โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

AIS โชว์ 5G บังคับรถไร้คนขับข้ามภูมิภาคผ่านเน็ต

Money2Know

เผยแพร่ 17 ส.ค. 2562 เวลา 01.40 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
AIS โชว์ 5G บังคับรถไร้คนขับข้ามภูมิภาคผ่านเน็ต

AIS นำร่องเมืองอัจฉริยะ จับมือ มอ. โชว์บังคับรถยนต์ไร้คนขับ จากกรุงเทพฯ มา สงขลา ด้วย 5G พร้อมสร้างภูมิต้านให้เยาวชนรู้เท่าทันเทคโนโลยี นำ DQ เข้ามาวัดความรู้เท่าทันทางเทคโนโลยีของเยาวชน และนำร่อง Internet of Things ในชีวิตจริง ทั้งการเช็คบุตรหลานในรถโรงเรียน และการเกษตรแบบแม่นยำ วัดความชื้น วัดสภาพอากาศ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าทางการเกษตร

นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS พร้อมด้วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา แถลงข่าวพร้อมโชว์ประสิทธิภาพโครงข่าย 5G บังคับรถยนต์ไร้คนขับ จากกรุงเทพฯมายังหาดใหญ่ ระบุว่า ปัจจุบัน AIS มีสถานีโครงข่ายครอบคลุมทั่วทั้งประเทศไทย ถึง 80,692 แห่ง และมีเสาโครงข่ายในภาคใต้ ถึง 5,732 แห่ง ซึ่งที่ผ่านมา 4G ของ AIS ใช้เวลาพัฒนาโครงข่ายดังกล่าวในระยะเวลาประมาณ 1 ปี รวมถึงโครงข่ายของ AIS เองได้รับการยอมรับในระดับสากลว่ามีความสามารถในการส่งข้อมูลที่รวดเร็วมากในประเทศไทย นอกเหนือจากบนพื้นดินแล้วโครงข่ายของ AIS ก็สามารถที่ส่งข้ามไปในท้องทะเลและในความเร็วที่สูงอีกด้วย นอกเหนือจากนี้การบริการโครงข่าย WiFi ของ AIS ทั่วทั้งประเทศมีจุดครอบคลุมถึง 120,000 จุด ซึ่งในภาคใต้ AIS มีจำนวนลูกค้าทั้งหมด 5.7 ล้านหมายเลข คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14 ของฐานลูกค้าทั่วประเทศ

สำหรับ AIS เริ่มมีการทดลอง 5G คลื่นความถี่ 28 GHz ในสภาพแวดล้อมจริง ตามการอนุญาตของ กสทช. เนื่องจากภาคใต้มีอัตลักษณ์ทางภูมิศาสตร์โอกาสและความน่าสนใจ เป็นแรงดึงดูดในการทดลองโครงข่ายดังกล่าว นอกเหนือจากนี้ AIS มีการร่วมมือกับพันธมิตรทางด้านเครือข่ายทางเทคโนโลยีในการพัฒนา NEXTG ด้วยการนำเทคโนโลยี 4.5 G เข้ามารวมกับเทคโนโลยี Super WiFi ทำให้สามารถส่งความเร็วข้อมูลได้สูงสุดถึง 1 Gbps

ขณะที่ปัจจุบัน AIS มีการลงทุนโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงใยแก้วนำแสง(Fiber Optic) ครอบคลุม 57 จังหวัด และภาคใต้ 10 จังหวัด(55 อำเภอ) โดยที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาโครงข่ายในการรองรับเทคโนโลยี Internet of Things ซึ่งใน 2 ปีที่ผ่านมามีการพัฒนา Narrowband Internet of Things(NBiot) และ eMTC ซึ่งโครงข่ายนี้สามารถที่จะเชื่อมต่ออุปกรณ์ ใน 1 ตร.กม. ถึง 100,000 เครื่องย่อยพร้อมกัน และแยกกับโครงข่ายอินเตอร์เน็ตปกติ นอกจากโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ Internet of Things ยังมีการสร้างแพลตฟอร์ม สำหรับ Internet of Things ที่จะเปิดให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมมือกันไม่ว่าจะเป็น กสทช. และกระทรวงดิจิทัลฯ โดยปัจจุบันมีพันธมิตรของแพลตฟอร์มนี้สูงถึง 1,135 บริษัท ที่ผ่านมามีการทดลองใช้แพลตฟอร์มนี้กับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนใน จ.สงขลา ไม่ว่าจะเป็นที่จอดรถ , การวัดสภาพอากาศ และอื่นๆอีกมากมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชีวิตของประชาชนในพื้นที่

การพัฒนาเยาวชนให้รู้ว่า"โลกดิจิทัล ไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต"

"ในโลกดิจิทัลปัจจุบันเรื่องราวดีๆมากมาย แต่ก็มีเรื่องที่เลวร้ายมากมายเช่นกัน ดังนั้นการพัฒนาบุคลากรจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเด็กในวันนี้จะเป็นผู้ใหญ่ในโลก 4.0 ของวันข้างหน้า ซึ่งได้มีการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า DQ(Digital intelligence quotient) เพื่อวัดความฉลาดทางด้านดิจิทัลของเด็กในปัจจุบัน นอกเหนือจาก IQ และ EQ เพื่อบอกเยาวชนในยุคถัดไปว่า "เทคโนโลยีเหล่านี้ ไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต" ซึ่ง AIS ตั้งใจจะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระบบป้องกันภัยทางโลกดิจิทัล ภายใต้โครงการ "อุ่นใจไซเบอร์" ซึ่งโครงข่ายนี้จะเป็นตัวที่เข้ามาดูแลเยาวชนเข้าไปยังเว็บไซต์ต่างๆที่ไม่เหมาะสมสำหรับเยาวชน และผู้ปกครองที่จะซื้อซิมกสร์ดอินเตอร์เน็ตให้กับบุตรหลานในอนาคตจะสามารถบังคับและป้องกันบุตรหลานไม่ให้เข้าไปยังเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมกับช่วงวัยของเยาวชนได้ ในขณะที่บุคคลทั่วไปก็สามารถเข้ามาเรียนรู้เรื่องราวและเทคโนโลยีต่างๆรวมถึงการรู้เท่าทันสื่อจาก AIS ได้เช่นกัน โดยจะมีการเชิญบุคลากรจากทุกภาคส่วนเข้ามาให้ความรู้กับบุคคลทั่วไป นายปรัธนา กล่าว

ด้านนายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ระบุว่า นอกเหนือจากการพัฒนาเมืองอัจฉริยะแล้วมหาวิทยาลัยยังมีการช่วยเหลือและพัฒนา ฟาร์มอัจฉริยะสร้างความร่วมมือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรรายจังหวัด ขณะที่อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญถ้าหากยังไม่มีการพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพและรองรับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ก็จะไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่นายมหัณณพ อภินันทนพงศ์  หัวหน้าส่วนงานปฏิบัติการภูมิภาค ภาคใต้ ระบุว่า ปัจจุบัน AIS มีการเริ่มนำร่อง เทคโนโลยี internet of Things ในการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งระบบการวัดความฉลาดด้านดิจิทัล(DQ) ซึ่งมีใช้ในหลายโรงเรียนในภาคใต้แล้ว ซึ่งนอกจากนี้ยังมีการเข้าไปร่วมทำฟาร์มอัจฉริยะ ซึ่งเข้าไปเปิดศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีคงฟาร์มสุข ที่ ฟาร์มไพวัลย์ โดยการนำเทคโนโลยี internet of Things เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตรไม่ว่าจะเป็นการวัดค่าความเป็นด่างในดิน , วัดความชื้นในอากาศ และสภาพอากาศ

ขณะที่เทคโนโลยี Internet of Things นำเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยการติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิและเครื่องตรวจสอบความผิดปกติที่เกิดขึ้นในรถตู้รับส่งนักเรียน และจะส่งข้อมูลไปยังผู้ปกครองและผู้ประกอบการเดินรถในทันที ในกรณีที่บุตรหลานเดินทางไปบนรถโรงเรียน หรือเมื่อเกิดความผิดปกติ

ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุว่า ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่สงขลาจะได้สามารถทดสอบการนำร่องการเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยได้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นพื้นที่ทดสอบเมืองอัจฉริยะ โดยจะมีการสาธิตระบบที่ได้พัฒนาขึ้นและมีการใช้งานจริงของโครงข่าย 5G โดยเชื่อว่าจะได้เห็นความก้าวหน้าและสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

นายปรัธนา กล่าวทิ้งท้ายระบุว่า แม้ว่าเทคโนโลยี 4G ประเทศไทยจะเริ่มช้ากว่าคนอื่น แต่เทคโนโลยี 5G ในประเทศไทยมีการเริ่มพร้อมกับคนทั่วทั้งโลกเมื่อปลายปี 2018 ที่ผ่านมา ถึงแม้ความเร็วอินเตอร์เน็ตของ 4G ก็มีความเร็วมากพอแล้วแต่ เทคโนโลยี 5G ที่มีความเร็วมากกว่าจะนำมาใช้ประโยชน์อะไรในสังคม ซึ่งถ้าเป็นภาษาจีนที่มีความเร็วสูงขึ้นจากเดิมถึง 100 เท่า และอัตราการส่งกลับเร็วกว่าถึง 50 เท่า  ขณะที่ในอดีตเทคโนโลยี internet of Things สามารถที่จะเชื่อมต่อ 100,000 เครื่องย่อย ต่อ 1 ตารางกิโลเมตร จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านเครื่องย่อย

"การทำให้ลูกค้ามองเห็นอนาคตที่จะเข้ามา และรู้ว่า AIS จะนำเข้ามา ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนความมั่นใจของ AIS มากยิ่งขึ้น  5G ไม่ใช่แค่ปัจจัยในไทย แต่เป็นไปทั้งโลก ที่จะมีการพัฒนาเร็วช้ามาน้อยแค่ไหน และจะเกิดเมื่อไหร่อย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับการจัดสรรคลื่นความถี่และโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาแต่ละประเทศ" นายปรัธนา กล่าว

ขับรถจริงๆแบบ Real-Time ผ่านเน็ตข้ามภูมภาค

หนึ่งในการสาธิตเทคโนโลยีความเร็วอินเตอร์เน็ต 5G ของ AIS เข้ากับนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะของจังหวัดสงขลาที่รัฐบาลมอบหมายให้นำร่องเป็นที่แรก โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมสาทิตการบังคับรถยนต์ไร้คนขับ การสาธิตในวันนี้เป็นการบังคับรถอัจฉริยะไร้คนขับ(5G Remote Control Vehicle) หลบหลีกสิ่งกีดขวางและไปจอดที่ป้ายรถประจำทาง  โดยการสวมใส่แว่น VR เสมือนจริงบังคับรถ ซึ่งใช้กล้อง 360 องศา ความคมชัดระดับ 4K บันทึกและส่งสัญาณภาพจากภายในรถ

ขณะที่อีกหนึ่งการสาธิตในการขับรถอัจฉริยะไร้คนขับคือ การพูดคุยกันและสื่อสารกันระหว่างรถอัจฉริยะไร้คนขับ 2 คัน(Vehicle to Vehicle) ในกรณีที่เจอเหตุการณ์ตัดหน้าหรือประสบเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเพื่อลดอุบัติเหตุ นอกเหนือจากนี้เมื่อรถอัจฉริยะสามารถที่จะติดตั้งกล้องบันทึกภาพและส่งข้อมูลไปยังศูนย์ข้อมูล ก็สามารถที่จะร่วมตรวจสอบรถประเภทนั้นๆที่อยู่ใกล้เคียงหรือขับผ่านโดยการระบุประเภทรถ , ป้ายทะเบียนและสี เพื่อตรวจจับรถที่ถูกขโมยหรือสูญหายไป(Mobile Surveillance / Object Detection)

ด้าน พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. สายงานบริหารคลื่นความถี่และภูมิภาค ระบุว่า กสทช. ในฐานะที่เป็นผู้ที่บริหารจัดการและจัดสรรคลื่นความถี่ ต้องการที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการนำเทคโนโลยีนำสมัยเข้ามาประยุกต์ใช้ในการประกอบกิจการและเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน  โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยี 5G ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคต และที่ผ่านมาก็มีนโยบายในการสนับสนุนในเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งส่วนตัวก็มีความเชื่อว่าความถ้าหากเทคโนโลยี 5G เข้ามาสู่ประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบก็จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งภาคประชาชนและภาคเศรษฐกิจ รวมถึงจะทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั้งเรื่องของอุปสงค์และอุปทานจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง และการประกอบธุรกิจแบบเดิมๆโดยผ่านตัวกลางก็จะถูกเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงด้านวิชาการและการศึกษา เทคโนโลยี 5G รายการร่วมกับสถาบันทางการศึกษามากมาย โดยได้กระจายไปใน 3 ภูมิภาคเพื่อทำให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ไปพร้อมๆกัน ซึ่งโครงการที่ มอ. ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาฯ เชื่อว่า การทดลองและการสาธิตในครั้งนี้เป็นการนำร่องการสร้างเมืองอัจฉริยะและนำประเทศไทยก้าวไปสู่ประเทศแห่งนวัตกรรมในอนาคต ในขณะเดียวกันที่การจะนำไปใช้จริงก็เป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงเรื่องของการปรับเปลี่ยนทางด้านเทคโนโลยีเกิดขึ้นจริงแล้วในปัจจุบันดังนั้นเราจะพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจที่นำร่องด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างไร ซึ่งการก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเหล่านี้ก็จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ และความพร้อมของบุคลากร ซึ่งการเข้ามาของเทคโนโลยี 5G ก็จะทำให้ประเทศไทย ก้าวไปสู่ประเทศแห่งนวัตกรรมได้เป็นอย่างดี

สำหรับจังหวัดสงขลา มีการปรับตัวให้เป็น เมืองอัจฉริยะ (Smart City) อาทิ ไฟส่องสว่างบนท้องถนนอัจฉริยะ , การตั้งระบบสื่อสารดิจิทัลผ่านระบบคลาวน์ , ป้ายสื่อสารแบบดิจิทัล และการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบของยานยนต์ไร้คนขับรวมถึงการควบคุมจากระยะไกลในรูปแบบ Vehicle to Everything(V2X)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0