โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

AMC ตั้งรับหนี้เสียทะลักปีหน้า ชงสิทธิซื้อ NPL แบงก์ต่างชาติได้ก่อน

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 09 ก.ค. 2563 เวลา 03.33 น. • เผยแพร่ 09 ก.ค. 2563 เวลา 03.33 น.
หนี้เสีย บ้านรถ

“สมาคมบริษัทบริหารสินทรัพย์” ชง 3 ข้อเสนอแบงก์ชาติขอได้สิทธิรับซื้อหนี้เสียแบงก์ต่างชาติได้ก่อน หวั่นเอเอ็มซีต่างชาติฉวยโอกาสเข้ามากดราคากินส่วนต่างซ้ำรอยวิกฤตปี”40 รวมถึงข้อสนับสนุนแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำ-มาตรการส่งเสริมการขายหนี้ให้คล่องตัวขึ้น “BAM-SAM” ปรับแผนธุรกิจตั้งรับแรงเทขายหนี้เสียทะลักปีหน้า หลังหมดมาตรการ “พักหนี้” ของ ธปท.

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาตัวแทนสมาคมบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับแนวทางการรับซื้อหนี้เสียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากผลกระทบโควิด-19 โดยได้เสนอ ธปท.ไป 2-3 เรื่อง ได้แก่ กรณีธนาคารต่างชาติมีหนี้เสียที่จะขาย ขอให้ขายหนี้ AMC ไทยก่อนเพราะมีบทเรียนจากปี 2540 ที่เห็นต่างชาติเข้ามาซื้อหนี้ในไทย ในราคาเพียง 20-30% ของราคาสินทรัพย์ แล้วกลับมาขายให้คนไทยในราคา 60% รวมถึงเสนอเรื่องแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำ และมาตรการส่งเสริมการขายหนี้ให้คล่องตัวขึ้น

ขณะที่แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังคงเห็นแบงก์ขายออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปีนี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการเทขายสูงสุดในไตรมาส 3-4 เนื่องจากไตรมาส 1-2 มีมาตรการพักชำระหนี้ของ ธปท.ที่ช่วยชะลอการไหลของเอ็นพีแอล ทั้งนี้ ปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายซื้อหนี้เข้ามาบริหาร 1 หมื่นล้านบาท โดยเตรียมวงเงินรับซื้อหนี้ไว้ 1,000 ล้านบาท ซึ่งครึ่งปีแรกที่ผ่านมาใช้วงเงินรับซื้อหนี้ไปราว 200 ล้านบาท ถือว่ายังค่อนข้างน้อย ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการพักชำระหนี้ ธปท.

“คาดว่าเอ็นพีแอลในปี 2563 จากปีก่อนที่อยู่ที่ 2.9% หรือ 4.8 แสนล้านบาท เป็น 5.5 แสนล้านบาท คิดเป็นกว่า 3% จากยอดสินเชื่อคงค้างทั้งระบบที่อยู่ที่ 15.8 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน อย่างสินเชื่อบุคคล บัตรเครดิตประมาณ 1.5 แสนล้านบาท และหนี้มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ราว 4 แสนล้านบาท” นายสุขสันต์กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบัน บมจ.ชโย กรุ๊ป มีพอร์ตบริหารหนี้คงค้างอยู่ที่ 5.3 หมื่นล้านบาท เป็นหนี้ไม่มีหลักประกัน 3.6 หมื่นล้านบาท และหนี้มีหลักประกัน 1.7 หมื่นล้านบาท

“มาตรการพักชำระหนี้จะสิ้นสุดลงในเดือน ก.ย. จะเห็นว่า ธปท.เองก็พยายามออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งเฟส 1-2 เพื่อสกัดหนี้ไม่ให้ไหลเร็ว ซึ่งต้องรอดูว่าไตรมาส 3-4 จะไหลออกมาเยอะแค่ไหน” นายสุขสันต์กล่าว

นายสมพร มูลศรีแก้ว กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โดยเฉลี่ยแต่ละปีแบงก์จะมีการเทขายเอ็นพีแอลออกมาราว 6-7 หมื่นล้านบาท ซึ่งในปีนี้บริษัทคาดว่าเอ็นพีแอลจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมาตรการของ ธปท.และการคลายล็อกภาครัฐจะช่วยให้ลูกหนี้ส่วนหนึ่งกลับมามีรายได้และผ่อนชำระหนี้ได้ โดยมองว่ากลไกของเอเอ็มซีทั้งระบบสามารถรองรับและบริหารจัดการเอ็นพีแอลปีนี้ได้ ซึ่งบริษัทเตรียมแผนตั้งรับการรับซื้อหนี้มาบริหารได้ทันทีที่มีการเทขายออกมา

“เอ็นพีแอลในปี 2563 จะไม่ได้แตกต่างไปจากปี 2562 มากนัก แรงเทขายหนี้เสียปีนี้คงไม่ถล่มทลาย ดังนั้น ไม่น่าจะถึงขั้นต้องมีการตั้ง BAD Bank ขึ้นมาเพิ่มเติมอีก ถ้าตั้งขึ้นมา ก็ยังไม่รู้ว่าหน่วยงานใดที่จะเข้ามารับผิดชอบ” นายสมพรกล่าว

นายนิยต มาศะวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM) กล่าวว่า แนวโน้มหนี้เอ็นพีแอลปีนี้คงเพิ่มขึ้น แต่คงไม่ได้มากไปกว่าปี 2562 มากนัก แต่คาดว่าจะเห็นตัวเลขเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นมากอย่างชัดเจนในปี 2564 ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างทบทวนและปรับแผนการดำเนินธุรกิจใหม่เพื่อรักษาสภาพคล่องและกระแสเงินสด

“เนื่องจากกระแสเงินสดเราค่อนข้างน้อย ทำให้แผนการรับซื้อหนี้เสียเข้ามาต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง บริษัทจำเป็นต้องรักษาสภาพคล่องและกระแสเงินสดไว้ ส่งผลให้ในช่วง 4-5 เดือนแรกที่ผ่านมาการรับซื้อหนี้จึงต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ ตอนนี้เราอยู่ระหว่างดูสถานการณ์เอ็นพีแอลว่าจะออกมามากแค่ไหน แต่เท่าที่ดูปีนี้ไม่น่าห่างจากปีก่อน แต่จะโผล่ออกมาจริง คือปีหน้า โดยแบงก์จะเร่งขายเอ็นพีแอลเก่าออกมาก่อน ซึ่งเราก็ต้องปรับแผนไว้รองรับ” นายนิยตกล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0