โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Ad Astra - บทเรียนสองพันล้านไมล์ แด่มนุษย์ผู้เดียวดายในจักรวาล - เพจ Kanin The Movie

TALK TODAY

เผยแพร่ 01 ต.ค. 2562 เวลา 17.00 น. • เพจ Kanin The Movie

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา Sci-fi (ไซไฟ) กลายเป็นหนึ่งใน Genre ที่น่าสนใจของโลกภาพยนตร์พอสมควร เราได้เห็นว่าในทุก ๆ ปีจะมีหนังไซไฟฟอร์มยักษ์ออกมาเฉิดฉายกลายเป็นงานที่ถูกจับตามอง (โดยเฉพาะเวทีรางวัล) อยู่เสมอ ตั้งแต่ Gravity (2013) , Interstellar (2014) , The Martian (2015) , Arrival (2016) , Blade Runner 2049 (2017) และล่าสุดใน First Man (2018) เช่นเดียวกับปีนี้ที่เรามี Ad Astra ภาพยนตร์ ผจญภัย-ดราม่า-ไซไฟ จาก เจมส์ เกรย์ ที่ว่าด้วยภารกิจออกเดินทางข้ามดวงดาวของชายที่ต้องตามหาพ่อนักบินอวกาศผู้หายไปจากชีวิตเขา 30 ปีที่แล้วโดยมีความปลอดภัยของมนุษยชาติเป็นเดิมพัน

ถ้าคุณเฝ้าตามหาสิ่งบางสิ่งมาตลอดชีวิต แล้ววันหนึ่งคุณได้เจอมันจริงๆ 

มันหมายความอย่างไร? นั้นแหละปัญหา จริงไหม? 

เจมส์ เกรย์ พูดถึงประเด็นสำคัญของ Ad Astra ที่ว่าด้วย “การตามหา” อย่างน่าสนใจ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับภารกิจลับของ รอย แม็คไบรด์ ที่ต้องออกตามหาพ่อผู้อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยคลื่นไฟฟ้าประหลาดที่กำลังสร้างปัญหาให้กับโลกและมนุษยชาติ แต่ยังหมายความถึงตัวพ่อผู้เป็นเจ้าของโปรเจ็คต์ลิม่า โครงการที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อออกเดินทางข้ามอวกาศ สำรวจความเป็นไปได้ในจักรวาลโดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการได้พบ “สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญา” หรือที่เรามักเรียกกันอย่างเข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าเอเลี่ยน – คำพูดของ เกรย์ เชื้อเชิญให้เราขบคิดและชั่งน้ำหนัก จุดหมาย กับ ระหว่างทาง ว่าสิ่งใดกันที่สำคัญมากกว่า แน่นอนว่าคำตอบดังกล่าวอาจไม่มีบทสรุปที่ตายตัวชัดเจนแต่การที่หนังหยิบยกประเด็นนี้มาผนวกกับการภารกิจอวกาศอันแสนยิ่งใหญ่ (ภายใต้เป้าหมายเพื่อมนุษยชาติ) นับว่าน่าสนใจอยู่ไม่น้อย หนังเต็มไปด้วยภารกิจ จุดหมายปลายทางอันใหญ่โตมโหฬาร (ทั้งการตามหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก หยุดยั้งระเบิดคลื่นไฟฟ้า (คลื่นช็อต) หรือการพิสูจน์ทฤษฎีที่ไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อน) แต่สิ่งที่ เจมส์ เกรย์ ให้คำตอบกับผู้ชมนั้นอยู่ในทางตรงกันข้าม Ad Astra ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่สนใจใคร่รู้ในเรื่องของ เอเลี่ยน หรือกระทั่งความลับของจักรวาล ทั้งหมดทั้งมวลของมันคือการพาตัวละคร (และคนดู) สำรวจชิ้นส่วนชีวิตทีละชิ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้เราได้เห็นคุณค่าและความหมายของการเป็น “มนุษย์” ก็เท่านั้น (จนไม่แปลกใจหากใครจะคิดว่านี่คือภาพยนตร์ไซไฟที่ต่อต้านการสำรวจอวกาศ ประมาณเดียวกับการทำหนังสงครามเพื่อต่อต้านตัวสงครามเสียเอง) 

เราได้รับรู้ตั้งแต่เริ่มว่าพ่อของ รอย จากเขาไปตั้งแต่ยังเด็กเพื่อทำภารกิจสำคัญของมนุษยชาติ การตัดสินใจดังกล่าวส่งผลมายังชีวิตของเขาในปัจจุบัน แม้ว่าในปัจจุบัน รอย จะใช้ชีวิตตามปกติกับรายงานที่แจ้งว่ายานสำรวจของพ่อขาดการติดต่อไปแล้ว 16 ปี แต่เราก็ค่อย ๆ ได้พบว่าภายใต้การอุทิศชีวิตให้กับการเป็นนักบินอวกาศอย่างมุ่งมั่นตั้งใจของ รอย มีความผิดปกติซุกซ่อนอยู่โดยที่เขาเองก็ไม่เคยสังเกต ความผิดปกติที่เติบโตอย่างเชื่องช้าและไม่แสดงท่าทีให้เขารู้สึกตัว ความผิดปกติที่เริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่วันที่ผู้เป็นพ่อของเขาจากไป .. พ่อที่ไม่เคยหายไปจากชีวิตของเขาจริง ๆ เลยสักวินาทีเดียว

“ผมมุ่งเน้นเฉพาะสิ่งที่สำคัญ ระวางซึ่งสิ่งที่ไม่ใช่ ผมจะตัดสินใจจากข้อมูลจริง 

และจะไม่ปล่อยให้ตัวเองต้องเสียสมาธิ จะไม่ยอมให้จิตใจต้องพะวักพะวงกับเรื่องที่ไม่สำคัญ 

ผมจะไม่หวังพึ่งผู้อื่นหรือสิ่งอื่น จะไม่อ่อนไหวกับเรื่องความผิดพลาด”

คำกล่าวของ รอย ที่ใช้ในการทดสอบความพร้อมต่อการปฏิบัติหน้าที่ อธิบายตัวตนและความสัมพันธ์ของเขากับ พ่อ ได้อย่างน่าสนใจ , แม้ว่า รอย จะมีภรรยา ต้องปฏิบัติงานกับคนจำนวนมาก เสียงภายในใจของเขากลับบอกเสมอว่าตนไม่เคยสนใจในชีวิตมนุษย์คนอื่น ๆ เลย การต้องทักทาย สัมผัสกับนักบินอวกาศคนอื่น ๆ เป็นความอึดอัดใจสำหรับเขาเสมอ การอุทิศชีวิตให้กับภารกิจต่าง ๆ ทำให้เขาเลือกระวางสิ่งที่ไม่ใช่ทิ้งไป สิ่งที่ทำให้เขาสูญเสียความมุ่งมั่น และความพร้อมที่จะทำหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เราจึงได้เห็นรอย พยายามจะขัดขวางสิ่งต่าง ๆ รอบตัวในชีวิตไม่ให้เข้ามา พร้อม ๆ กับปิดกั้นตัวเองไปไม่ให้ก้าวออกไปจากอาณาเขตตรงนี้  

แม้ว่าจะดูเป็นความเฉยชาที่น่าใจหาย รอย ก็ไม่ได้รู้สึกว่าการตัดสินใจดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผิด เขามีหน้าที่ มีภาระ และเป้าหมายที่สำคัญกว่าความสัมพันธ์หรือชีวิตของตัวเอง เขาทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีเสมอมาจนกระทั่งการได้ทราบข่าวว่า พ่อ ของตนนั้นยังมีชีวิต ภารกิจออกเดินทางจากโลกไปยังดาวเนปจูนทำให้ทุกสิ่งเปลี่ยนไป การปรากฏตัวอีกครั้งของ พ่อ กลายเป็นกระจกที่ทำให้เขาย้อนกลับมองภาพสะท้อนของตัวเองอีกครั้ง ความสับสนและความซับซ้อนของความรักที่ผสมปนเปกับความเกลียดชัง หล่อหลอมตัวเขาให้กลายมาเป็นอย่างทุกวันนี้ การเดินทางบนอวกาศ ผ่านดวงดาว ผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ กลายเป็นพื้นที่ให้ รอย ได้สำรวจเพื่อเข้าใจตัวเองมากขึ้น ทั้งผ่านชีวิตของพ่อ เพื่อนสนิทพ่อ ชีวิตของลูกเรือ ชีวิตของสาวดาวอังคาร หรือกระทั่งลิงคลั่งที่หวังโจมตีเขาให้ถึงตาย ทุกอย่างสะท้อนมาถึงตัวตนและความเป็นอยู่ของเขาทั้งในอดีต ปัจจุบัน และวันข้างหน้า เพื่อคำถามง่าย ๆ คำถามเดียวที่เรามักจะหลงลืมอยู่เสมอ: เรามีชีวิตเพื่ออะไร? 

รอย ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าการมีชีวิตอยู่ของตนทุกวันนี้เป็นไปเพื่ออะไร เขาไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไรกับการรอดตายในเหตุการณ์คลื่นช็อตที่สถานีอวกาศด้วยซ้ำ และกับความสัมพันธ์เขาเองก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันมีปัญหาหรือถ้ามีปัญหามันก็คงเป็นเรื่องที่เขาจำต้องระวางเพื่อสนใจในสิ่งที่ใช่ แม้ว่า รอย จะมีชีวิตก็จริงแต่มันก็ใกล้ห่างจากคำว่า มนุษย์ อยู่พอสมควร ซึ่งเขาไม่เคยคิดรู้สึกหรือสังเกตใด ๆ กับมันจนกระทั่งได้กลับมาทำความรู้จักกับ พ่อ อีกครั้ง ได้เห็นชิ้นส่วนที่ขาดหาย ได้เห็นผลกระทบต่อสภาวะจิตใจและตัวตนของพ่อภายหลังการออกเดินทางหลายทศวรรษ จากนักบินอวกาศผู้ยิ่งใหญ่กลายเป็นผู้ต้องสงสัยที่คิดจะทำลายโลก การสูญเสียความเป็นมนุษย์ของ พ่อ ทำให้เขาเริ่มตั้งคำถามกับการเป็น มนุษย์ ของตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่หนักหนาและชวนสับสนมากพอ ๆ กับการจัดการความรู้สึกของตัวเองที่มีต่อ พ่อ ว่าจริง ๆ แล้วทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้เราควรต้องรู้สึกอย่างไร เราทำภารกิจในฐานะลูกชายที่ผู้ห่างเหินเฉย ๆ หรือลึก ๆ แล้วเราเฝ้ารอที่จะได้เจอเขามาตลอด นั่นคือ สิ่งที่หนังพยายามจะเล่าอยู่ตลอดทั้งเรื่องผ่านเสียงบรรยายของ รอย และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอันนำมาซึ่งการ “คืนความเป็นมนุษย์” ให้กับเขาอีกครั้ง 

ในช่วงท้ายที่ รอย เดินทางมาถึงสถานีอวกาศของพ่อ สิ่งที่น่าสนใจเหนือไปกว่าภารกิจยับยั้งวิกฤตโลกคือปลายทางความสัมพันธ์ระหว่าง พ่อ กับ ลูก ที่ได้กลับมาเจอหน้ากันอีกครั้ง บทสนทนาที่เว้นห่างไปหลายสิบปีถูกสานต่ออีกครั้งเพื่อให้เขาได้เข้าใจทุก ๆ สิ่งอย่างชัดเจนอีกขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของชีวิตตนเอง รอย พยายามโน้มน้าวให้ พ่อ เดินทางกลับไปกับเขา กลับไปยังโลกที่เคยเป็นบ้านของทั้งสอง สิ่งที่ พ่อ ตอบกลับมาทำให้เขาเจ็บปวด แม้จะเป็นความจริงที่ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย แต่การได้ยิน พ่อ ผู้ให้กำเนิดกล่าวว่าการมีชีวิตบนโลก (ที่เคยมีเขา เคยมีภรรยา เคยมีชีวิตในฐานะมนุษย์ทั่วไป) ไม่ได้สำคัญอีกต่อไปแล้ว มันย่อมให้ผลลัพธ์ที่ชวนใจสลายอยู่ดี ไม่ว่าจะมองในแง่มุมไหนก็ตาม

“ถ้าบ้านที่พูดถึงคือโลก ไม่มีอะไรให้ใส่ใจ พ่อไม่เคยใยดีลูกหรือแม่ของลูก หรือไอเดียกระจ้อยร่อยของลูก 

30 ปีแล้ว หายใจอากาศเดิม กินของเดิม ๆ พ่อทนกันดารอยู่ที่นี่ ไม่มีสักครั้งเลยที่จะคิดถึงบ้าน”

กระนั้น แม้ว่ามันจะน่าโศกเศร้าเพียงใด คำพูดของ พ่อ ดังกล่าวก็ทำให้ รอย ได้เข้าใจในหลายๆสิ่งมากขึ้น: การได้รับรู้เป้าหมายอันยิ่งใหญ่จาก พ่อ ผู้อุทิศชีวิตทุกสิ่งให้กับภารกิจค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิที่บังคับให้เขาต้องเสียสละสัมภาระทุกอย่างบนโลก (รวมถึงการเป็นมนุษย์) และความจริงที่เขาไม่เคยคิดเสียใจที่ได้ทำทุกอย่างลงไปทลายความสับสนที่กัดกินใจตลอดการเดินทางของเขาจนหมดสิ้น หลงเหลือเพียงตัวเลือกง่าย ๆ ของการ “เดินหน้าต่อ” และ “ย้อนกลับไป” ให้เขาได้ตัดสินใจว่าอยากจะใช้ชีวิตแบบไหน ระยะทาง 2,714 ล้านไมล์กลับสู่โลก หรือระยะทางอันเป็นนิรันดร์เพื่อเป้าหมายที่ดูเหมือนไม่มีจริง – นี่คือประเด็นที่ Ad Astra นำเสนอมาตั้งแต่เริ่มต้น และเฉกเช่นประโยคที่ เจมส์ เกรย์ เกริ่นเอาไว้ การตั้งคำถามกับการเฝ้ารอเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งในส่วนของระหว่างทาง และช่วงเวลาภายหลังความสำเร็จ หากท้ายที่สุดสิ่งที่มนุษยชาติค้นพบคือบทสรุปที่ว่า “มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่อาศัยในจักรวาล” มันจะเป็นเรื่องแย่สักเพียงไหน บางที มันอาจเทียบไม่ได้เลยกับการที่มนุษย์สูญเสียเวลาทั้งหมดของชีวิตไปกับการเฝ้ารอ สูญเสียเวลาอันมีค่าไปกับการไม่ได้ใช้ชีวิต อันเป็นสิ่งที่หนังพยายามตั้งคำถามกับ รอย และพ่อของเขา 

“ผมมุ่งเน้นสิ่งที่สำคัญและระวางซึ่งสิ่งที่ไม่ใช่ ผมไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง แต่ก็ไม่ได้หนักใจ 

ผมจะเชื่อมั่นในหมู่คนที่ใกล้ชิด ช่วยแบ่งเบาภาระพวกเขา เหมือนที่เขาช่วยผม 

ผมจะใช้ชีวิต มีความรัก” 

รอย กล่าวประโยคเดิมอีกครั้งในตอนสุดท้ายของเรื่อง เพียงแต่ครั้งนี้มีบางส่วนขาดหายและบางส่วนถูกเติมเข้ามา การเดินทางไปยังสุดขอบอวกาศทำให้เขาได้เห็นคุณค่าและความหมายของที่ๆจากมา ได้เห็นว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญ และอะไรคือสิ่งที่เขาต้องระวางทิ้งไป เหนือไปกว่าเรื่องของความรักและความสัมพันธ์ต่อภรรยา รอยได้เห็นคุณค่าของการเป็นมนุษย์และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้คนรอบกาย ได้เห็นความหมายของคำว่ากันและกันที่เติมเต็มความโดดเดี่ยว เราไม่รู้แน่ชัดว่าเขาดำเนินชีวิตเป็นกิจวัตรแบบนี้มาตั้งแต่ตอนไหน กลายเป็นคนที่เย็นชาห่างไกลจากความเป็นมนุษย์มานานเท่าไหร่ แต่สิ่งหนึ่งที่ตอบคำถามได้ดีคือสีหน้าและสายตาของ รอย เมื่อเขาได้เห็นภรรยาอีกครั้ง เฉกเช่นมือของเจ้าหน้าที่ที่เอื้อมเข้ามา พร้อมคว้าร่างกายและจิตใจเขากลับสู่โลกใบเดิมที่จากมาอีกครั้ง โลกที่ท้ายที่สุดเขาก็ได้พบว่ามันคือบ้าน ดินแดนอันแสนไกลห่างราวกับอนันต์ที่ รอย สำรวจเสาะหามาตลอดชีวิตและท้ายที่สุดก็ได้พบว่ามันมีอยู่จริง เมื่อเขาละทิ้งสิ่งที่ไม่ใช่ออกไป และเริ่มต้นใหม่กับสิ่งที่ควรรักษาตลอดมา 

Ad Astra เป็นภาพยนตร์ที่ตั้งคำถามกับคำว่า “โดดเดี่ยว” ได้งดงามและลุ่มลึกแทบจะทุกมิติ เรื่องราวการออกเดินทาง การเฝ้าคอย การใช้ชีวิตที่อยู่ในสภาวะ “ถูกจองจำ” จากสถานการณ์และความต้องการบางอย่างมันคือความทรมาน หดหู่ และบ้าคลั่งในแบบที่คนอื่น ๆ อาจจะไม่เข้าใจ การเปรียบเปรยชีวิตของ รอย พ่อ กับลิงบาบูนนับว่าน่าสนใจทั้งในเรื่องของวิวัฒนาการและความอ้างว้างที่เปลี่ยนชีวิตคน (รอยบอกว่าเขาเคยเห็นความโกรธแค้นนั้นในตัวเขาและพ่อ ลิงบาบูนอาจไม่ได้ฆ่าสมาชิกทุกคนในสถานีอวกาศ หากแต่เป็นลิงทดลองที่ถูกทิ้งอย่างโดดเดี่ยวไว้นานจนเกินไป) ความโดดเดี่ยวในภาพยนตร์คือสิ่งที่ตัวละครต้องต่อสู้และหาทางออก แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นความจริงที่ไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากยอมรับและเข้าใจ การที่ท้ายที่สุดภาพยนตร์เลือกจะปิดด้วยข้อสันนิษฐานที่ว่า “มนุษย์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเดียวในจักรวาล” กลายเป็นหัวข้อที่น่าขบคิด หากสิ่งที่เราเฝ้ารอมาทั้งชีวิตไม่ได้เกิดขึ้น หากการได้ค้นพบเอเลี่ยนที่เป็นดั่งเป้าหมายสูงสุดของมนุษยชาติคือฝันที่ไม่มีวันเอื้อมไปถึง เมื่อไหร่กันที่เราจะเริ่มต้นยอมรับความจริงนั้นและหันกลับมามองเพียงชีวิตมนุษย์ผู้มีแค่ “กันและกัน” เสียที นี่คงเป็นคำถามที่ไม่มีวันได้คำตอบในโลกที่ทุกสิ่งยังอยู่ในกระบวนการสำรวจค้นหา ในโลกที่ความจริงยังไม่ได้ปรากฏถึง หรือมนุษยชาติอาจไม่มีวันนั้นเลยเสียด้วยซ้ำ เฉกเช่น “โปรเจ็กต์ลิม่า” ที่ซึ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้งและไม่ยี่หร่ะต่อเป้าหมาย ซึ่งสุดท้ายก็กลายเป็นปัญหาย้อนกลับมาสร้างผลกระทบต่อโลกและจักรวาลทั้งหมดเสียแทน ปัญหาที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ที่ไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์ และมนุษย์ที่อยากกลับไปเป็นมนุษย์อีกครั้ง ในจักรวาลที่ลดทอนความเป็นคนทุกๆไมล์ที่ไกลห่างออกไป 

“พ่อไม่ได้ล้มเหลว เราได้รู้แล้ว เรามีแต่กันและกัน” 

Ad Astra คือภาพยนตร์ไซไฟนี่น่าจดจำอีกเรื่องหนึ่งในยุคนี้ แม้ว่ามันจะไม่ใช่เรื่องราวที่ทำงานกับทุกคนแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกล่าวถึง อวกาศ สิ่งมีชีวิตนอกโลก และมนุษย์ ในผลงาน เจมส์ เกรย์ เรื่องนี้มีคุณค่าในหลากหลายมุมมองจริง ๆ และคงไม่ใช่เรื่องเกินจริงถ้าจะบอกว่านี่คือภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดอวกาศออกมาได้เหงาและโดดเดี่ยวที่สุดเรื่องหนึ่งที่เคยชม แม้ว่ามันจะเต็มไปด้วยฉากอลังการการนำเสนอที่ตื่นตาตื่นใจ (ด้วยงานภาพจาก ฮอยเตอ ฟัน ฮอยเตอมา จาก Interstellar, Her และ Let the Right One In) ก็ไม่อาจมองข้ามความจริงที่ว่าสิ่งเหล่านั้นคือความกลวงเปล่า เฉกเช่นที่ รอย พูดถึงดาวเคราะห์มากมายที่พ่อค้นพบตลอดการเดินทางว่าแม้จะสวยงาม แต่กลับไม่มีสิ่งใดอาศัยอยู่ในนั้นเลย) และเหนือสิ่งอื่นใด นี่คือการแสดงของ แบรด พิตต์ ที่ดีและน่าจดจำที่สุดเรื่องหนึ่งในรอบหลายสิบปี เคียงข้าง Once Upon a Time… in Hollywood (2019) จนต้องยอมรับว่าปีนี้เป็นปีของเขาจริง ๆ

.

.

ติดตามบทความของเพจ Kanin The Movie ได้บน LINE TODAY ทุกวันพุธ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0