โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Aeeen : ร้านอาหารญี่ปุ่นในเชียงใหม่ที่เสิร์ฟเมนูดัดแปลงจากมื้ออาหารของพระเซน

a day magazine

อัพเดต 25 ม.ค. 2563 เวลา 07.37 น. • เผยแพร่ 24 ม.ค. 2563 เวลา 15.34 น. • อนิรุทร์ เอื้อวิทยา

ไม่มีปลาดิบซาชิมิ ไม่มีราเมน ไม่มีเนื้อย่างละลายในปาก และไม่มีร้านอาหารญี่ปุ่นที่ไหนในไทยเหมือนที่นี่อีกแล้ว

Aeeen (อ่านว่าอาอีน) คือร้านอาหารญี่ปุ่นขนาดกะทัดรัดในจังหวัดเชียงใหม่ของสองสามีภรรยาชาวญี่ปุ่น Makino Keiko และ Yuki ที่ไม่เสิร์ฟเนื้อสัตว์เลยสักจานแต่กลับเสนอเซตเมนูที่โดดเด่นกว่านั้น นั่นคือเต้าหู้สดทำเอง ผักสดกรอบ และภูมิปัญญาการปรุงอาหารญี่ปุ่นสไตล์ Neo Shojin Ryori ที่นอกจากจะให้รสชาติอร่อยล้ำลึก อาหารทุกเมนูของที่นี่ยังมีคุณสมบัติพิเศษช่วยปรับร่างกายให้กลับมาสมดุลและแข็งแรง

Aeeen
Aeeen
Aeeen
Aeeen

หลังได้ยินหลายคนพูดถึงเต้าหู้แสนอร่อยของที่นี่มาหลายครั้ง เราจึงตามมาชิมถึงที่พร้อมค้นหาว่าอะไรคือนีโอโชจินเรียวริ และพวกเขามีเคล็ดลับการปรุงแต่ละเมนูยังไงถึงสามารถช่วยรักษาร่างกายผู้กินให้ดีขึ้นจากภายใน 

ประตูร้านเปิดแล้วรอให้คุณก้าวเข้ามาหาคำตอบกับเคโกะและยูกิถึงก้นครัว

Aeeen
Aeeen

 

สึนามิ กัมมันตภาพรังสี และร้านอาหารดีต่อสุขภาพ

9 ปีที่แล้ว เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่จนเกิดเป็นคลื่นสึนามิถล่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมะ การระเบิดครั้งนั้นส่งผลให้กัมมันตภาพรังสีรั่วไหลออกมาปนเปื้อนในธรรมชาติ กลายเป็นภัยพิบัติที่คนญี่ปุ่นรวมถึงทั้งโลกต่างเป็นห่วง

ขณะนั้น เคโกะและยูกิที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นกำลังรอต้อนรับการเกิดของลูกชายของพวกเขา แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นทำให้พวกเขารู้สึกว่าลูกชายไม่ได้รับการต้อนรับเลยสักนิด 

“แม้มองไม่เห็นแต่เราสองคนรู้ว่ามันมีอยู่ มันลอยอยู่ในอากาศ เข้าไปอยู่น้ำ ในผืนดิน ในอาหาร และที่สุดก็ในร่างกาย ปนเปื้อนในทุกๆ อย่าง เรารู้สึกว่ามันไม่ปลอดภัย และเกิดความคิดอยากย้ายไปอาศัยอยู่ที่อื่น” ทั้งสองช่วยกันอธิบาย

Aeeen
Aeeen
Aeeen
Aeeen

เป้าหมายที่พวกเขาเลือกย้ายชีวิตไปอยู่คือประเทศไทย

ย้อนไปตอนที่เคโกะกำลังอุ้มท้องลูกชายอยู่ เธอมีโอกาสมาเที่ยวที่กรุงเทพฯ ครั้งหนึ่ง แต่เมื่อพบความวุ่นวายของเมืองหลวง ที่นี่จึงไม่ใช่ที่ที่ตอบใจของพวกเขา 

“ฉันก็ไม่แน่ใจนะว่าอะไรดลใจ อยู่ดีๆ ฉันก็พูดชื่อเชียงใหม่ขึ้นมา ทั้งที่ไม่เคยไปเลยด้วยซ้ำ” เคโกะเล่าอย่างอารมณ์ดี

แล้วยูกิก็เห็นด้วย ทั้งสองจึงลาออกจากงานที่ทำ ขายทุกอย่างที่มีทิ้ง เก็บของที่จำเป็นใส่เป้ รวมถึงข้าวญี่ปุ่นที่พวกเขานำมาด้วยราวกับจะออกไปแคมป์ปิ้ง แต่นี่คือการย้ายไปใช้ชีวิตในดินแดนที่พวกเขารู้จักแค่เพียงชื่อ ไม่รู้จักใคร ภาษาไทยก็พูดไม่ได้ พกความฝันถึงชีวิตที่ดีกว่าต่อตัวเองกับลูก และความกล้าหาญออกเดินทางมาที่จังหวัดเชียงใหม่

“ชื่อของผม ยูกิ แปลว่า กล้าหาญ น่ะครับ” ยูกิผู้เป็นสามีพูดด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

Aeeen
Aeeen

ตอนยังอาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่นเคโกะเคยทำเบนโตะเพื่อสุขภาพด้วยวัตถุดิบปลอดสารพิษ นำใส่ตะกร้าบนจักรยานคู่ใจปั่นขายตามย่านต่างๆ ในเกียวโตและโอซาก้ามาก่อน เธอและสามีมีความเชื่อว่าสุขภาพที่ดีเริ่มต้นได้จากจุดง่ายๆ อย่างการกิน พวกเขาจึงเริ่มศึกษาการทำอาหารที่ดีต่อสุขภาพต่างๆ รวมถึงหลักการทำอาหารแบบพระญี่ปุ่นอย่างโชจินเรียวริ ที่ไม่มีเนื้อสัตว์มาพัฒนาต่อในแบบของตนเอง 

“เมื่อพูดถึงอาหารประเภทไม่มีเนื้อสัตว์ หลายครั้งเรามักเจอการห้าม ห้ามกินสิ่งนี้ ห้ามปรุงด้วยสิ่งนี้ซึ่งทำให้รู้สึกเกร็ง เราอยากให้คนสามารถดื่มด่ำเพลิดเพลินไปกับอาหาร ไปกับรสชาติใหม่ๆ ได้ อาหารของเราจึงไม่ใช่อาหารตามแบบฉบับโชจินเรียวริเสียทีเดียว แต่นำมาดัดแปลงในแบบของเรา อาหารแบบนี้ไม่กินเนื้อเราก็หาวัตถุดิบมาทำให้มีรสชาติทดแทน ถึงแม้จะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพก็ยังคงมีรสชาติที่ดี กินแล้วเพลิดเพลิน”

“เราไม่อยากให้ดูเคร่งเกินไป จึงพยายามนำเสนอให้มันดูน่าสนุก ให้คนสนใจ คนที่มาเขาจะต้องอยากรับประทานทุกคำจากความอร่อย และที่สำคัญคือมันมีประโยชน์ต่อร่างกายทุกคำ กินแล้วรู้สึกขอบคุณถึงการกินอาหารว่ามีประโยชน์ต่อร่างกาย การพยายามอย่างหนักที่จะทำให้ตัวเองสุขภาพดี จริงๆ แล้วมันน่าจะเริ่มต้นได้จากสิ่งที่ง่ายมากๆ คือจากอาหารทุกมื้อที่เรากินนี่แหละ ดังนั้นเราจึงมองว่าตัวเองเป็นแนวทางใหม่ เป็นแบบนีโอ (neo หมายถึง ใหม่)”

Aeeen
Aeeen

ในดินแดนใหม่ สองสามีภรรยาเริ่มต้นทำเต้าหู้กินเองและนำไปออกบูทง่ายๆ ที่งาน Chiang Mai Design Week และคงเป็นโชคชะตาที่นำพาให้ป้าอ้อ–กิ่งแก้ว สุจริตพานิช ทายาทรุ่นที่ 3 ของโรงแรมศรีประกาศอันเก่าแก่ของเชียงใหม่เดินมาเจอบูทนั้นเข้า เสน่ห์ของอาหารแบบนีโอโชจินเรียวริ และความตั้งใจของทั้งสองติดใจป้าอ้ออย่างจัง จนเธอชักชวนให้คู่สามีภรรยาไปเปิดร้านที่โรงแรมศรีประกาศเสียเลย

ตอนนั้นพวกเขาตั้งชื่อร้านว่า 3 Studio จากจำนวนห้องที่พวกเขาใช้ คือห้องกินข้าว ห้องครัว และห้องขายวัตถุดิบเพื่อสุขภาพ นอกจากการเป็นร้านอาหารแล้วพวกเขายังเปิดเวิร์กช็อปเผยแพร่วิธีการทำเต้าหู้ธรรมชาติให้กับผู้คนที่สนใจ ทำให้อาหารของพวกเขากลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ  

3 ปีต่อมา พวกเขาตัดสินใจย้ายร้านมาอยู่ในชุมชนใกล้วัดร่ำเปิง เปลี่ยนชื่อร้านเป็น Aeeen หรืออาอีน ซึ่งเป็นเสียงที่ตลกญี่ปุ่นชอบทำ แสดงให้เห็นถึงความอารมณ์ดีของพวกเขา และยังคงมีลูกค้าที่ติดใจในรสชาติ สนใจการกินอาหารเพื่อสุขภาพตามมากินอยู่เรื่อยๆ ทุกวัน

 

อาหารที่ทำให้เกิดสมดุล

เมื่อพูดกันถึงอาหารสุขภาพในแบบของเคโกะและยูกิ ทั้งคู่จึงอธิบายให้ฟังง่ายๆ ว่าโชจินเรียวริคือสไตล์การทำอาหารที่ได้รับการเผยแพร่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 พร้อมกับการเข้ามาของพระนิกายเซนในประเทศญี่ปุ่น มีหลักคือไม่รับประทานเนื้อสัตว์และมุ่งหวังให้การกินสามารถสร้างความสมดุลให้แก่ร่างกายด้วยหลัก 5 อย่าง ได้แก่ สำรับอาหารที่มีครบ 5 รส เปรี้ยว หวาน เค็ม ขม และกลมกล่อม (อูมามิ) วัตถุดิบในสำรับต้องมี 5 สี เขียว แดง เหลือง ดำ ขาว เพื่อสื่อถึงวิตามินหลากหลายและครบครัน ใช้วัตถุดิบที่ออกตามฤดูกาลด้วยเชื่อว่าจะเป็นช่วงที่วัตถุดิบนั้นดี เหมาะสมกับร่างกายที่สุด

มากกว่าเรื่องความอร่อย เป้าหมายสูงสุดของการปรุงอาหารแบบโชจินเรียวริคือการพาความสมดุลมาสู่ร่างกาย จิตใจ และถึงขั้นจิตวิญญาณของผู้กิน บนหน้าตามื้ออาหารที่ดูเรียบง่ายจึงแฝงไปด้วยความซับซ้อนและคุณค่าแทนความตั้งใจของผู้ทำ ส่วนคนกินตอบแทนได้ด้วยการตั้งใจกินอย่างสำรวมจนหมดจดเพื่อแสดงความรู้สึกขอบคุณ

Aeeen
Aeeen

ส่วนอาหารแบบนีโอโชจินเรียวริของเคโกะและยูกิ แม้จะเป็นการต่อยอดอาหารแบบดั้งเดิมให้สนุกขึ้น แต่สิ่งที่พวกเขาให้คุณค่าก็ยังเป็นสิ่งเดียวกับต้นฉบับ นั่นคือ ‘ความสมดุล’

นอกจากรสชาติที่ครบถ้วน เปรี้ยว หวาน เค็ม ขม และกลมกล่อม สีสันเขียว แดง เหลือง ขาว ดำ ครบถ้วน พวกเขายังคำนึงถึงสัมผัสนุ่ม กรอบ แข็ง รวมถึงความร้อน-เย็นภายในร่างกายคนที่กินอาหารเข้าไปด้วย

“เหมือนกับหยิน-หยางในทุกอย่าง ร่างกายมนุษย์เราก็มีความสมดุลเหล่านี้” เคโกะผละจากหน้าที่ในครัวมาเล่าถึงการคิดเมนูต่างๆ ภายในร้านให้ฟัง

“ที่ญี่ปุ่นเรามีภูมิปัญญาการกินอาหารตามฤดูกาลอยู่ นั่นมากกว่าการเลือกใช้วัตถุดิบตามฤดูกาลนะ แต่เป็นวิถีการกินอาหารให้เหมาะกับฤดูกาล เช่น เต้าหู้จากถั่วเหลืองเหมาะสำหรับกินในฤดูร้อนเพราะกินแล้วทำให้ร่างกายเย็น หรือมิโสะ ถ้าจะให้ดีก็ต้องกินตอนฤดูหนาวเพราะมีคุณสมบัติช่วยอุ่นร่างกาย

“เพราะอาหารทุกชนิดมีคุณสมบัติเหล่านี้อยู่ เราจึงตั้งใจปรุงทุกเมนูให้เกิดสมดุล ไม่ทำให้ร่างกายร้อนหรือเย็นเกินไปซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้กินในระยะยาว”

     

‘โคจิ’ พระเอกขี่ม้าขาวในรูปเชื้อราที่เข้ามาช่วยกอบกู้ร่างกาย

ไม่ใช่แค่การปรุงอาหารที่ก่อให้เกิดความสมดุลต่อร่างกาย อีกสิ่งสำคัญที่เปรียบเสมือนพระเอกที่เข้ามาช่วยทำให้กระบวนการสร้างสมดุลเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นก็คือ Kouji

โคจิคือหัวเชื้อราสำหรับใส่ร่วมกับกระบวนการหมักต่างๆ ซึ่งมีบันทึกว่าคนญี่ปุ่นใช้หัวเชื้อนี้มายาวนานตั้งแต่ยุคเอโดะหรือ 400 ปีก่อน โคจิยังได้รับยกย่องให้เป็นเชื้อราแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่นด้วยคุณสมบัติช่วยย่อยสารอินทรีย์ในวัตถุดิบให้มีรสชาติที่ดีขึ้น แถมยังทำให้เกิดเอนไซม์ที่ปรับสมดุลให้กับร่างกาย ช่วยกำจัดแบคทีเรียไม่ดี และช่วยย่อยอาหารทำให้ร่างกายสามารถดูดรับสารอาหารได้ดียิ่งขึ้น

เช่นเดียวกับร้านอาหารสุขภาพที่อื่น เคโกะและยูกิเลือกวัตถุดิบท้องถิ่นปลอดสารพิษมาใช้ในร้าน แต่ความพิเศษของ Aeeen อยู่ที่พวกเขาทำเครื่องปรุงต่างๆ ที่เกิดจากกระบวนการหมักด้วยตัวเองและผสมโคจิแท้ๆ นำเข้าจากญี่ปุ่นลงไป เช่น ซอสมิโสะหรือผักดอง 

สำหรับผู้ที่สนใจเครื่องปรุงต่างๆ ที่ทางร้านทำขึ้นเอง พวกเขาก็มีบรรจุขวดขายให้ได้นำกลับไปปรุงอาหารที่บ้าน อีกทั้งยังยินดีอย่างยิ่งที่จะให้คำแนะนำแก่ผู้ที่สนใจ

“เหตุผลหนึ่งที่เรานำเครื่องปรุงมาจัดแสดงและวางขาย เพราะพวกเราคิดว่าของพวกนี้เป็นของที่เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จักกันแล้ว คนแก่ที่รู้จักมันก็กำลังจะจากไป เราอยากให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักเครื่องปรุงชนิดต่างๆ เราเลยพยายามจัดวางให้น่าสนใจ” ยูกิอธิบายขณะกำลังจัดข้าวของต่างๆ ภายในร้านให้เรียบร้อย

 

We Are What We Eat 

“กินเช่นไรตัวเราก็จะเป็นเช่นนั้น”​ คือปรัชญาที่ทั้งสองยึดถือ วัตถุดิบที่ดีนำมาสู่อาหารที่ดี และอาหารที่ดีก็เป็นจุดเริ่มต้นทำให้ร่างกายเราดี เมื่อร่างกายดี จิตใจของเราก็จะแข็งแรง มีจิตวิญญาณที่ดีพร้อมสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ต่อไป

กระบวนการทำอาหารของพวกเขาภายในครัวจึงเป็นไปอย่างพิถีพิถันทุกๆ จาน ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ปรุง และจัดวางลงจานอย่างประณีตที่สุด ก่อนบรรจงเสิร์ฟบนโต๊ะ จนเราอดรู้สึกขอบคุณทั้งสองที่ทำอาหารเหล่านี้ให้กับเราไม่ได้

 

Cook by Heart, Good for Health เมนูจากใจที่ดีต่อใจ 

1. Tofu Gozen

Tofu Gozen เป็นสำรับอาหารที่ประกอบไปด้วย ข้าวญี่ปุ่น น้ำซุป และกับข้าว 5 อย่างที่เปลี่ยนไปทุกวัน เคโกะพยายามจัดวางกับข้าวแต่ละจานให้มีรสชาติที่ครบถ้วน มีสัมผัสนุ่มและกรอบรวมถึงมีสีสันสมดุล แถมยังจัดวางอย่างสวยงามชวนให้ค่อยๆ พินิจ ทานอย่างตั้งใจในแต่ละคำที่เคี้ยว และดีต่อร่างกายเมื่อกลืนลงไป

เมนูนี้แสดงถึงความเป็นนีโอโชจินเรียวริของพวกเขาที่สุดเพราะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องความสมดุลของร่างกาย

 

2. Hiya Yakko

“เต้าหู้โฮมเมดของเคโกะเป็นสิ่งที่พลาดไม่ได้” เป็นคำแนะนำของหลายคนที่เคยได้กินมาก่อน เพราะนี่คือเต้าหู้ออร์แกนิกที่เคโกะและยูกิลงมือทำเองทุกกระบวนการ ตั้งแต่การคัดเมล็ดถั่วเหลือง โดยไม่ใช้สารปรุงแต่งใดๆ ทั้งสิ้น นี่จึงเป็นรสและสัมผัสของเต้าหู้แบบธรรมชาติจริงๆ ต่างจากรสสัมผัสของเต้าหู้ปรุงแต่งสำเร็จรูปที่เราคุ้นเคย

 

3. Tempe Katsu Curry

นี่คือข้าวแกงกะหรี่หน้าเทมเป้ทอด เทมเป้เป็นอาหารจากภูมิปัญญาของอินโดนีเซีย ทำจากถั่วเหลืองหมักกับเชื้อราไรโซปัสทำให้เกิดเป็นเส้นใยจับเป็นก้อนเนื้อเดียวกับถั่ว ก่อให้เกิดรสชาติและสัมผัสที่แปลกใหม่ต่างจากรสชาติเดิมของถั่วเหลือง ทั้งยังช่วยให้ท้องไม่อืด ช่วยลดคลอเรสเตอรอล และเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญโดยไม่ต้องพึ่งการทานเนื้อสัตว์ และเมื่อนำไปทอดราดด้วยน้ำแกงกะหรี่สูตรของทางร้าน ตามเหยาะวูสเตอร์ซอสผสมโคจิไม่กี่เหยาะ รู้ตัวอีกทีก็กินจนหมดจานแล้ว

 

4. Ume Musubi  

‘มูซูบิ (Musubi)’ คือคำเรียกข้าวปั้นของญี่ปุ่นชนิดหนึ่ง ยึดโยงกับความเชื่อของชาวญี่ปุ่นโบราณที่นับถือภูเขาดั่งเทพเจ้า จึงได้ปั้นข้าวให้ออกมาเป็นรูปทรงภูเขาเพื่อแสดงถึงความเคารพ ที่ร้าน Aeeen มีข้าวปั้นหน้าต่างๆ ให้ได้ลองเช่น สาหร่าย สาหร่ายผสมมายองเนส และที่เราลองกินในวันนี้ก็คือ ข้าวปั้นบ๊วยให้รสเปรี้ยวอมหวานตัดกับข้าวและสาหร่ายรสเค็มนิดๆ ผสมผสานกันอย่างลงตัว ให้ความรู้สึกสดชื่นเมื่อได้ลิ้มรส

 

5. Raw Sweets

นี่คือสองเมนูขนมหวานจานใหม่จากทานร้านที่ทำให้เราทึ่งเมื่อรู้ว่าพวกเขาไม่ใช้แป้ง ไข่ นม หรือเนย ในการทำแต่อย่างใด แถมยังไม่ผ่านความร้อนอีกด้วย จุดประสงค์คือเพื่อรักษาคุณค่าของวัตถุดิบไว้ ทั้งเอนไซม์ วิตามิน และแร่ธาตุที่ดีครบถ้วน กลายเป็นเมนูของหวานที่ดีต่อสุขภาพแถมยังอร่อยมากๆ อีกด้วย

 

สำหรับผู้ที่สนใจอาหารสุขภาพสามารถไปเวิร์กช็อปกับ Aeeen ได้ โดยทุกวันเสาร์แรกของเดือนเป็นเวิร์กช็อปทำเต้าหู้โฮมเมด และเสาร์ที่สามสำหรับผู้ที่สนใจทำมิโสะ เคโกะจะคอยเป็นผู้สอนนักเรียนด้วยตัวเองพร้อมมีล่ามช่วยสื่อสาร และมียูกิคอยดูแล ช่วยเหลือภรรยาอยู่ห่างๆ ในการเตรียมและยกข้าวของต่างๆ 

Aeeen

address : บริเวณชุมชนวัดร่ำเปิง ถ.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
hours : เปิดทุกวันพุธ-อาทิตย์ ตั้งแต่ 11:00-17:00 น. รับออร์เดอร์สุดท้ายเวลา 16:00 น.tel. : 097 943 7039

Highlights

  • Aeeen หรืออาอีน คือร้านอาหารญี่ปุ่นเล็กๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ของสามีภรรยาชาวญี่ปุ่น Yuki และ Keiko ที่นำแนวอาหาร Shojin Ryori ของพระญี่ปุ่นมานำเสนอในแบบฉบับของตนเอง
  • โชจินเรียวริ เป็นชื่อเรียกสไตล์การทำอาหารแบบพระนิกายเซนของประเทศญี่ปุ่นที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์และสร้างสมดุลให้ร่างกาย ด้วยสำรับอาหารที่มีครบ 5 รส วัตถุดิบในสำรับมี 5 สี และใช้วัตถุดิบตามฤดูกาล
  • เมนูชูโรงของร้าน Aeeen คือ เต้าหู้โฮมเมดและเครื่องปรุงต่างๆ ที่มีการใส่โคจิ (Kouji) หัวเชื้อราในกระบวนการหมักที่ได้รับยกย่องให้เป็นเชื้อราแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่น ด้วยคุณสมบัติช่วยย่อยสารอินทรีย์ในวัตถุดิบให้มีรสชาติที่ดีขึ้นแถมยังดีต่อร่างกาย
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0