในช่วงพระอาทิตย์ขึ้นและตกมาช่วยเรื่องอารมณ์แทนการใช้ CGI (Computer-generated imagery)”

        “เพราะผมเป็นช่างภาพมาก่อน สถานที่ส่วนใหญ่ในเรื่องนี้อยู่ใกล้บ้านผมมาก ผมเลยมีรูปที่ถ่ายบริเวณนั้นค่อนข้างเยอะ แล้วผมกลับพบว่าแสงธรรมชาติ ณ ที่ตรงนั้นมันสวยมาก จึงไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่ผมจะต้องใช้การตกแต่งแสงเพิ่มเติม” ก่อนที่เราจะถามว่าความสมจริงนั้น รวมไปถึงการเลือกใช้สถานที่และฉากหลังต่างๆ ด้วยหรือไม่

        “ใช่ สถานที่ส่วนใหญ่ในเรื่องก็จะมาจากตัวผมและผู้กำกับถ่ายรูปส่งมาส่งแลกเปลี่ยนกันไปมา แล้วค่อยมาเลือกกันว่าจะใช้ตรงไหนบ้าง ซึ่งใน Burning ส่วนใหญ่จะเป็นแถวบ้านผมทั้งนั้นเลย (หัวเราะ) ดังนั้น ทุกอย่างมันเลยอยู่ในหัวผมหมดแล้ว ฉากจริง แสงจริง แม้กระทั้งหมอกในเรื่องยังของจริงเลย”

       “แต่…” เขาลากเสียงยาวเพื่อให้รู้ว่าการทำหนัง Parasite เขามีวิธีการที่แตกต่างออกไป

        “บางส่วนของ Parasite สถานที่ก็มาจากบท ไม่ใช่ทุกเรื่องที่เราจะไปหาสถานที่ได้เลย ตัวบทของบงเองก็แข็งแรงอยู่แล้ว พอผมอ่านจบภาพในหัวมันพุ่งขึ้นมาเลยว่าต้องแบบนี้นะ เลยทำให้มีการเซตฉากขึ้นมาบ้าง”

        “คุณรู้ไหม 99% ของหนังเรื่องนี้เซตสถานที่ขึ้นมา” ถึงตรงนี้อเล็กซ์ เริ่มยิ้มด้วยความครึ้มใจหลังจากเริ่มทำให้เราเหวอกับความลับในงานภาพของเขาได้”

        “บ้านคนรวยชั้นบนกับชั้นล่าง ก็เป็นคนละสถานที่กับชั้นใต้ดินและหลุมหลบภัย แม้กระทั้งซอยบ้านของคนจนเราก็เซตขึ้นมาใหม่ทั้งหมดเลยนะ รวมถึงฉากน้ำท่วม น้ำฝนเหล่านั้นเราก็เซตขึ้นมา คุณจะเห็นได้ว่าแม้กระทั้งขนาดเม็ดฝนพวกเรายังเลือกใช้ขนาดที่ไม่เท่ากันด้วยซ้ำ (ฝนที่สวนหลังบ้านคนรวยจะมีขนาดเล็กและสบายตากว่าฝนที่ตกในละแวกบ้านของคนจน) สิ่งเหล่านี้คงเป็นการทำงานที่แตกต่างจากตัวตนผมมากที่สุดแล้ว”

        อเล็กซ์ทิ้งคำตอบสุดท้ายเรื่องการสร้าทั้งซอยขึ้นมาได้อย่างหักมุมเหมือนกับที่ Parasite เคยทำไว้กับคนดู จนอดรู้สึกตื่นเต้นไม่ได้เลยว่า ผลงานต่อไปของเขาจะสร้างความ ‘เหวอ’ ด้วยการหักมุมผ่านเรื่องราวที่น่าติดตามแบบนี้ต่อไปอย่างไรบ้าง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0